เปิดโจทย์การศึกษา 2568: ถึงเวลายกระดับโครงสร้างใหม่ เพื่อการศึกษาไทยที่เท่าเทียมมากขึ้น
โดย : กองบรรณาธิการ the 101
ภาพประกอบ : พิรุฬพร นามมูลน้อย

เปิดโจทย์การศึกษา 2568: ถึงเวลายกระดับโครงสร้างใหม่ เพื่อการศึกษาไทยที่เท่าเทียมมากขึ้น

ปัญหาการศึกษาไทยอยู่คู่สังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย ปัญหายิ่งถูกซ้ำเติมเมื่อโลกผันผวน ซับซ้อน และเผชิญวิกฤตอย่างโรคระบาดที่ถาโถมอย่างไม่ทันตั้งตัว ผนวกกับโครงสร้างสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเรากำลังเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ ที่จำนวนเด็กเกิดน้อยลงนำมาสู่วัยแรงงานที่ลดลง และจำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น

ยังมินับอีกว่า เมื่อพูดถึงการศึกษา เราไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเด็ก แต่เรากำลังมองถึงระบบนิเวศของการศึกษาทั้งหมด ทั้งสภาพแวดล้อม โรงเรียน ผู้สอน ไปจนถึงครอบครัวที่อยู่รายล้อมเด็ก ซึ่งหลายครั้งส่งผลกระทบกับตัวเด็กไม่แพ้ระบบโครงสร้างใหญ่

ทั้งหมดนี้ทำให้ปัญหาการศึกษาไทยยิ่งทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน นี่เป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องเร่งแก้ไข เพราะอย่างที่เราทราบกันดี การศึกษาคือรากฐานสำคัญ คือจุดเริ่มต้นการสร้างทรัพยากรมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงและหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางตามที่มุ่งหมายไว้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะล่าช้าและปล่อยให้เด็กแม้แต่เพียงคนเดียวต้องร่วงหล่นจากตาข่ายความคุ้มครองทางการศึกษาไป – คำถามสำคัญคือเราควรทำอย่างไร มีทิศทางไหนบ้างที่จะทำให้การศึกษาไทยหลุดพ้นจากกับดักความเหลื่อมล้ำนี้ได้

101 ชวนสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2567 และทิศทางในปี 2568 และวงเสวนาเชิงนโยบายเพื่อร่วมหาทิศทางก้าวต่อไปของการศึกษาไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้การศึกษาเหมาะสม ครอบคลุม และยืดหยุ่น เป็นการศึกษาของทุกคนอย่างแท้จริง

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจาก Equity Forum 2025 ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

1
อ่านสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 3 มิติ

จูสตีน ซาส

การศึกษาคือ ‘การลงทุน’ ที่คุ้มค่าที่สุด – จูสตีน ซาส

“ยูเนสโก (UNESCO) เชื่อว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และเป็นปัจจัยในการสร้างความยุติธรรมทางสังคม อีกทั้งยังช่วยลดความยากจนและแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ทั่วโลก” ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก จูสตีน ซาส หัวหน้าฝ่าย Education for Inclusion and Gender Equality องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ (กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส) พร้อมทั้งกล่าวถึงคำถามสำคัญของการทำรายงานฉบับพิเศษสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568 ว่า “หากสิทธิการศึกษาไม่ได้รับการเติมเต็มจะเกิดต้นทุนอะไรกับประเทศบ้าง”

จูสตีนฉายภาพให้เห็นต่อว่า รายงานฯ ทำการศึกษาเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันและเด็กที่ไม่มีทักษะขั้นพื้นฐาน โดยศึกษาต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคล รัฐบาล ศึกษาความแตกต่างระหว่างเด็กชายและหญิง รวมถึงศึกษาผลกระทบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน อาทิ อาชญากรรม

“ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่า มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนและยังขาดทักษะพื้นฐานสำคัญ อาทิ การอ่าน ทักษะทางสังคมและอารมณ์” จูสตีนกล่าว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้จะก่อให้เกิดความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มุ่งจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และถ้าไม่บรรลุจะทำให้เกิดต้นทุนมหาศาล หรือที่เรียกว่า ‘ต้นทุนจากการเพิกเฉย’ ตามมา

ถ้าเราตั้งเป้าโดยมีการบรรลุ SGDs เป็นหมุดหมายสำคัญ จูสตีนฉายภาพว่า หากเรายังอยู่กันแบบนี้ต่อไป ภายใน ค.ศ. 2030 (ซึ่งเป็นปีที่ตั้งเป้าหมายว่าจะบรรลุ SDGs) เศรษฐกิจทั่วโลกจะสูญเสียเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีการประมาณว่าต้นทุนที่เกิดกับบุคคลจะสูงถึง 9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐสำหรับเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐาน และ 6 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐสำหรับเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด ต้นทุนภาครัฐจะสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ และต้นทุนทางสังคมในแต่ละปีจะสูงถึง 10 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐและ 6 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ

“ในภาพรวม ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่จะสูญเสียไปจากการที่เด็กมีทักษะทางอารมณ์และสังคมต่ำจะมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ”

ไม่ใช่แค่ต้นทุนที่เป็นจำนวนเงินเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ อาทิ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การก่ออาชญากรรม หรือกลุ่มเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม ดังนั้น รัฐบาลหรือองค์การระหว่างประเทศที่จะมอบทุนสนับสนุนเพื่อให้เกิดการบรรลุ SDGs จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนมหาศาลที่เกิดจากการเพิกเฉยตรงนี้เอาไว้ด้วย

“เราต้องลงทุนในระบบการศึกษาให้มากขึ้นอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เพื่ออนาคตของเด็กและอนาคตของพวกเราทุกคน”

นอกจากข้อมูลเฉพาะตรงส่วนนี้แล้ว ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกหลายประการ อาทิ ประเด็นเรื่องเพศสภาพ กล่าวคือเพศชายมีแนวโน้มจะมีออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนดและขาดทักษะขั้นพื้นฐานมากกว่าเพศหญิง เพราะจำนวนผู้ชายที่อยู่นอกระบบทั่วโลกมีมากกว่า ยกเว้นในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของสะฮาราที่มีจำนวนผู้หญิงสูงกว่า

“ถ้าพูดรวมๆ สัดส่วนของผลกระทบต่อ GDP ที่ถูกคาดการณ์ไว้ (forecast) จะสูงในซีกโลกใต้ที่มีสัดส่วนเด็กที่ขาดทักษะขั้นพื้นฐานมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ”

ผลจากรายงานฯ ชี้ชัดว่า กลยุทธ์ที่คุ้มค่าที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจคือ การลงทุนในการศึกษา เพราะเพียงแค่ลดสัดส่วนเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดและมีทักษะขั้นพื้นฐานต่ำเพียงร้อยละ 10 จะเพิ่ม GDP ได้ถึงร้อยละ 1-2 ต่อปี

ทั้งหมดนำมาซึ่งข้อสรุปของจูสตีนว่า ประเทศต่างๆ ลงควรลงทุนเรื่องการศึกษาและพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ อาทิ การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงการลงทุนในการศึกษาระดับปฐมวัยเพื่อวางรากฐานที่มั่นคงในการเรียนรู้ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โรงเรียน บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงข้อมูลการวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป

“การศึกษาเป็นหนึ่งในการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ทั้งต่อบุคคล เศรษฐกิจ และโลกของเรา” จูสตีนเน้นย้ำ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

สร้าง ‘โอกาส’ ทางการศึกษาให้เด็ก เพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย – ไกรยส ภัทราวาท

“หลายคนคงเคยเห็นข่าวว่า เด็กและเยาวชนในช่วงนี้เกิดแค่ประมาณ 460,000 คน ถามว่าน้อยแค่ไหน ในช่วงประมาณ ค.ศ. 1983 เรามีเด็กไทยเกิดราวหนึ่งล้านคน แต่ตอนนี้เด็กจำนวนมากหายไป และจากการประเมินพบว่า สัดส่วนเด็กเกิดใหม่ในอนาคตจะน้อยลงเรื่อยๆ”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวนำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงสวนทางกับฐานประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น นำมาซึ่งความท้าทายว่า หากไทยมีเป้าหมายคือการคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมุ่งหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง หนทางเดียวที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้ภายใต้โครงสร้างประชากรในปัจจุบันคือ เด็กและเยาวชนไทยต้องมีผลิตภาพ (productivity) เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และการจะสร้างผลิตภาพได้ต้องมาจากการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาค

“เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตร้อยละ 7 ต่อปีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ขยับลงมาเหลือร้อยละ 5 และปรับฐานลงเรื่อยๆ ตั้งแต่เจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และมาโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดกับประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลก”

หากจะตั้งเป้าหมายก็จำเป็นจะต้องรู้กลุ่มเป้าหมาย – ไกรยสชี้ให้เห็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของไทยซึ่งเป็นประชากรวัยเรียนอายุ 3-24 ปีทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยจากการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาและมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีประมาณ 1.9 ล้านคนที่ได้รับเงินอุดหนุน และหลายหน่วยงานพยายามตรึงวงเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบด้วยวิธีต่างๆ พร้อมทั้งหาทุนเพื่อส่งเด็กเติบโตไปสู่การศึกษาสูงสุดตามศักยภาพ

อีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กนอกระบบการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทว่าประเด็นสำคัญที่ไกรยสชี้ให้เห็นคือ การออกนอกระบบการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่ยังมีปัจจัยเรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม หนึ่งในความท้าทายสำคัญจึงเป็นการพาเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาและเติบโตไปทำงานเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ทว่าอย่างที่เราทราบกันดี ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรัง ท้าทาย และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กที่ถูกจัดให้เป็นเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านคน สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อีกทั้งยังมีเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการโอกาสคุ้มครองเพื่อไม่ให้เขาหลุดออกจากระบบการศึกษา

นอกจากนี้ การเยี่ยมบ้านเด็กๆ กลุ่มนี้ชี้ให้เห็นว่า มีเด็กเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 42) ที่พ่อแม่หย่าร้าง แยกกันอยู่ สูญเสียพ่อแม่ ไปจนถึงไม่รู้จักหน้าพ่อแม่หรือโดนทอดทิ้งแต่เด็ก หลายครอบครัวเป็นครอบครัวแหว่งกลาง มีสมาชิกหลายคน หรือมีภาวะพึ่งพิง (อยู่กับผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ผู้พิการ หรือผู้ว่างงาน) โดยไกรยสชี้ว่า สถานการณ์ความเปราะบางของครอบครัวถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานเพื่ออนาคตประเทศไทย ดังนั้น นอกจากเรื่องทางเศรษฐกิจแล้ว ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยดูแลครอบครัวเหล่านี้ด้วย

“ในครัวเรือนยากจนพิเศษ สมาชิกส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา ถ้ามีใครสักคนเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ได้ เขาจะเป็นคนแรกในหลายเจเนอเรชันที่จบสูงกว่าประถม และน้อยกว่านั้นที่จบปริญญาตรีได้ แต่ถ้าทำได้ก็เป็นหลักฐานว่า ครัวเรือนเหล่านี้จะออกจากความยากจนข้ามรุ่นได้”

เมื่อขยับมาที่อีกหนึ่งปัญหาใหญ่อย่างเด็กออกนอกระบบการศึกษา ไกรยสชี้ว่าในปัจจุบันเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาสังกัดต่างๆ มีมากถึง 9.8 แสนคน แต่ในปีที่ผ่านมามีเด็กราว 3 แสนคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ทว่าปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่เด็กออกจากระบบการศึกษาเกิดจากปัจจัยมากมาย อีกทั้งแม้จะมีเด็กกลับเข้าไปได้ ก็ยังมีเด็กที่หลุดออกจากระบบมาเรื่อยๆ อยู่

“ถามว่าทำไมพวกเขาไม่กลับเข้าระบบการศึกษา” ไกรยสเริ่มตั้งคำถาม ก่อนจะตอบด้วยคำตอบที่เรียบง่ายที่สุดคือ ‘ค่าใช้จ่ายที่สูง’ ทว่าไม่ใช่เพียงแค่นั้น แรงจูงใจก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหากในครัวเรือนของเด็กไม่เคยมีใครเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยเลย ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระตรงนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดแรงงานมีทักษะ (skilled labour) รวมถึงผลักดันให้มหาวิทยาลัยหรือหน่วยจัดการเรียนรู้ต่างๆ สร้างรายได้ที่ตลาดแรงงานตอบรับได้ให้ขยับขึ้นมา พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ พยายามอุดช่องว่างพร้อมกับดึงรายได้ที่ตลาดแรงงานพร้อมจ่ายให้สูงขึ้น

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งข้อเสนอในการแก้ปัญหาสองข้อของไกรยส ข้อแรก คือการเชื่อมโยงข้อมูล กล่าวคือเมื่อมีการจัดเก็บข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลักของเด็กอยู่ก่อนแล้ว ก็ควรมีการเชื่อม API ระหว่างหน่วยงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กได้รับสวัสดิการต่างๆ ตามที่รัฐจัดสรร อีกทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันทางการศึกษาและไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

และ ข้อที่สอง คือพาสปอร์ตการเรียนรู้ (learning passport) เพราะเด็กในวันนี้มีแนวคิดทางการศึกษาที่หลากหลายกว่าคนรุ่นก่อน ไกรยสจึงเสนอว่า หากมีระบบที่เด็กคนหนึ่งสามารถเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลายและเลือกเรียนรู้ และสามารถเชื่อมโยงหน่วยกิตเข้าด้วยกันเป็นใบแสดงผลการศึกษาใบเดียว ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้แบบใดหรือการเรียนรู้แบบไหน กำแพงการศึกษาที่สูงหนามหาศาลจะหายไป

“การศึกษาที่เสมอภาคคือการลงทุน ไม่ใช่การสงเคราะห์” ไกรยสทิ้งท้าย “และข้อมูลรายบุคคลที่ดีขึ้นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและคุณภาพการศึกษาได้”

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

ยกระดับ ‘คุณภาพ’ การศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา สู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวม – วีระชาติ กิเลนทอง

ไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุนหรือโอกาส แต่ ‘คุณภาพ’ คืออีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญที่ไม่ควรหายไปจากระบบการศึกษา โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำข้อเสนอแนวทางการยกระดับสมรรถนะผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านข้อค้นพบจากผลทดสอบ The PISA-Based Test for Schools (PTBS) ที่มีความคล้ายคลึงกับการสอบ PISA ใหญ่ (ซึ่งเป็นการทดสอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)) และ OECD ประเมินแล้วว่ามีความเทียบเคียงกันได้

การทดสอบ PTBS เก็บข้อมูลจาก 16 จังหวัด 150 โรงเรียน ในช่วงปลาย ค.ศ. 2023 ถึงต้น ค.ศ. 2024 ทดสอบเด็กที่มีอายุ 15 ปี รวม 5,683 คน รวมถึงสอบถามข้อมูลกับผู้ปกครองและมีเครื่องมือวัดที่มีเกมเป็นฐาน (game-based) ให้เด็กได้เล่นทดสอบการบริหารความสามารถทางสมอง (executive functions: EF)

วีระชาติฉายภาพว่า หากดูคะแนนสอบ PISA ของเด็กไทยจะพบว่าคะแนนลดลงเรื่อยๆ ยกเว้นใน ค.ศ. 2012 ที่มีการเพิ่มกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนสาธิตฯ และกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมากกว่าปกติ ขณะที่การทดสอบ PTBS จะมีคะแนนต่ำกว่า PISA ใหญ่ ซึ่งมองมุมหนึ่งอาจจะไม่ได้น่าประหลาดใจนัก เนื่องจากทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเนื่องยังแก้ปัญหาเรื้อรังที่มาจากโควิด-19 ไม่ได้

“สิ่งหนึ่งที่ PISA ทำได้ดีและน่าสนใจคือการจัดระดับ (level) ของเด็ก โดยระดับ 1 ก็คือพื้นฐานมากๆ ต้องทำได้ทุกคน เข้าใจอะไรง่ายๆ จากนั้นแต่ละระดับจะขยับเกณฑ์ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ในระดับที่สูงจะเน้นคีย์เวิร์ดอยู่ 2-3 คำ คือ ‘ซับซ้อน นามธรรม ไม่คุ้นชิน’” วีระชาติกล่าว “ผมว่านั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า ทักษะขั้นสูง คือคนที่มีจะสามารถแก้ปัญหาหรือทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เห็นอะไรใหม่ๆ ก็สามารถทำได้ รวมถึงสามารถคิดและเข้าใจปัญหาที่เป็นนามธรรมได้”

“สำหรับผม นี่คือหัวใจของ PISA คือเขาสนใจการคิดวิเคราะห์ พูดง่ายๆ คือไม่ได้สนใจแค่การนำไปใช้ แต่สนใจการนำไปใช้ที่มีความซับซ้อน นามธรรม และไม่คุ้นชิน”

หากให้สรุปจากผลการทดสอบ วีระชาติชี้ว่าเด็กที่ยังอยู่ในระดับสีแดง (ระดับ 1 2 และ 3) มีจำนวนเยอะพอสมควร โดยเฉพาะในระดับที่ 1 ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายทางนโยบายในการลดเปอร์เซ็นต์เด็กกลุ่มนี้ลง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมผลการทดสอบ PBTS น้อยกว่าผลการสอบ PISA คำตอบง่ายๆ คือ ไทยมีเด็กยากจนมากกว่า โดยวีระชาติแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม (ยากจน ค่อนข้างจน ค่อนข้างรวย และรวย) จากนั้นจึงสร้างกราฟเพื่อดูว่าเด็กแต่ละคนอยู่ตรงไหนบ้าง ผลพบว่าเด็กที่มีฐานะยากจนจะมีจำนวนเยอะที่สุด

“ตรงนี้บอกเราได้ว่า เศรษฐฐานะและฐานะทางครัวเรือนมีผลมาก ที่น่าสนใจคือเศรษฐฐานะที่มีผลต่อเด็กตอนเขาอายุ 15 ปีอาจไม่ใช่เศรษฐฐานะ ณ ตอนนั้นของเขา แต่ย้อนกลับไปคือตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็กเล็ก โดยผมมีหลักฐานทางอ้อมที่จะแสดงให้เห็นว่า เราควรนำทรัพยากรกลับไปยังเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาสมรรถนะ PISA ของเรา”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น วีระชาติชี้ว่า การเปรียบเทียบกับความจนกับความรวยของเด็กไม่ใช่แค่ว่า เด็กที่ฐานะร่ำรวยกว่าสองเท่าจะมีคะแนนสูงกว่าเด็กที่มีฐานะยากจนกว่าสองเท่า แต่อาจจะเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าเลยก็เป็นได้ เท่ากับว่า ความเหลื่อมล้ำของเศรษฐฐานะจะถ่างความเหลื่อมล้ำของสมรรถนะออกไปให้มากขึ้น คนที่ได้เปรียบจะเป็นคนรวย ยิ่งรวยยิ่งก้าวกระโดด ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การจะแก้ปัญหาตรงนี้จะต้องลดช่องว่างและทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันได้เพื่อทำให้ฐานะรวยหรือจนมีผลต่อสมรรถนะลดลง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การเชื่อมผลคะแนน PISA กับการสอบ O-NET ตอนประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเปรียบเทียบเด็กสองคนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนและร่ำรวย แต่มีคะแนน O-NET เท่ากัน เท่ากับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะไม่ได้มาจากคะแนน O-NET และเมื่อดูผลที่เกิดขึ้น วีระชาติตีความว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการสอบ PISA เกิดขึ้นตั้งแต่การสอบ O-NET แล้ว คือปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่ฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และส่งผลมาถึงตอนที่เด็กอายุ 15 ปีและทำการทดสอบ PISA

อย่างไรก็ดี วีระชาติชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจในการสอบ PISA กล่าวคือ PISA จะมีแบบทดสอบที่ถามเด็กเกี่ยวกับสภาพห้องเรียนว่า มีความเรียบร้อยหรือมีความวุ่นวายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวีระชาติมองว่า เป็นตัวแปรที่เป็นประโยชน์มากและอาจพิจารณาเพิ่มเข้าไปในการสอบ O-NET ด้วย

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อ ข้อแรก วีระชาติเสนอว่าการยกระดับสมรรถนะของผู้เรียนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการพัฒนา ข้อที่สอง คือการให้ความสำคัญกับเด็กที่มีระดับสมรรถนะระดับที่หนึ่ง (ต่ำสุด) ซึ่งมีจำนวนมาก โดยวีระชาติเสนอให้เน้นที่เด็กกลุ่มนี้โดยการพัฒนาและหาทรัพยากรที่จะช่วยให้เขามีสมรรถนะที่สูงขึ้นได้

“ถ้าเราช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้ เราจะยกระดับทั้งประเทศขึ้นไปได้”

ข้อที่สาม ในฐานะนักวิชการ วีระชาติเน้นถึงประเด็นที่กล่าวไปแล้วว่า การสอบ O-NET อาจจะพิจารณาเพิ่มคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอบ (เหมือนอย่างการสอบ PISA) เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์การเรียนรู้ด้วย และ ข้อสุดท้าย และเป็นประเด็นเดียวกับไกรยสคือ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลในการทำความเข้าใจการกระทำและระบุปัญหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี วีระชาติทิ้งท้ายไว้ว่า แม้จะใช้การสอบ PISA หรือ O-NET มาทดสอบหรือทำการศึกษา ก็ไม่ได้หมายความว่าการสอบทั้งสองอย่างนี้หรืออย่างใดอย่างหนึ่งจะสามารถพยากรณ์ความสำเร็จได้มากกว่ากัน เพราะเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริงไม่ใช่เพียงการยกระดับคะแนน แต่เป็นการทำให้ทุกคนมีทุนมนุษย์ที่ดี ประสบความสำเร็จในการทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

2
มุมมองนโยบาย การศึกษาไทยควรไปทิศทางไหนในปี 2568

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ


ตั้งเป้าหมายการศึกษาไทย
 ‘เรียนดีมีความสุข และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง– สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

แม้ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นข่าวเด็กไทยคว้ารางวัลหรืออยู่ในลำดับต้นๆ ของการแข่งขันทางวิชาการอยู่เสมอ แต่ในมุมมองของ ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาสำคัญของการศึกษาอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ และประเด็นสำคัญที่ผูกโยงอยู่กับเรื่องนี้คือ งบประมาณ

“ผมคิดว่ารัฐควรลงทุนในการศึกษาให้มากกว่านี้” สิริพงศ์กล่าว ก่อนจะยกตัวอย่าง ‘นโยบายเรียนฟรี’ ที่มักถูกตั้งคำถามว่าเรียนฟรีจริงหรือไม่ ในเมื่อผู้ปกครองยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณกับอุดหนุน

แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการ แต่ที่ผ่านมา หัวเรือใหญ่อย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองนโยบาย ‘เรียนดีมีความสุข’ เนื่องจากความเชื่อที่ว่า สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ทีดี่จะอำนวยให้การเรียนดีตามไปด้วย จึงมีความพยายามหลายอย่าง อาทิ การปรับปรุงห้องน้ำตามนโยบายสุขาดีมีความสุข ซึ่งมาจากผลสำรวจของเด็กกว่า 90% ที่อยากให้มีการปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียน

“เราจะเห็นว่า ศธ. ได้รับเงินอุดหนุนสูงเป็นอันดับ 1 มาตลอด แต่เราถูกตัดงบบ้างจนเหลือแค่ร้อยละ 15 เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ส่วนอีกร้อยละ 85 คือบุคลากร แต่ถึงจะมีสัดส่วนสูงขนาดนี้เราก็ต้องยอมรับว่า เรายังดูแลบุคลากรทางการศึกษาได้ไม่ดีเท่าที่ตั้งใจไว้ ส่วนอีกร้อยละ 15 ที่ว่าก็มีไว้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกด้าน เพราะฉะนั้น งบประมาณมีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีทรัพยากรจำกัด แต่สิริพงศ์ยืนยันถึงแนวทางการมุ่งมั่นแก้ปัญหาให้ได้ดีที่สุด โดยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงยังมีการดำเนินนโยบายต่างๆ อาทิ ธนาคารหน่วยกิต หรือโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ที่จะช่วยทำให้การเรียนการสอนเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล (personalized) มากขึ้น

อีกหนึ่งก้าวที่ยิ่งใหญ่คือการปรับหลักสูตร หลังจากที่ผ่านมาเป็นการปรับเพียงเล็กน้อย (minor) สิริพงศ์ฉายภาพว่า ในปีนี้ จะมีการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ กล่าวคือชั้นประถมศึกษาอาจจะใช้การเรียนแบบกิจกรรมเป็นฐาน (activity based) โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยมากขึ้นหรือมุ่งสมรรถนะที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน

“ปกติเราจะเห็นการวัดผลเชิงปริมาณเยอะ เช่น ครูสอนครบชั่วโมงไหม แต่เราไม่ได้วัดว่าผู้เรียนได้รับอะไร อย่างตอนที่ ศธ. ปิดเรียนเพื่อให้เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เราจะเห็นข่าวคุณครูออกมาบอกว่า สอนไม่ทัน เพราะตัวชี้วัดในอดีตจะวัดว่าสอนครบไหม แต่ถ้าเราอยากเปลี่ยนจะต้องไม่มีคำถามเช่นนี้ เพราะเรากำลังจะมุ่งไปที่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้มากกว่า”

นอกจากการปรับในห้องเรียนแล้ว ปลายทางอย่างการเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เริ่มมีการหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และมหาวิทยาลัยว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยควรเป็นฐานสมรรถนะที่ทดสอบการนำไปใช้มากกว่าท่องจำหรือไม่ หรือการปรับ O-NET ให้สอดคล้องกับแนวทางการสอบที่เป็นสากลมากขึ้น

อีกปัญหาใหญ่อย่างการหลุดออกนอกระบบการศึกษา (drop out) ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยในปัจจุบัน มีการสำรวจข้อมูลของเด็กใน 16 จังหวัดได้ครบร้อยละ 100 แล้ว ทว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะต้องมีการแบ่งข้อมูล เช่น สัญชาติ ช่วงชั้น เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้เหมาะสมต่อไป

ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์

รื้อระบบ ปรับระเบียบ เพื่อให้โรงเรียนอยู่ได้ด้วยตนเอง – เทอดชาติ ชัยพงษ์

“โอกาสกับคุณภาพการศึกษาเชื่อมโยงกัน และเชื่อมโยงไปถึงคุณภาพของประเทศในอนาคตด้วย เพราะคุณภาพของเด็กไทยคือคุณภาพของประเทศไทย”

ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ สส. พรรคเพื่อไทย จ.เชียงราย และรองประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวนำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างมีความล้าหลังและจำเป็นที่จะต้องปรับให้ทันยุคทันสมัยยิ่งขึ้น ผนวกกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความหลากหลายในพื้นที่ และสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ดีขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษาเพิ่มขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เทอดชาติยกตัวอย่างปัญหาสองข้อ ปัญหาแรก คือเรื่องของเศรษฐฐานะที่มีผลต่อคุณภาพคนและเป็นความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดที่ไทยยังไม่สามารถลดได้ ปัญหาที่สอง และสอดคล้องกับที่สิริพงศ์กล่าวถึงคือเรื่องงบประมาณ กล่าวคือตัวเงินที่จะส่งไปสู่หน่วยปฏิบัติซึ่งก็คือสถานศึกษายังมีน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ นำไปสู่แนวคิดการกระจายอำนาจสู่หน่วยปฏิบัติ เพราะการกระจายอำนาจจะช่วยให้ปัญหาเรื่องงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณบรรเทาลง และปัญหาข้อสุดท้าย คือโครงสร้างพื้นฐานของสถานศึกษาที่มีขนาดไม่เท่ากันและได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เท่ากันด้วย

“ผมเสนอให้เราจัดตั้งอนุกรรมาธิการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะว่าโรงเรียนแบบนี้เกิดน้อยลงทุกปี โรงเรียนที่มีขนาดเล็กก็จะเล็กลงทุกปี และเราไม่เคยแก้ปัญหาให้เขาได้เลย บางทีก็ต้องแก้โดยใช้การทอดผ้าป่า ซึ่งมันก็เป็นการมีส่วนร่วมที่ดีแต่ไม่ใช่หลักการในการพัฒนา”

เทอดชาติกล่าวว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมดจะแก้ไขไม่ได้เลย หากไม่ช่วยกันรื้อโครงสร้างขนานใหญ่ อีกทั้งยังมีเรื่องการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดผลกับผู้เรียนโดยตรง ซึ่งก็ต้องนำไปสู่การทบทวนโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนต่อไป

ขณะที่ในเรื่องหลักสูตร เทอดชาติมองว่าหลักสูตรปัจจุบันไม่ตอบสนองต่อการจัดการเรียนรู้และวิธีจัดการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเรียนรู้และดำเนินการได้เองโดยมีสื่อต่างๆ เป็นสื่อช่วยในการเรียน ดังนั้น หน่วยปฏิบัติแต่ละพื้นที่จะต้องจัดการดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของตนเองและบริบทของนักเรียนเพื่อให้ตอบโจทย์เชิงคุณภาพ

“เราอาจจะไม่ได้เริ่มต้นแค่ที่หลักสูตรปฐมวัยและเด็กเล็ก แต่ไปเริ่มต้นตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงาน ปูพื้นฐานมาจนถึงปฐมวัยเพื่อเราจะได้ทรัพยากรคนที่มีคุณภาพในระยะยาว” เทอดชาติเสนอ “การจัดการศึกษาก็เช่นกัน ต้องให้มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันไปว่าจะจัดอย่างไร ให้เกิดผลอย่างไร เพื่อทุกคนจะได้ผลร้อยละ 100 เท่ากัน เป็นระบบที่มีความเชื่อมโยงร้อยรัดซึ่งกันและกัน”

ไม่ใช่แค่เรื่องนักเรียน แต่บุคลากรทางการศึกษาอย่างครูก็สำคัญไม่แพ้กัน เทอดชาติเสนอว่า การคัดเลือกและผลิตครูจะต้องปรับใหม่ โดยเฉพาะเรื่องวิทยฐานะและโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพที่มีความไม่เสถียรอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ครู ดังนั้น การกระจายอำนาจให้ไปสู่หน่วยปฏิบัติที่ใกล้ชิดครูมากที่สุดจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงหาแรงจูงใจให้ครูที่ยินดีไปสอนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้มองไปถึงร่มใหญ่อย่างกระทรวงศึกษาธิการ เทอดชาติมองว่ากระทรวงฯ มีขนาดเทอะทะและมีหน่วยสั่งการมากเกินไป ซึ่งยังเป็นความท้าทายสำคัญในการปรับตัวต่อไป รวมถึงการมีระบบติดตามและประเมินผลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้เห็นภาพทั้งหมด ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบทั้งหมดต้องถูกปรับรื้อเพื่อให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการและอยู่ได้ด้วยตนเอง รัฐมีหน้าที่เพียงสนับสนุนส่งเสริมให้เขาอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ในตอนท้าย เทอดชาติกล่าวว่า “ในตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ฉบับใหม่กำลังเข้าสู่สภาเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไปแล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ นี้จะเป็นร่างที่ทุกคนมีส่วนร่วม ปรับรื้อระบบที่เราคิดว่ามีปัญหา ให้คนไทยมีโอกาส มีคุณภาพ และนั่นคือคุณภาพของประเทศด้วยเช่นกัน”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ปัญหา (การศึกษา) เชิงระบบต้องถูกแก้ด้วยระบบ – สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

สำหรับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาเชิงระบบ และการจะแก้ปัญหาเชิงระบบได้จะต้องแก้ด้วยระบบจึงจะเกิดผล ซึ่งสุชัชวีร์ชี้ให้เห็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเชิงระบบสองข้อ

ข้อแรก คือเป้าหมายด้านการศึกษาของประเทศไทยไม่เคยชัดเจน กล่าวคือ ไม่เคยมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ในอีก 5 ปีเด็กไทยจะต้องได้คะแนนสอบ PISA เท่าไร จะลดความเหลื่อมล้ำให้ได้เท่าไหร่ ซึ่งสุชัชวีร์ชี้ว่าจำนวนลดลงอาจไม่ได้ดีขึ้นเสมอไป เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่เด็กเกิดน้อยลงด้วย การจะวัดผลจริงๆ จึงต้องตั้งเป้าหมาย ที่สำคัญคือ ภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมพัฒนา เพราะลำพังเงินจากภาครัฐอย่างไรก็ไม่พอ

ข้อที่สอง คือโลก AI ปัจจุบันกำลังจะเป็นควอนตัม แต่ระบบของไทยยังไม่มีความแม่นยำ ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้ปัญหา เพราะถ้ายังพุ่งเป้าไปที่ระดับจังหวัด โรงเรียน ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพในเมื่อโลกไปถึงการแก้ไขปัญหารายบุคคลแล้ว ทว่าสุชัชวีร์ย้ำเตือนว่า หากพูดถึงการกระจายอำนาจ จะต้องระวังไม่ให้ปัญหาจากส่วนกลางกลายเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ได้ เพราะพื้นที่ไม่มีสรรพกำลังเท่าส่วนกลาง

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา 5 ประการ โดย ประการแรก สุชัชวีร์ย้ำเรื่องการตั้งเป้าหมายเพื่อให้มองภาพชัดเจนและเดินไปถึงเป้าหมายได้ร่วมกัน ประการที่สอง คือการดำเนินการรายบุคคล (personalized) กล่าวคือใช้ AI เจาะเข้าไปรายบุคคลในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแสนเป็นล้านคนเพื่อทำการจับคู่ว่า พื้นที่ลักษณะนี้มีผู้ปกครองและครูแบบไหน หรือทำโมเดลที่สามารถนำไปสู่การติดตามและแก้ไขปัญหาเด็กรายบุคคลได้ต่อไป

ประการที่สาม และต่อเนื่องจากประเด็นก่อนหน้าคือ หากเราใช้ AI ระบุตัวเด็กรายบุคคลได้ จะทำให้คนไทยทั้งประเทศสามารถช่วยดูแลเด็กทั้งประเทศได้

“เพราะการศึกษาไม่ใช่ภาระของรัฐเท่านั้น แต่เราทุกคนต้องช่วยกัน” สุชัชวีร์กล่าว

ประการที่สี่ สุชัชวีร์กล่าวว่าเงินไม่ใช่เรื่องเดียวที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวทางการศึกษา แต่มีปัจจัยแวดล้อมมากมาย ทั้งครอบครัว ชุมชน หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม การเติมเต็มและพิจารณามิติเหล่านี้จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น

ประการสุดท้าย ข้อมูลที่มีบอกเราว่า เด็กยากจนพิเศษเข้ามหาวิทยาลัยได้ร้อยละ 5 ซึ่งเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เท่าเด็กทั่วไปที่เข้าได้ร้อยละ 30 อันนี้ต้องบอกว่า จริงๆ เด็กในมาเลเซียเข้ามหาวิทยาลัยได้ร้อยละ 70 และสิงคโปร์คือร้อยละ 100 แล้วนะครับ

“เพราะฉะนั้น การเพิ่มขึ้นไม่เท่ากับคุณภาพ เราต้องเน้นเรื่องคุณภาพด้วย” สุชัชวีร์ทิ้งท้าย

พริษฐ์ วัชรสินธุ

แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยแนวทางที่ เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น และลึกขึ้น’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ

“ผมคิดว่าความท้าทายเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศมาจากปัญหาเชิงระบบ 4 ประการ” พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวนำ

ประการแรก พริษฐ์เกริ่นว่า ไทยลงทุนในการศึกษาไม่น้อย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.7 ของ GDP ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากประเทศสมาชิก OECD มากนัก ทว่าปัญหาอยู่ที่งบประมาณไปถึงนักเรียนอย่างไม่เพียงพอ เนื่องจากงบส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับด้านบุคลากร จึงจำเป็นต้องทบทวนการแบ่งสัดส่วนโครงสร้างงบประมาณ โดยเฉพาะงบบุคลากรที่ต้องมองไปถึงโครงสร้างของกระทรวงและหน่วยงานว่ามีความเทอะทะหรือทำงานซ้ำซ้อนกันเกินไปหรือไม่

“อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้งบไปถึงนักเรียนอย่างไม่เสมอภาคคือ การกระจายงบโดยการคำนวณแบบรายหัวให้นักเรียนตามสถานศึกษา เราอาจจะต้องลองคำนึงถึงปัจจัยอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อคิดถึงความเสมอภาค ไม่เช่นนั้น โรงเรียนขนาดเล็กจะเสียเปรียบ”

ประการที่สอง หลายครั้งที่คนที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาจริงๆ กลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การที่ส่วนกลางทุ่มงบมาพัฒนาบางอย่างในโรงเรียนก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ความสำคัญลำดับต้นๆ ที่โรงเรียนอยากพัฒนา

“ผมเข้าใจดีว่าเราต้องมีมาตรฐานส่วนกลางในการกำกับดูแล เช่น สุขาที่ถูกสุขอนามัย อาคารเรียนที่ปลอดภัย แต่ถ้าพูดถึงการพัฒนาที่เกินกว่านี้ เราควรกระจายอำนาจให้โรงเรียนสามารถตัดสินใจได้มากกว่านี้ไหม เพราะฉะนั้น การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ”

ประการที่สาม พริษฐ์ชี้ว่า การลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาต้องไม่ใช่แค่ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสถานศึกษา แต่ต้องเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสถานศึกษา ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ หากสามารถนำเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้าสู่ระบบได้แล้ว เราจะต้องคำนึงถึงต่อว่า หากนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบแล้ว การศึกษาที่เด็กได้รับมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ เช่น การมีโครงการพัฒนาศักยภาพของเด็กทว่ายังเชื่อมกับหลักสูตรเดิม ทั้งที่หลักสูตรเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในการศึกษาไทย

และ ประการที่สี่ พริษฐ์เน้นย้ำว่า การลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้สวนทางกับการโอบรับความหลากหลาย หากพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นคือ การศึกษาที่ดีของแต่ละคนอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกัน ดังนั้น การปลดล็อกการศึกษานอกระบบโรงเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการศึกษาแต่ละแบบมีความเหมาะสมกับเด็กแต่ละคนที่เจอสถานการณ์ต่างกัน สิ่งสำคัญที่จะเป็นกลไกที่ช่วยโอบรับความหลากหลายและใช้ทรัพยากรที่ตอบโจทย์พื้นที่ได้คือ บทบาทของท้องถิ่น แต่ปัจจุบัน ท้องถิ่นก็ยังเจอข้อจำกัดและความท้าทายเชิงระเบียบตลอดเวลาหากจะทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนนอกสังกัดท้องถิ่น

นั่นจึงนำมาสู่แนวทางการของพริษฐ์เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือการลงทุนที่ “เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น และลึกขึ้น”

เร็วขึ้น คือถ้าเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะต้องรีบลดตั้งแต่ต้น คือลดในระดับปฐมวัยหรือประถมศึกษา ซึ่งจะได้ผลประโยชน์จากการลงทุนสูงมาก ที่ผ่านมาไทยลงทุนในระดับนี้ค่อนข้างน้อย”

เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น พริษฐ์ชี้ให้เห็นแนวทาง 2 ข้อ ข้อแรกคือการยกระดับคุณภาพและการมีอยู่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือปรับหรือขยายเวลาให้บริการให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้ปกครองมากขึ้น เช่น เปิดให้บริการเย็นขึ้น เปิด 7 วันและไม่มีปิดเทอม และข้อสอง พริษฐ์ชี้ให้เห็นว่า เด็กในช่วงอายุ 3 เดือนถึง2 ปี คือช่วงที่ร่วงหล่นจากการได้รับบริการจากรัฐมากที่สุด เพราะเป็นจุดที่สิทธิลาคลอดของมารดาจบลงจนถึงอายุ 2 ปีที่จะเข้าได้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อดูแลเด็กในช่วงนี้ ทั้งด้านทรัพยากรและบุคลากร

สำหรับ นานขึ้น พริษฐ์ชี้ว่าคือการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดชีวิต เช่น การทำคูปองเพื่อให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถใช้พัฒนาทักษะได้ เพราะแม้ปัจจุบันจะมีคอร์สยกระดับทักษะหรือการเรียนรู้ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ทว่าหลายครั้งที่อุปสรรคจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องค่าใช้จ่าย แต่เป็นเรื่องเวลา เพราะคนทำงานจะต้องทำงานหารายได้ตลอดเวลาทำให้ไม่อยากเสียสละเวลามาเรียน เพราะการมาเรียนจะทำให้รายได้ลดลง ดังนั้น พริษฐ์จึงยกตัวอย่างโมเดลของอินโดนีเซียที่ไม่ใช่แค่มีคูปองเรียนฟรี แต่มีการให้เงินสดด้วยตอนเรียนจบเพื่อเป็นแรงจูงใจ

การกระจายอำนาจหรือการเพิ่มบทบาทท้องถิ่นคือคำตอบของแนวคิด ไกลขึ้น แต่ต้องมาพร้อมกลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบจากผู้ปกครอง นักเรียน คุณครู ไปจนถึงบุคลากรของสถานศึกษาในพื้นที่ในเรื่องการใช้งบประมาณ ซึ่งพริษฐ์มองว่าการกระจายอำนาจเช่นนี้จะช่วยทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เพราะท้องถิ่นจะรู้ปัญหาอุปสรรคของเด็กแต่ละคนมากกว่า

“การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่ต้องดูการใช้ชีวิตของเด็กแต่ละคนด้วย” พริษฐ์อธิบายแนวคิด กว้างขึ้น “เพราะฉะนั้น บทบาทของ ศธ. หรือสถานศึกษาจึงไม่ใช่แค่ดูแลเรื่องวิชาการ แต่ต้องดูถึงการจัดสภาพแวดล้อมหรือสุขภาวะของเด็กให้พร้อมต่อการเรียนรู้ด้วย เพราะถ้าเด็กยังต้องอดอาหารหรือเจอสภาวะความเครียดจากครอบครัว ต่อให้ครูสอนดีแค่ไหนก็ไม่อาจอยู่ในจุดที่จะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้”

นอกจากนี้ เพราะนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในครอบครัวแหว่งกลาง คืออยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ดังนั้น พริษฐ์จึงเสนอว่า เราต้องดูแลถึงคนกลุ่มนี้ให้มีทักษะในการเลี้ยงดูบุตรหลานด้วย

และสุดท้าย ลึกขึ้น พริษฐ์เห็นพ้องกับทุกคนถึงเรื่องการใช้ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกเพื่อการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคนมากขึ้น โดยเฉพาะแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างชุดข้อมูลเด็กยากจนพิเศษของ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการต่อยอดการดำเนินการต่อไป


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world