“ณัฏฐพล” ลั่นพร้อมจับมือ กสศ. ขจัดความเหลื่อมล้ำเป็นนโยบายเร่งด่วน

“ณัฏฐพล” ลั่นพร้อมจับมือ กสศ. ขจัดความเหลื่อมล้ำเป็นนโยบายเร่งด่วน

รมว.ศธ.พร้อมสานนโยบายลดความเหลื่อมล้ำกับกสศ.ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้ศธ.วางแผนจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือโอกาสทางการศึกษาเด็กยากจนได้ในอนาคต

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่โรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงาน ‘ตลาดวาดฝัน ส่งต่อรอยยิ้ม สร้างโอกาส สร้างอาชีพ นักเรียนทุนเสมอภาค’ โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า กองทุน กสศ.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นตัวเลขเด็กยากจนที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้ศธ.วางแผนจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือโอกาสทางการศึกษาเด็กยากจนได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตนมีนโยบายที่ชัดเจนในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน โดยจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เป็นนโยบายเร่งด่วน โดยหวังว่าทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมปรับปรุงแก้ไขและต่อยอดเรื่องการศึกษาต่างๆไปพร้อมกับตน ซึ่งการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษานั้นจะต้องมุ่งเน้นให้เด็กเรียนเพื่อการสร้างอาชีพไม่ใช่เรียนจบแล้วกลับไปนั่งอยู่บ้านหรือไปนั่งเล่นเกม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากที่ได้เห็นข้อมูลตัวเลขเด็กยากจนจากกองทุนกสศ.ที่ครอบครัวมีรายได้เพียง 1,250 บาทต่อเดือนเท่านั้น เป็นสิ่งที่มองว่า รายได้ในจำนวนเท่านี้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนเด็กไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาในการให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กยากจนมากยิ่งขึ้นโดยที่ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณจะต้องเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดว่างบที่ให้ไปเด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาที่แท้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามขอให้ สพฐ.นำโครงการการสร้างอาชีพสร้างรายได้ที่กองทุนกสศ.ดำเนินการอยู่ไปต่อยอดขยายความครอบคลุมให้มากขึ้นด้วย

“สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนที่จะมาแบกรับภาระต่อไปก็คือน้องๆ หลานๆ ยิ่งหากเขาเก่งมากเท่าไหร่ ประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบก็ต้องมีตัวชี้วัด ว่า คืออะไร และเป็นสิ่งที่หน่วยงานของ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดูแลเด็กนักเรียนทั้งหมดต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เห็นความชัดเจน หลังจากนี้อีกหนึ่งปี เพราะเป็นเงินจากภาษีประชาชน ต้องใช้ให้มีคุณค่า รวมทั้งจะต้องเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ​SDGs เป้าหมายที่สี่การศึกษาที่เท่าเทียม” รมว.ศธ.กล่าว

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือด้วยแนวทางสงเคราะห์แต่เพียงลำพังนั้น ยากที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน และไม่สามารถหยุดปัญหาความยากจนข้ามชั่วคนได้ ส่วนหนึ่งของทุนเสมอภาคของ กสศ. จึงมุ่งไปที่กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนทุนเสมอภาคเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองและดูแลครอบครัวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยการสนับสนุนและบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียน คุณครู นักเรียน ขณะนี้มีโรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถขยายผลกิจกรรมทักษะอาชีพ นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายรูปแบบ สร้างรายได้ให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค สมัครเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายตลาดวาดฝัน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ เบื้องต้นแล้ว 107 โรงเรียนทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาค และในอนาคตจะมีมากขึ้นกว่านี้

“ในวันนี้ยังเป็นการมอบเงินบริจาค บาทแรกของประชาชนทั่วไปที่ร่วมสมทบความช่วยเหลือกับทุนเสมอภาคจากกสศ. ในโครงการรณรงค์จดหมายลาครู ถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐและภาคประชาชนได้ทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกัน โดยยอดเงินบริจาคจากโครงการรณรงค์จดหมายลาครูระหว่างเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2562 มีผู้บริจาค 1,576 รายการ รวมยอดบริจาคทั้งสิ้น 695,239.20 บาท ซึ่งเงินบริจาคจากประชาชน ส่วนแรกจะมุ่งตรงไปที่เด็กๆเจ้าของจดหมายลาครูจำนวน 8 คนๆละประมาณ 43,000 บาท เพื่อช่วยเหลือปัญหาเฉพาะหน้า ให้ได้เรียนหนังสือ ไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษา และส่วนที่สอง จะสนับสนุนโรงเรียน 6 แห่งๆละ ราว 58,000 บาท เพื่อใช้ในกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมศักยภาพเด็กๆ ต่อยอดจากที่กสศ.สนับสนุนทุกโรงเรียนอยู่ และยังส่งผลให้นักเรียนทุนเสมอภาคคนอื่นๆในโรงเรียนได้รับอานิสงค์จากเงินบริจาคนี้ด้วย” ดร.ประสารกล่าว

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เขตพื้นที่การศึกษาและคุณครูทั่วประเทศ ทำให้กสศ.สามารถสนับสนุนทุนเสมอภาคเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนข้นแค้นที่สุด ให้แก่โรงเรียนสังกัด สพฐ. 29,871 โรงเรียน ซึ่งในปีการศึกษา 2562 จะสามารถช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้จำนวน 723,604 คน อย่างไรก็ตาม ทุนเสมอภาค ที่ กสศ. ได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษในแต่ละปีนั้น แม้จะพอช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครอบครัวนักเรียนได้บ้างบางส่วน คำนวณแล้วราววันละ 10 บาทต่อคนเท่านั้น จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนมาร่วมเติมเต็มความช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้มากขึ้น

“สำหรับทุนเสมอภาค ขณะนี้กสศ.สามารถช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษในระดับชั้นป.1 – ม.3 ในขณะที่งานวิจัยชี้ว่า ปฐมวัยคือช่วงวัยสำคัญหากเข้าเรียนอนุบาลช้ามีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนเพื่อน กสศ. จึงพยายามช่วยเหลือทุนเสมอภาคระดับอนุบาล เบื้องต้นสามารถสนับสนุนได้ 10 จังหวัด เท่านั้น ซึ่งเราคาดหวังว่าปีหน้ารัฐบาลและรัฐสภา จะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดูแลเด็กๆอนุบาลได้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ” นพ.สุภกรกล่าว

นพ.สุภกร กล่าวว่า กสศ.จึงขอเชิญชวนประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน ร่วมกันบริจาคสมทบ หรือสนับสนุนในแง่องค์ความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อต่อ ยอดความช่วยเหลือที่กสศ.ได้เริ่มดำเนินการไว้แล้ว ให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนแก่เด็กๆมากยิ่งขึ้น และสามารถติดตามกิจกรรมของเครือข่ายตลาดวาดฝันเพื่อร่วมสนับสนุนหรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์จากกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพหรือโครงการอื่นๆของนักเรียนทุนเสมอภาคได้ที่ www.eef.or.th และหากภาคธุรกิจหรือประชาชนทั่วไป จะร่วมสมทบทุนบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มที่ยากจนที่สุดของประเทศ สามารถเข้าไปบริจาคและใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้อัตโนมัติที่ https://donate.eef.or.th/main-donate และสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 079-5475

นายสมคะเน ดาษดา ผอ.โรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า เงินอุดหนุนจากโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อเด็กๆ และเสริมสร้างสิ่งต่างๆหลายอย่าง ทุนการศึกษาพอให้เสร็จนักเรียนใช้แล้วก็หมดไปตรงนั้นเลย แต่กองทุนของ กสศ. คือให้ทุนที่จำเป็นต่อพื้นฐานการดำรงชีวิต และยังมีพิเศษอีกส่วนคือเป็นทุนสำหรับต่อยอดให้เด็กนักเรียนนำทุนส่วนนี้ไปฝึกอาชีพ สามารถที่จะนำทุนนี้ไปสร้างรายได้ แล้วรายได้นั้นก็สามารถนำมาช่วยเหลือในเรื่องจำเป็นในการดำรงชีวิตของเขา

“โรงเรียนสามารถที่จะนำไปส่งเสริมให้นักเรียนต่อยอด และสร้างรายได้ขึ้นมาใหม่ได้ จะช่วยให้สร้างอนาคตของชาติก็คือเด็กๆให้มีภูมิคุ้มกันและมีความเข้มแข็งในอนาคต กสศ.จึงเป็นกองทุนที่สร้างความแตกต่างจากกองทุนอื่นๆ ที่ผ่านมา คือให้แล้วไม่ใช่หมดไปตรงนั้นเลย แต่สร้างผลลัพธ์ต่อตัวเด็กที่ยั่งยืน” นายสมคะเนกล่าว

ด้าน ดญ.พศิกา ขุนราช นักเรียน ม.2 โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม กล่าวว่า เป็นตัวแทนของเด็กที่ได้รับทุนการศึกษา ซึ่งขอขอบคุณ รมว.ศธ. สพฐ. ผู้ใหญ่ใจดี ที่สร้างโอกาส สร้างอนาคตให้พวกเรา ซึ่งขอสัญญาว่าจะนำเงินที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า