ในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ การศึกษาถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คน แต่ในความเป็นจริง ยังมีคนมากมายเข้าไม่ถึงการศึกษา เพราะปัจจัยหลายอย่างที่ก่อกำแพงขวางพวกเขาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การลี้ภัย หรือแม้แต่ภาระหน้าที่ในชีวิต ดังจะเห็นได้จากเด็กชายขอบ เด็กผู้ลี้ภัยที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่เคยหลุดจากระบบการศึกษา
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ‘การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น’ จึงกลายมาเป็นคำตอบแห่งยุคสมัย เพื่อที่จะสร้างระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของผู้เรียน ออกแบบหลักสูตรที่รองรับความหลากหลาย และกำหนดนโยบายที่ไม่กีดกันใครออกจากการศึกษา
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ เราจะสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและโอบรับทุกคนได้อย่างไร แนวทางใดที่จะทำให้ผู้ใหญ่ที่เคยหลุดจากระบบการศึกษาได้กลับมาเรียน เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพวกเขา และเด็กผู้ลี้ภัยได้เรียนในระดับสูงเท่าที่ต้องการโดยปราศจากอุปสรรค เพื่อให้การศึกษาเป็นบันไดสู่โอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนอย่างแท้จริงเท่าเทียมกัน
101 ชวนสำรวจแนวคิดใหม่ของการเรียนรู้ยืดหยุ่น เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา จากงานเสวนาจินตภาพใหม่การศึกษา : ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ร่วมแลกเปลี่ยนโดย มินซอน พัก ผู้เชี่ยวชาญโครงการ สถาบัน National Institute for Lifelong Education (NILE) สาธารณรัฐเกาหลี ดร.เฮซุส ซี. อินสิลาดา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2560 ประเทศฟิลิปปินส์ และ แทมมี่ ลินน์ ชาร์ป ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย
หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงานเสวนาจินตภาพใหม่การศึกษา : ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ในหัวข้อการขยายโอกาสการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567
เพิ่มทางเลือกระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วย ACBS และ BDES – มินซอน พัก
หนึ่งในการแนวทางการลดช่องว่างทางการศึกษา คือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มินซอน พัก ผู้เชี่ยวชาญโครงการ สถาบัน National Institute for Lifelong Education (NILE) เริ่มต้นโดยการแนะนำว่าสถาบัน NILE ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของประเทศเกาหลีใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในกลุ่มประชากรทั่วประเทศ ซึ่งโครงการสำคัญของสถาบัน ได้แก่ Academic Credit Bank System (ACBS) และ Bachelor’s Degree Examination for Self-Education (BDES)
1) Academic Credit Bank System (ACBS)
Academic Credit Bank System (ACBS) หรือธนาคารหน่วยกิต คือระบบที่ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้มีทางเลือกให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการศึกษาขั้นที่สูงขึ้นได้ โดยการเก็บรวบรวมหน่วยกิตจากการเรียนหลากหลายรูปแบบเพื่อขอรับรองวุฒิการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้เรียนสามารถรวบรวมหน่วยกิตได้จากหลายแหล่ง เช่น การลงทะเบียนเรียนในสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรวุฒิบัตรที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรวุฒิบัตรที่ออกโดยสถาบันเอกชนและได้รับการรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรนอกเวลาของสถาบันอุดมศึกษา การอบรมวิชาชีพ การเรียนหลักสูตรออนไลน์ หรือใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นต้น
ขั้นตอนเริ่มต้นจากการลงทะเบียนในระบบของ ACBSโดยเลือกวิชาเอกและปริญญา จากนั้นก็เริ่มสะสมหน่วยกิตโดยการลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น และสามารถนำวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรจากการเรียนหรือการฝึกอบรมมารวบรวมเพื่อเทียบหน่วยกิตประกอบกันได้ด้วย และเมื่อเก็บหน่วยกิตครบตามที่กำหนด ก็สามารถยื่นขอรับรองปริญญา โดยผู้เรียนจะได้รับวุฒิการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือจากมหาวิทยาลัยที่ตนลงทะเบียนเรียน
ACBS มีหลายหลักสูตร เช่น ศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยในระดับอนุปริญญา มี 13 หลักสูตร ประกอบด้วย 111 สาขา และระดับปริญญาตรี มี 26 หลักสูตร ประกอบด้วย 118 สาขา
สำหรับค่าใช้จ่าย 1,000 วอนต่อหน่วยกิต สำหรับการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะต้องมี 140 หน่วยกิต รวมแล้วจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 140,000 วอน หรือประมาณ 3,500 บาท
แนวคิด ACBS เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1995 เมื่อมีการประกาศการปฏิรูปการศึกษาที่เกาหลีใต้ จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาราวหนึ่งล้านคน แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของระบบซึ่งคือความยืดหยุ่น ผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิตได้ตามที่ตนสะดวก เช่น การเทียบวุฒิ หรือการลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรของสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ ACBS ยังโอบรับความหลากหลายในการเรียนรู้นอกระบบ เช่น การฝึกอบรมในสถานที่ทำงาน หรือคุณวุฒิอาชีวศึกษา เป็นต้น
“จุดเด่นสำคัญที่สุดของระบบนี้ คือการช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา เอื้อให้คนวัยผู้ใหญ่ที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาในระบบสามารถที่ได้รับวุฒิการศึกษาได้ และยังช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาในคนกลุ่มชายขอบด้วย” มินซอนกล่าว
2) Bachelor’s Degree Examination for Self-Education (BDES)
Bachelor’s Degree Examination for Self-Education (BDES) แตกต่างจาก ACBS ที่จะต้องลงทะเบียนเรียนหรือเก็บหน่วยกิต เพราะ BDES เป็นการจัดสอบเพื่อรับรองวุฒิปริญญาตรี ซึ่งผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ และจะต้องเข้าสอบวัดผลกับ NILE และเมื่อสอบผ่านก็จะได้รับการรับรองวุฒิปริญญาตรี หรืออนุปริญญา โดยจะมีการสอบทั้งหมดสี่ครั้ง เทียบได้กับสี่ปีในระดับมหาวิทยาลัย
BDES เริ่มต้นในปี 1990 มีให้เลือกสอบวัดระดับหลากหลายหลักสูตร เช่น ภาษาและวรรณกรรมเกาหลี จิตวิทยา กฎหมาย การบริหารจัดการธุรกิจ คหกรรมศาสตร์ เป็นต้น
จุดเด่นของ BDES คือการเรียนรู้อย่างอิสระ ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียนได้เอง และใช้ต้นทุนน้อย คือประมาณ 18,000 วอน หรือราว 450 บาท ในการลงทะเบียนสอบแต่ละครั้ง รวมสี่ครั้ง ราว 80,000 วอน หรือประมาณ 2,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเทอมในระบบมหาวิทยาลัย
“ทั้ง ACBS และ BDES ช่วยให้ผู้เรียนที่เผชิญอุปสรรคในชีวิต เช่น ไม่มีค่าเล่าเรียน หรือมีข้อจำกัดด้านสถานการณ์ชีวิต สามารถได้รับวุฒิการศึกษาปริญญาตรีหรืออนุปริญญา ที่ได้รับการรับรองเช่นเดียวกันกับผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่น ช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา และส่งเสริมให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นไปได้อย่างแท้จริง” มินซอนกล่าวสรุป
SANYOG Edukasyon เสริมพลังการศึกษาด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ชนพื้นเมือง – เฮซุส ซี. อินสิลาดา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายประเทศมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การเรียนรู้ที่โอบรับความหลากหลายนี้จึงเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญ เฮซุส ซี. อินสิลาดา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2560 ได้นำเสนอรูปแบบการเรียนรู้ที่สอดรับกับจุดประสงค์ดังกล่าว โดยเปิดประเด็นว่า “ครูหรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ไม่เพียงแต่ได้รับการเสริมพลังให้เป็นผู้สอนเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาแนวทางการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนของเรา และการจะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากชุมชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมและสภาผู้สูงอายุของชุมชน ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านวิถีพื้นเมือง”
เพื่อที่จะจัดการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวได้ เฮซุสยกตัวอย่างระบบการเรียนการสอนที่บูรณาการความรู้วิถีพื้นเมือง อันได้แก่ SANYOG และ PASIBU
1) SANYOG
โรงเรียนในเขต Calinog ออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทุกด้านของการเรียนรู้ โดยคิดค้นกลไก โครงการ ยุทธศาสตร์ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะกระตุ้นและเสริมพลังผู้เรียน ระบบนี้เรียกว่า SANYOG เป็นคำภาษา Karay-a หมายถึงการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง เมื่อมารวมกับ Edukasyon (การศึกษา) วลีนี้จึงหมายถึงการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงการศึกษาในด้านต่างๆ
นอกจากนี้ SANYOG ยังเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษของหัวใจสำคัญของระบบนี้ ได้แก่
- สร้างมาตรฐานและเสริมสร้างกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในทุกด้าน
- ระบุปัญหาทางวิชาการ แก้ไขช่องว่างในการเรียนรู้ และเร่งพัฒนาทักษะการอ่านและคำนวณผ่านกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับบริบทของผู้เรียน
- ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง บ่มเพาะความร่วมมือ และพัฒนาภาวะผู้นำร่วมกัน
- สร้างผลลัพธ์เบื้องต้น ชื่นชมความสำเร็จ และยึดถือแนวทางที่ดีที่สุดในการรักษาคุณภาพของเวลาเรียน ออกแบบวิธีการสอนและทรัพยากรที่เหมาะสมกับบริบท พร้อมพัฒนาทักษะและการประเมินผลตามมาตรฐานศตวรรษที่ 21
- เพิ่มประสิทธิภาพผลลัพธ์ทางวิชาการผ่านการวิจัยและนวัตกรรม พร้อมมอบโอกาสการเรียนรู้ที่สร้างแรงจูงใจ ครอบคลุม และเชื่อมโยงกับ
- สนับสนุนครูให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับบุคคลและวิชาชีพ ผ่านภาวะผู้นำที่มีความสุขและสร้างการเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกัน และการชี้แนะเชิงสะท้อนคิด
SANYOG เป็นกรอบการเรียนการสอนที่จะช่วยให้ผู้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบแนวทางการเรียนรู้ โดยใช้หลักการที่กล่าวมาข้างต้น ร่วมกับระบบการเรียนรู้ของคนพื้นถิ่น (Indigenous learning System: ILS) ในการแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้หรือเพิ่มพูนความรู้ในประเด็นที่คนในชุมชนสนใจ ช่วยลดช่องว่างของทางความรู้ของคนท้องถิ่น โดยการให้ความรู้ในเรื่องที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยสภาผู้สูงอายุในชุมชนมีส่วนช่วยอย่างมากในการให้คำปรึกษาด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น
กล่าวได้ว่า SANYOG สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน (community-based approach) เพื่อเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนประสบผลสัมฤทธิ์ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ
ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ลงนามใน An Act Establishing an Academic Recovery and Accessible Learning (ARAL) กฎหมายเพื่อการเร่งฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากการเรียนในช่วงโควิด-19 ดังนั้น SANYOG จึงตอบโจทย์การฟื้นฟูการศึกษาของประเทศ ด้วยการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น
2) PASIBU
คือแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับกรอบของ SANYOG โดยมีเป้าหมายคือการออกแบบ ทดสอบ และนำวิธีการสอนแบบใหม่มาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนกลุ่มชนพื้นเมือง สร้างกรอบการเรียนรู้ที่บูรณาการระบบความรู้พื้นเมืองในบทเรียน จากนั้นจึงทดสอบและปรับใช้แนวทาง PASIBU ในโรงเรียนที่ให้การศึกษาแบบชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples’ Education: IPEd) และส่งเสริมให้โรงเรียนและครูที่ใช้หลักสูตร IPEd ได้พัฒนาวิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความต้องการของนักเรียน
ขั้นตอนของแนวทาง PASIBU มีดังนี้
- Profile and Plan : ประเมินลักษณะเฉพาะของผู้เรียน เช่น ชนเผ่า ความรู้พื้นฐาน จุดแข็ง ความสนใจ เพื่อที่จะวางแผนการจัดการเรียนการสอนหรือออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมพวกเขาได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการใช้พื้นที่เรียนนอกโรงเรียน การเรียนรู้ผ่านการเต้นรำหรือเครื่องดนตรีท้องถิ่น
- Advance : ต่อยอดตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ โดยต้องพิจารณาว่าทักษะใดที่ผู้เรียนต้องพัฒนา แง่มุมทางวัฒนธรรมใดที่จะนำมาผสมผสานในบทเรียนได้ และกิจกรรมหรือภาระงานแบบใดที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะนั้น
- Suit : เชื่อมโยงภาระงานให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และทักษะ โดยพิจารณาว่ากิจกรรมหรือภาระงานนั้นจะเชื่อมโยงกับบริบท ประสบการณ์ และความเป็นจริงของผู้เรียนอย่างไร
- Include : รวบยอดสิ่งที่เรียนรู้ หลังจากทำกิจกรรมหรือภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว นักเรียนได้ความรู้หรือข้อคิดอะไรบ้าง และกิจกรรมเหล่านั้นมีความหมายอย่างไรต่อนักเรียน
- Build new knowledge : สร้างความรู้ใหม่หลังจากประเมินว่าทักษะของผู้เรียนเป็นอย่างไร ต้องการพัฒนาด้านใดเพิ่มเติม และได้มีความรู้หรือความเข้าใจใหม่อย่างไรบ้าง โดยแนวทางท้องถิ่นจะเป็นการประเมินผลภาคปฏิบัติ
- Understand : เข้าใจผ่านการสังเกตว่าผู้เรียนและยังมีช่องว่างอะไร จะต่อยอดความสำเร็จและพัฒนาสิ่งที่พวกเขายังขาดได้อย่างไร
เฮซุสเล่าต่อไปว่า SANYOG ได้เปิดตัวพร้อมกันใน 23 โรงเรียนซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นผู้นำการเรียนรู้ โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา มีพันธมิตรเกิน 100 รายให้การสนับสนุน เช่น หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า องค์กรไม่แสวงหากำไร และสภาผู้สูงอายุในชุมชนที่ให้ความช่วยเหลืออย่างขันแข็ง
ผลของโครงการคือ 98.84% ของนักเรียนได้เกรด 85% ขึ้นไปในไตรมาสแรกของปีการศึกษา 2024-2025 โดยมีเกณฑ์ผ่านที่ 75% ที่สำคัญคือไม่มีนักเรียนคนใดออกจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ 99.21% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังระบุว่า SANYOG และ PASIBU สอดคล้องกับมาตรฐานแห่งชาติและความคาดหวังของชุมชนในการแก้ปัญหาท้องถิ่นอีกด้วย
เฮซุสเสนอว่ากรอบการทำงานของ SANYOG สามารถนำไปใช้ได้หลายโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนชาวพื้นเมือง หรือกระทั่งระบบการเรียนรู้ทางเลือก แนวทาง PASIBU ก็เช่นกัน สามารถนำไปใช้ในโรงเรียนที่มีนักเรียนชาวพื้นเมืองหลายหลายชนเผ่าและชาติพันธุ์ ตลอดจนในศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ
เฮซุสเน้นย้ำว่า “SANYOG ส่งเสริมความร่วมมือและการสร้างพันธมิตรระหว่างทุกหน่วยงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาร่วมกัน สนับสนุนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเน้นการศึกษาที่ครอบคลุม การพัฒนาทักษะ การเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ การสร้างนวัตกรรม การเสริมพลังให้เยาวชน และการมีส่วนร่วมของชุมชน”
“เพื่อให้โครงการนี้ยั่งยืน เราจะต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจการกำหนดนโยบายในกระทรวงศึกษาธิการ เสริมสร้างศักยภาพครูและผู้นำทางการศึกษา รวมถึงสนับสนุนบทบาทของชุมชน” เฮซุสทิ้งท้าย
การสร้างการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัย – แทมมี่ ลินน์ ชาร์ป
ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เด็กผู้ลี้ภัยหลายล้านคนต้องเผชิญกับอุปสรรค ไม่เพียงแค่การพลัดถิ่น แต่ยังรวมถึงการเข้าถึงการศึกษา
ต่อประเด็นนี้ แทมมี่ ลินน์ ชาร์ป ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย เริ่มต้นอธิบายความหมายว่าผู้ลี้ภัยคือบุคคลที่ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศและหลบหนีออกจากประเทศของตนเนื่องจากความกลัวในการถูกประหัตประหารหรือสงคราม ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยราว 43.7 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 122.6 ล้านคน หากนับรวมผู้ขอสิทธิลี้ภัยและผู้ที่ต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตในตะวันออกกลาง หรือรัฐประหารในเมียนมา
แทมมี่กล่าวต่อไปถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยยืดเยื้อ กล่าวคือการที่บุคคลต้องลี้ภัยเกินกว่าห้าปี เพราะประเทศต้นทางเผชิญกับความขัดแย้งยาวนาน เช่น อัฟกานิสถาน และเมียนมา โดยผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์เหล่านี้ ส่วนหนึ่งมักเป็นรุ่นสามและสี่ที่เกิดและเติบโตในประเทศเจ้าบ้าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ลี้ภัยจำนวนมากยังเป็นเด็กและเยาวชนที่ต้องได้รับการศึกษา แต่อัตราการลงทะเบียนเรียนของผู้ลี้ภัยทั่วโลกโดยเฉลี่ยนั้นค่อนข้างต่ำ คือ 38% ในระดับปฐมวัย, 65% ในระดับประถม, 41% ในระดับมัธยม, และเพียง 6% ในระดับอุดมศึกษา แต่บางประเทศก็ต่ำกว่านั้นมาก อย่างในบังคลาเทศ มีผู้ลี้ภัยเพียง 1% เท่านั้นที่เข้าถึงการศึกษา เมื่อเทียบกับประชากรบังคลาเทศที่มีอัตราการเข้าถึงการศึกษา 75%
“ปัญหาความรุนแรงและความบอบช้ำทางจิตใจก็เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่เคยเผชิญเหตุการณ์รุนแรง เช่น ระเบิด การเห็นความรุนแรงในระยะใกล้ หรือการต้องหนีจากความขัดแย้งที่ทำให้พวกเขาต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตและการเรียนรู้ของเด็กผู้ลี้ภัย” แทมมี่กล่าว
เด็กและเยาวชนผู้ลี้ภัยเผชิญอุปสรรคมากมายที่ขัดขวางพวกเขาจากการเรียนรู้ เช่น 1) ความยากจน เพราะหลายคนต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว จึงไม่สามารถเข้าเรียนได้ 2) การจำกัดการเข้าถึง เด็กผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเด็กหญิงชาวอัฟกัน มักเผชิญกับอุปสรรคทางวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสภาพด้วย 3) สถานะทางกฎหมาย เพราะเมื่อผู้ลี้ภัยไม่ได้รับสิทธิในการทำงาน แม้มีวุฒิการศึกษาก็อาจไม่สามารถทำงานได้ พวกเขาจึงไม่เห็นโอกาสที่จะยกระดับชีวิตตนเองผ่านการศึกษา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องหลักสูตรการศึกษา โดย UNHCR เคยพยายามวางหลักสูตรแบบเดียวกับประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัย แต่พบอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะการรับรองวุฒิการศึกษา เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเจ้าบ้านไม่สามารถรับรองหลักสูตรของประเทศอื่นได้ และรัฐบาลของประเทศต้นทางเองก็ไม่สามารถเข้ามาดำเนินการทดสอบหรือออกใบรับรองคุณวุฒิได้เช่นกัน จึงทำให้เด็กผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษา
ในการขจัดอุปสรรคเหล่านี้ แทมมี่กล่าวว่ามีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่ UNCR ได้เคยดำเนินการ เช่น
- พยายามผลักดันให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลได้ เพื่อที่จะได้รับใบรับรองวุฒิการศึกษา
- ในพื้นที่ห่างไกล มักไม่มีโรงเรียนท้องถิ่น UNHCR จึงสนับสนุนการตั้งโรงเรียนผู้ลี้ภัย ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กในชุมชนได้เข้าเรียนด้วย แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้พวกเขาดูแลศูนย์การเรียนรู้ต่อไปด้วยตนเองได้
- ในกรณีของเด็กผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ แม้จะมีนโยบายการศึกษาถ้วนหน้า ทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลได้ แต่อุปสรรคคือการเรียนการสอนที่เป็นภาษาไทย UNHCR จึงได้จัดสอนภาษาไทยพื้นฐานให้เด็กๆ
- ส่งเสริมหลักสูตรที่ยืดหยุ่น เช่น การฝึกอบรมอาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน
- ทำงานร่วมกับ UNICEF ในการจัดหลักสูตรการเรียนรู้เร่งรัดและเหมาะกับวัยของผู้เรียน หนึ่งในผลการดำเนินงานนี้ คือการช่วยให้เด็กผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานที่เคยหลุดจากระบบการศึกษากลับเข้ามาเรียนได้
- ผู้ลี้ภัยมักมีแนวโน้มจะหลุดจากระบบการศึกษาเมื่อเริ่มเข้าสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น UNHCR จึงมอบทุน DAFFI สำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเริ่มมอบทุนตั้งแต่เมื่อ 32 ปีที่แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี ร่วมกับรัฐบาลเดนมาร์ก และพันธมิตร ทุนการศึกษานี้ช่วยให้ผู้ลี้ภัยกว่า 26,300 คนสามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการทุนการศึกษายังคงสูงกว่าจำนวนทุนที่มอบให้ โดยมีเพียง 12% จากผู้สมัครเท่านั้นที่ได้รับทุน
นอกจากนี้ แทมมี่ยังกล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 4 คือการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม
“เราต้องสร้างความมั่นใจว่าผู้ลี้ภัยจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” แทมมี่เน้นย้ำ พร้อมขยายความว่าในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ปี 2023 มีการตั้งเป้าหมายให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้เช่นเดียวกับประชากรในประเทศเจ้าบ้าน และยังตั้งเป้าหมายว่า 15% ของจำนวนผู้ลี้ภัย จะต้องได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ภายในปี 2030 จากที่ในปี 2019 มีเพียง 1% และเพิ่มเป็น 6% ในปี 2023
แทมมี่กล่าวเสริมถึงโครงการใหม่ที่อาจช่วยให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น คือการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินสด (cash-based interventions) โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเน้นไปที่เด็กผู้หญิงซึ่งมีแนวโน้มจะหลุดจากการศึกษาจากหลายปัจจัย แม้โครงการดังกล่าวนี้เพิ่งเริ่มทดลองได้ไม่นาน แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีเกิดขึ้น
“เราต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา และที่สำคัญคือต้องขจัดอุปสรรคทางนโยบายที่มีอยู่ ซึ่งมักเป็นกฎหมายและระเบียบที่อาจไม่ได้ตั้งใจให้เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่กลับส่งผลเช่นนั้น” แทมมี่กล่าว และเสนอว่าเราต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อขจัดอุปสรรคเหล่านี้ และเปิดพื้นที่ให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าเรียน ได้รับใบรับรองคุณวุฒิ และมีโอกาสในการทำงานได้ โดยแทมมี่ได้ยกตัวอย่างว่าในหลายประเทศ ผู้ลี้ภัยมีโอกาสได้รับวีซ่าทำงาน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยได้มีทางเลือกเพื่อไปสู่ความก้าวข้างหน้าในชีวิตของตนมากขึ้น
“อีกความท้าทายหนึ่งที่เราต้องเผชิญ คือการที่เราจะต้องคงความต่อเนื่องของระบบการศึกษาไว้ให้ได้ ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากมากสำหรับองค์กรด้านมนุษยธรรม เพราะเหตุนี้ เราจึงต้องร่วมมือกับองค์กรด้านการพัฒนา เพราะแม้ว่าเราจะสามารถริเริ่มการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถทำให้มันยั่งยืน อัตราการหลุดจากระบบการศึกษาก็จะยังคงสูง ดังนั้นเราต้องสร้างความมั่นใจว่าผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาและมีงานทำ นี่ยังคงเป็นช่องว่างที่กว้างมาก และการจะลดช่องว่างนี้ได้ ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันของทั้งองคาพยพในสังคม” แทมมี่ทิ้งท้าย
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world