ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเป็นห้วงเวลาที่พรรคการเมืองต่างๆ จะแข่งกันเสนอแนวทางการทำงานและการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ให้สังคมไทยเลือกพิจารณา เช่นเดียวกับนโยบายการศึกษาที่ทุกพรรคการเมืองคิดหลากกลยุทธ์มาเสนอขาย
แน่นอนว่านโยบายที่จะถูกหยิบยกมาหาเสียง มักเป็นเรื่องน่าตื่นตา-ฟังแล้วตื่นเต้น นโยบายจำนวนมากจึงพยายามพูดถึงเรื่องที่จับต้องได้ เช่น ขยายการเรียนฟรีถึงปริญญาตรี (เฉพาะสาขาที่ตลาดต้องการ) ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน อาหารกลางวันฟรี ลดงานครู ให้ทุน แจกแท็บเล็ต เป็นต้น ซึ่งมองโดยผิวเผินอาจไม่เห็นความแตกต่างในแต่ละพรรคอย่างชัดเจนนัก
เมื่อย้อนมองเส้นทางการศึกษาไทยที่ผ่านมาจะพบว่า ฝ่ายการเมืองมีบทบาทสำคัญมากที่จะทำให้การศึกษาไทยรุ่งหรือร่วง หากนักการเมืองที่เข้ามาทำงานการศึกษาเปิดกว้างรับฟังและเลือกนักการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์มาทำงานก็อาจทำให้ประเด็นปัญหาต่างๆ ถูกแก้ไขและมีนวัตกรรมใหม่ได้ แต่หากนักการเมืองมาจากกลุ่มที่มีฐานความคิดแบบเก่า-ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงก็อาจไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงและอาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิม การมองนโยบายการศึกษาจึงไม่อาจวัดกันว่าใครลดแลกแจกแถมมากกว่ากัน แต่จำเป็นต้องคุยในรายละเอียดวิสัยทัศน์ว่านโยบายจะมุ่งหน้าพาการศึกษาไทยไปในทิศทางไหน
101 จึงชวน 4 นักวิชาการและนักการศึกษามองนโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ว่ามีนโยบายใดที่น่าจับตา ปัญหาใหญ่การศึกษาไทยจะคลี่คลายได้ด้วยวิธีการใด และรัฐบาลใหม่ถูกตั้งความหวังให้แก้ปัญหาอะไรบ้าง
“เราอยู่ในระบบการศึกษาที่กลัวความเปลี่ยนแปลง”

เมื่อมองนโยบายการศึกษาของพรรคต่างๆ ในภาพรวม ผศ.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอย่างเสียดายที่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายการศึกษาไม่ได้เป็นนโยบายเรือธงของพรรคการเมืองเท่านโยบายเศรษฐกิจ เมื่อคลี่รายละเอียดนโยบายการศึกษาออกมาจะพบว่าพรรคการเมืองยังวนอยู่กับ 3 แนวนโยบาย ได้แก่ นโยบายอุดหนุนการศึกษา นโยบายปรับหลักสูตร และนโยบายเกี่ยวกับครู ประเด็นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันแต่กลับถูกพูดถึงอย่างเบาบางคือนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การกระจายอำนาจการบริหารจัดการการศึกษา
“การปรับการศึกษาไทยถ้าจะเริ่มจากการเมืองแล้วสร้างพลังได้มากพอ ต้องเขย่าไปที่โครงสร้างได้บ้าง ตอนนี้สังคมตื่นตัวเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างการศึกษาแล้วว่าการศึกษารับใช้อุดมการณ์รัฐเกินไป เช่น แบบเรียนภาษาพาที เรารู้ว่าเด็กไม่ชอบ ผู้ปกครองไม่เอา ครูก็ไม่อยากเอามาใช้สอน ปัญหาที่ลึกไปกว่านั้น คือระบบราชการ พอการศึกษายึดโยงกับระบบราชการมากไป การทำงานของครูกลายเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองรัฐที่มีลักษณะเป็นรัฐรวมศูนย์ การศึกษาจึงไม่ยืดหยุ่นพอที่จะตอบคำถามที่สังคมต้องการได้
“ประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาในระดับโครงสร้างที่ผมคิดว่าเป็นโอกาสของการเมืองที่ควรหยิบมาพูด แล้วสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแวดวงการศึกษามากกว่านี้ แต่กลับยังไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าไหร่ในการเลือกตั้งครั้งนี้”
ที่ผ่านมารัฐไทยมีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด 5 ปีให้หลังนี้กระทรวงศึกษาธิการยังเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุด ไม่ว่าจะในรัฐบาลใด นโยบายเรียนฟรีและปรับหลักสูตรให้ทันสมัยถูกพูดถึงตลอดในแวดวงการปฏิรูปการศึกษา แต่เมื่อนำไปปฏิบัติ ผลลัพธ์ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที เพื่อออกจาก ‘หล่ม’ ความไม่สำเร็จนี้ ธรกล่าวว่า “นโยบายการศึกษาควรทำให้มากกว่าการรู้ว่านโยบายอะไรควรทำ” ในสนามหาเสียงครั้งนี้ มีน้อยพรรคการเมืองที่ตระหนักและพูดถึงปัญหาในการนำไปปฏิบัติ
ธรยกข้อเสนอจากโครงการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ และ กสศ. ที่เสนอว่าขั้นแรกพรรคการเมืองต้องชูนโยบายการศึกษาเป็นนโยบายเรือธงเสียก่อน โจทย์ต่อมาคือจะทำอย่างไรต่อ ในขั้นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งระบบ ข้อเสนอนี้ยืนยันว่าทำไมการแก้ปัญหาเชิงระบบเป็นสิ่งจำเป็น
“เมื่อมีพรรคการเมืองอยากจะทำแล้ว แต่พอเข้าไปสู่กระบวนการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง ตัวระบบที่ขับเคลื่อนไม่ได้มีแค่กระทรวงศึกษา ยังมีหน่วยงานจัดสรรงบประมาณ และตัวแสดงอื่นอีกมาก ฉะนั้นการที่พรรคการเมืองพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างตั้งแต่แรกจะดีกว่า ต้องมองไปลึกกว่าการมีนโยบายที่น่าสนใจ แต่รู้ว่าถ้าฉันจะทำจริงๆ แล้ว จุดที่ต้องเข้าไปปรับในระบบคืออะไร”
ด้านนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ปรากฏในนโยบายของพรรคการเมือง ธรกล่าวว่านโยบายพรรคการเมืองยังพุ่งไปไม่ตรงจุด เห็นได้จากการชูนโยบายอุดหนุนและเรียนฟรีที่ขยายปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เมื่อพิจารณาประกอบกับสถิติการดึงเด็กไทยเข้าสู่การศึกษาที่ค่อนข้างคงที่มาหลายปี สะท้อนว่ารัฐขุดลึกไปจนถึงกลุ่มที่ดึงยากและค้างอยู่ที่กลุ่มนี้มาหลายปี ธรชี้ให้เห็นว่านโยบายเช่นนี้ยังเล็งไม่ถูกจุดอยู่สองประการด้วยกัน
ประการแรก จุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำอยู่ที่วัยเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในครอบครัวยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดึงเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ยาก การขยายปีเรียนฟรีไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยไม่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กกลุ่มนี้มากนัก เพราะมหาวิทยาลัยเป็นจุดที่คนยากจนเข้าไม่ถึง และเด็กยากจนหลุดจากระบบไปตั้งแต่แรกแล้ว
ประการที่สอง แม้จะอุดหนุนเท่าไหร่ก็ไม่ฟรีสำหรับครอบครัวที่ยากจน เพราะเป็นกลุ่มมีค่าเสียโอกาสทางการศึกษาสูง ต่อให้เด็กในครอบครัวยากจนได้ไปโรงเรียนฟรี แต่ผู้ปกครองจะมองว่าขาดแรงงานที่จะหารายได้มาช่วยจุนเจือครอบครัว
เช่นนั้นแล้วการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาควรพุ่งไปที่เด็กและทำควบคู่ไปกับการช่วยเหลือครอบครัวเด็ก ธรกล่าวว่าที่ผ่านมารัฐมีโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด แต่ยังพบปัญหาการตกหล่นค่อนข้างมาก การปรับวิธีให้เงินอุดหนุนที่สามารถเข้าถึงคนได้มากกว่านี้ เช่น ให้แบบถ้วนหน้าหรือให้ถ้วนหน้าไปก่อนแล้วค่อยตัดคนที่ไม่ได้ใช้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้ ธรยังกล่าวว่าปัญหาการศึกษาที่ตกค้างจากการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเป็นไปในลักษณะที่มองไปข้างหน้าแต่ไม่รักษาแผลให้หายดีเสียก่อน
“ช่วงที่มีการระบาดของโควิด เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ 40% ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีปัญหาการเรียนรู้ถดถอยอีก ที่น่าเป็นห่วงเพราะหลายคนคิดว่าพอสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้วจะหายไปเอง แต่จริงๆ ประเด็นเหล่านี้ควรมีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะสำหรับคนที่ออกแบบนโยบายการศึกษา”
นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงแล้ว ยังมีมิติด้านคุณภาพที่ควรให้ความสนใจมากกว่านี้ ธรกล่าวว่าความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมืองและโรงเรียนนอกเมือง เป็นผลมาจากการจัดสรรงบประมาณตามรายหัว ที่จัดสรรงบตามจำนวนนักเรียนในแต่ละโรงเรียน “การจัดงบแบบนี้ทำให้โรงเรียนเล็กเสียเปรียบ เพราะต้นทุนต่อหัวของโรงเรียนเล็กสูงกว่า เราไม่เคยปรับวิธีจัดงบให้ตอบเป้าเรื่องความเสมอภาคด้านคุณภาพจริงๆ สักที เพราะเราติดความไม่ยืดหยุ่นของระบบราชการไทย” ธรกล่าว
เมื่อถามว่าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นมากที่สุดเพื่อแก้ปัญหาการศึกษา ธรตอบอย่างหนักแน่นว่า “การศึกษาไทยควรฟังเสียงของเด็กให้มากขึ้น” ในวันที่ความสนใจของสังคมไปไกลกว่าที่ระบบการศึกษาอันล้าหลังจะตอบสนองได้ การยัดเยียดระบบที่ตกยุคไปแล้วไม่เป็นผลดีกับผู้เรียนเป็นแน่แท้
“ระบบการศึกษาไทยยึดโยงอยู่กับเป้าของรัฐมาตลอด การศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐ และยึดโยงอยู่กับระบบราชการอย่างแน่นแฟ้น ในอดีตเราจะเห็นว่าการศึกษาคือการสร้างชาติ พยายามปลูกฝังความรักชาติลงไป เมื่อเราศึกษาระบบการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเห็นโครงสร้างการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ รัฐพยายามลงทุนกับโรงเรียนในเมืองและการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าจะสนใจโรงเรียนในต่างจังหวัด
“ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราอยู่ในระบบการศึกษาที่กลัวความเปลี่ยนแปลง เป้าหมายของรัฐตอนนี้กลายเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงกับการเปลี่ยนแปลง ระบบการศึกษาพยายามต้านทานการเปลี่ยนแปลงนั้น ดังนั้นสิ่งที่อยากให้เกิดที่สุดเลยก็คือการศึกษายอมเปลี่ยนเพื่อตอบรับความต้องการใหม่ๆ ของสังคมไทย” ธรกล่าวปิดท้าย
ร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ระเบิดเวลารอรัฐบาลใหม่

ในมุมมองของนักการศึกษา ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองนโยบายการศึกษาของพรรคต่างๆ ว่าสามารถจำแนกได้เป็นสามกลุ่ม 1.นโยบายที่มีการรับฟังเสียงครูผู้สอน เช่น การลดงานครู การสั่งการของผู้อำนวยการโรงเรียน การประเมินผล ซึ่งเห็นจากนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นปลีกย่อยที่เป็นปัญหาปลายทาง 2. นโยบายแผ่นเสียงตกร่อง มีท่าทีในการมองครูและโรงเรียนว่าเป็นสิ่งที่ซ่อมได้ ยังไม่มีท่าทีในการทำให้เข้มแข็ง (empowerment) ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เช่น การพัฒนาครูทั้งระบบ ใช้ไอทีเข้ามาช่วยในการสอน re-skill/up-skill ครู ตัวอย่างคือนโยบายของพรรคเพื่อไทย 3. นโยบายปลีกย่อยในพรรคที่ไม่ให้น้ำหนักกับนโยบายการศึกษานัก อย่างพรรคฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน
อรรถพลมองว่าปัญหาใหญ่ในโจทย์การศึกษาไทยที่ยังค้างอยู่คือเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และเรื่องการทำหลักสูตร ซึ่งไม่มีพรรคใดหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงเลย
“ตอนนี้โจทย์ทางการศึกษายังไม่เห็นพรรคไหนมองเชิงระบบเลย เขามองแค่โจทย์เฉพาะหน้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและจะแก้เรื่องพวกนั้นก่อน แต่ยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนแตะการแก้ปัญหาระยะยาว อย่างกฎหมายการศึกษาและนโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้าง ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมากและต้องการเวลา ไม่แน่ใจว่าเพราะเขายังไม่มีคนที่มองเห็นเชิงระบบหรือเปล่าจึงยังไม่กล้าแตะ หรือว่ามีลูกเกรงใจ ต้องรอให้ได้คนที่จะมาเป็นรัฐบาลก่อนถึงจะคุยกันว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาที่ค้างอยู่จะเดินหน้าต่ออย่างไร ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่”
เขามองว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ถูกแขวนไว้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะมีการยื้ออำนาจกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม จนมีร่างกฎหมายออกมาหลายเวอร์ชันแล้วถูกนำมารวมกัน เมื่อกรรมาธิการแก้ไขแล้วก็ยื้อไว้จนไม่ทันรอบการพิจารณาของสภา กลายเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่ เพราะหลายเรื่องยังคุยกันไม่ตกผลึก
“หลายเรื่องใน พ.ร.บ.การศึกษา เป็นประเด็นเปราะบาง เช่น จะให้มีซูเปอร์บอร์ดแล้วมาจากการสรรหาจริงไหม จะกลายเป็นว่ามีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและคนภายนอกที่ใครก็ไม่รู้สรรหามาแล้วมีบทบาทยิ่งกว่ารัฐมนตรีหรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้นจะเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่น่าห่วงมาก เรื่องให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลก็ยังคุยกันไม่ตกผลึก
“แล้วเรื่องการกระจายอำนาจการศึกษาจะคุยกันยังไง ไม่ใช่ว่าทำแค่แซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่นวัตกรรม หากออกเป็น พ.ร.บ. จะออกแบบโครงสร้างการศึกษาใหม่อย่างไรให้อำนาจอยู่ในพื้นที่มากที่สุด จะกล้ายุบหน่วยงานศึกษาธิการระดับจังหวัดหรือระดับภาคหรือเปล่า เพราะช่วง 8 ปี คสช. นี้มีการไปฟื้นโครงสร้างการปกครองภูมิภาคขึ้นมา ทั้งที่มีเขตพื้นที่อยู่ จนทำให้ลำดับชั้นการสั่งการยาวมากกว่าคำสั่งส่วนกลางจะมาถึงโรงเรียน ถ้าไม่พูดเรื่องพวกนี้ก็แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้” อรรถพลกล่าว
นอกจากนี้เรื่องการจัดทำหลักสูตรการศึกษา อรรถพลมองว่ากระบวนการถูกแทรกแซงง่าย ซึ่งตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่รอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยเห็นพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลพูดถึงการทำหลักสูตรให้ทันสมัยขึ้น แต่ยังไม่เห็นรายละเอียด
“ทำอย่างไรให้สถาบันผลิตครูเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดรับชอบในการศึกษามากขึ้น ช่วงแรกมีการเปิดโจทย์นี้ แต่ตอนหลังไม่เห็นพูดในรายละเอียด อาจเพราะเป็นเรื่องที่ดูไกลตัวสำหรับสาธารณะหรือเปล่า เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง สถาบันผลิตครูต้องเข้ามามีส่วนในการพัฒนาครูทั้งระบบ ทำอย่างไรให้สถาบันผลิตครูกลับมามีความเป็นนักวิชาชีพอีกครั้งหนึ่ง เพราะตอนนี้หลุดจากระบบไปเลย ตอนนี้สถาบันผลิตครูอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แต่โรงเรียนอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) การสั่งการไปคนละทาง ผมยังไม่เห็นพรรคไหนพูดเรื่องนี้ว่าจะออกแบบวิธีการอย่างไรให้อำนาจอยู่ที่ใคร เพราะในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาก็คล้ายจะตั้งสถาบันหลักสูตรใหม่เสียด้วยซ้ำ”
เมื่อมองอนาคตของร่าง พ.ร.บ.การศึกษา อรรถพลมองว่าขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล
“ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้นำมาซึ่งชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ร่างนี้อาจโดนล้ม เพราะตอนยื้อกันในกรรมาธิการก็มีความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมที่จะไม่ให้แก้อะไรเลย ทั้งที่มีกรรมาธิการฝ่ายนักการเมืองหัวก้าวหน้าพยายามเข้าไปแก้ไขบางเรื่องที่แข็งเกินไป เช่น มาตรา 8 ที่ระบุเรื่องพัฒนาการตามช่วงวัยเด็กที่ไปล็อกสเปกตามอายุเด็กทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าห่วงมาก เป็นการบังคับว่าโรงเรียนทั่วประเทศไทยทุกโรงเรียนต้องไปถึงโจทย์เดียวกันตามช่วงวัยของเด็ก ไม่มีความยืดหยุ่น
“ตอนถกเถียงกันในกรรมาธิการ ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่อยากให้แก้อะไรเลย พยายามคงค่านิยมสารพัดไว้ ซึ่งถ้ารัฐบาลเดิมชนะเลือกตั้งเข้ามาอีก การเดินหน้าร่าง พ.ร.บ. นี้ก็อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าฝั่งประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งก็มีแนวโน้มว่าร่างนี้อาจถูกทบทวนหรือหักล้างไปแล้วร่างกันใหม่ เพราะตอนร่างไม่มีกระบวนการฟังเสียงสาธารณะอย่างแท้จริง ถ้าจะผลักดันต่อก็มีหลายเรื่องน่าห่วง”
โจทย์สำคัญของรัฐบาลนอกจากเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เรื่องโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เรื่องระบบพัฒนาครู เรื่องระบบหลักสูตร ก็ยังมี ‘ปัญหาโลกแตก’ ที่กลับมาเป็นหัวข้อถกเถียงหลายครั้ง คือการจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของพรรคการเมืองที่จะเข้ามามีบทบาทว่าเชื่อในเรื่องการแข่งขันหรือเรื่องรัฐสวัสดิการ
“ถ้าเป็นรัฐบาลเดิม ปัญหาพวกนี้ก็คงเดินหน้าด้วยวิธีการเดิม คือตะบี้ตะบันยุบโรงเรียน คงไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรใหม่”
แน่นอนว่าฝ่ายการเมืองจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งหากมีรัฐบาลที่เปิดกว้างรับฟังเสียงของคนทำงานมากขึ้นก็อาจทำให้มีวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ
“ตลอดสองทศวรรษนี้โฉมหน้านักปฏิรูปการศึกษาเป็นหน้าเดิมๆ เปลี่ยนรัฐบาลกี่ปีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงก็เป็นคนเดิม ถ้าพรรคการเมืองเข้ามาโดยไม่เข้าใจก็จะถูกลากไปกับชุดความคิดเดิมๆ ที่เขาพยายามรักษากันไว้ เปลี่ยนรัฐมนตรีกี่รอบก็มีปัญหาเรื่องเดิม เพราะชุดความคิดฝังอยู่กับระบบราชการ เป็นแนวความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในการศึกษา พอไม่คุยเรื่องนี้ก็ยังไม่เห็นภาพในการพลิกโฉมอย่างแท้จริง จะเป็นการปะผุไปเรื่อยๆ”
อรรถพลฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนต่อไปว่า ควรเลือกทีมที่ปรึกษาที่รู้จักหน้างานจริงๆ อาจจำเป็นต้องหักดิบไม่ใช้ทีมกุนซือชุดเดิมที่ให้คำปรึกษารัฐบาลมาตลอด 20 ปี เพราะกุนซือบางคนมาจากโรงเรียนทางเลือก-โรงเรียนนวัตกรรม อยู่ห่างไกลจากโรงเรียนรัฐ เวลาให้คำปรึกษาก็จะมีช่องว่างทำให้โรงเรียนของรัฐถูกทิ้งขว้างมานาน นโยบายที่ออกมาจึงมีเส้นทางที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยากมาก เพราะมีคนละความเชื่อกัน
“รัฐมนตรีไม่ต้องเป็นคนที่จบครุศาสตร์ก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่พร้อมฟังคนที่ทำงานการศึกษาจริงๆ รัฐมนตรีที่ผ่านมา อย่างคุณจาตุรนต์ ฉายแสงก็ไม่ได้จบครุศาสตร์ แต่เขาพยายามฟังคนในระบบ แต่รัฐมนตรีหลังจากนั้นไม่ฟังเท่าไหร่และมีท่าทีใช้อำนาจเป็นหลัก ทำให้เสียงจากคนทำงานเบาลงเรื่อยๆ ถูกเมินเฉยไป รัฐมนตรีควรเป็นคนที่เคยทำงานการศึกษามาบ้างก็ดี แต่ถ้าไม่เคยเลยอย่างน้อยก็ต้องมีทีมงานที่รู้จักการศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ว่ามีคนกลุ่มเดิมรายล้อมให้คำแนะนำแล้วใช้แนวปฏิบัติแบบที่ทำกันตลอดมาในการแก้ปัญหา
“เรื่องการศึกษานั้นยังเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในกระทรวง อว. มีโรงเรียนในกำกับกระทรวงมหาดไทย แล้วก็เชื่อมกับสำนักงานการศึกษาที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งต้องการคนที่ประสานงานได้ ไม่ได้ต้องการคนมาสั่งการอย่างเดียว”
เมื่อมองถึงความหวังในการเลือกตั้ง อรรถพลไม่แน่ใจว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะถึงขนาด ‘พลิกเกม’ สิ่งที่คาดหวังคือการเลือกตั้งจะทำให้ประชาธิปไตยกลับมามีบทบาทในสภาได้อีกครั้งหนึ่ง
“ต้องตามดูว่าหากทีมเศรษฐกิจมาจากเพื่อไทย ทีมสังคมมาจากก้าวไกล ก็อาจเห็นโฉมหน้าใหม่ของการทำงานการศึกษาได้ แต่ถ้าเป็นทีมรัฐบาลเดิมก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ช้า เพราะเราเห็นมาตลอดว่ารัฐบาลภายใต้ คสช. และคุณประยุทธ์อยู่ในชุดความคิดเดียวกันหมด ไม่ว่าเปลี่ยนรัฐมนตรีอย่างไรทุกคนก็เข้ามาพร้อมนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก”
สิ่งสำคัญสำหรับอรรถพลคือ เขาต้องการเห็นเสียงของ ‘ครู’ และ ‘เด็ก’ ที่ดังขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ส่งเสียงต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุด จนถึงหลังเลือกตั้งไม่ว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะมาจากฝั่งไหน
“ไม่ว่าสุดท้ายเสียงโหวตของคุณจะนำมาซึ่งชัยชนะของพรรคที่คุณเชียร์หรือเปล่า แต่อย่าหมดกำลังใจเมื่อนโยบายที่คุณเชียร์ยังไม่ได้ปักหมุดการเปลี่ยนแปลง ช่วงหลายปีมานี้เสียงของครูและเด็กดังขึ้นจริงๆ ในการรับรู้สาธารณะ ทำให้คนทำงานมีโอกาสสื่อสารกับสังคมมากขึ้น เราไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองแค่ในการเลือกตั้ง แต่มีส่วนร่วมหลังการเลือกตั้งได้ ผ่านการสื่อสาร จูงใจ ส่งเสียง และต่อรองกับอำนาจรัฐที่มีต่อระบบการศึกษา” อรรถพลกล่าว
‘การเรียนรู้ต่อเนื่องนอกรั้วการศึกษา’ โจทย์สำคัญสังคมไทย

ด้าน ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองว่าในภาพรวมทุกพรรคการเมืองมีการให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษา นโยบายที่โดดเด่นคือการพยายามพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยและการให้หลักประกันโอกาสทางการศึกษาจนถึงปริญญาตรี
“เรื่องที่กังวลคือเรื่องในทางปฏิบัติ เพราะในหลายครั้งเมื่อมีการออกนโยบายที่ดี แต่พอนำไปปฏิบัติจริง การทำงานแบบที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจะติดกรอบราชการ การคิดนอกกรอบจะยาก เพราะติดขัดเรื่องระเบียบต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ทำให้การทำงานไปไม่ถึงเด็กและเยาวชนได้เร็ว”
ธันว์ธิดามองว่า หัวใจของการทำงานเรื่องนี้คือเด็กและเยาวชน ดังนั้นการออกแบบโครงการที่ไปช่วยเด็กและเยาวชนได้โดยตรงจะให้ผลดีและเร็วที่สุด รวมถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น การให้หลักประกันโอกาสทางการศึกษาต่างๆ แล้วมุ่งไปที่ตัวเด็กเลยโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนจำนวนมาก
เมื่อมองปัญหาเร่งด่วนของการศึกษาไทย ธันว์ธิดาบอกว่ามีอยู่สามเรื่อง 1. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2. ผลิตภาพแรงงาน 3. ปัญหาผู้สูงวัย
“ทั้งสามเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด เป็นปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ตัวเลขทางสถิติจะเห็นว่าในเยาวชน 10 คน จะมีราว 7-8 คนที่ไปไม่ถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ไม่จบ ม.3, จบ ม.3 แล้วเลิกเรียน, จบม.4-ม.5 แต่ไม่จบ ม.6 หรือ ปวช. และอีกกลุ่มหนึ่งคือจบ ม.6 หรือ ปวช. แต่ไม่เรียนต่อ ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้กลายเป็นแรงงานทักษะต่ำและรายได้ต่ำ ด้วยจำนวนที่สะสมมาหลายสิบปี นี่คือปัญหาเร่งด่วนที่เราควรรีบแก้
“เราพอจะเห็นนโยบายของพรรคต่างๆ เรื่องการส่งเสริมการเรียน-การทำงาน แต่จะเน้นไปที่การศึกษาในระบบ ซึ่งไม่ทันที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผลิตภาพแรงงาน หรือปัญหาผู้สูงวัย เพราะกว่าจะรอเด็ก-เยาวชนทยอยจบการศึกษาแล้วไปเป็นแรงงานจะไม่ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น การส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่องนอกรั้วการศึกษาจึงเป็นโจทย์ที่ใหญ่และสำคัญ ซึ่งจะแก้ปัญหาสามเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น นี่คือปัญหาเร่งด่วน จึงน่าจะมีมุมมองการทำงานเรื่องการศึกษานอกรั้วโรงเรียน ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาในระบบ”
เรื่องที่ธันว์ธิดาพูดถึงนี้คือการมุ่งเป้าไปที่เยาวชนหลายสิบล้านคนที่ออกจากรั้วการศึกษามาเป็นแรงงานแล้ว ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีทักษะต่ำและรายได้ต่ำ
“เรากำลังมีเยาวชนหลายสิบล้านคนที่ไม่อยู่ในรั้วการศึกษาและกลายมาเป็นแรงงานแล้ว กลุ่มนี้รายได้ต่ำ ทักษะต่ำ เป็นเหตุผลให้ผลิตภาพของเราต่ำ ติดกับอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง เพราะขาดกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ สังคมก็สูงวัยขึ้นเรื่อยๆ
“การส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่องนอกรั้วการศึกษานั้นสำคัญ ทำอย่างไรให้แรงงาน ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่เรียนรู้และมีทักษะทำงาน เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที หลายประเทศใช้นโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ซึ่งไม่ใช่แนวคิดนามธรรม แต่เป็นรูปธรรมคือให้กำลังแรงงานมีโอกาสพัฒนา เช่นที่สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ เขาเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับกำลังคน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญแค่การศึกษาในระบบ แต่มองที่กลุ่มแรงงานด้วย” ธันว์ธิดากล่าว
เมื่อมองมาที่ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา หลายพรรคก็มีนโยบายเรียนฟรีสายอาชีพและเรียนฟรีปริญญาตรีในสาขาที่เป็นที่ต้องการ ธันว์ธิดาเห็นด้วยว่านโยบายเรียนฟรีทั้งสองระดับนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนได้มากขึ้น แต่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ที่ดี ดังจะเห็นบทเรียนจากนโยบายเรียนฟรีถึง ม.6 ที่ดำเนินอยู่ว่าในทางปฏิบัติยังมีปัญหาในรายละเอียด
“การคัดเลือกสาขาที่นำไปสู่การมีงานทำของนโยบายเรียนฟรี ป.ตรี หรืออาชีวะนั้นสำคัญ ทำอย่างไรให้การส่งเสริมนโยบายเรียนฟรีไม่สูญเปล่า เป็นความต้องการตลาดแรงงานจริงๆ เพราะเรื่องที่เราพบคือเยาวชนที่มีโอกาสเรียนต่อ ป.ตรี ไม่ว่าจะสายวิชาการหรือสายอาชีพ เรียนไม่จบ 25% ส่วนคนที่เรียนจบมีงานทำในสองเดือนแรกแค่ 35% คนที่เหลือจบแล้วต้องว่างงานนานกว่าหนึ่งปีมากกว่า 60%
“เรื่องนโยบายเรียนฟรีต้องมีการออกแบบดีๆ งบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าเราจะเน้นไปที่กลุ่มประชากรใด ซึ่งเรามองว่ากลุ่มคนยากจนควรมาก่อน เพื่อให้เขาหลุดออกจากความยากจนได้ด้วยการศึกษา หัวใจสำคัญของการทำงานนโยบายการศึกษาคือทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนที่ฐานะยากลำบากหลุดออกจากความยากจนได้ผ่านการศึกษา”
หากมองเฉพาะนโยบายการศึกษาสายอาชีพ มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่มุ่งการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสร้างงาน ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งการศึกษาและอาชีพ ซึ่งธันว์ธิดามองว่านโยบายนี้จะมีความหมายมากกับกลุ่มเยาวชนที่มีฐานะยากลำบาก โดยเฉพาะการเลือกสาขาที่จะสนับสนุนต้องเป็นการเรียนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความยากจน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีงานวิจัยรองรับอยู่แล้วว่ามีสาขาอะไรบ้าง
ตัวอย่างสาขาที่มีความต้องการในตลาดที่ธันว์ธิดายกขึ้นมาคือการทำงานด้านสาธารณสุข เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจะมีความต้องการกำลังคนทำงานในสายสุขภาพเพื่อรองรับเศรษฐกิจใส่ใจ (care economy) ซึ่งเป็นสายอาชีพที่ควรส่งเสริมมากขึ้น
นอกจากนี้การฝึกอาชีพของเยาวชนโดยให้เป็นแค่ลูกจ้างอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ต้องเปิดทางเลือกให้เยาวชนฝึกเป็นผู้ประกอบการด้วย รวมถึงการศึกษาสายอาชีพที่นอกจากจะสอนเทคนิคแล้วต้องส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วย เพื่อให้ในอนาคตเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ โดยมีการเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคมควบคู่กันไป
เธอเน้นย้ำว่าโจทย์นโยบายการศึกษาสายอาชีพต้องส่งเสริมการมีงานทำด้วย เพราะโดยมากจะเน้นไปที่การเรียนการสอนในโรงเรียน แต่ไม่เชื่อมกับโลกการทำงาน ไม่การันตีการมีงานทำหลังเรียนจบหรือการส่งเสริมการมีงานทำ
เมื่อพูดถึงโจทย์การมีงานทำแล้ว ธันว์ธิดาเห็นว่าท้ายที่สุดนโยบายการศึกษาจึงต้องเชื่อมเข้ากับนโยบายเศรษฐกิจด้วย
“เราอยากเห็นนโยบายที่เชื่อมการเรียนรู้กับมาตรการเศรษฐกิจ เราเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ หลายด้าน แต่ยังเห็นไม่ชัดว่าจะไปเชื่อมกับกำลังแรงงานอย่างไร เพราะถ้าหนุนเศรษฐกิจโดยไม่เชื่อมกับภาคการศึกษา คนของเราก็ไม่เก่ง คุณภาพแรงงานก็ไม่ดี นำไปสู่เรื่องผลิตภาพแรงงาน ประเทศติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง จึงอยากเห็นนโยบายที่เชื่อมการเรียนรู้กับเศรษฐกิจ”
เมื่อถามถึงเรื่องที่อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ ธันว์ธิดาเน้นว่านโยบายต่างๆ เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติแล้วควรทำให้ไปถึงตัวเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง
“ตอนนี้เราเห็นนโยบายของพรรคต่างๆ แล้ว แต่เมื่อนำไปสู่การออกแบบโครงการจริงนั้น อยากให้ไปถึงตัวเด็กและเยาวชนมากกว่าเฉพาะการทำงานระดับโครงสร้างหรือระบบราชการ อยากให้มุ่งทำงานไปถึงเด็กและเยาวชนมากที่สุด ไม่ว่าเรื่องอาชีพ เรื่องหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้ไปถึงตัวเด็กจะเป็นประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง เพราะจากบทเรียนการทำงานหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาของเราขยับตัวช้ากว่าส่วนอื่นเพราะเรามุ่งไปทำงานระดับข้างบนมาก แต่เราจะทำได้เร็วที่สุดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้างล่าง” ธันว์ธิดากล่าวทิ้งท้าย
“นโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนวัยชรา”

รศ.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความโดดเด่นของนโยบายการศึกษาในสนามเลือกตั้งครั้งนี้คือเกือบทุกพรรคเสนอนโยบายการศึกษาในเชิงสวัสดิการ สนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการศึกษาตามระดับวุฒิฯ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลคือพรรคการเมืองยังติดอยู่กับนโยบายการศึกษาในมิติเดิมที่ให้มุ่งสนับสนุนการศึกษาในระบบ เช่น นโยบายเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่เอ่ยถึงการศึกษาในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ตอนนี้ถูกพูดถึงจากเพียงไม่กี่พรรค วีระเทพตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของหลายพรรคอาจปรากฏในรูปแบบนโยบายแรงงานที่มีการยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม (upskill) และสร้างทักษะที่จำเป็นขึ้นมาใหม่ (reskill) แต่นโยบายเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นภาพการส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัย
“กลุ่มผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยทำงานถูกพูดถึงในระดับหนึ่ง แต่ในกลุ่มผู้สูงวัยแทบไม่มีการพูดถึงเลย เป็นไปได้ที่พรรคการเมืองอาจมองเป็นเรื่องการสงเคราะห์คนชรา แต่ขอย้ำว่าการเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัยจำเป็นจะต้องพูดถึงมากกว่านี้ การพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพ สามารถพึ่งตนเองได้เป็นสิ่งจำเป็น มิเช่นนั้นนโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจะกลายเป็นการพึ่งพิงอย่างเดียว ในท้ายที่สุดก็จะเป็นโจทย์ร่วมที่สังคมต้องหาทางแก้อยู่ดี ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วแบบนี้ นโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนวัยชรา”
เมื่อมองให้ลึกลงไปในรายละเอียด พรรคที่มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลับทำเพียงแค่ ‘แตะ’ แต่ไม่ได้เสนออย่างชัดเจนว่าจะสนับสนุนอย่างไร หรือเสนอแต่ก็ไม่เห็นภาพเท่าการสนับสนุนเด็กและเยาวชน วีระเทพวิเคราะห์ว่าการที่พรรคการเมืองผูกนโยบายการศึกษาไว้กับการศึกษาในระบบ ซึ่งอยู่ในช่วงวัยเด็กและเยาวชนเป็นหลัก เป็นยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อเรียกเสียงสนับสนุน หากพูดเรื่องการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะยังไม่ ‘ซื้อ’ นโยบายเท่ากับการพูดถึงการสนับสนุนอนาคตของลูกหลานที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว วีระเทพอยากให้มีการล้างความเชื่อเดิมๆ ที่ผูกการศึกษาและการเรียนรู้ไว้กับการทำงาน
“คนที่พ้นวัยเด็กไปแล้วมีสิทธิจะเรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจเช่นกัน นอกเหนือการเรียนไปเพื่อพัฒนาอาชีพ ในมิติหนึ่งของชีวิตมนุษย์ควรได้รับโอกาสพัฒนาตนเองในสิ่งที่สามารถตอบแพสชันของตัวเองได้ ถ้ามองในระนาบของผู้เสียภาษีอากร ผมยังยืนยันว่ารัฐควรอุดหนุนในส่วนนี้ด้วย อย่างน้อยให้ไปเรียนสิ่งที่ชอบปีละ 2 ครั้งก็ยังดี”
เมื่อพิจารณานโยบายการศึกษาในหมวดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต หลายพรรคการเมืองชูการติดตั้งอินเทอร์เน็ต การแจกแท็บเล็ต และการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ วีระเทพมองว่านโยบายเหล่านี้เป็นเครื่องมือจำเป็นในการเข้าถึงความรู้ในยุคสมัยนี้ แต่การนำมาบูรณาการกับการเรียนรู้ของเด็กจะเกิดประโยชน์สูงสุดได้เมื่อมีการปรับหลักสูตรให้ตอบความสนใจและความถนัดของผู้เรียนเสียก่อน ดังนั้นสิ่งที่ต้องพูดถึงควบคู่กันคือการออกแบบหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในอนาคตข้างหน้าควรผลักดันไปมากกว่าแค่ในโรงเรียน ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถออกแบบการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจได้ โดยมีรัฐให้การสนับสนุน
“โจทย์แรกคือจะทำอย่างไรให้ทั้ง 8 กลุ่มสาระสามารถบูรณาการกัน ทุกวันนี้เราสอนแยกแต่ละกลุ่มสาระจนเหมือนจะฝึกเด็กให้เป็นนักวิชาการ เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีให้เด็กได้เรียนสิ่งที่เขาสนใจแล้วสามารถเชื่อมโยงกับ 8 กลุ่มสาระได้ เราเห็นโมเดลที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว เช่น โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ เมื่อมีหลักสูตรที่เป็นตัวตั้งแล้ว แท็บเล็ตและอินเทอร์เน็ตจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากขึ้น และมากกว่าเอาไว้เรียนในสิ่งที่โรงเรียนอยากสอนเพียงอย่างเดียว”
วีระเทพเสริมว่านโยบาย ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ เป็นหมุดหมายอันดีในการจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต แต่สิ่งสำคัญกว่าการมีนโยบายคือต้องมีการติดตามผลเมื่อนำไปปฏิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามว่าการ ‘เพิ่มเวลารู้’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดหรือครูเป็นผู้กำหนด ส่วนบทบาทของครู นอกเหนือจากด้านวิชาการ ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เป็น ‘โค้ช’ ร่วมกันออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของผู้เรียน
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งใหญ่นี้ วีระเทพอยากเห็นการนำ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ไปปฏิบัติให้ได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ที่ต้องตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ วีระเทพคาดหวังให้มีการเทียบโอน เชื่อมต่อการศึกษาทุกรูปแบบเข้ากันได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อคุณวุฒิ หรือการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง รัฐควรมีฐานข้อมูล big data ที่เก็บข้อมูลการเรียนรู้ของประชาชนในทุกรูปแบบไว้ สามารถดึงเอาข้อมูลนั้นไปเทียบคุณวุฒิได้ เรื่องที่ต้องเน้นย้ำคือ รัฐควรสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนทุกช่วงวัย มิใช่แค่เด็กและเยาวชน
ด้านวาระเร่งด่วน วีระเทพอยากให้รัฐบาลชุดใหม่สะสางสิ่งที่ค้างคาในรัฐบาลชุดก่อน ทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ติดหล่มความช้าของระบบราชการมาหลายปี เขาอยากเห็นพิมพ์เขียวที่ทันต่อยุคสมัยเพื่อที่ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากที่สุดได้
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world