ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามายาวนาน ข้อมูลจากกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ในปี 2562 มีเด็กยากจนที่อยู่นอกระบบการศึกษามากถึงกว่า 400,000 คน และมีอีก 800,000 คนที่แม้อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ แต่มีแนวโน้มที่จะออกกลางคันอยู่มาก ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ครอบครัวขาดรายได้ ทำให้ไม่สามารถส่งเสียจนสำเร็จการศึกษา หรือทำให้นักเรียนต้องลาออกกลางคันเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว[1]
หนึ่งในนโยบายที่นำไปใช้แก้ปัญหาการออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนคือ ‘การจัดสรรทุนอย่างมีเงื่อนไข’(Conditional Cash Transfer: CCT) โดยให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนครัวเรือนยากจน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องพาบุตรหลานไปเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือนยากจนลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น นโยบายนี้ได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากมีผลวิจัยรองรับมากมาย โดยเฉพาะงานวิจัยที่ใช้วิธีการแบบ randomized controlled trials (RCTs) หรือการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมในการประเมินผลของการจัดสรรทุนอย่างมีเงื่อนไข โดยงานวิจัยที่ผ่านมาชี้ว่าการจัดสรรทุนแบบนี้มีประโยชน์จริง เด็กนักเรียนจากกลุ่มทดลอง (treatment group) ที่ได้รับเงินสนับสนุนมีอัตราการเข้าเรียนที่สูงกว่านักเรียนในกลุ่มควบคุม (control group) ที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุน[2]
ในประเทศไทย กสศ. คือหน่วยงานสำคัญที่ดำเนินนโยบายการจัดสรรทุนอย่างมีเงื่อนไข โดยคัดกรองนักเรียนจากครัวเรือนที่มีฐานะยากจนพิเศษ แล้วให้การสนับสนุนทุนเป็นจำนวน 3,000 บาทต่อคนต่อปี แต่ต้องให้ผู้รับทุนปฏิบัติตาม ‘เงื่อนไข’ ซึ่งคือ การมาโรงเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ต่อภาคการศึกษา เห็นได้ว่าการให้ทุนนี้จึงช่วยลดปัญหาด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและป้องกันการขาดเรียนและลาออกกลางคันของนักเรียน
แต่ลำพังแค่การให้ทุนเพื่อให้เข้าเรียนสม่ำเสมออาจไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ในปี 2563 พวกเราได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างของนักเรียนผู้รับทุน CCT จาก กสศ. ในทุกภูมิภาค พบว่า นักเรียนยังมีมุมมองด้านอาชีพในอนาคตแบบจำกัด พวกเขามองเห็นความหลากหลายของอาชีพน้อย และคาดการณ์รายได้ในอนาคตของตนเองต่ำกว่าเด็กที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ดีกว่า[3] ตรงนี้อธิบายได้ว่า นักเรียนที่ด้อยโอกาสมักไม่ค่อยได้รับข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ช่วยในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ที่สำคัญในชีวิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพและรายได้ และผู้ปกครองเองก็ยังขาดข้อมูลในเรื่องนี้เช่นกันทำให้ไม่สามารถแนะนำบุตรหลานได้ ส่วนในด้านจิตวิทยานั้นนักเรียนที่ด้อยโอกาสมักไม่ค่อยได้รับกิจกรรมที่ส่งเสริมแรงบันดาลใจด้านบวกที่เท่ากับครัวเรือนที่มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองเผชิญกับข้อจำกัดด้านข้อมูลอาชีพ (information constraint) และความจำกัดด้านจิตใจ หรือ mindset (internal constraint) พวกเขาจึงมีความคิดแบบ ‘ติดกรอบ’ ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้น
ดังนั้น การศึกษาล่าสุดของพวกเรา จึงได้ออกแบบการทดลองแบบ RCT เพื่อหาคำตอบว่า หากนักเรียนได้รับข้อมูลด้านอาชีพและมีการสร้างมุมมองเชิงบวกแล้ว พวกเขาจะสามารถสร้างความมุ่งมาดต่อการศึกษาและมองอนาคตของพวกเขาได้ดีขึ้นหรือไม่ และมุมมองทางจิตวิทยาที่เป็นบวกจะสามารถช่วยยกระดับจิตใจให้มีความมุ่งมาดต่อการศึกษาหรือไม่
Growth Mindset กับความมุ่งมาดต่อการศึกษา
การทดลองของเราจึงสร้าง intervention หลากมิติ ที่ให้ทั้งกิจกรรมในห้องเรียนที่สร้างเสริม ‘กรอบคิดแบบเติบโต’ (growth mindset) และการให้ ‘ข้อมูลด้านอาชีพ’ แก่นักเรียนที่ได้รับทุนและผู้ปกครอง แล้ววิเคราะห์ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถสร้างทักษะต่างๆ ของนักเรียนทั้งด้านการคิดรู้ (cognitive) และพฤติกรรมด้านอารมณ์ (non-cognitive) มากน้อยเพียงใด รวมถึงเพื่อตอบคำถามว่าผู้ปกครองจะมีความเปิดกว้างและมีความสนใจในเรื่องการเรียนของบุตรหลานอย่างมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นหรือไม่[4] การทดลองครั้งนี้นับได้ว่าช่วยจำแนกการวิเคราะห์ผลของโครงการ CCT ของ กสศ. ด้วยกลุ่มทดลองที่ชัดเจนขึ้น และยังเป็นการช่วยสำรวจหา intervention คู่ขนานที่ไปพร้อมกับการให้เงินอุดหนุนที่อาจช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษาได้
ทีมวิจัยของเราได้ร่วมมือกับ Learn O Life (LOL) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการศึกษา เพื่อออกแบบกิจกรรม growth mindset และการให้ความรู้ด้านอาชีพแห่งอนาคตใหม่ สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยจัดทำขึ้นเป็นหลักสูตรที่ใช้วิดีโอเป็นสื่อการสอนในห้องเรียนทั้งหมด 4 หลักสูตรด้วยกัน
หลักสูตรที่ 1 เรียกว่า Career เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตด้วยมุมมองอาชีพแห่งศตวรรษที่ 21 แบบต่างๆ และร่วมค้นหาตัวตนจากข้างในว่าเหมาะสมกับอาชีพแบบใดบ้าง
หลักสูตรที่ 2 เรียกว่า Mindset เป็นการให้ข้อมูลและฝึกปฏิบัติตามหลักการกรอบคิดแบบเติบโต เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมค่อยๆปรับความคิดว่า สมองพัฒนาได้จากความพยายาม ความสำเร็จก็วัดได้จากความพยายาม รวมถึงความผิดพลาดไม่ใช่การตีตราของความไม่เก่ง แต่เป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา
หลักสูตรที่ 3 เรียกว่า Mindset x Career เป็นการนำกิจกรรมของสองกลุ่มแรกมาผสมกันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกทั้งกรอบคิดแบบเติบโตและค้นหาอาชีพไปด้วยกัน
หลักสูตรที่ 4 เรียกว่า Parents เป็นเนื้อหาสำหรับผู้ปกครองเพื่อให้เข้าใจและช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกๆ รูปที่ 1 แสดงหน้าปกคู่มือของหลักสูตรต่างๆ
เป้าหมายของกิจกรรมคือนักเรียน 2 ระดับชั้น (ป.4 และ ม.1) และผู้ปกครอง ที่อยู่ในโครงการ CCT ที่เลือกวัยนี้เพราะถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยรุ่นและไปสู่ระดับขั้นการศึกษาที่สูงขึ้น ส่วนสถานที่นั้น เรามุ่งไปที่ภาคอีสานคือ โรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และกาฬสินธุ์ จำนวน 251 แห่ง หนึ่งเหตุผลหลักในการเลือกภาคอีสานมาจากการลงไปในพื้นที่ชนบทหลายครั้ง และทีมวิจัยพบว่าเด็กๆ ส่วนมากมีมุมมองของอนาคตและอาชีพที่ยังอยู่ในกรอบของพื้นที่ที่ตนเคยชิน เช่น โตขึ้นอยากจะเป็นชาวนา เป็นคนขับรถไถ เป็นคนเลี้ยงวัว ฯลฯ แน่นอนว่าความคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ายังมีช่องว่างอีกมากที่กิจกรรมของเราน่าจะช่วยเติมเต็มเพื่อเปิดมุมมองไปสู่อาชีพในอนาคตที่หลากหลายกว่าได้ และปลดล็อกความคิดไปสู่การเติบโตที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดสภาพความเป็นอยู่แบบเดิมๆ
พูดอีกแบบคือ ความคิดที่ไม่ติดกรอบอาจเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการช่วยกระตุ้นการสร้างทุนมนุษย์ในเด็ก พร้อมด้วยเป้าประสงค์ใหญ่คือ การลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางการศึกษาและอนาคตข้างหน้าของเด็กเหล่านี้
ออกแบบการทดลองในโลกจริง
เรามีจำนวนนักเรียนทั้งหมดกว่า 12,000 คนในโครงการ โดย 1 ใน 4 คือนักเรียนที่อยู่ในโครงการ CCT และผู้ปกครองอีกกว่า 1,400 คน กลุ่มตัวอย่างได้ถูกสุ่มแบ่งไปตามกลุ่มทดลองต่างๆ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ 1 คือนักเรียนที่รับหลักสูตร Career (ข้อมูลด้านอาชีพ) กลุ่มทดลองที่ 2 คือ นักเรียนที่รับหลักสูตร Mindset (ข้อมูลการสร้างกรอบคิดแบบเติบโต) กลุ่มทดลองที่ 3 คือ นักเรียนที่ได้รับหลักสูตร Mindset x Career (ทั้งข้อมูลกรอบคิดแบบเติบโตและอาชีพ) กลุ่มทดลองที่ 4 คือ นักเรียนที่ได้รับหลักสูตร Mindset x Career เช่นกัน แต่ต่างที่ผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับหลักสูตรส่งเสริมพัฒนาการลูกด้วย กลุ่มทดลองนี้เรียกว่า Parents และสุดท้าย เรามีนักเรียนและผู้ปกครองอยู่อีกหนึ่งกลุ่มที่ไม่ได้รับกิจกรรมใดๆเพิ่มเติมทำหน้าที่เป็น กลุ่มควบคุม เพื่อไว้เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ
ในการทดลองครั้งนี้ ทางโรงเรียนได้จัดเวลาบางส่วนในคาบแนะแนวไว้ให้นักเรียนและผู้ปกครองทำกิจกรรมของหลักสูตรผ่านแพลตฟอร์มของ LOL โดยมีคุณครูเป็นผู้นำกิจกรรม ตั้งแต่การล็อกอินเข้าระบบเพื่อชมวิดีโอประกอบการพานักเรียนทำแบบฝึกในสมุดกิจกรรม คุณครูยังช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลการวัดทักษะด้านการคิดรู้และพฤติกรรมด้านอารมณ์ของนักเรียนทั้งก่อนหลักสูตรเริ่มและหลังหลักสูตรจบลง และข้อมูลด้านทัศนคติของผู้ปกครองทั้งก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรมของหลักสูตรด้วยเช่นกัน ส่วนทางทีมวิจัยเองก็ได้ทำการนัดประชุมใหญ่และย่อยเพื่อชี้แจงขั้นตอนต่างๆ รวมถึงคอยให้ทีมผู้ช่วยวิจัยคอยประสานงาน ติดตาม และอำนวยความสะดวกให้แก่ครูตลอดกระบวนการ เพื่อลดความผิดพลาดของข้อมูลให้ได้มากที่สุด ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มนัดหมายคุณครูจากทุกโรงเรียนเพื่อชี้แจงครั้งแรก ไปจนจบหลักสูตรและได้ข้อมูลจากแบบสอบถามกลับมา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 เดือน
ในส่วนของการวัดทักษะต่างๆนั้น เราใช้แบบทดสอบทักษะเชิงปัญญา (standardized test) ด้านคณิตศาสตร์และภาษาไทยตามระดับชั้นของนักเรียน โดยวัดทั้งก่อนและหลังการได้รับหลักสูตร ส่วนการวัดทักษะเชิงพฤติกรรมและอารมณ์ใช้แบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน[5] คะแนนต่างๆ ถูกประมาณค่าพารามิเตอร์ด้วยแบบจำลองเศรษฐมิติแบบ value added specification โดยให้คะแนนที่เกิดหลังจากได้รับหลักสูตรเป็นตัวแปรตาม นำมาเปรียบเทียบกับคะแนน baseline (คะแนนที่ได้ก่อนเริ่มกิจกรรมของหลักสูตร) ว่าผลของ intervention จากกิจกรรมในหลักสูตรใดบ้างที่ส่งผลต่อทักษะต่างๆ ของผู้ร่วมการทดลอง
โดยเราจะรายงานผลเปรียบเทียบระหว่าง intervention และเปรียบเทียบผลที่พบของนักเรียนชั้น ป.4 (สีเขียว) และ ม.1 (สีแดง)
Growth Mindset ส่งผลอย่างไรต่อเด็กบ้าง?
1. ผลของการให้กิจกรรม (intervention) ต่อ growth mindset
ทุกหลักสูตรส่งผลบวกต่อความคิดแบบเติบโตทั้งหมด โดยเฉพาะหลักสูตรที่มีการฝึกด้าน growth mindset ผสมอยู่ และพบว่านักเรียนชั้น ม. 1 พบว่ามีการพัฒนามากกว่านักเรียนชั้น ป.4 พอสมควร (รูปที่ 2)
2. ผลของการให้ intervention ต่อผลด้านทักษะทางภาษาและคณิตศาสตร์
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักสูตรที่สร้างเสริมทักษะเชิง cognitive ที่วัดด้วยคะแนนภาษาไทย (รูปที่ 3 ซ้าย) และคะแนนคณิตศาสตร์ (รูปที่ 3 ขวา) มาจากกลุ่มนักเรียนที่ได้รับ intervention ด้วยหลักสูตร career มากที่สุด โดยที่ลำพังการให้หลักสูตรสร้างเสริม growth mindset อย่างเดียวไม่ทำให้คะแนนเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การได้รับทั้งเนื้อหาด้าน career และ growth mindset ช่วยเสริมคะแนนด้าน cognitive ของกลุ่มเด็กโต (ม.1) อย่างมากและมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผลจากการที่ผู้ปกครองได้รับหลักสูตรด้วยนั้น มีค่าค่อนข้างต่ำ หรือเกือบเท่ากับศูนย์
3. ผลของการให้ intervention ต่อทักษะเชิง non-cognitive
สำหรับนักเรียนอายุน้อย (ชั้น ป.4) การให้ intervention ทุกรูปแบบไม่ได้ทำให้เกิดการปรับทักษะด้าน non-cognitive ไปในทางบวกซักเท่าไรนัก (บางกรณีพบว่ามีทักษะลดลงเล็กน้อยด้วย) แต่เมื่อพิจารณากลุ่มเด็กโต (ชั้น ม.1) เรากลับเป็นผลตรงกันข้าม นั่นคือ intervention ทุกรูปแบบช่วยสร้างทักษะเชิงพฤติกรรมและอารมณ์ นอกจากนี้ การที่นักเรียนในกลุ่มได้รับทั้งข้อมูลด้านอาชีพและได้ฝึกด้าน growth mindset ทำให้ทักษะด้านอารมณ์มีพัฒนาการมากกว่าได้รับข้อมูลด้านอาชีพหรือ mindset เพียงอย่างเดียว และเรายังพบผลลัพธ์มีค่ามากที่สุดในกลุ่มที่ผู้ปกครองที่ได้รับหลักสูตรควบคู่ไปด้วย (รูปที่ 4)
4. ผลของการให้ intervention ต่อมุมมองต่ออนาคต
นอกจากการประเมินผลด้านทักษะต่างๆแล้ว ทีมได้ให้ความสำคัญต่อทัศนคติในการมองอนาคตของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความมุ่งมาดและความคาดหวังด้านอาชีพในอนาคต ถ้าหาก intervention ของเราทำให้เด็กๆมีความคาดหวังต่ออาชีพที่ใช้ทักษะขั้นสูงเพิ่มขึ้น นั่นแสดงว่าพวกเขามีทัศนคติต่ออนาคตไปในทางบวกมากขึ้นนั่นเอง รูปที่ 5 แสดงผลว่าการให้ intervention ในกลุ่มเด็กเล็ก (ชั้น ป.4) ไม่ได้ทำให้ทัศนคติด้านอาชีพในอนาคตเปลี่ยนไป แต่สำหรับกลุ่มเด็กโต (ชั้น ม.1) หลักสูตร Career ดูเหมือนเป็นตัวผลักที่แรงที่สุด รองมาคือหลักสูตร Mindset นอกจากนี้ ในหลักสูตร Parents ที่ผู้ปกครองได้เข้าร่วมกิจกรรมพบว่า พวกเขามีค่าทัศนคติในการมองอนาคตของลูกที่ปรับตัวสูงขึ้น
เรายังพบอีกว่า การให้หลักสูตรแก่ผู้ปกครองช่วยเสริมปฏิสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับนักเรียน กล่าวคือ ผู้ปกครองที่ได้รับหลักสูตรมีแนวโน้มสนใจเรื่องการเรียนของลูกๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ปกครองในกลุ่มทดลองอื่นๆ ที่ไม่ได้รับหลักสูตร เป็นไปได้ว่าหลักสูตรนี้ได้ให้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้ปกครองมีเรื่องสนทนากับบุตรในเรื่องโรงเรียนมากขึ้น (ซึ่งคุณครูใน focus group ก็สังเกตเห็นสิ่งนี้จากผู้ปกครองเช่นกัน)
โดยรวมนั้น ผลลัพธ์ของหลักสูตรอาชีพค่อนข้างน่าประทับใจ เพราะช่วยเพิ่มคะแนนในทักษะด้านต่างๆให้แก่กลุ่มทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งคะแนนทักษะทางปัญญา และทักษะด้านอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ อีกทั้งช่วยเพิ่มมุมมองทางบวกต่อการศึกษาให้แก่นักเรียนด้วย กระนั้น เด็กนักเรียนส่วนมากยังมีมุมมองเลือกอาชีพติดกับกรอบเพศอยู่ (เช่น ผู้หญิงเป็นพยาบาล หรือผู้ชายเป็นวิศวกร) และผลส่วนใหญ่ก็ยังเกิดกับนักเรียนชั้น ม.1 เป็นหลัก ตรงนี้อาจอธิบายเสริมด้วยข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม (focus group) ได้ โดยคุณครูให้ข้อคิดเห็นว่า หลักสูตรอาชีพน่าชื่นชม เพราะนำเสนอมุมมองด้านอาชีพที่ทันสมัยและแตกต่างจากการแนะแนวแบบเดิม แต่ติดขัดที่ยังมีความสนุกไม่พอจึงไม่อาจดึงดูดความสนใจของเด็กในชั้น ป.4 ได้ ส่วนหลักสูตรแบบผสมผสานไม่ค่อยเห็นผลนัก เมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรแบบเดี่ยว กลุ่มทดลองนี้ไม่ได้มีผลคะแนนทางทักษะต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ ข้อสังเกตจากคุณครูใน focus group คือ ตัวหลักสูตรค่อนข้าง ‘หนัก’ เกินไปสำหรับนักเรียน ซึ่งอาจทำให้ย่อยยากและไม่เกิดผลเท่าที่ควร
ควรกล่าวด้วยว่า ผลการทดลองข้างต้น เป็นผลในระยะสั้นที่วัด 1-2 เดือนหลังให้หลักสูตร กลุ่มการทดลองบางกลุ่มอาจมีผลลัพธ์ในระยะยาว ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไป
การศึกษานี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มองเห็นว่ากิจกรรมแบบ growth mindset สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อเด็กและผู้ปกครองในโครงการ CCT และการติดตามวัดผลของหลักสูตรต่างๆ ในระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญ และมีความเป็นไปได้ เพราะโรงเรียนค่อนข้างตอบรับหลักสูตรในทางดี รวมถึง กสศ. ก็มีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณครู โรงเรียน และผู้ปกครองอยู่แล้ว การปรับใช้อาจทำโดยผนวกกิจกรรมของหลักสูตรเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขของการให้ทุนได้ แน่นอนว่าต้องทำภายใต้การจัดการที่ไม่เพิ่มภาระแก่โรงเรียนจนเกินไป ส่วนหลักสูตรควรตัดทอนเนื้อหาที่ไม่จำเป็น และเน้นรายละเอียดอาชีพแห่งอนาคตเพิ่มขึ้น โดยเนื้อหาต้องมีความสนุกสนาน รวมทั้งสามารถละลายอคติทางเพศแบบเดิมให้มากขึ้น
ผลการวิจัยกับนัยต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น
นัยสำคัญที่สุดของการทดลองแบบในห้องเรียนแบบสุ่มในครั้งนี้ ก็เพื่อหาแนวทางที่จะส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility) ให้เกิดมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงคือหัวใจสำคัญ
การให้หลักสูตร growth mindset และการสร้างเสริมความรู้ด้านหนทางเชิงอาชีพ ช่วยให้ทั้งเยาวชนและผู้ปกครองเกิดการมองอนาคตอย่างมีความมุ่งมั่นและมุ่งมาด ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะป้องกันให้พวกเขาไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมต่างๆ และมีอนาคตไกลได้ตามศักยภาพที่แท้จริง
เชิงอรรถ
[1] สำรวจข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ
[2] บางตัวอย่างของงานวิจัยที่ใช้ RCTs เพื่อประเมินผล CCT เช่น Behrman et.al. (2005) ที่ชี้ว่านโยบาย ‘Progresa’ (ชื่อเรียกนโยบาย CCT ในประเทศเม็กซิโก) ในกลุ่มทดลองที่เป็นนักเรียนรับเงินสนับสนุนมีอัตราการเข้าเรียนมากกว่ากลุ่มควบคุม หรือดูบทความสรุปเรื่อง conditional cash transfer ได้จาก Millán et al. (2019)
[3] สุภารีและคณะ (2563)
[4] รายละเอียดของงานวิจัย ดูเพิ่มเติมได้ที่งานของ นรชิต จิรสัทธรรม และคณะ (2564)
[5] แบบทดสอบนี้ประเมินตามหมวดหมู่ คือ (i) ปัญหาทางอารมณ์ (emotional), (ii) ความสัมพันธ์กับเพื่อน (peer relation), (iii) พฤติกรรมเกเร (conduct problem), (iv) พฤติกรรมไม่นิ่ง (hyperactivity) และ (v) ด้านสัมพันธภาพทางสังคมที่แสดงออกในด้านดี (pro-social) โดยสองพฤติกรรมแรกคือลักษณะภายใน (internalized) ส่วนสามพฤติกรรมหลังคือลักษณะภายนอก (externalized)
เอกสารอ้างอิง
Behrman, J.R., P. Sengupta and P. Todd (2005). Progressing through PROGRESA: An Impact Assessment of a School Subsidy Experiment. Economic Development and Cultural Change. 54 (1): 237–275.
Millán, Teresa Molina, Tania Barham, Karen Macours, John A. Maluccio, and Marco Stampini. ‘Long-term impacts of conditional cash transfers: review of the evidence.’ The World Bank Research Observer, 34, no. 1 (2019): 119-159.
สุภารี บุญมานันท์, นรชิต จิรสัทธรรม, เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย, และ ศุภนิจ ปิยะพรมดี (2563). โครงการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์มาตรการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขต่อพฤติกรรมและความมุ่งมั่นของนักเรียนยากจนพิเศษ ระยะที่ 1. สนับสนุนโดยกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.)
นรชิต จิรสัทธรรม, เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย และ ศุภนิจ ปิยะพรมดี (2564). โครงการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์มาตรการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขต่อพฤติกรรมและความมุ่งมั่นของนักเรียนยากจนพิเศษ ระยะที่ 2. สนับสนุนโดยกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.)