เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติลดความเหลื่อมล้ำในห้องเรียน

เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติลดความเหลื่อมล้ำในห้องเรียน

ก่อนหน้านี้ “เอเอ” นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านเวียงหวาย จ.เชียงใหม่ มักจะใช้วิธีโดดเรียนในวันที่มีการสอบเก็บคะแนน เนื่องจากตัวเองไม่สามารถทำข้อสอบไม่ได้เหมือนกับคนอื่นในชั้นเรียน จากภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ทำให้ “เอเอ” เรียนรู้ได้รวดเร็วไม่เท่ากับคนอื่น ส่งผลให้เธอไม่ถูกชวนให้เข้าร่วมทำงานกลุ่ม​กลายเป็นช่องว่าที่​ผลักเธอให้ห่างจากเพื่อนจนกลายเป็น “เด็กหลังห้อง” ที่ถูกลืม ทั้งๆ ที่ อีกด้านหนึ่งของ “เอเอ” กลับชอบช่วยเหลืองานคนอื่น มีจิตอาสา เช่น การตั้งใจทำความสะอาดห้องเรียน ทั้งที่ไม่ใช่เวรทำความสะอาดของเธอ

 

เมกเกอร์สเปซ พื้นที่นักสร้างสรรค์
รูปแบบการเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติ

จุดนี้ทำให้ ครูมัทนา รุ่งแจ้ง ครูประจำชั้นมองเห็นว่า “เอเอ” มีศักยภาพในการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติมากกว่าการเรียนจากตำรา​สอดรับกับการกระบวนการเรียนรู้ แบบ Active Learning ที่ทางมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่โรงเรียนผ่านกระบวนการ​ STEAM DESIGN   

โดยเฉพาะกิจกรรม “เมกเกอร์สเปซ” (Makerspace) หรือกิจกรรมพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ ที่ช่วยดึงให้ “เอเอ” กลับเข้ามามีบทบาทในห้องเรียนผ่านรูปแบบการเรียนการสอนแบบลงมือปฏิบัติ

คู่ขนานไปกับวิธีที่ “ครูมัทนา” เข้าไปพูดคุยกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนให้ ยอมรับ “เอเอ” และเข้ามามีส่วนร่วมในระบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” จนทำให้เอเอมีการพัฒนาตัวเองที่ดีขึ้นตามลำดับ

 

เสื่อจากถุงนม
ความภูมิใจที่ใช้งานได้จริง

ไม่เพียงแค่ “เอเอ” แต่นักเรียนทุกคนจะได้เรียนรู้ในรูปแบบการเรียนการสอนในเชิงปฏิบัติ  เช่น การประดิษฐ์สิ่งออกที่ผลิตจากวัสดุภายในท้องถิ่น รวมถึงการทำโครงการ “Zero waste” โรงเรียนปลอดขยะ โดยนำวัสดุที่หลือใช้มาผลิตเป็นสิ่งของเพื่อใช้ประโยชน์​ได้ใหม่อีกครั้ง

ในคาบเรียนหนึ่ง “ครูมัทนา” ได้หยิบยกโจทย์ ปัญหาขยะจากถุงนมโรงเรียนซึ่งมีเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดย​ให้นักเรียนได้คิดสิ่งประดิษฐ์จากเศษขยะชนิดนี้ว่าจะนำไปทำอะไรได้บ้าง  

“นักเรียนที่มีโทรศัพท์มีอินเตอร์เน็ต เขาก็จะไปเปิดหาใน YouTube แต่น้องเอเอไม่มีโทรศัพท์ แต่เขาคิดจากสิ่งที่อยู่รอบตัว เขามานำเสนอว่าอยากจะทำเสื่อนั่ง เพราะที่บ้านเป็นไม้ จากไม้ไผ่ ถ้าเขามีเสื่อ จากถุงนมที่มีความนิ่ม แม่เขาจะได้นั่งสบาย เขาคิดแต่นี้ เด็กที่อยู่ในบริบทแบบนี้เขาก็คิดได้ แต่เขาคิดในสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา”

 

ครูประทับใจมากที่ เอเอ มีความมั่นใจในตัวเองได้ขนาดนี้

แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาผลักดันสู่การลงมือปฏิบัติจริง ​และยังทำให้  “เอเอ” เริ่มฉายแววของการเป็นแกนนำกลุ่ม นำเพื่อนคิดและลงมือทำ จนหลังจากที่ผลงานแล้วเสร็จ “เอเอ” ได้นำเสื่อที่ประดิษฐ์จากถุงนมกลับไปให้แม่ใช้ที่บ้านด้วยความภาคภูมิใจ

ศักยภาพที่เด่นชัดในการประดิษฐ์ และงานหัตถกรรมของ “เอเอ” ทำให้ครูส่งเธอ ลงแข่งขันการประดิษฐ์ของใช้จากเศษวัสดุเหลือใช้ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จนได้

รางวัลระดับเหรียญทอง ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ระดับป.1-ป.6 ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติครั้งที่ 69 ปีการศึกษา 2562  ซึ่งตอนเข้าแข่งขัน นักเรียนจะต้องมีการนำเสนอโครงงานด้วยตัวเอง ซึ่ง “เอเอ” ก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี

“เราไม่เคยบอกเด็กเลยว่าจะต้องพูดอะไร เพราะเราเปิดกว้างเต็มที่ แค่บอกว่าหนูจะพูดอย่างไรก็ได้ให้เขาฟังแล้วเข้าใจถึงวิธีการทำ เราปล่อยเวลาให้เขาไปคิด ปรากฏว่าเอเอ นำเสนอได้ เขาสามารถอธิบายให้คนเข้าใจได้ ครูประทับใจมากที่เขามีความมั่นใจได้ถึงขนาดนี้”

 

ต้องมีพื้นที่ให้เด็กแต่ละคนได้แสดงศักยภาพ

ขณะเดียวกันครูมัทยา ได้พยายามทำความเข้าใจกับเพื่อนๆของเอเอ ว่า แต่ละบุคคลระดับการเรียนรู้รับไม่เท่ากัน  แต่สิ่งที่ทุกคนในห้องเรียนจะทำได้ คือการช่วยกันอธิบายเพื่อน ทำให้หลังจากนั้นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน คือ เพื่อนเริ่มชักชวน “เอเอ” เข้ากลุ่มการทำงานในวิชาหลักด้วย

“ต้องบอกเลยว่าถ้าไม่มีหลักสูตรเมคเกอร์สเปซ ครูคงนึกไม่ออกว่าควรทำอย่างไร เพราะหากไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ ครูเองก็จะไม่ได้รับข้อมูลว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพอย่างไร โดยเฉพาะเด็กที่ไม่เก่งวิชาการ เราจะต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้คิด ให้เขาสามารถพูดออกมาโดยที่เขาไม่ผิด ไม่เหมือนกับวิชาคณิตศาสตร์ที่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง การที่ให้เขาคิดออกมาแบบไม่ผิด จะสามารถดึงตัวตนของเขาออกมาได้”

 

เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน
ต้องเปิดทางเลือกให้เด็กได้เลือกว่าจะเก่งแบบไหน

ตอนนี้ “เอเอ” จบชั้นป.6 จากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว โดยขณะนี้เธอเป็นวิทยากรของโรงเรียน สอนรุ่นน้อง ประดิษฐ์ขยะ สร้างจินตนา และ เป็นครูพี่เลี้ยงที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กและสตรี (SWAN Foundation) ทำหน้าที่คอยดูแลเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน

ครูมัทนา มองว่า เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาหลัก หรือวิชาการเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการเปิดทางเลือกให้เด็กได้เลือกเองว่าจะเก่งแบบไหน ตามความถนัดและความสามารถของเขา

“เทคนิคการสอนสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้บางส่วน แม้ว่าไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยช่วยในเรื่องของโอกาส เพิ่มโอกาสให้เขาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีมากมายหลายหลายด้านสำหรับเด็กด้อยโอกาสเด็กชายขอบ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือครูต้องรู้จักเด็กจริงๆ ว่าต้องการอะไร แล้วลองให้โอกาสเขา”

อย่างน้องเอเอ ครูไม่ได้ให้โอกาสแค่ครั้งเดียว ไม่ได้สังเกตแค่ครั้งเดียว และไม่ได้อดทนแค่ครั้งเดียว และน้องก็ไม่อดทนกับครูแค่ครั้งเดียว วันนี้เวลามองน้องเอเอ รู้สึกเลยว่าคนคนหนึ่งสามารถพัฒนาได้มาได้ขนาดนี้เลยหรือ ถ้าเราหยุดพัฒนาน้องวันนั้น น้องจะเป็นถึงวันนี้ไหม” ครูมัทนาทิ้งท้าย