เป็นเวลาร่วมกว่า 3 เดือนครึ่งมาแล้ว ที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครต้องปิดเรียน ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ขณะที่ โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง(TSQP) โดย กสศ. ได้ทำการเปิดตัวสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21 หรือ ‘Blackbox’ ซึ่งได้ส่งมอบให้กับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลจากวิกฤต COVID-19 ในระดับต่าง ๆ กัน ด้วยเชื่อว่าชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่พัฒนาขึ้น จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนให้การศึกษาของเด็กและเยาวชนเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าโรงเรียนยังคงต้องปิดการเรียนการสอนต่อไปก็ตาม
ครูเบญจมาศ เดชเกตุ โรงเรียนบ้านชายทะเลบางกระเจ้า ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โรงเรียนในพื้นที่สีแดงที่ยังต้องเลื่อนการเปิดเรียนออกไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ กล่าวถึงการจัดการศึกษาในช่วงที่โรงเรียนปิดว่า ได้แบ่งการเรียนการสอนเป็น 2 รูปแบบหลัก คืออนุบาลถึงชั้น ป.5 ใช้วิธีให้ใบงานกลับไปทำ โดยเด็กจะเข้ามารับและส่งงานที่โรงเรียนเป็นรายสัปดาห์และรายเดือน ส่วนชั้น ป.6 ซึ่งเป็นเด็กโตจะใช้วิธีเรียนออนไลน์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือมีนักเรียนส่วนหนึ่งไม่มีเครื่องมือสื่อสารรองรับ ทางโรงเรียนก็จะหันมาใช้วิธีให้ใบงานแทน
สำหรับสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21 หรือ ‘กล่องดำ’ ที่ กสศ. จัดทำขึ้นและมอบให้ทางโรงเรียนส่งต่อไปยังนักเรียนทุนเสมอภาค 12 กล่อง ครูเบญจมาศมองว่าเป็นสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้เด็ก ๆ ในช่วงที่ต้องเรียนจากที่บ้านได้ โดยครูและผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้และที่ปรึกษาให้เด็ก
“ตั้งแต่ได้รับ เด็ก ๆ ให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะการได้เรียนรู้อุปกรณ์บางชิ้นที่เขาไม่เคยใช้มาก่อน อย่างกล้องจุลทรรศน์ แต่แรก ๆ เขาจะยังสับสนว่าต้องเริ่มต้นยังไง ใช้อุปกรณ์ยังไง หรือทำอะไรบ้าง ตรงนี้เราต้องคุยกับผู้ปกครองให้ช่วยดูแลเด็กให้ทำงานได้ตามหน่วยการเรียนรู้ และคอยเป็นที่ปรึกษา ประเมินผลเบื้องต้น และนัดแนะวันส่งงาน โดยเราจะใช้วิธีส่งงานผ่านกลุ่มไลน์ที่ใช้สื่อสารกับเด็ก ๆ เป็นประจำอยู่แล้ว นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังสามารถสอบถามเพิ่มเติมเมื่อต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมจากครูประจำชั้นได้อีกด้วย”
ครูเบญจมาศกล่าวว่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองในช่วงแรกจะให้นักเรียนค่อย ๆ ทำความเข้าใจบทเรียนทีละหน่วย โดยยังไม่เคร่งครัดให้เด็กต้องส่งงานตามเวลา แต่จะพยายามให้จบได้ 1 หน่วยต่อ 1 สัปดาห์ ซึ่งข้อดีของกล่องดำคือการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นในเวลาใดของวันก็ได้ อันเป็นผลดีกับตัวเด็กเพราะเขายังมีงานหรือการบ้านในส่วนอื่นทำควบคู่ไป ส่วนผู้ปกครองก็สะดวกเช่นกันเพราะเขาจะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้เด็กได้ในเวลาว่าง ซึ่งต่างกับการเรียนออนไลน์ที่มีเวลาเรียนเฉพาะเจาะจง
“เรามองว่ากล่องดำช่วยการเรียนรู้ในเรื่องวิชาการได้มาก เช่นในบทเรียน ‘ฉันคือใคร’ เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องครอบครัว ถิ่นฐานชุมชนของตนเอง หรือบทเรียนอื่น ๆ ก็มีการบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคมเข้าไปด้วย ตอนนี้เด็ก ๆ จึงได้ใช้เวลาว่างไปกับการทำสวนถาด สำรวจพืชสมุนไพร ค้นคว้าเรื่องราวและสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของเขา
“ส่วนอุปสรรคในตอนแรกก็มีอยู่บ้าง เพราะเมื่อเด็ก ๆ ตีความโจทย์เองเขาจะคิดไปใหญ่โตเกินตัว สงสัยว่าต้องหาอุปกรณ์จากที่ไหนมาทำงานเพิ่ม ครูก็ต้องคอยแนะนำว่าเราสามารถดัดแปลงหรือประยุกต์เอาจากสิ่งรอบตัวมาทำได้ เพื่อให้ชิ้นงานเกิดจากความสร้างสรรค์ด้วยวัสดุที่มี ทำให้ชิ้นงานนั้นมีลักษณะเฉพาะของเราจริง ๆ โดยรวมแล้วกล่องดำจึงถือเป็นสื่อที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เด็ก ๆ ชอบและสนุกกันทุกคน” ครูเบญจมาศกล่าว
ต้นแบบการสร้างทักษะเรียนรู้ด้วยตัวเองที่จะต่อยอดไปสู่นักเรียนกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป
อรอุมา แจ่มเจ็ดริ้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่าชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเองในกล่องดำ ช่วยเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก ๆ ในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี ด้วยบทเรียนที่หลากหลายซึ่งบูรณาการจากทุกกลุ่มสาระวิชาที่จำเป็น ทำให้นักเรียนสามารถศึกษา ค้นคว้า ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองผ่านประสบการณ์ที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมในละแวกบ้าน
“ข้อดีของกล่องดำคือเด็ก ๆ จะได้เริ่มต้นเรียนรู้จากความสนใจส่วนตัว โดยเขาสามารถเลือกบทเรียนที่ชอบ จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นและสนุกสนาน ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ให้ความสนใจและพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้เด็ก เนื่องจากเป็นชุดการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ เราในฐานะทีมงานของโรงเรียนที่เป็นฝ่ายติดตามการเรียนรู้ และสื่อสารกับเด็กและผู้ปกครองเองก็ได้เห็นว่าเด็ก ๆ ตื่นเต้นที่จะได้เรียน ซึ่งแต่ละคนก็จะเลือกชุดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่เขาจะชอบเรื่องการปลูกผักสวนครัว เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่มีความคุ้นชินอยู่แล้ว”
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ กล่าวว่า สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่มีจุดเริ่มจากความพยายามทำให้การเรียนรู้เดินต่อไปได้ในช่วงที่โรงเรียนปิดนี้ ถือเป็นต้นแบบที่ดี โดยนอกจากการติดตามบันทึกผลการเรียนรู้ ทางโรงเรียนยังได้ทำแบบฟอร์มสำรวจเด็กและผู้ปกครอง เพื่อสรุปผลในโอกาสต่อไปว่า กล่องดำจะส่งผลในเชิงบวกกับนักเรียนได้ยังไงบ้าง แล้วหลังจากที่โรงเรียนเปิดเรียนได้ จะให้นักเรียนที่ได้รับกล่องดำมาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนด้วยตนเองให้ครูและเพื่อน ๆ ฟัง จากนั้นโรงเรียนจะนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับนักเรียนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนจึงต้องขอขอบคุณ กสศ. ที่ได้มอบโอกาสให้นักเรียนและคณะครูได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ ในช่วงวิกฤตทางการศึกษาครั้งนี้
จากบทเรียนสู่การสร้างพื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้
น้องปอน ด.ญ.วราภรณ์ สิงห์โต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ กล่าวว่าปกติแล้วชอบการศึกษาค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการอ่านหนังสือในห้องสมุดในเรื่องราวที่นอกเหนือจากบทเรียน แต่พอโรงเรียนปิดก็ไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อได้รับกล่องดำมาและเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ ก็รู้สึกชอบ และเห็นว่ามีกิจกรรมหลายอย่างที่ช่วยพัฒนาทักษะซึ่งจะนำไปสู่การทำอาชีพได้ จากอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่ให้มา ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างผสมผสาน บทเรียนหนึ่งสามารถประยุกต์ทำได้หลายวิธี
“คิดว่าอุปกรณ์และบทเรียนในกล่องดำน่าสนใจมาก ยิ่งมีคู่มือแนะนำมาให้ การทำงานกิจกรรมต่าง ๆ ก็ทำได้สะดวกและสนุก อย่างการเรียนเกี่ยวกับบ้านหรือชุมชนของเราก็เป็นการเรียนที่แปลกใหม่ ทำให้รู้หลายอย่างที่เราไม่รู้มาก่อน หรือกิจกรรมสวนถาดแสนสนุกก็มีอุปกรณ์ตกแต่งมาให้ ทำให้เรามีความคิดใหม่ ๆ ในการทำสวนถาดเล็ก ๆ ที่แตกต่างกันไป คิดว่าถ้าเราทำต่อเนื่องไปจนชำนาญ ก็จะสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้ด้วย” น้องปอนกล่าว
สุวิทย์ สิงห์โต ผู้ปกครองของ ด.ญ.วราภรณ์ การให้งานเด็กกลับมาทำที่บ้านพร้อมกับสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองหรือกล่องดำ ทำให้ผู้ปกครองสามารถใช้เวลาว่างจากการทำงานช่วยให้คำปรึกษาแนะนำเด็กได้
“โดยปกติต้องทำงานเกือบทุกวัน ไม่มีเวลาดูแลเรื่องการเรียนลูกใกล้ชิดเท่าไหร่ แต่ในช่วงนี้มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่บ้านซึ่งเด็กเลือกเวลาเรียนได้ด้วยตัวเอง เราก็สามารถช่วยเรื่องการเรียนรู้ของเขาได้ในเวลาที่สะดวก เช่นหลังเลิกงาน หรือในวันหยุด ซึ่งส่วนใหญ่น้องปอนจะพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน แต่ในเรื่องที่เขาไม่เข้าใจก็จะมาถาม เราก็จะช่วยหาคำตอบให้ หรือในบทเรียนจากกล่องดำเรื่องการทำความรู้จักกับครอบครัวและชุมชน เราก็ต้องช่วยอธิบายให้เขาเข้าใจถึงความเป็นมาของตัวเขาและชุมชนของเรา ในทางหนึ่งก็นับได้ว่าทำให้ครอบครัวมีเวลาใกล้ชิดกันมากขึ้น” ผู้ปกครองของ ด.ญ.วราภรณ์ กล่าว
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค