ผลการศึกษาล่าสุดในสหรัฐฯ ยืนยัน นักเรียนทุกกลุ่มมีปัญหาสูญเสียการเรียนรู้หรือการเรียนถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่าน เพราะไม่สามารถเรียนได้ตามปกติในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด แต่เด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กยากจนได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด
หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ เปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเด็กนักเรียนทั่วสหรัฐฯ พบว่า การที่เด็กต้องหยุดเรียนมีผลทางลบต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านซึ่งเด็กพัฒนาช้ากว่าที่ควร เฉลี่ยช้าถึง 1 ปี โดยเด็กยากจนและเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ขาดความพร้อมทางสังคมและเศรษฐกิจตกเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าเพื่อน
งานวิจัยฉบับล่าสุดมาจาก 2 องค์กรด้วยกัน คือ แมคคินซีย์แอนด์คอมพานี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก และ NWEA องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานประเมินด้านวิชาการ ผลวิจัยของทั้งสององค์กรได้ข้อสรุปที่สอดคล้องตรงกันว่า ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไม่ได้แค่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กหยุดชะงักเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายต่อการเรียนรู้ในระยะยาว แม้ว่าเด็กนักเรียนคนนั้นจะกลับมาเรียนตามปกติในภาคการศึกษาที่กำลังจะมาถึงก็ตาม
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาล่าสุดนี้ก็เป็นการยืนยันผลการศึกษา 2 ครั้งก่อนหน้าในรัฐเท็กซัสและรัฐอินดีแอนา ซึ่งเป็นสองรัฐแรกที่ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาว่าโควิดมีผลทางลบต่อระดับการอ่านและการคำนวณ
คาริน ลูอิส (Karyn Lewis) นักวิจัยอาวุโสแห่ง NWEA และหัวหน้าทีมผู้จัดทำรายงานฉบับล่าสุดกล่าวว่า แต่เดิมระบบการศึกษาของสหรัฐฯ ก็มีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว แต่การระบาดทำให้ช่องว่างทางการศึกษาชัดเจนขึ้น เด็กผิวสี เด็กที่พูดภาษาลาติน และเด็กชนเผ่าพื้นเมือง มีภาวะถดถอยมากกว่านักเรียนกลุ่มคนขาว ขณะที่เด็กเชื้อสายเอเชียได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าเด็กสามกลุ่มแรกที่กล่าวไป
โดยการศึกษาในครั้งนี้เริ่มต้นจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียนโรงเรียนรัฐจำนวน 5.5 ล้านคน ที่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วสหรัฐฯ ในช่วงปีการศึกษา 2020-2021 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับผลการเรียนของปีการศึกษาก่อนหน้า (2019) พบว่า ในวิชาคณิตศาสตร์ เด็กกลุ่มลาตินจากชั้นประถม 3 ทำคะแนนแย่ลงจากปีก่อน 17% เด็กผิวสี 15% และเด็กพื้นเมือง 14% ขณะที่เด็กเอเชียกับเด็กผิวขาวลดลง 9%
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่า เด็กที่ได้คะแนนแย่จากวิกฤตส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เรียนช้ากว่าเพื่อนร่วมชั้นอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เด็กเรียนไม่ทันเพื่อนมากไปกว่าเดิม ยิ่งเด็กนักเรียนคนไหนมีภูมิหลังครอบครัวที่ยากจนร่วมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์หนักขึ้นไปอีก คือ เด็กยากจนชั้นประถม 3 มีผลการเรียนเลขลดลงจาก 39 ในปี 2019 มาอยู่ที่ 22 ในปี 2020 คือลดลงถึง 17 คะแนน ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นที่ครอบครัวมีอันจะกินมีคะแนนลดลงจาก 71 ในปี 2019 มาอยู่ที่ 64 ในปี 2020 คือลดลงเพียง 7 คะแนนเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบอีกหนึ่งประเด็นที่น่าประหลาดใจว่า ผลการเรียนยิ่งย่ำแย่ลงเมื่อระยะเวลาในการปิดโรงเรียนยาวนานขึ้น ซึ่งทางทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่าน่าเป็นผลจากภาวะเหนื่อยล้าจากวิกฤตการระบาด โดยต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมกันต่อไปในประเด็นดังกล่าว
ด้านผลการศึกษาของบริษัทแมคคินซีย์ พบว่า ในช่วงสิ้นสุดภาคเรียน นักเรียนโดยเฉลี่ยมีการเรียนถดถอยลงเฉลี่ย 4-5 เดือนจากการเรียนในภาวะปกติ แต่ตัวเลขดังกล่าวจะเลวร้ายยิ่งขึ้นในกลุ่มเด็กนักเรียนผิวสีและลาตินอเมริกาที่เรียนล้าหลังในวิชาคณิตศาสตร์เฉลี่ย 6 เดือน และวิชาการอ่านเฉลี่ย 7 เดือน
อย่างไรก็ตาม วิชาคณิตศาสตร์สามารถใช้การจัดหลักสูตรเร่งรัดและติวเข้มพิเศษเพื่อเข้าช่วยชดเชยได้บ้าง แต่วิชาการอ่านซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ กลับต้องการระยะเวลาและความทุ่มเทเอาใจใส่ของทั้งผู้สอน ผู้เรียน และคนในครอบครัว
เอ็มม่า ดอน (Emma Don) ผู้ช่วยวิจัยที่ทำการศึกษาร่วมกับบริษัทแมคคินซีย์ กล่าวว่า วิชาการอ่านที่ไม่ซับซ้อนและเด็กสามารถหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านได้ตลอด ก็มีผลคะแนนที่แย่พอ ๆ กับวิชาเลข โดยในการศึกษา ทีมวิจัยใช้ข้อมูลจากบริษัทวัดผล “เซอร์คูลัม แอสโซซิเอตส์” (Curriculum Associates) เปรียบเทียบคะแนนของนักเรียนประถมทั่วสหรัฐฯ กว่า 1.6 ล้านคน ที่ทำข้อสอบในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2017, 2018 และ 2019 ซึ่งดอนยอมรับว่า ผลการศึกษาอาจคาดเคลื่อนได้ เพราะยังไม่นับรวมเด็กที่ยังคงเรียนทางไกลอยู่
ทั้งนี้ ความแตกต่างของผลกระทบทางการเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด เป็นภาพสะท้อนให้เห็นปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเรียน โดยกลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนแย่ลงส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวยากจน เป็นเด็กผิวสี หรือเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนขาว เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักหน่วงกว่ากลุ่มอื่น คือไม่มีที่อยู่ ไม่มีอาหารกินอิ่ม และไม่มีเงินเพราะผู้ปกครองตกงาน
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดยังแสดงให้เห็นความหวังบ้าง เพราะอย่างน้อยเด็กส่วนใหญ่แสดงให้เห็นพัฒนาการในทางบวกจากภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) หลังกลับมาเรียนที่ห้องเรียนได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าการเรียนรู้อาจจะต้องใช้เวลาซึมซับฟื้นฟูมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงแอนน์ อิชิมารุ (Ann Ishimaru) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ยังแย้งว่า ผลคะแนนจากการทำข้อสอบอาจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดผลกระทบและศักยภาพที่แท้จริงของผู้เรียน ทั้งนี้จากที่ตนเองได้ทำการศึกษา พบว่าเด็กผิวสีและเด็กละตินมีความสุขกับการเรียนด้วยตนเองและการเรียนทางไกลจากที่บ้าน เนื่องจากไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน การถูกแบ่งแยก หรือการถูกเหยียดจากเพื่อนร่วมชั้น และปัญหาที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้คะแนนน้อยมาจากการที่เด็กขาดแคลนอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็นในการทำความเข้าใจเนื้อหา
ขณะที่เปโดร โนกูเอรา (Pedro Noguera) คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย โรซิเยร์ กล่าวเสริมว่า การสอบวัดผลควรนำไปใช้ในการประเมินหาความต้องการของเด็กที่จะเรียนในแต่ละวิชามากกว่าการนำมาจัดอันดับเรียนเก่ง/ไม่เก่งของเด็กอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมเรียกร้องให้โรงเรียนจัดสรรงบเพื่อจ้างครูพิเศษหรือผู้เชี่ยวชาญให้เพียงพอต่อนักเรียนแต่ละกลุ่มให้มาก
“เราจำเป็นต้องมีแนวทางเข้าหาเด็กได้ทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน งานวิจัยหลายชิ้นก็ยืนยันว่า การติวพิเศษกลุ่มเล็ก ๆ หรือตัวต่อต่อหลายครั้งต่อสัปดาห์ ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะช่วยลดช่องว่างทางวิชาการของเด็ก แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมากก็ตาม” โนกูเอรากล่าว
ทั้งนี้ รายงานของมหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจียประเมินว่า การเรียนพิเศษมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 3,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี (ราว 121,600 บาท) เมื่อเทียบกับการเพิ่มชั่วโมงการเรียนขึ้นอีก 1 ชั่วโมงตลอดภาคการศึกษา ซึ่งอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี (25,600 บาท) หรือการเข้าค่ายฤดูร้อนที่ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อครั้ง (ราว 35,200 บาท)