ในโลกการศึกษาที่เสียงดังไปไม่ถึง
โดย : ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์
ภาพถ่าย : ธีรพัฒน์ แก้วชำนาญ

ในโลกการศึกษาที่เสียงดังไปไม่ถึง

1.

ประเทศไทยเราก็เป็นเสียแบบนี้ – ต่อให้ยังอยู่ในฤดูหนาว แต่อากาศเดือนกุมภาพันธ์ก็ร้อนระอุจับใจ ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าอีกหนึ่งถึงสองเดือนให้หลังจะร้อนแผดร้อนเผายิ่งกว่านี้ ที่รู้กันมีอยู่แค่อย่าไปท้าทายอำนาจแดดบ่าย หลบได้ก็จงหลบ ‘โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ’ ในโมงยามที่เราไปถึงจึงมีเพียงความเงียบสงบ ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ย่านที่ตั้งอย่างสาทร

หากไม่ทราบข้อมูลจากหน้าอินเทอร์เน็ตมาก่อน ลำพังอาคารเรียนที่ใช้รองรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย สนามกลางแจ้งที่ขีดเส้นให้เล่นได้ทั้งบอลและบาส รวมถึงแมกไม้เขียวสบายตาจำนวนมาก ไม่ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าที่แห่งนี้คือโรงเรียนสำหรับเด็กหูหนวกเลยแม้แต่น้อย อาจจะมีเบาะแสให้จับสังเกตได้บ้างจากป้ายตามถนนหนทางด้านนอก – ‘ขับช้าๆ โปรดระวังคนพิการ’ แต่ความสงสัยจะถูกไขกระจ่างก็ต่อเมื่อคุณมีโอกาสก้าวเท้าเข้าไปในห้องเรียน

สำรวจบรรดาโปสเตอร์สื่อการสอนรายรอบห้อง แล้วพบว่านอกจากรูปภาพและคำศัพท์อย่างที่ควรจะเป็น ยังมีภาษามืออธิบายกำกับไว้แทบทุกชิ้น

ยิ่งเป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษ ยิ่งน่าสนใจว่ามีอย่างน้อยสี่ภาษาที่นักเรียนต้องจดจำ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามือไทย และภาษามืออเมริกัน

แต่สำหรับ ‘เอิน’ แล้ว เธอสนใจอย่างอื่นยิ่งกว่าการท่องจำภาษาเหล่านั้น


แทนการขยับริมฝีปาก เธอแนะนำตัวเองผ่านการสะกดคำด้วยนิ้วมืออย่างฉะฉาน – การชี้ปลายนิ้วนางเท่ากับสระเอ กำมือคือ อ.อ่าง งอสี่นิ้วชนนิ้วโป้งเป็นสระอิ จบด้วยการกำนิ้วโป้งแทรกระหว่างนิ้วกลางและนางแทน น.หนู

‘หนูชื่อ เอิน ค่ะ’ ถัดจากชื่อ คือการบอกกล่าวว่าตนอายุ 15 เรียนอยู่ชั้น ม.3 และชอบวาดรูปมาก มากถึงขนาดกำมือไว้ที่อกซ้าย คีบขยับนิ้วโป้งและชี้ขึ้นลงประหนึ่งดึงหัวใจออกมา เป็นภาษามือคำว่า ‘ชอบ’ อยู่หลายครั้ง

‘ชอบทั้งการวาดจากแบบ ต้นไม้ ดอกไม้ ทั้งวาดลายเส้นการ์ตูน จะลงสีน้ำ สีประเภทต่างๆ หรือแรเงาด้วยดินสอ EE ก็ชอบหมดเลยค่ะ’

ขอแค่มีกระดาษสักแผ่นกับดินสอสักแท่ง จินตนาการของเอินก็พร้อมโลดแล่นทุกครั้งที่มีเวลาว่าง และภาพที่เธอจินตนาการบ่อยครั้งที่สุดคือการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะสายศิลปะ รวมถึงจบออกมาประกอบอาชีพเกี่ยวกับการวาดเขียน

เพียงแต่โรงเรียนไทยทั่วไปล้วนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน หากไม่ใช่โรงเรียนสอนทักษะเฉพาะทาง ก็สอนศิลปะให้พอพักผ่อนจากวิชาการ หาได้เข้มข้นหลากหลายอะไรนัก เอินจึงต้องเรียนวาดรูปเพิ่มเติมกับติวเตอร์ทางออนไลน์ ภายใต้ข้อจำกัดว่านอกจากผู้สอนจะมีความรู้เรื่องศิลปะแล้ว ต้องสื่อสารภาษามือกับเธอได้ด้วย

‘คนที่สอนหนูก็เป็นรุ่นพี่หูหนวกค่ะ’ เอินโบกไม้โบกมือ ‘เขาสอนเราเรื่องพื้นฐาน การวาดรูปตามแบบ เป็นคนบ้าง ผลไม้บ้าง สอนว่าต้องลงสีเข้มสีอ่อนตรงไหน ทำยังไงถึงจะเหมือน’

ส่วนไหนลงเงาเป็น ‘สีดำ’ จะทำท่านิ้วชี้ปาดคิ้ว ส่วนไหนแสงตกกระทบเป็นสี ‘อ่อน’ จะแบมือแล้วหมุนตามเข็มนาฬิกา

อดสงสัยไม่ได้ว่าเด็กหูหนวกเรียนเรื่องสีกันอย่างไร ในเมื่อการเจาะจงเฉดสีที่ต้องการ บางครั้งแม้ใช้ถ้อยคำยังยากจะกล่าวให้เข้าใจตรงกัน — ที่ว่าแดงนั้นแดงสดแค่ไหน ที่ว่าฟ้าสุดฟ้าคือเท่าใด

‘สมมติว่าต้องลงสีแดง เราจะอธิบายด้วยภาษามือว่าเป็นสีแดงเบอร์ 1 2 3 4 5 ไล่จากเข้มไปอ่อนตามที่กำหนดกัน บางครั้งก็บอกวิธีผสมสี ว่าใช้สีแดงเยอะขนาดไหนผสมกับสีน้ำเงินให้ออกมาเป็นสีม่วง หรือใช้น้อยๆ ผสมกับสีขาวให้ออกมาเป็นสีชมพู’

ที่สุดแล้วหากยังไม่ตรงใจมากพอ ภาษาอเมริกันที่ท่องจำจากห้องเรียนคงถึงคราวออกโรง สะบัดนิ้วมือสะกดรหัสสีและชื่อสีภาษาอังกฤษตามแพนโทนในอินเทอร์เน็ตแทน

‘แต่มันก็ยากอยู่ดีค่ะ’ เอินงอนิ้วชี้สองข้างเคาะกัน หัวคิ้วขมวดมุ่นลำบากใจ – ยาก เพราะต่อให้เป็นการเรียนแบบเปิดกล้องคุยกันตัวต่อตัวและถามคำถามได้อย่างอิสระ กระบวนการแปลงถ้อยคำไปเป็นการขยับมือของเด็กหูหนวกก็อาจทำให้เนื้อความตกหล่นระหว่างทาง เนื่องจากภาษาของพวกเขาไม่มี ‘คำศัพท์’ รองรับมากพอ และไม่อาจสื่อสารได้รวดเร็วทันใจ

‘มีหลายอย่างที่เราเรียนแล้วไม่เข้าใจ บางทีก็สื่อสารไม่ตรงกัน’

แต่ถ้ามัวถามคำถามซ้ำๆ คงทำให้ใครสักคนรำคาญได้อย่างง่ายดาย เอินรู้แก่ใจดี จึงเลือกถามแค่พอเหมาะ แล้วคอยเรียนรู้จากคำติชมหลังส่งผลงานตามโจทย์เสียส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ใช้เวลาว่างหาเทคนิคเพิ่มเติมจากยูทูบ — ที่ซึ่งมีคนสอนวาดรูปอยู่เยอะ แต่มีคนคิดถึงเด็กหูหนวกอยู่น้อย

ท่างอนิ้วชี้เคาะกันกลับมาอีกครั้ง

‘ถ้าไม่มีซับ เราก็ไม่รู้เลยว่าเขาพูดอะไร ต้องพยายามสังเกตเอาเองว่าทำยังไงถึงจะสวยเหมือนเขา บางทีถึงมีซับ แต่ก็อ่านไม่เข้าใจ’

เอินคิดมาตลอด – ในฐานะเด็กหูหนวกที่มีพ่อ แม่ และน้องสาวเป็นคนหูดี – ว่ามีบางอย่างสู้คนอื่นไม่ได้ เมื่อเทียบกับน้องที่อายุน้อยกว่า เธอจินตนาการไม่กว้างไกล ออกจะเรียนรู้ช้าเสียด้วยซ้ำ เฉกเช่นเพื่อนวัยเดียวกันอีกหลายคนที่อยู่ ม.3 แล้วแต่ยังอ่านเขียนไม่คล่อง เพราะภาษาไทยไม่ใช่ภาษาหลักของชีวิต ภาษามือต่างหากที่เป็นภาษาแม่ และนิ้วต่างหากที่สำคัญกว่าลิ้น

เมื่อผัสสะหายไปหนึ่ง จึงทำให้ประสบการณ์เรียนรู้แคบลง

คำถามคือจะเติมเต็มช่องว่าง สานต่อความฝันของพวกเธออย่างไร


2.

‘ครูยุทธ์’ คล้ายกับเอินมาก – เขาหูหนวกและหลงใหลในการวาดรูปเหมือนกัน จะต่างก็เพียงโตกว่า ผ่านการศึกษาศิลปะในระดับมหาวิทยาลัยมาแล้ว และกลายเป็นครูสอนศิลปะเต็มตัว

‘ผมเคยเรียนอยู่ที่สงขลามาก่อน พอจบ ม.3 ก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนนี้ (โสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ) จบ ม.ปลายต่อ ปวส. ที่เทคนิคกรุงเทพ 3 ปี เข้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรียนเกี่ยวกับการวาดรูป แล้วถึงมาเป็นครูพี่เลี้ยงที่นี่ครับ’

ถ้าคนหูหนวกใช้สีหน้าแทนน้ำเสียง ครูยุทธ์คงถือว่าเป็นคนที่ทำให้เรื่องเล่าธรรมดาๆ สนุกน่าฟัง ดวงตา หว่างคิ้ว ไปจนถึงริมฝีปากของเขาขยับเปลี่ยนไปตามจังหวะมือ ระหว่างที่เล่าว่าตนเองดูแลวิชาศิลปะของเด็กอนุบาลถึงชั้นประถมหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงวัยที่อย่าว่าแต่ฝึกวาดเขียน แค่สื่อสารกันด้วยภาษามือยังเข้าใจกันผิดๆ ถูกๆ อยู่หลายครั้ง

‘เด็กๆ ยังไม่เก่งภาษามือกัน บางทีก็ไม่เข้าใจว่าครูต้องการให้ทำอะไร’ แต่ในฐานะที่ครูยุทธ์เคยเป็นเด็กชายยุทธ์มาก่อน เขาเข้าใจดีว่าการสอนเด็กหูหนวกต้องใช้ความอดทน อธิบายและแสดงให้ดูซ้ำๆ ชี้นำให้เด็กๆ พัฒนาทีละขั้น ค่อยเป็นค่อยไป

เทียบกันแล้ว ประสบการณ์สมัยเรียนในระบบการศึกษาอาศัยความอดทนกว่านี้เยอะ

‘ตอนเรียนมหาวิทยาลัยยากที่สุดแล้วครับ’ คำว่า ‘ยาก’ ของครูยุทธ์ไม่เหมือนของเอินเสียทีเดียว เพราะถึงจะงอนิ้วชี้เคาะกัน แต่ริมฝีปากก็ยังเปื้อนยิ้ม เป็นใบหน้าของคนที่ผ่านมรสุมอุดมศึกษามาแล้ว มีทั้งทุกข์ทั้งสุขปะปนในความทรงจำ และถ้าใครถามว่าอยากย้อนกลับไปเรียนอีกรอบไหม – ไม่เอา

‘สำหรับผม เรื่องการวาดนี่ไม่มีปัญหา แต่ตอนเรียนต้องทำงานไม้ แกะสลักไม้ ยากมากครับ การเขียนรายงานก็ยาก เรียนพวกทฤษฎีก็ยาก ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่’  

‘พอเราอ่านเองไม่เข้าใจ จะบอกให้คนหูดีช่วยอธิบาย เขาก็ไม่ได้ภาษามืออีก เขียนสื่อสารกันก็ติดๆ ขัดๆ เลยเป็นปัญหาว่าไม่รู้เรื่องสักที’

ลึกลงไปถึงรากเหง้าของอุปสรรค ครูยุทธ์ยอมรับว่าคนหูหนวกส่วนใหญ่ไม่เชี่ยวชาญทักษะด้านภาษา ยิ่งเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เนื้อหาการเรียนยิ่งประกอบด้วยคำศัพท์เฉพาะทางและเรื่องนามธรรม ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่คนหูหนวกจะเข้าใจได้โดยง่ายมาแต่ไหนแต่ไร – ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าต้องสอนเด็กหูหนวกสักคนให้รู้จัก ‘ประหยัด’ หรือ ‘อดออม’ ลำพังสะกดคำ เขียนให้ดู พวกเขาอาจยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

‘ต้องมีตัวอย่างให้เขาเห็น มีกระปุกเงิน ทำท่าหยอดกระปุกไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราจะมีเงิน แบบนี้ถึงจะเข้าใจครับ’

ดังนั้นถ้าถกเถียงถึงนิยามคุณค่าของศิลปะ วิจารณ์แง่งามของงานศิลป์ เห็นทีครูยุทธ์จะไม่สันทัดนัก สิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวกลับมาสอนในโรงเรียนจึงเป็นการใช้สี วิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆ สร้างสรรค์ผลงาน และการเน้นย้ำให้เด็กๆ ตั้งใจเรียนภาษาไทยให้แตกฉานเสียมากกว่า

อย่างหลังนอกจากถอดบทเรียนผ่านประสบการณ์การศึกษา ยังมีแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่กระตุกเตือนกันอยู่ร่ำไป

‘ผมชอบดูหนังมากครับ’ หนังไทยไม่ค่อยเท่าไหร่ หนังฝรั่งจะโดนใจมากกว่า ครูยุทธ์บอกเราเช่นนั้น

‘ทั้งหนังสงคราม หนังผี หนังรัก หนังตลก ชอบทั้งหมดเลย หนังสยองขวัญ ซอมบี้กัดกันเลือดสาดก็ดูนะ’ ไอ้พวกเสียงปืน เสียงระเบิดไม่ได้ยินก็ไม่เป็นไร ภูตผีที่ว่าน่ากลัว เห็นแค่หน้าก็ยังเข้าใจ

แต่หนังตลกนี่หากไม่ใช่ตลกที่หน้าตา ตลกที่ภาษากาย ครูยุทธ์แทบไม่รู้เลยว่าผู้คนขำอะไรกัน

‘เราอ่านซับไม่ค่อยทัน หูดีบางคนขำจนเก้าอี้สั่นแล้ว เรายังไม่รู้เรื่องเลย’ เล่าพลางหัวเราะแผ่ว ไม่มีเสียงเล็ดลอด มีเพียงลมและอาการส่ายหัวเหมือนบอกว่าตัวเองไม่เอาไหน

หากเป็นไปได้ ครูยุทธ์ก็อยากให้บรรดาสื่อต่างๆ มีล่ามภาษามือกำกับ จำพวกช่องข่าวหรือรายการบางประเภทอาจพอมีอยู่บ้าง แต่หน้าจอของล่ามก็เล็กเหลือใจ ทำเอาชายวัย 40 ต้นต้องเพ่งจ้องจนปวดหัวปวดตากว่าจะรู้ว่าวันนี้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น และนั่นล่ะ ปกติคนเราชอบดูอะไรสนุกๆ อย่างหนัง ละคร คลิปสั้นบนอินเทอร์เน็ตยิ่งกว่าติดตามข่าวอาชญากรรม สังคมการเมืองทั้งวี่ทั้งวันอยู่แล้ว

‘อย่างน้อยถ้ามีซับให้ก็ยังดี คนที่อ่านเก่งๆ จะได้รู้เรื่องกับเขา’

ในโลกที่เทคโนโลยีทรงอำนาจ กระแสข้อมูลไหลท่วมท้นจากทุกทิศทาง เรื่องราวทุกสิ่งอย่างล้วนเปลี่ยนผันรวดเร็ว

คำถามคือจะทำยังไงให้คนแบบครูยุทธ์ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง


3.

วันแรกที่ ‘ครูอังคณา’ ย้ายจากโรงเรียนเอกชนธรรมดามาบรรจุเป็นครูประจำโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ เธอไม่รู้ภาษามือสักนิด และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่นี่คือโรงเรียนสอนเด็กหูหนวก

“พอสอบบรรจุได้ ทางราชการก็ให้มาประจำที่โรงเรียนนี้ เราไม่ได้เลือกเอง เพราะเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับการศึกษาพิเศษเลย” น้ำเสียงของครูสาวเนิบช้า แต่กลั้วไปด้วยความขบขันเจือจาง เมื่อย้อนมองกลับไปว่าถึงขนาดเห็นชื่อ ‘โสตศึกษา’ ตำตาตนก็ไม่ทันเฉลียวใจ กระทั่งเห็นเด็กนักเรียนโบกไม้โบกมือใส่กันยังหลงคิดไปอีกทาง

“ตอนแรกเราคิดว่าเด็กเป็นอะไรกันหรือเปล่า เครียดหรือเปล่า หรือว่าทะเลาะกัน ตอนหลังถึงรู้ว่าที่นี่เขาคุยกันด้วยภาษามือ”

ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปโลกอีกใบ – โลกที่เสียงพูดของครูกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในห้องเรียน ครูอังไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากต้องติวภาษามือหลักสูตรเร่งรัดจากบรรดาเพื่อนร่วมงานทุกเย็น เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มก่อนเริ่มต้นสอนนักเรียนได้จริง

จนถึงทุกวันนี้ ครูอังยังจำได้ดีว่าชั้นเรียนแรกของเธอเป็นวิชาสังคมของเด็กชั้นประถมต้น ซึ่งความโหดหินคือนอกจากภาษามือสื่อสารในชีวิตประจำวันที่ติวเข้มมา เธอยังต้องเชี่ยวชาญภาษามือที่เป็นศัพท์วิชาการเฉพาะ

แล้วเวลาเพียงหนึ่งเดือนจะไปพออะไร?

“พอเข้าไปในชั้นเรียนที่เรารับผิดชอบ ตามปกติเราจะสอนเนื้อหาด้วยการทำภาษามือให้เด็กเข้าใจใช่ไหม? ของครูนี่กลับกัน เราต้องบอกนักเรียนว่าเดี๋ยวครูจะสอนเธอด้านวิชาการนะ แต่เธอต้องช่วยสอนภาษามือครูเป็นการแลกเปลี่ยนกัน”

เด็กบางคนให้ความร่วมมือดี – ถ้าใช้นิ้ววาดรูปตัว ‘T’ ตรงจมูก แปลว่าประเทศไทย, งุ้มนิ้วทั้งห้าแตะข้างศีรษะ เท่ากับประเทศลาว, ยกนิ้วชี้แตะปาก แล้วทำมือเป็นรูปตัว ‘C’ คือประเทศจีน แต่บางคนก็มองว่าคำขอร้องของครูอังช่างแปลกประหลาด ถึงขั้นเดินเข้ามาใกล้ ชี้ไปที่ตัวครู กำนิ้วมือไว้ตรงบริเวณขมับ แล้วแบมือออก แสดงสีหน้าสับสนไม่เข้าใจ

‘ทำไม-ครู-ไม่รู้’ – ทำไมคนเป็นครูถึงไม่รู้เรื่องเหล่านี้? เขาถามครูกันตรงๆ โผงผางเสียจนครูอังอึ้งกิมกี่ มารู้ทีหลังว่าธรรมชาติภาษามือก็เป็นเช่นนั้นเอง เน้นสื่อความ ไม่เยิ่นเย้อ ซึ่งครูอังได้แต่สารภาพตามตรง ครูยังใหม่ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่รู้ ถ้าเธอช่วยสอน ต่อไปครูจะอธิบายบทเรียนได้ดีกว่านี้

ปัจจุบันครูอังสอนที่โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆมาแล้ว 27 ปี สอนทั้งวิชาสังคมและวิชาภาษาอังกฤษให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ถือได้ว่าเป็นครูผู้เชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่าสี่ภาษา และขณะที่นั่งสนทนากันด้วยถ้อยคำ มือของเธอขยับแปลคำพูดในบางจังหวะ บ่งบอกถึงความเคยชิน

“เราคุยกับเด็กหลายเรื่องมาก บางคนมาปรึกษาเรื่องส่วนตัวก็มี” ธรรมดาของครูที่คลุกคลีกับเด็กวัยรุ่น ส่วนมากมักรับหน้าที่ดูแลสุขภาพกายใจไปจนถึงปัญหาอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องวิชาการ ต่อให้เป็นเด็กหูหนวกเองก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัยและการรับฟัง ครูอังจึงเป็นหนึ่งในคนที่นักเรียนมาเล่าอะไรต่อมิอะไรให้ฟังเรื่อยๆ

ตั้งแต่เรื่องความรัก แอบชอบคนนั้น อยากจีบคนโน้น อกหักจากคนหูดี มีปัญหากับเพื่อนในห้อง แล้วยังมีสารพัดคำศัพท์จากอินเทอร์เน็ตที่เด็กนักเรียนจะสรรหามาถาม

“บางทีเด็กอ่านข่าวมา ก็มาถามเราว่าครูครับ ‘เสธ.’ แปลว่าอะไร เราต้องอธิบายให้เขา บอกว่าเป็นยศของทหารนะ รู้จักทหารใช่ไหม? บางคำไม่มีในภาษามืออย่าง ‘เลิศเลอ’ ก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจโดยการใช้คำศัพท์ที่ใกล้เคียงแทน เช่น เลิศเลอคือสวย สวยมาก ดีมาก สวยสุดๆ”

ครูอังแบมือตั้งฉากกับใบหน้า ขยับมือและแขนหมุนทวนเข็มนาฬิกา ก่อนชูนิ้วโป้งให้ เป็นคำว่า ‘สวย’

“มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาถามว่า ‘ปัง’ ในเน็ตคืออะไร เราบอกว่าปังคือดังมาก เด็กดันเข้าใจว่า ‘ปัง’ คือเสียงดังเหมือนระเบิด กว่าจะอธิบายจนเข้าใจกันได้ต้องยกตัวอย่างไปหลายเรื่อง”

ถัดจากคำแสลงและปัญหาหัวใจ เรื่องที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยคือปัญหาเศรษฐกิจ มีเด็กหูหนวกจำนวนไม่น้อยที่มาปรึกษาครูว่าอาจต้องเลิกเรียนกลางคันเพราะบ้านไม่มีเงิน หรือไม่อาจเรียนต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาได้ เพราะทุนทรัพย์ไม่อำนวย

“แล้วยังมีเด็กที่เรียนจบไปแล้วมาขอให้ครูไปเป็นล่ามช่วยสมัครงาน เพราะกลัวว่าถ้าสื่อสารด้วยตัวเอง ทางบริษัทจะไม่เข้าใจ ตัวเขาสื่อสารด้วยภาษามือเป็นหลัก ทักษะการเขียนก็ไม่แข็งแรง สุดท้ายครูก็ไปช่วยเขานะ แต่บอกให้เขาพยายามเขียนเอกสารต่างๆ ด้วยตัวเอง ครูจะบอกบริษัทว่าเธอมีทักษะอะไร ระดับไหน ให้ทางนั้นพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ”

เช่นเดียวกับครูยุทธ์ และครูคนอื่นๆ ครูอังพยายามสอนนักเรียนเสมอว่าต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอ่านเขียน เพื่อเปิดโอกาสเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและการสมัครเข้าทำงานเช่นคนทั่วไป โดยเธอรับหน้าที่อธิบายแทนคนหูหนวกว่าเพราะไวยากรณ์ภาษามือต่างจากภาษาไทย ทำให้พวกเขามีปัญหาในการเรียนรู้

“เขาจะนำสิ่งที่เขาเห็นมาพูดก่อน เช่น ถ้าจะพูดว่า ‘ผมกินข้าว’ แต่ในภาษามือ เขาเห็นข้าวมาก่อน ก็จะนำกรรมมาขึ้นต้นประโยค กลายเป็น ‘ข้าว-ผม-กิน’

“ ‘พ่อขับรถ’ ก็จะเขียนว่า ‘รถ-พ่อ’ เป็นคน ‘ขับ’ ‘ลิงกินกล้วย’ คือ ‘กล้วย’ มี ‘ลิง’ มา ‘กิน’”

ครั้งหนึ่ง ครูอังแต่งชุดดำทั้งตัวมาสอนเพื่อเตรียมไปร่วมงานศพในตอนเย็น นักเรียนเห็นเข้าก็ทำภาษามือชี้หาครู ถามว่า ‘ไป’ – ‘ตาย’ เหรอ? ทำเอาครูอังต้องรีบแก้ท่าทางคำพูดเสียใหม่ ไม่ให้เนื้อหาน่าหวาดเสียวยิ่งไปกว่านี้

“ในโลกของเขา ใช้คำแค่นี้สื่อสารกันก็เข้าใจ แต่เราอยากให้เขาใช้ภาษาเขียนได้ดี เพราะไม่ใช่ทุกคนที่คุยภาษามือกับเขาได้ การใช้ชีวิตในสังคม เขาต้องสื่อสารกับคนนอกชุมชนด้วย”

‘การใช้ชีวิตในสังคม’ คำนี้ช่างกว้างและเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยนับล้าน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ต้องเขียนให้รู้เรื่องเพื่อสื่อสารเท่านั้น ครูอังยังมองเลยไปถึงทักษะชีวิตและมารยาททางสังคมที่เด็กๆ ควรรู้ เช่น การตรงต่อเวลา การใช้บริการขนส่งสาธารณะร่วมกับคนอื่นๆ ไปจนถึงการมีสัมมาคารวะ ไปมาลาไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่

“ถ้าพบคนอื่นต้องรู้จักยกมือสวัสดี รู้จักการขอบคุณ เดินผ่านผู้ใหญ่ต้องค้อมตัว” วัยรุ่นทั่วไปคงฟังคำพูดเหล่านี้พลางเบ้หน้าด้วยความรำคาญ กระนั้นครูอังก็ยังยืนยันที่จะพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก

“ธรรมชาติของเด็กหูหนวกมักเป็นฝ่ายรอให้คนอื่นเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ ทำความรู้จักกับเขา เพราะเขาไม่ได้ยินจึงไม่รู้ว่าใครกำลังพูดหรือสนใจเขาอยู่บ้าง บางคนต้องสบตา จ้องเขาตรงๆ เขาถึงจะยอมทักทาย ยกมือไหว้ ซึ่งมันอาจไม่น่ารักในสายตาคนทั่วไป”  

เอาเข้าจริง คนเป็นครูคงคาดหวังจากลูกศิษย์อยู่เพียงไม่กี่อย่าง

เติบโตอย่างมั่นคง และเป็นที่รักของคนอื่นๆ ในสังคม

เท่านั้นก็คงเพียงพอแล้ว


4.

ในโลกใบเล็กที่สุ้มเสียงดังไปไม่ถึง ความเปราะบางเหลื่อมล้ำยังคงกัดกินระบบการศึกษาไทย

ทั้งหลักสูตรที่ไม่หลากหลายพอจะรองรับความฝัน

ทักษะอ่านเขียนที่ไม่ได้รับการพัฒนามากพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ภาวะขาดแคลนครู รวมถึงผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเฉพาะด้าน

ภาระงานที่ครูคนหนึ่งแบกรับแทบเกินตัว

ฯลฯ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ไม่ได้มีน้อยหน้าไปกว่าโลกการศึกษาของคนหูดี หรืออาจจะมากกว่า แต่ว่าเงียบหายเพราะไม่อาจส่งเสียงกึกก้องได้ผ่านถ้อยคำ

คำถามสำคัญคือหากไม่ได้ยิน ‘เสียง’ กล่าวถึงปัญหา แล้วจะมีใครใช้ดวงตาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนลึกซึ้งบ้างหรือไม่

จะมองเห็นตัวตนของพวกเขาชัดเจนแค่ไหน

ก็สุดแท้แต่จะคาดเดา


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world