“จอดรถตรงนี้แหละ เดี๋ยวเราเดินเข้าไป” ครูประพินพูดเมื่อรถขับมาถึงทางตัน หลังจากขับมาตามทางได้ระยะหนึ่ง
พื้นที่หลังวัดมูลจินดาราม บางส่วนถูกจับจองเป็นที่อยู่อาศัย สร้างบ้านไม้อยู่ด้วยกันประมาณ 5-6 หลัง เต้ย (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนวัดมูลจินดาราม เดินนำไปบ้านของเขาบนทางดินเล็กแคบที่รถใหญ่ผ่านไม่ได้ แดดเช้าลอดผ่านต้นกล้วยที่ขึ้นไม่เป็นระเบียบอยู่ข้างทาง ตรงดินมีขยะพลาสติกวางอยู่เป็นระยะ ทุกวัน เต้ยจะปั่นจักรยานไปโรงเรียนที่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร โชคดีที่ไม่ต้องเสียค่าเดินทางมาโรงเรียน
“เต้ยอยู่กับย่าและป้า แม่ทิ้งเขาไปตั้งแต่เด็ก ส่วนพ่ออยู่เรือนจำเพราะคดียาเสพติด” ครูประพิน เวฬุวนารักษ์ ครูผู้รับผิดชอบงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนวัดมูลจินดาราม เล่าให้ฟังระหว่างเดินใต้ร่มไม้
เสียงหมาเห่าดังขรมตลอดทางที่เราเดินเข้าไป จนทางเดินค่อยๆ เล็กแคบลง จากทางดินกลายเป็นทางเดินบนไม้กระดานที่ใช้พาดผ่านพื้นโคลนแฉะ เต้ยนำทางไปอย่างคล่องแคล่ว จนมาถึงบ้านไม้ไต้ถุนสูงโย้เย้หลังหนึ่ง
“พื้นบ้านเขาทำจากไม้ฝาโลงศพ เพราะพื้นผุ คุณย่าทำงานคนเดียวไม่มีตังค์ ต้องเอาฝาโลงศพที่วัดบริจาคให้มาเป็นพื้นบ้าน” เสียงครูประพินเล่าคลอไปกับเสียงหมาเห่าที่ดังขึ้นเรื่อยๆ มองเห็นใต้ถุนบ้านเต็มไปด้วยขยะกองอยู่บนแอ่งน้ำขัง ฉับพลันนั้นแมวสองตัวก็เดินเข้ามาคลอเคลียที่ขาของเต้ย
“ผมมีแมวห้าตัว สองตัวนี้ชื่อปูผัด กับ ลิงครับ” เต้ยบอกด้วยรอยยิ้ม แล้วค่อยพาเดินขึ้นบันไดบ้านเล็กแคบที่มีหม้อและของใช้วางอยู่ตรงขอบตลอดทาง ทอดขึ้นไปสู่ห้องเดี่ยวขนาดเดินห้าก้าวก็สุดกำแพง
“ผม แม่ กับป้า นอนด้วยกันในนี้หมดเลย นอนคนละมุม ก่อนนอนก็จะปูเสื่อก่อน” เต้ยชี้ไปที่มุมนอนของเขา มีตุ๊กตาตัวเล็กวางอยู่ให้รู้ว่าเป็นอาณาเขตใคร เต้ยเรียกย่าว่าแม่ เพราะแทบจะเป็นคนเดียวที่ดูแลเขาให้เติบโตมาจนถึงตอนนี้
ย่าต้องทำงานโรงงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน แม้อายุจะเข้าใกล้วัยเกษียณเต็มทีแต่ก็ยังต้องทำงานต่อไป ด้วยภาระงานของย่าและการเงินที่ขัดสน ทำให้ในบางเช้าเต้ยไม่ได้ทานข้าว ต้องไปทานอาหารที่โรงเรียนมีให้หลังเคารพธงชาติ เพื่อจะมีแรงและมีสมาธิในการเรียนทั้งวัน
เต้ยไม่ใช่เด็กไทยคนเดียวที่ประสบภาวะเหล่านี้ แต่ยังมีเด็กในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นอีกกว่า 1.1 แสนคนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 100 บาท การได้เข้าสู่ระบบการศึกษานับเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะช่วยให้พวกเขาขยับชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียนวัดมูลจินดาราม ที่ยังมีอีกหลายคนต้องอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่อัตคัด ที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่รับเด็กเข้าเรียนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึง ม.3 ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับวัดมูลจินดาราม อยู่เลียบคลองรังสิต ในตำบลบางยี่โถ ปทุมธานี แม้บริเวณใกล้ๆ โรงเรียนจะมีสนามกอล์ฟ สวนสนุก และหมู่บ้านจัดสรรราคาแพงอยู่รายรอบ แต่ชีวิตของเด็กนักเรียนดูเหมือนจะไม่ได้สนุกหรือสมบูรณ์เหมือนสภาพรอบข้างเลย
โรงเรียนวัดมูลจินดารามอยู่กับชุมชนมากว่า 90 ปีแล้ว แต่ในปัจจุบันนักเรียนที่เข้ามาศึกษาที่นี่ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่มักจะเป็นคนย้ายจากที่อื่นเพื่อเข้ามาทำงาน ด้วยไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ทำให้พวกเขาต้องปลูกเพิงตรงริมคลอง ขอพื้นที่หลังวัดเป็นที่อยู่อาศัย และเด็กส่วนมากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อาจด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือบางครั้งพ่อแม่ก็อยู่ในเรือนจำเพราะคดียาเสพติด เด็กหลายคนจึงต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย และย้ายมาเรียนกลางคัน
“ถ้าถามว่าเด็กของเราอยู่ในฐานะแบบไหน เกินครึ่งคือยากจน ถึงยากจนมาก” พัชรี เหลืองอุดม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมูลจินดาราม กล่าวถึงภาพรวมของนักเรียนที่นี่ ก่อนจะขยายความต่อไปว่า
“เราไม่ใช่โรงเรียนมัธยมเต็มตัว แต่ สพฐ. ต้องการขยายโอกาสสำหรับเด็กที่ไม่มีโอกาสเข้าไปเรียนมัธยมเต็มตัวในสังกัด สพม. เด็กที่สอบเข้าโรงเรียนมัธยมไม่ได้ ก็จะมาเรียนการศึกษาภาคบังคับกับเรา พอมีแบบนี้ โรงเรียนเราก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปิดประตูให้เขาศึกษาต่อ เพราะเด็กบางคนอาจจะจบแค่ ป.6 แล้วออกไปรับจ้างทั่วไป หรืออยู่ข้างนอกโดยไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แต่คำถามก็คือพอขยายโอกาสแล้ว เขาจะได้รับโอกาสเรียนจนจบถึงระดับไหน” ผอ.พัชรี กล่าว
ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับก่อนเวลา เห็นได้ชัดเจนจากสถิติที่โรงเรียนต้องเผชิญ ระหว่างทาง ม.1-3 มีเด็กที่หล่นหายไประหว่างทางเกือบครึ่ง ส่วนมากเริ่มต้นจากไม่ค่อยมาโรงเรียน พอครูไปตามที่บ้านก็พบตายายที่หมดหนทางเช่นเดียวกัน “ครู ช่วยฉันที ฉันบังคับให้มาเขาก็ไม่มา” คือหนึ่งในประโยคที่ ผอ.พัชรี เคยได้รับเมื่อไปตามเด็กนักเรียนที่บ้าน ผอ.พัชรี เรียกภาวะนี้ว่าเป็นการ ‘แพ้ภัยตัวเอง’ ของเด็ก
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กคนหนึ่งจะเอาตัวรอดในโลกที่ดูเหมือนทุกอย่างไม่เป็นใจ เมื่อบางวันเขาต้องท้องร้องเพราะหิวข้าวตลอดคาบเรียน จะเอาสมาธิที่ไหนมาจดจ่อบนกระดาน หรือเมื่อเย็นย่ำ กลับบ้านไปก็ไม่มีอะไรให้ทำ เพราะพื้นที่บ้านมีไว้ให้นอนหลบฝนเท่านั้น หลายครั้งความฝันความหวังของพวกเขาค่อยๆ ดับลง เพราะเขาเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเนื้อหาที่เรียนไม่ได้เลย
“บางวิชามันยาก เรียนแล้วไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจก็เบื่อ ครูถามผมก็ตอบไม่ได้ ผมก็เลยนอนหลับหนีดีกว่า” ต้น (นามสมมติ) เด็กหนุ่มจากแก๊ง ม.3 ที่ว่ากันว่าเป็นตัวแสบของโรงเรียนบอกกับเรา หากดูภายนอก พวกเขาคงดูไม่น่าไว้ใจ และหลายคนคงเหนื่อยที่จะคาดหวังกับพวกเขาแล้ว แต่เมื่อมองเข้าไปในแววตา พวกเขาก็มีความฝันและพยายามดิ้นรนจะไปในเส้นทางของตัวเอง
“จบ ม.3 ผมว่าจะไปสอบเรียนสายอาชีพ ผมชอบคอมพ์ฯ ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนแล้วก็ทำงานได้เลย” ต้นบอกกับเรา เขาคือหนึ่งในคนที่ได้โอกาสเรียน และกัดฟันเรียนจนกำลังจะจบ ม.3 ถึงแม้จะติดศูนย์ ติด ร. แทบทุกวิชา แต่เขาก็พูดด้วยความมั่นใจว่า “ผมตามแก้จะครบทุกวิชาแล้วครับ”
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จบ ม.ต้น แล้วอยากจะเรียนต่อเสมอไป เด็กหนุ่มอีกคนบอกความต้องการของเขาด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า “จบจากที่นี่แล้ว ผมจะไปเรียนสัก ผมอยากเป็นช่างสัก” เขาเงียบไปครู่หนึ่งแล้วว่า “ไม่อยากเรียนแล้ว”
ทิศทางชีวิตของเด็กจำนวนมากอยู่ในภาวะคาบลูกคาบดอก ครูประพินเล่าจากประสบการณ์การเป็นครูหลายสิบปีว่า เด็กประถมส่วนมากจะยังอยู่ในร่องในรอย “แววตาใส และตั้งใจเรียนมาก” คือประโยคที่ครูประพินเลือกใช้ แต่เมื่อพวกเขาเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กหลายคนที่มีฐานช่วงวัยเด็กไม่ดีพอก็มักจะหลุดหายออกไปจากระบบ และมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างจากตอนที่พวกเขาเติบโตมาเท่าไหร่
ครูประพินย้ายจากสกลนครมาทำงานที่นี่หลังจากสอบบรรจุครูได้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน มีลูกศิษย์ผ่านมาและผ่านไปหลายร้อยชีวิต บางคนจบ ม.3 ไปเข้าเรียนสายอาชีพ ไปฝึกเป็นช่างเสริมสวยก็มีงานทำจุนเจือครอบครัว ช่วยขยับขยายให้ครอบครัวหลุดออกไปจากวงจรความยากจน “ยังไงเราก็อยากให้เขาเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ” ครูประพินบอก
เด็กวัยประถมหลายคนอยู่ในความดูแลของครูประพิน ภายใต้ชุดนักเรียนขาวสะอาด และรองเท้าใหม่เอี่ยม พวกเขามีชีวิตที่ยากลำบากอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกังวลใจของครูประพินว่า เด็กเหล่านี้จะเติบโตไปอย่างไร หากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ‘น้องพลอย’ (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ป.2 คือหนึ่งในนั้น
น้องพลอยเป็นลูกคนที่ 4 จากจำนวนพี่น้อง 5 คน อาศัยอยู่ในเพิงสังกะสีริมคลองกับพ่อแม่และพี่น้อง หลังบ้านเป็นคลองติดถนนใหญ่ รถราวิ่งขวักไขว่เสียงดังตลอดทั้งวันทั้งคืน ส่วนอีกฝั่งเป็นบ้านจัดสรรราคาหลายล้านที่แค่ประตูทางเข้าหมู่บ้านก็ใหญ่กว่าบ้านทั้งหลังของน้องพลอย กำแพงปูนบดบังภาพไม่น่าพิสมัยของเพิงที่วางเรียงกันเป็นแถว เปิดเป็นช่องทางเข้าเล็กแคบให้เดินเข้าไปได้
พัดลมและเครื่องใช้ที่ดูพร้อมทิ้งวางอยู่ตรงพื้น มีห้องขนาดเล็กที่รวมทุกอย่างเอาไว้ในนั้นเป็นห้องนอนของทั้ง 6 ชีวิต แต่เดิมพี่สาวคนโตของน้องพลอยอยู่ด้วยกัน แต่สอบติดโรงเรียนมัธยมไกลบ้านจึงต้องย้ายไปอยู่กับยาย พ่อแม่ของพลอยหาเงินจากการรับจ้างทั่วไปและเก็บของเก่าขาย จึงมีรายได้จุนเจือครอบครัวประมาณสัปดาห์ละ 1,000 บาท
“แม่ น้องล่ะ” เสียงพลอยถามแม่ใสแจ๋ว เมื่อมาถึงบ้านแล้วไม่เห็นน้องเล็กวัย 9 เดือนที่กำลังน่ารัก แม่บอกว่าฝากไว้กับข้างบ้าน เพราะเมื่อครู่ออกไปทำธุระ พูดจบไม่ทันขาดคำ พลอยก็เดินออกไปหาน้องทันที
“ไม่มีตู้เสื้อผ้า ไม่มีตู้เย็น ไม่มีอะไรเลย” คือเสียงบอกเล่าจากแม่ของพลอย “บ้านหลังนี้ไม่มีบ้านเลขที่ โดนไล่เมื่อไหร่ก็ต้องไป ส่วนน้ำไฟใช้ต่อจากหมู่บ้านฝั่งตรงข้าม แล้วจ่ายเงินตามมิเตอร์ที่ใช้” เธอว่า
เมื่อมองไปรอบบ้าน ตรงหลังบ้านเป็นที่ล้างจาน บางทีก็ใช้ล้างเนื้อล้างตัว มองออกไปเห็นถนนชัดถนัดตา และเอาเข้าจริง ถ้ารถที่ขับอยู่เหลียวมามองทางนี้ ก็อาจสบตากับคนในบ้านได้ไม่ยากเลย ส่วนหลังคาสังกะสีก็ดูจะบังได้แค่แสงแดดเท่านั้น เพราะเมื่อไหร่ที่ฝนตกหนัก สังกะสีบอบบางนี้ก็ไม่อาจรับมือไหว
“เวลาฝนตกหนักเราต้องเอาฟิวเจอร์บอร์ดมายัด ถ้าหนักจริงๆ ต้องเอาร่มมาผูกเชือกไว้ เพราะรั่วทุกรูเลย ตรงหัวนอนต้องทำให้ดีๆ หน่อย เพราะลูกนอน
“มีครั้งหนึ่ง ฝนตกแรงมาก สังกะสีเปิดหมดเลย เราต้องยืนเอามือจับ ร้องไห้ เหนี่ยวไว้ไม่ให้สังกะสีปลิว บาดมือเลือดเต็มเลย จำได้ในชีวิต ร้องไห้แล้วยืนจับสังกะสี หนาวก็ไม่กลัว ลืม กลัวเปียกที่นอนลูก เหมือนในหนังเลย แฟนก็เอาก้อนหินใหญ่มาทับไว้ บนหลังคาเรามีแต่ก้อนหิน แล้วก็มีกิ่งไม้ที่คลุมบ้านนี่แหละที่กันไม่ให้สังกะสีไป” แม่ของพลอยเล่า แม้จะมีความตื่นเต้นเจืออยู่ในน้ำเสียงบ้าง แต่ก็คล้ายเล่าเรื่องธรรมดาของชีวิต
มองไปตรงอีกมุมหนึ่งของบ้าน มีห้องน้ำตั้งอยู่ หยากไย่ขึ้นเบาบางตามมุมห้อง แม่น้องพลอยเล่าว่า เวลาจะเข้าห้องน้ำต้องถือไม้หนึ่งอันไว้เคาะผนังก่อนเข้าเพื่อไล่ตะขาบกับงูออกไปก่อน ไม่ใช่แค่งูที่อันตราย แต่พื้นปูนที่ปูไว้ก็แตกออกเพราะดินถล่มลงไปในคลองหลังบ้าน
“หมู่บ้านตรงนั้นเขาทำท่อน้ำทิ้งลงมาตรงห้องน้ำเราพอดี” แม่ของพลอยชี้ไปที่หมู่บ้านจัดสรรฝั่งตรงข้าม “น้ำดำปี๋ เหม็นมากเลย พอทิ้งน้ำตรงนี้ดินก็ถล่มลงไป ฉาบปูนแล้วก็ยังทรุดอยู่ เราแจ้งทางการไปแล้วว่าขอแค่ต่อท่อยื่นลงไปอีกหน่อย ให้กลิ่นไม่ออก เรารอมา 2-3 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีใครมาทำอะไร”
วิถีชีวิตเหล่านี้สะท้อนลงไปในภาพวาดตรงฝาผนังของบ้านหลังนี้ ที่บอกเราว่าบางครั้งชีวิตก็หักหลังเราได้อย่างแสนสาหัส
ที่โรงเรียน ทั้งเต้ยและพลอย ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป วิ่งเล่นเมื่อมีโอกาสได้วิ่ง นั่งจดอย่างขะมักเขม้นเมื่อครูย้ำอยู่หน้ากระดาน เข้าไปช่วยงานแม่บ้าน เมื่ออยู่ในช่วงคาบว่าง และแอบง่วงบ้างในบางบ่าย
เราไม่รู้เลย — ไม่มีใครรู้ว่าเด็กเหล่านี้จะเติบโตไปแบบไหน ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่คือเรื่องการดูแลจิตใจในครอบครัวด้วย ความยากลำบากเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญของการศึกษาไทยที่เราควรทำให้หมดไปในเร็ววัน
นอกจากปัญหาเรื่องความยากจนในเมืองแล้ว ประเทศไทยยังมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนต่อโรงเรียน และมีระยะห่างจากโรงเรียนข้างเคียงที่ใกล้ที่สุดไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตรอยู่จำนวน 1,594 โรง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีนักเรียนอยู่ในโรงเรียนเหล่านี้ประมาณ 100,000 คน ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข
รวมถึงโรงเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านตามชุมชนต่างจังหวัด ที่บางส่วนบุคลากรครูไม่เพียงพอ และโรงเรียนขาดอุปกรณ์การเรียน ครูที่จบเอกพละ ต้องวิ่งสอนตั้งแต่วิชาภาษาไทยไปจนถึงคณิตศาสตร์ เด็ก ป.1-3 แทบจะเป็นเพื่อนกัน เพราะนั่งเรียนข้างกันเกือบทุกวิชา คอมพิวเตอร์บางที่ก็ติดๆ ดับๆ บางโรงเรียนเด็กสิบคนต้องรุมดูคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
ยิ่งในโลกที่เทคโนโลยีแทบจะเป็นลมหายใจของอนาคต การศึกษาแบบนี้ยิ่งไม่ตอบโจทย์ในทุกด้านของชีวิต
ประเด็นเรื่องสื่อการเรียนการสอน สะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างน่าสนใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่าโรงเรียนควรจะได้จัดสรรสื่อการเรียนการสอนด้วยตัวเองด้วย ไม่ใช่รอจากส่วนกลางเท่านั้น
“ยิ่งโรงเรียนเล็กยิ่งไม่ได้สื่อการสอนที่ดีหรือเหมาะสม เพราะรัฐเป็นคนจัดหาให้ ไม่รู้ว่าจะจัดให้โรงเรียนไหนบ้าง บางทีโรงเรียนประจำตำบลก็ได้เยอะ โรงเรียนขนาดเล็กได้น้อย ถ้าโรงเรียนจัดเอง ก็จะรู้ว่าตอนนี้เราขาดเครื่องคอมพ์ฯ เท่าไหร่ อยากได้ลูกบอลอีกกี่ลูก หรือห้องสมุดมีหนังสือพอไหม สิ่งที่โรงเรียนไม่ต้องการ บางทีรัฐก็จัดมาให้ แต่สิ่งที่เราต้องการกลับไม่ได้”
“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เกิดมาจากด้านเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดีทุกอย่างก็เหมือนกันหมด” ผู้อำนวยการที่ทำงานในโรงเรียนต่างจังหวัดมากว่า 30 ปี กล่าว และสำหรับเด็กหลายคนที่ไม่รู้ว่าจะเรียนหนังสือต่อไปเพื่ออะไร เพราะในชุมชนไม่มีแบบอย่างให้เห็น ก็เป็นหนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้
“เขาไม่มีโอกาส เพราะไม่มีข้อมูล ถึงมีคำแนะนำจากโรงเรียนว่าให้ไปต่อแบบไหน เขาก็ไปไม่สุด เพราะไม่มีข้อเปรียบเทียบหรือตัวอย่างให้เห็นจากคนในชุมชน”
เราจึงเห็นเด็กหลายคนที่เลือกจะเลิกเรียนหนังสือ แล้วใช้ชีวิตตามแนวทางเดิม โดยไม่อาจก้าวพ้นความยากจนข้ามรุ่นได้
เมื่อถอยมามองปัญหาการศึกษาไทยในภาพใหญ่ ยังมีเรื่องต้องแก้ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงบุคคล และสภาพแวดล้อมของการศึกษาโดยรวม ไม่ใช่เรื่องง่าย — ทุกคนรู้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราควรเลิกคาดหวัง
เวลาใกล้เที่ยงแล้ว นักเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนวัดมูลจินดารามทยอยออกมาทานข้าวเที่ยง เด็กชั้นประถมยังนั่งในห้องเรียน บางห้องในคาบพละ เด็กวิ่งเล่นกลางลานเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว
เด็กบางคนวิ่งเหมือนลูกธนู เมื่อมีพื้นที่ให้วิ่ง