เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farm เริ่มกลายเป็นที่แพร่หลายและกำลังจะเข้ามาทดแทนการทำเกษตรแบบเดิมๆ ด้วยจุดเด่นที่สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้กับเกษตรกร ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาทดแทนแรงงานคนและระบบการผลิตแบบเดิม
รวมทั้งการนำข้อมูลจาก Big DATA จากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการเกษตรเพื่อให้ตรงความต้องการของตลาดและสอดรับกับสภาพภูมิอากาศ หรือปริมาณน้ำฝนในแต่ละช่วงได้อย่างแม่นยำ แทนที่จะต้องมาลุ้นกับฟ้าฝนที่ยากจะคาดเดา
ทำให้ปัจจุบันหลายสถาบันการศึกษาหันมาเร่งพัฒนาองค์ความรู้เพื่อผลิตบุคลการที่มีความรู้ความสามารถในด้าน “เกษตรอัจฉริยะ” กันมากขึ้น เช่นเดียวกับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ที่หันมาเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาหลักสูตรจนได้รับเลือกเป็น 1 ใน 46 สถาบัน Excellent Model School หรือ “สถานศึกษาต้นแบบ ทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” ซึ่งจะทำงานร่วมกับ 14 องค์กรเอกชนชั้นนำของประเทศเพื่อ ระหว่างสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 46 แห่ง กับ 14 องค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี ที่มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางอย่างมีคุณภาพ
เชื่อม IoT สร้างโรงเรือนอัจฉริยะ สะอาดปลอดสารเคมี
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัยเริ่มพัฒนาหลักสูตรเกษตรอัจฉริยะมาตั้งแต่ปี 2560 และยังพัฒนาต่อเนื่อง โดยจัดสร้างโรงเรือนอัจฉริยะซึ่งมีระบบ “อินเตอร์ในทุกสิ่ง” หรือ IoT เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจากของจริง โดยแบ่งเป็นโรงเรือนอัจฉริยะของพืชที่มีกลไกควบคุมน้ำ ควบคุมความชื้นผ่านการพ่นน้ำ และ โรงเรือนอัจฉริยะของสัตว์เช่น วัวนม หมู ไก่
สำหรับโรงเรือนอัจฉริยะที่จัดทำขึ้นนั้นจะใช้พลังงานสะอาดในฟาร์ม มีการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ไปจนถึงการนำเอาโดรนมาใช้เพื่อถ่ายภาพหรือพ่นสารชีวภาพควบคุมศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย ซี่งจะเน้นไม่ใช้สารเคมีโดยสารชีวภาพที่ใช้นักศึกษาจะได้ลงมือทำเองทั้งหมด
เหนื่อยน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี
ศยามล นิติพงศ์สุวรรณ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ระบุว่า นักศึกษาที่จบออกไปจะสามารถออกไปทำงานในบริษัทชั้นนำ หรือ ทำฟาร์มเกษตรอัจฉริยะของตัวเองได้ ซึ่งหัวใจสำคัญคือ “การทำน้อยได้มาก” คือลงแรงน้อยแต่ได้ผลผลิตมาก
“ค่านิยมของเด็กที่มาเรียนเกษตร พ่อแม่เขาไม่ต้องการให้ลูกเขามาลำบากเหมือนพวก การใช้เทคโนโลยีจึงสามารถแก้ปัญหาพวกนี้ ต่อไปจึงไม่ใช่แค่ใช้จอบเสียมอย่างเดียว แต่ในการผลิตแบบแมสโพรดักชั่น หรือการผลิตขนาดใหญ่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เหนื่อยน้อยลงร่วมกับการผลิตบนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผลิตแบบผสมผสานไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว”
Big DATA วิเคราะห์ข้อมูลวางแผนการทำงาน
เริ่มตั้งแต่การวางแผนการผลิตที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้เรื่อง Big DATA ที่จะได้พยากรณ์ล่วงหน้าว่าตลาดต้องการอะไร เพื่อให้ผลิตออกมาแล้วขายได้ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต่างจากในอดีตที่ผลิตออกมาแล้วไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่ได้
ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีต้นทุนที่ไม่สูงและในทางปฏิบัติมีเกษตรกรที่ลงมือทำฟาร์มอัจฉริยะแล้วพบว่าคุ้มค่ากับการลงุทน เช่น การเข้าถึง Big DATA ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือ แอปพลิเคชันที่มีทั้งโหลดฟรี หรือเสียเงินในราคาที่คุ้มกับการลงทุนเมื่อนำไปใช้งานจริง
เกษตรกรเงินล้านเหนื่อยแล้วต้องประสบความสำเร็จ
ยกตัวอย่างแอปพลิเคชันเลี้ยงวัวนมที่ตกประมาณชุดละ 7,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรบริหารงานได้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เลย เช่น วัวตัวไหนถึงเวลารีดนม ถึงเวลาให้อาหาร มีตัวอย่างเกษตรกรสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เลี้ยงวัวนม 40-50 ตัว โดยไม่ต้องจ้างคนงาน แต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวางแผนมีเครื่องรีดนมเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่มีรายได้ต่อเดือนเป็นหลักแสน
“เกษตรกรยุคใหม่ที่ทำสมาร์ทฟาร์มมิ่งรายได้เขาอาจจะไม่ถึงกับเป็นเศรษฐี แต่ก็จะไม่ใช่เกษตรกรที่รายได้น้อย การหาเงินได้หลักล้านจากการเกษตรจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องใจรัก ต้องสู้ ต้องเหนื่อย ซึ่งสิ่งสำคัญคือเหนื่อยแล้วต้องสำเร็จ ไม่เหมือนเกษตรกรสมัยก่อนที่เหนื่อยแล้วไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่เพราะต้องคอยพึ่งฟ้าฝนที่ไม่แน่นอนแต่เดี๋ยวนี้ระบบพยากรณ์แม่นยำขึ้น”
หลักสูตรทวิภาคีร่วมกับจีน เสริมทักษะประสบการณ์ข้ามประเทศ
ปัจจุบันที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย มีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เรียนอยู่ในระดับ ปวส. ภาคเกษตร 25 คน ซึ่งแต่ละคนมีเป้าหมายที่จะนำความรู้ที่ได้ออกไปประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ
ในปีการศึกษานี้เด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จำนวน 13 คน ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเรียนหลักสูตรทวิภาคีซึ่งเรียนร่วมกันกับวิทยาลัยอาชีวะศึกษาปักกิ่ง ประเทศจีน จากเดิมจะต้องเดินทางไปเรียนที่ประเทศจีนในเทอมที่สามและห้า แต่เมื่อเกิดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทำให้ ต้องปรับแผนมาเรียนออนไลน์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักศึกษาที่จะได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากสองประเทศ
ทั้งหมดถือเป็นทิศทางการพัฒนาในหลักสูตรการเกษตรที่ก้าวหน้าไปมาก จนทำให้ภาพเกษตรกรในอดีตที่เคยใช้แรงงานหลังสู่ฟ้าหน้าสู่ดิน กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่มีความก้าวหน้ามั่นคงในอาชีพ
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค