“จีน” และ “ญี่ปุ่น” เดินหน้าปฏิรูปภาคการศึกษา ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
Photo Credit : humphery / Shutterstock.com
“จีน” พัฒนาหลักสูตร “การลงทุน” ชั้นประถม – มัธยมต้นทั่วประเทศ หวังปลูกฝังความรู้ด้านการเงิน-การลงทุน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรงเรียนประถม และมัธยมกว่า 500 โรงเรียนในจีน เริ่มเปิดสอนหลักสูตรด้านการลงทุนไปบ้างแล้ว โดยวารสารของตลาดหลักทรัพย์จีนรายงานว่า โรงเรียนประถม และมัธยมต้นในเซี่ยงไฮ้มากกว่า 100 แห่ง เปิดสอนด้านการลงทุน ตั้งแต่ปี 2011
นอกจากนี้ Chengdu Economic Daily เผยว่า ปี 2016 โรงเรียนประถมในเฉิงตู มณฑลเสฉวน เปิดหลักสูตรด้านการลงทุน รวมทั้งพานักเรียนไปทัศนศึกษาเยี่ยมชมสถาบันการเงิน และตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สอบถามและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน-การลงทุน
หรือย้อนกลับไปปี 2015 โรงเรียนประถม และมัธยมต้นในมณฑลกวางตุ้ง จำนวน 36 แห่ง ได้เปิดหลักสูตรการลงทุนในหุ้นเช่นกัน
ทว่า ความรู้ด้านเงินการลงทุนที่โรงเรียนต่างๆ ในจีนทยอยเปิดสอน ยังคงอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนทุกโรงเรียนทั่วประเทศ…
แต่ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศจีน เล็งเห็นว่า การสร้างองค์ความรู้ด้านการเงิน-การลงทุนให้กับประชากรจีนตั้งแต่วัยเด็ก เป็นทักษะความรู้สำคัญสำหรับโลกยุคปัจจุบัน จึงได้ทำความตกลงเห็นชอบร่วมกัน ที่จะนำความรู้ด้านการเงิน-การลงทุน พัฒนาเป็นหลักสูตรระดับชาติในชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่วิชาบังคับ
Gao Li on โฆษกของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์จีน และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวถึงความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการว่า มีแผนนำความรู้ด้านการเงิน-การลงทุน เป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคต โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการสร้างความรู้ด้านการเงิน-การลงทุนให้กับประชากรจีน ตั้งแต่วัยเด็ก และวัยรุ่น
อย่างไรก็ตาม Gao Li on ยังไม่ได้ระบุว่าหลักสูตรดังกล่าว จะเริ่มบรรจุใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศเมื่อไร
“ก่อนหน้านี้โรงเรียนกว่า 500 แห่งในจีน ได้รวบรวมความรู้ด้านการลงทุน มาบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ผลปรากฏว่านักเรียนหลายล้านคนได้รับประโยชน์จากความรู้ดังกล่าว”
แม้จะมีนักวิจารณ์ แสดงความกังวลว่าการให้ความรู้ด้านการลงทุนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถม และมัธยมศึกษาตอนต้น จะกระตุ้นให้เด็กสนใจการเสี่ยงโชคในหุ้นตั้งแต่วัยเด็ก
แต่สำนักการศึกษากวางโจว แสดงความคิดเห็นตรงกันข้าม โดยมองว่าการเปิดสอนด้านการเงินการลงทุนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น จะเป็นการสร้างความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้กับเยาวชนจีนมากกว่า
Photo by Jacob Plumb on Unsplash
“ญี่ปุ่น” ผลักดัน “Coding” เป็นวิชาบังคับชั้นประถม แก้ปัญหาขาดแคลนคนไอที – เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศ
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันในยุคดิจิทัล สายงานที่มาแรงที่สุด คือ งานด้านไอที ที่ครอบคลุมในหลายสาขา เช่น Programmer – Developer, IT Support, Database Management ฯลฯ ซึ่งในหลายประเทศ และหลายองค์กร กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ และหลายองค์กร โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ใช้นโยบายจูงใจในหลากหลายวิธี เพื่อดึง Talent จากชาติต่างๆ เข้ามาทำงาน
ไม่เว้นแม้แต่ “ญี่ปุ่น” ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และเทคโนโลยี ก็ตระหนักต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยเล็งเห็นว่านับวันความรู้และทักษะด้านไอที เป็นที่ต้องการสูงในตลาดงาน ขณะเดียวกันทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนารุดหน้าเร็ว และเกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีบนเวทีระดับโลก!!
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้รายงานสถิติคาดการณ์ว่าในปี 2020 ญี่ปุ่นจะมีคนทำงานสายเทคโนโลยี จำนวน 290,000 คน และถ้าหากตลาดไอทีเติบโต ตลาดงานดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนในปี 2030
เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องป้องกันปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้านไอที พร้อมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชากรรุ่นใหม่ ที่ต่อไปทักษะไอทีจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของประเทศ
ในปี 2012 กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ประกาศให้การเขียนโปรแกรม เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมีแผนขยายหลักสูตรดังกล่าวไปยังระดับมัธยมปลายในปี 2021
ขณะที่ล่าสุด “Coding” ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน “วิชาบังคับ” ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ ตั้งแต่ Grade 5 ซึ่งเทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยจะเริ่มเรียนตั้งแต่เดือนเมษายน 2020
ล่าสุดหนังสือเรียน Coding ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โดยเนื้อหาของหนังสือเรียนดังกล่าว จะปูพื้นฐานความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม และสอนการเขียน Code เบื้องต้น เช่น วาดรูปทรงต่างๆ ด้วยดิจิทัล, ทำไฟ LED กระพริบด้วยคำสั่งง่ายๆ
ไม่เพียงแต่การปลูกฝังทักษะใหม่แห่งโลกยุคดิจิทัลให้กับประชากรรุ่นใหม่ เพื่อมีทักษะสอดรับกับตลาดงาน และแนวโน้มของโลกเท่านั้น การผลักดันให้ “Coding” เป็นวิชาบังคับในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ขึ้นไป กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น ยังมองว่าจะช่วยพัฒนาทักษะความสามารถการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ผ่านการเรียนรู้จากการได้ลองผิดลองถูกจากการเขียนโปรแกรม
ปัจจุบันนอกจากญี่ปุ่น ที่อนุมัติ “Coding” ให้เป็นหนึ่งในวิชาเรียน ยังพบว่าภาคการศึกษาในหลายประเทศ ได้ผลักดันให้ “Coding” เป็นวิชาบังคับ ไม่ว่าจะเป็นระดับประถม หรือมัธยมศึกษา
อย่างในประเทศเกาหลีใต้ ได้ปรับระบบการศึกษา ด้วยการบรรจุวิชา Coding เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งในระดับประถม และมัธยม เช่นเดียวกับที่สหราชอาณาจักร ประกาศให้ Coding เป็นหนึ่งในวิชาภาคบังคับ สำหรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 5 – 16 ปี
ข้อมูลข่าวจาก : marketingoops.com