‘ครูข้างถนน’ แสงสุดท้ายของเด็กเร่ร่อนใต้สะพานพุทธ

‘ครูข้างถนน’ แสงสุดท้ายของเด็กเร่ร่อนใต้สะพานพุทธ

ล่วงเข้าฤดูหนาวแล้ว แต่ช่วงเย็นย่ำย่านสะพานพุทธยังร้อนระอุ ถนนเปลือยคายไอแดดเห็นเป็นม่านระยับ ร่างผอมบางขยับหนีร้อนเข้าไปใต้สะพาน ที่ซึ่งแรงแดดส่องมาไม่ถึง แต่ไม่เคยและไม่มีทางหลบพ้นไอร้อนร้ายกาจรอบตัว 

ทั้งอย่างนั้น มันก็เป็นพื้นที่เดียวที่เขาใช้ชีวิตได้ กระเป๋าเล็กๆ หนึ่งใบใส่ของกระจุกกระจิก ผ้าห่มผืนน้อยและที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ ชีวิตและโลกของเขามีอยู่แค่นั้น ไม่ได้ปรารถนาจะมีมากกว่านี้ บ้านอยู่ที่ไหน ครอบครัวเป็นใครไม่รู้แน่ -รู้แค่ว่าจะไม่มีทางกลับไปอีก

เรื่องแบบนี้ ยากจะเอาเหตุผลและเงื่อนไขใดไปตัดสิน ยังไม่ต้องพูดถึงศีลธรรมความเหมาะควรใดๆ พื้นที่บางแห่ง คนบางคนก็แค่ต้องจากมา มันอาจไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลหรือน่าเชื่อถือ ไม่เข้าใจก็เรื่องหนึ่ง แต่เราเป็นใครกันจึงไปตัดสินชีวิตพวกเขา

คะเนจากสายตา บางคนอายุเพิ่งใช้คำว่านายหรือนางสาวได้ไม่กี่ปี บางคนอีกหลายปีด้วยซ้ำกว่าจะได้ใช้คำนั้น และไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด ‘บ้าน’ ตามทะเบียนราษฎรไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาอยากหวนกลับไปหา อย่างน้อยก็ในเวลานี้ หรือบางทีอาจชั่วชีวิต

“ไม่กลับหรอกพี่” ใครคนหนึ่งตอบ

“จริงเหรอ นอนบ้านน่าจะสบายกว่านอนใต้สะพานนะ”

คนหนุ่มเงยหน้าสบตาด้วย ไม่พูดอะไร มีแค่ยิ้มจางๆ ที่ปฏิเสธการหวนกลับบ้านอยู่ในที ไม่มีเหตุผลแนบมาด้วย หรือบางทีแล้ว เหตุผลก็อาจไม่จำเป็น 

ในแดดร้อนของยามเย็น เขาทิ้งตัวนั่งลงบนเสื่อผ้ามันเก่าๆ ปูรองพื้น จุดบุหรี่สูบ แวดล้อมด้วยเสียงของเรือโดยสารจากฝั่งหนึ่ง และเสียงรถยนต์บนถนนอีกฝั่งหนึ่ง กลางอื้ออึงของเสียงเหล่านั้น เขาบอกแค่ว่า “เดี๋ยวครูเขาก็มา”

‘ครู’ ที่เขาพูดถึงปรากฏตัวขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน เป้สะพายไหล่หนึ่งใบ มือสองข้างพะรุงพะรังด้วยกล่องข้าว ผ้าห่มและของใช้จำเป็นเล็กๆ น้อยๆ พินิจจากแววตา ท่าทีกระวีกระวาดเข้าช่วยถือของและยิ้มจางๆ ของบรรดาเด็กใต้สะพาน น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันความสนิทชิดเชื้อที่กินความถึงการไว้วางใจต่อ ‘ครู’

ครูนาง – นริศราภรณ์ อสิพงษ์’ ถูกเรียกว่าเป็น ‘ครูข้างถนน’ อยู่เนืองๆ เธอมักปรากฏตัวที่สะพานพุทธในช่วงเย็น ถ้าไม่หอบข้าวของกระจุกกระจิกก็มักเป็นแกงถุงหรืออาหารกล่องง่ายๆ สำหรับคนกลุ่มเล็กๆ ที่หลับนอนใต้สะพาน หรือก็คือเหล่าลูกศิษย์ที่เธอดูแลมาร่วมสองทศวรรษ หลายต่อหลายรุ่น การเป็น ‘ครู’ ของเธออยู่พ้นจากนิยามการเป็นครูในความเข้าใจทั่วไป เพราะเธอไม่ได้สอนหนังสือ หากแต่สอนสิ่งที่พื้นฐานและสามัญกว่านั้น

“ด้วยความที่เด็กๆ ออกเรียนกลางคันทุกคน ไม่มีใครเรียนจบในระบบการศึกษาเลย” นริศราภรณ์เล่า “ส่วนใหญ่พวกเขาจะเรียนจบราวๆ ชั้นประถมปีที่หนึ่งหรือสอง เราจึงต้องสอนให้เขารู้จักชื่อตัวเองก่อน เพราะบางคน ก่อนที่จะออกจากการศึกษาในระบบ พวกเขายังไม่รู้ชื่อตัวเองเลย หรือไม่ได้รับการแจ้งเกิดด้วยซ้ำไป”

เช่นเดียวกับอีกหลายคนในประเทศ นริศราภรณ์วาดหวังอยากเป็นครูแต่ยังเด็ก -ครูในภาพจำที่ได้สอนหนังสือในระบบ มีนักเรียนแวดล้อมอยู่ในโรงเรียนเล็กๆ สักแห่ง อาจจะเป็นที่ศรีสะเกษบ้านเกิดของเธอก็ได้- แต่ชีวิตก็จับพลัดจับผลูให้เธอได้มาดูแลเด็กที่ไม่เพียงแค่อยู่นอกบ้านและนอกรั้วการศึกษา หากแต่ยังกินความถึงนอกสายตาของรัฐด้วย

“เราคิดมาตลอดว่าอยากเป็นครู ก็เหมือนคนอื่นๆ นั่นแหละค่ะที่ครอบครัวก็อยากให้เรารับราชการ” เธอบอก “แต่ด้วยความที่ช่วงนั้นเราไม่มีงานอื่น ต้องรอสอบบรรจุ เป็นจังหวะที่ครูข้างถนนในหมู่บ้านชวนเรามาทำงานจิตอาสา”

นั่นคือประตูบานแรกที่ทำให้เธอได้พบ ได้เห็น ได้รู้จักและเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยมากมายที่ไม่เคยกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับระบบการศึกษาโดยรัฐ เรื่องของเด็กที่หนีออกจากบ้าน -ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด- เรื่องของคนที่ถูกขับไล่ ถูกทิ้งขว้าง ใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพานพุทธ หลับนอนใต้เงาของร่มไม้ใหญ่และเร้นกายหนีเม็ดฝนใต้กำบังของคอนกรีต “เราผูกพันกับพวกเขา คงเพราะต้นทุนชีวิตเราไม่ได้ต่างจากเด็กๆ เหล่านี้เท่าไหร่ อาจเพราะครอบครัวเราก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบด้วย” เธอบอก ก่อนขยายความหลังจากนิ่งไปนานว่า “แรกๆ ที่มาทำเราก็หนักใจ พอมาเจอเด็กบางคนที่เรารับรู้ถึงปัญหาครอบครัวของเขา เราก็รู้สึกว่าชีวิตเขาโหดร้ายกว่าเราเยอะ”

กิจวัตรประจำวันของนริศราภรณ์ไม่ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนที่เธอเริ่มทำงานเป็นครูให้เด็กๆ ข้างถนนใต้สะพานพุทธ เธอจะแบกเป้หนึ่งใบ ออกเดินย่ำเลียบแม่น้ำ เฝ้ามองหาใครสักคนที่พักพิงอยู่ตอม่อข้างถนน หลับใหลอยู่ใต้ต้นไม้หรือใต้สะพาน ปลุกพวกเขาแล้วพามาร่วมวงกินข้าวด้วยกันกับเธอ

“อันดับแรก พวกเขาต้องได้กินอิ่มก่อน เมื่อกินอิ่มแล้ว เขาจะยอมมาเรียนกับเรา”

ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่เรื่องพวกนี้ ว่ากันโดยละเอียดแล้วมันย่อมหมายถึงการเดินดุ่มไปตามถนนร้อนๆ สนทนากับเด็กที่หลีกหนีจากสังคมและบ่อยครั้งก็ไม่อยากสานสัมพันธ์กับใคร ยังไม่ต้องพูดถึงการต่อต้านและท่าทีดื้อดึงอันเป็นเสมือนเรื่องแสนสามัญที่นริศราภรณ์ต้องเจอ “ชินแล้ว” เธอว่า “แรกๆ เราก็ไม่ได้รับการยอมรับนะ โดนสารพัดอย่างเลย คำหยาบนี่โดนประจำ แต่เราก็สู้ไปหาทุกวัน เจอหน้าเขาทุกวัน กว่าเราจะทำได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องสร้างทุกวัน สร้างทุกวันจริงๆ เพื่อให้เขาเห็นว่าเราเป็นมิตร เราเป็นเพื่อนที่ดี เป็นครูให้เขาได้ เป็นพ่อเป็นแม่ให้เขาได้

“บางคน ก็ใช้เวลาหลายปีมากๆ กว่าจะยอมเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เราฟัง มันกินเวลาจริงๆ กว่าที่เราจะไปนั่งในใจเด็กๆ เหล่านี้ได้”

โดยธรรมชาติ ชีวิตเป็นสิ่งที่ซับซ้อนอยู่เป็นทุนเดิม และบ่อยครั้ง ความซับซ้อนที่ว่าก็กินพื้นที่ใหญ่โตกลายเป็นปัญหาและบาดแผล ผลักให้ใครคนหนึ่งออกจากบ้าน หลุดพ้นจากระบบ “เราไปเยี่ยมบ้านเด็กทุกคนที่มาอยู่กับเรา ทำให้เรารู้สภาพปัญหาครอบครัวของเด็กๆ รู้ว่าทำไมเขาจึงออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านคนเดียวในพื้นที่สาธารณะ” นริศราภรณ์ว่า “เราพบว่าครอบครัวของพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ยากจน ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่มีครอบครัวใหม่ เด็กๆ อาจจะอยู่กับตายาย หรือบางคนคือพอพ่อแม่ไปมีครอบครัวใหม่ก็ไม่มีใครอยู่ด้วย เขาจึงต้องออกมาใช้ชีวิตตัวคนเดียว”

โมงยามของการเรียนการสอนส่วนใหญ่แล้วเริ่มขึ้นเมื่อตะวันใกล้ตกดิน หลังทุกปากท้องได้กินอาหารที่เธอจัดหาให้อิ่มแล้ว และเนื้อหาที่เธอสอนนั้นก็ต่างไปจากความเข้าใจของคนนอก เด็กเร่ร่อนใต้สะพานพุทธไม่แยแสสูตรคูณหรือระบบภาษาใดๆ “ส่วนใหญ่เราสอนทักษะชีวิตเขามากกว่า การจะไปสอนให้เขาท่องจำเรื่องต่างๆ นี่บอกเลยว่าเขาไม่รับหรอก” นริศราภรณ์บอก “เราสอนให้เขารู้ชื่อตัวเอง รู้ว่าตัวเองมาจากที่ไหน แล้วเราค่อยเอาไปตรวจดูว่าขึ้นในทะเบียนบ้านไหม ถ้ามีก็จะรู้ว่าเขามาจากไหน ซึ่งเรื่องพวกนี้ช่วยเรื่องการรักษาพยาบาลเวลาพวกเขาเจ็บป่วยได้”

ใช่ว่าเธอจะไม่เคยพาเด็กๆ เข้าระบบการศึกษาของรัฐด้วยการพาเข้าไปยังศูนย์เมอร์ซี่ อันเป็นสถานสงเคราะห์สำหรับเด็กเร่ร่อน หากแต่ความพยายามของเธอล้มเหลวเมื่อพบว่าเด็กหลายต่อหลายคน หลายต่อหลายรุ่น กระโจนหนีออกมาทุกครั้งที่พวกเขาพบว่าตัวเองกำลังถูกพากลับไปยังโลกในกฎระเบียบอีกหน

“เราเป็นคนคาดหวังกับเด็กเยอะ อยากให้เขาไปเรียนหนังสือในโรงเรียน และเคยเอาเด็กๆ เข้าไปอยู่ศูนย์เมอร์ซี่ เพื่อให้เขาเรียนหนังสือ แต่สุดท้าย เด็กๆ เหล่านี้ก็จะหนีออกมา

“บางทีพวกเขาไม่อยากคิดอะไรเยอะ มันทำให้เราคิดว่าถ้าเรามัวแต่เราให้เขาเข้าไปเรียนในระบบโดยที่ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต มันคงไม่ได้ผล เราเลยเปลี่ยนวิธีการทำงาน คือถามว่าพวกเขาต้องการอะไร แล้วเราจะเสริมให้ แล้วส่วนใหญ่พวกเขาอยากทำงานรับจ้าง รับจ้างทำอะไรก็ได้เลย ดังนั้น ถ้าเป็นเด็กโตหน่อยเราก็อาจพาเขาไปสมัครงาน ให้เขาเลี้ยงดูตัวเองได้ หรือถ้ามีอาชีพแล้วแต่ยังไม่มีรายได้มากพอจะจ่ายค่าที่พัก ห้องเช่า ศูนย์เมอร์ซี่ก็สนับสนุนเงินให้ในช่วงเดือนแรกๆ หลังจากนั้นเมื่อเด็กมีงานทำ มีรายได้ เด็กก็จะดูแลตัวเองได้” นริศราภรณ์อธิบาย

‘อ้วน’ เป็นเด็กหนุ่มวัย 16 ที่ออกมาอยู่ใต้สะพานพุทธ ที่พักของเขากับครอบครัวคือพื้นที่ตั้งแต่ใต้สะพานไปจนถึงสวนสาธารณะใกล้เคียง “ผมรู้จักกับครูเขาตั้งแต่อนุบาลสองเลย” เขายิ้ม ชีวิตการศึกษาในระบบของอ้วนเดินทางมาไกลถึงชั้นมัธยมปีที่สาม ก่อนจะสะบั้นลงเมื่อครอบครัวไม่มีกำลังส่งให้เขาเรียนต่อ “ครูนางเลยให้ผมเรียนออนไลน์ ช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนต่างๆ ให้ด้วย”

อ้วนเป็นไม่กี่คนที่ยังกัดฟันศึกษาไม่ปล่อย “จริงๆ ก็อยากเรียนในระบบนะ แต่ไม่มีเงินแล้ว ครูเขาก็บอกว่าเราต้องเรียนหนังสือ” อย่างไรก็ดี การศึกษาของอ้วนในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นกว้างขวาง เขาเรียนวิชาสามัญอย่างที่ ‘ครูนาง’ แนะนำ ควบคู่กันกับเปิดวิดีโอสอนการตัดต่อ ถ่ายทำคลิปวิดีโอจากเว็บไซต์ยูทูบ “ผมอยากเป็นยูทูเบอร์น่ะ” เขาว่า “หรือไม่ก็แคสต์เกมอะไรก็ได้”

“ถ้าไม่มีครูเขาช่วยไว้ ผมคงไม่ได้เรียนหรอก”

สำรวจให้ลึกลงไปในแง่รายละเอียด ความยากของงาน ‘ครูข้างถนน’ ไม่ใช่แค่การประคับประคองเด็กๆ ในแต่ละวัน แต่มันยังหมายถึงการคุ้มครองและปกป้องพวกเขาจากอันตรายอื่นๆ ด้วย “กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเด็กผู้หญิงก็น่าหนักใจ เพราะเสี่ยงเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อม เด็กบางรายต้องพาไปฝังเข็มคุมกำเนิด พาไปพัฒนาทักษะด้านต่างๆ รวมทั้งการอบรมการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โรคติดต่อและเรื่องยาเสพติด ส่วนใครที่ตั้งครรภ์ไปแล้ว เราก็ช่วยเขาเรื่องการดูแลลูก หาห้องเช่าให้เขาอยู่เพื่อให้เขาปลอดภัย”

“ยากนะ” นริศราภรณ์ว่า “เพราะพอเขาออกมาใช้ชีวิตเองในพื้นที่นี้โดยที่ส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตอิสระ ไม่มีผู้ปกครอง ก็อาจจะถูกคนแสวงหาผลประโยชน์หลายๆ ด้าน ทั้งทางเพศ ค้ามนุษย์และความรุนแรง เพราะฉะนั้น การดูแลและฟื้นฟูเด็กคนหนึ่งเพื่อให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีกฎระเบียบอย่างในมูลนิธิจึงเป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะบ้านหน่วยงานรัฐ บ้านมูลนิธิหรือ NGO พวกเขาจะอยู่ได้ไม่ทนเพราะสถานที่เหล่านั้นมีกฎระเบียบ แล้วสักพักเขาก็จะออกมาข้างนอกเหมือนเดิม”

ใกล้ๆ กันนั้น เด็กหนุ่มคนหนึ่งส่งยิ้มมาให้ เป็นยิ้มสุภาพและซุกซนอย่างที่มักเห็นในเด็กวัยเท่าเขา วัดจากท่ายืนพิงมอเตอร์ไซค์กลางเก่ากลางใหม่ นิ้วคีบบุหรี่กับสัมภาระเล็กน้อยกองตรงข้อเท้า คะเนคร่าวๆ ว่าไม่ใช่เด็กหน้าใหม่ของย่านสะพานพุทธ

“ออกมาอยู่เองตั้งแต่ปี 2555 น่ะพี่” เขาบอกหลังแนะนำชื่อเสียงเรียงนามตัวเองว่า ‘โฟร์’ “ออกมาเองเลย อยู่ข้างนอกมันสบายดี อิสระ อยู่บ้านนี่ยังไงก็โดนด่าโดนว่าประจำ ไม่มีผมในบ้านเขาก็ไม่เครียดอะไรหรอก”

พยักเพยิดไปทาง ‘ครูนาง’ ที่อยู่ในชีวิตเขามานานกว่าครึ่ง อาจจะมากกว่าพ่อแม่ของตัวเองด้วยซ้ำไป “ผมมาอยู่ใต้สะพานพุทธนี่แหละเลยเจอครูเขา อยู่กับเขาก็สบายใจดีนะ อะไรไม่รู้เราก็ถาม ไม่สบายใจก็ปรึกษา”

โฟร์ออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ประถมปีที่สองหลังพบว่ากฎระเบียบและเงื่อนไขต่างๆ รัดรึงเขามากไป เด็กชายคว้ากระเป๋าหนึ่งใบ เดินตามเพื่อนออกมาจากบ้านและไม่หวนกลับไปอีกเลย ชีวิตข้างถนนของเขาเรียบง่าย หลับนอนและกินอยู่ใต้สะพาน ออกไปรับจ้างขนของเพื่อหารายได้รายวัน 

“ตอนนั้นผมไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ชอบเลย”

“แล้วตอนนี้ล่ะ”

คนถูกถามนิ่งคิดไปหลายอึดใจ แล้วตอบ รอยยิ้มแบบเด็กหนุ่มระบายติดบนใบหน้า “ก็อยากเรียนเหมือนกัน แค่ว่ามันไม่ทันแล้ว” เขาว่า “แต่ผมก็ไม่ได้เสียดายอะไร อยู่ที่นี่ก็สบายดี มีอิสระ 

“การงานก็ไม่เป็นไร เราเลือกไม่ได้มากหรอกพี่ ของแบบนี้”

สำหรับนริศราภรณ์ เด็กจะเรียนหรือไม่เรียน จะอยู่ในระบบการศึกษาหรือไม่ได้อยู่ อย่างน้อยพวกเขาต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยอาชีพสุจริตให้ได้ “เราคิดว่ากลุ่มเด็กๆ ที่เราดูแลพวกเขา หลายรายก็เติบโตไปมีอาชีพสุจริต เลี้ยงดูตัวเองได้ หลายรายมาแต่ตัวโดยไม่รู้ว่าตัวเองได้รับการแจ้งเกิดหรือไม่ จนสุดท้าย เขามีบัตรประชาชน มีครอบครัว มีลูกที่ได้รับการศึกษาโดยที่ตัวเขาเองไม่ได้รับการศึกษาน่ะ มันเหมือนว่าพอเราช่วยเขาแล้ว มันทำให้เขาหลุดจากวงจรการเร่ร่อนได้”

แน่แท้ว่าเธอตระหนักดีว่าเรี่ยวแรงที่เธอลงไปกว่า 20 ปีนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือรากฐานของการมีเด็กเร่ร่อน หากแต่มันก็เป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ ถอยไม่ได้ น้อยไปกว่านี้ไม่ได้

“นโยบายรัฐต้องทำงานตั้งแต่เรื่องครอบครัว สิ่งที่เราทำมันปลายทางแล้ว รัฐจึงต้องดูแลตั้งแต่ครอบครัว ป้องกัน เพราะปลายทางมันทำงานยาก กว่าจะให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมันยาก” เธอว่า “เราเป็นครูนอกระบบ เป็นครูไม่มีขั้น เรียกร้องอะไรไม่ได้หรอก แต่ก็อยากให้หน่วยงานรัฐรับรู้ว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ยังมาช่วยเหลือเด็กๆ ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอยู่ อยากให้รัฐมองเห็นว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้”

แดดคลายจัดจ้าลงไปบ้างแล้วตอนที่เด็กคนหนึ่งแกะถุงกับข้าวที่ ‘ครูนาง’ หยิบมาฝาก เธอเทแกงลงถุง ใครอีกคนช่วยเธอจัดวางกับข้าวอื่นๆ เทลงจาน อีกคนขยับล้อมวงเข้ามาใกล้ แล้วมื้อเย็น -ระหว่างครูคนหนึ่งกับเด็กๆ เร่ร่อน- ก็เริ่มต้นขึ้น เช่นเดียวกับบทสนทนาที่ถามไถ่ความเป็นอยู่ของเยาวชน ชีวิต ความฝันและวันพรุ่งนี้ของพวกเขาจากนริศราภรณ์ อย่างที่เธอถามไถ่มาตลอดร่วมยี่สิบปี


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world