นี่อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่ฟินแลนด์ได้ปฏิรูประบบการศึกษาของตนจนผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์สูงที่สุดในโลก ด้วยการขอให้เด็กนักเรียนใช้เวลาที่โรงเรียนน้อยลง และให้ทำการบ้านและสอบน้อยลง
ข้อมูลโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ระบุว่า เด็กนักเรียนในฟินแลนด์มีผลการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยเฉลี่ยดีกว่าเด็กจากประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
ความสำเร็จนี้มีขึ้นทั้งที่ช่วงก่อนสิ้นสุดยุคทศวรรษที่ 1960 ฟินแลนด์เคยมีอัตราเด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพียง 10% เท่านั้น
การปฏิรูปแบบก้าวหน้า
เรื่องราวความสำเร็จของระบบการศึกษาภาคบังคับในฟินแลนด์ หรือที่เรียกว่าperuskoulu เริ่มขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1970 และได้รับการผลักดันอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ 1990 ด้วยการดำเนินโครงการปฏิรูปที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน เวลาที่มีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่างชาติเดินทางไปดูงานเรื่องระบบการศึกษาที่ “มหัศจรรย์” ของฟินแลนด์ พวกเขาจะได้รับการบอกกล่าวว่า ระบบการศึกษาคุณภาพสูงที่ภาครัฐจัดให้ประชาชนนั้นไม่เพียงจะเป็นผลมาจากนโยบายด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว ทว่ามาจากนโยบายด้านสังคมที่มีประสิทธิภาพด้วย
นายพาซี ซัห์ลเบิร์ก นักการศึกษาชาวฟินแลนด์ ที่เคยทำงานเป็นครู, ผู้ฝึกสอนครู, นักวิจัย และที่ปรึกษาด้านนโยบายการศึกษา ระบุว่า “ระบบการศึกษาที่มีความเสมอภาคสูงของฟินแลนด์ไม่ได้มาจากปัจจัยด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว”
“โครงสร้างพื้นฐานของสวัสดิการรัฐในฟินแลนด์มีบทบาทสำคัญในการให้โอกาสเด็กทุกคน รวมทั้งครอบครัวของพวกเขามีสถานะที่เท่าเทียมกันในการเริ่มต้นเส้นทางการศึกษาที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 7 ขวบ”
ความเสมอภาคและการศึกษา
ในหนังสือเรื่อง Finnish Lessons 2.0 ของนายซัห์ลเบิร์ก ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 เขาระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของชีวิตคนเรา
หากเป็นเช่นนั้น ระบบการศึกษาในสังคมที่มีความเสมอภาคกว่า จะมีประสิทธิภาพดีกว่าที่อื่นหรือไม่ ?
นายซัห์ลเบิร์ก เปรียบเทียบข้อมูลรายได้ประชากรในประเทศกลุ่ม OECD กับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของ PISA แล้วได้ข้อสรุปว่า “มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายรายได้ของประชากรกับผลการเรียนของเด็ก ซึ่งแม้จะไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่โดดเด่นชัดเจนแต่ก็ยอมรับได้ที่แสดงให้เห็นว่า ยิ่งสังคมมีความเสมอภาคมากเท่าไหร่ เด็กนักเรียนก็ดูจะมีผลการเรียนดีขึ้นเท่านั้น”
นายซัห์ลเบิร์ก ระบุว่า ยิ่งประเทศมีความเสมอภาคมากเท่าใด (วัดจากข้อมูลเชิงสถิติ) ประชากรก็ยิ่งมีการศึกษา และสุขภาพจิตดีมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังมีอัตราเด็กเลิกเรียนกลางคัน, มีปัญหาโรคอ้วน และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยมากกว่า ซึ่งความไม่เสมอภาคเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเรียนการสอนในโรงเรียน
ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม
ที่โรงเรียน Viikki ในกรุงเฮลซิงกิ เด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยและครอบครัวชนชั้นแรงงานนั่งเรียนรวมกันในห้องเรียน
ที่นี่ไม่มีค่าเทอม และไม่มีค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การเรียน
ที่โรงอาหารอันกว้างขวาง มีการเสิร์ฟอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแก่เด็กนักเรียน 940 คนของโรงเรียน ซึ่งมีตั้งแต่ชั้นประถมไปถึงมัธยมศึกษา
เด็ก ๆ ยังได้รับบริการดูแลสุขภาพและทันตกรรมฟรี อีกทั้งมีนักจิตวิทยาและครูคอยส่งเสริมด้านพัฒนาการของพวกเขา
“มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความยากจนในเด็ก และการที่โรงเรียนไม่มีสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่เด็กนักเรียน มีส่วนสำคัญต่อการปรับปรุงคุณภาพระบบการศึกษา” นายซัห์ลเบิร์กกล่าว
เขาชี้ว่า ความสำเร็จด้านการศึกษาของฟินแลนด์ส่วนใหญ่มาจากรูปแบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเริ่มใช้หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
รูปแบบนี้เป็นการที่รัฐจัดบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษาฟรีให้แก่ประชาชน จัดที่พักอาศัยในราคาที่คนส่วนใหญ่สามารถซื้อได้ ให้พ่อแม่ได้สิทธิ์เลี้ยงลูกหลังคลอดเป็นเวลานานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ชายรับผิดชอบในการดูแลลูกมากขึ้น ให้มีบริการรับเลี้ยงเด็กเล็กในราคาที่รัฐบาลอุดหนุนหรือฟรี รวมทั้งจัดสวัสดิการสังคมที่เพียงพอให้แก่ประชาชน
คุณค่าของครู
ปรัชญาของระบบการศึกษาฟินแลนด์ ยังสะท้อนออกมาในห้องเรียนด้วย
ในโรงเรียนทั่วไป ครูใช้เวลาในการสอนหนังสือวันละ 4 ชั่วโมง ทำให้พวกเขาได้มีเวลาเตรียมการสอน นำความรู้ที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่ และมีเวลาใส่ใจเด็กนักเรียนมากขึ้น
วิชาชีพครูมีรายได้ดีพอสมควร และเงื่อนไขการทำงานก็ดีด้วย
ด้วยเหตุนี้ ครุศาสตร์ จึงกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่เยาวชนในฟินแลนด์นิยมเรียนมากที่สุดแซงหน้าการเรียนเป็นแพทย์ นักกฎหมาย และสถาปนิก
นอกจากนี้ ชั่วโมงการเรียนของโรงเรียนในฟินแลนด์ยังสั้นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในประเทศกลุ่ม OECD อื่น ๆ หรือ ราว 670 ชั่วโมงต่อปีสำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษา เป็นต้น
ขณะที่คอสตาริกา มีชั่วโมงการเรียนมากกว่านี้เกือบสองเท่า ส่วนเด็กนักเรียนประถมในสหรัฐฯ และโคลอมเบีย มีชั่วโมงเรียนกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี
เอียร์ยา ชัค ครูที่โรงเรียน Viikki บอกว่า “มันเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กจะมีเวลาได้เป็นเด็ก”
“สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณของเวลาที่ใช้ในห้องเรียน” เธอกล่าว
เด็กนักเรียนที่ฟินแลนด์ยังมีการบ้านน้อยกว่าด้วย
ข้อมูลจาก OECD ระบุว่า เด็กอายุ 15 ปีในฟินแลนด์ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2.8 ชั่วโมง ตามด้วยเด็กในเกาหลีใต้ที่ใช้เวลา 2.9 ชั่วโมง
ขณะที่เวลาทำการบ้านโดยเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่ม OECD คือ 4.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเพิ่มขึ้นเป็น 13.8 ชั่วโมงสำหรับจีน
“เด็กได้เรียนสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้ในชั้นเรียน พวกเขามีเวลามากขึ้นในการอยู่กับเพื่อนและทำอย่างอื่นที่พวกเขาชอบ ซึ่งก็สำคัญเช่นกัน” มาร์ตตี เมรี ครูอีกคนกล่าว
บรรยากาศที่ผ่อนคลาย
บรรยากาศที่โรงเรียน Viikki เต็มไปด้วยความสงบและไม่เป็นทางการ ที่นี่ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน เด็ก ๆ เดินไปไหนมาไหนโดยสวมถุงเท้า ตามธรรมเนียมของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่เด็ก ๆ จะไม่สวมรองเท้าในห้องเรียน
นอกจากนี้ เด็ก ๆ ในฟินแลนด์ยังไม่ต้องวิตกกังวลกับการสอบด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีในการศึกษาช่วง 5 ปีแรกของเด็ก และในปีต่อจากนั้น นักเรียนจะถูกประเมินจากความสามารถในชั้นเรียน
หลักการของระบบการศึกษานี้คือการมองว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนและโอกาส
ส่วนครูอาจารย์ต่างเชื่อว่าหน้าที่ของพวกเขาคือการช่วยนักเรียนให้เรียนรู้โดยปราศจากความกังวล และพัฒนาความสงสัยใคร่รู้ตามธรรมชาติของพวกเขา ไม่ใช่การสอบผ่าน
ข้อมูลจาก PISA ระบุว่า มีนักเรียนในฟินแลนด์เพียง 7% เท่านั้นมีความวิตกกังวลในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งมีระบบที่เข้มงวดและมีผลการเรียนเป็นเลิศ แต่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพจิตของเด็ก โดยตัวเลขดังกล่าวสูงถึง 52%
บริการสาธารณะ (Public Goods)
ความก้าวหน้าในนโยบายการศึกษาของฟินแลนด์มาพร้อมกับสวัสดิการรัฐชั้นยอด ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราภาษีสูงที่สุดในโลกคือ 51.6%
แม้ประชาชนจะมีภาระทางภาษีที่หนักหน่วง แต่ฟินแลนด์ยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลก ตามรายงานความสุขโลกขององค์การสหประชาชาติประจำปี 2018
นายซัห์ลเบิร์ก บอกว่า การที่ฟินแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรราว 5.5 ล้านคน และสังคมค่อนข้างมีเอกภาพนั้น ก็ทำให้การวางนโยบายด้านการศึกษาและการดำเนินนโยบายเพื่อปฏิรูปเป็นไปได้ง่ายกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีเขตการปกครองที่หลากหลาย
“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้อธิบายถึงความสำเร็จทั้งหมดของระบบการศึกษาฟินแลนด์” นายซัห์ลเบิร์กระบุ
“ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ และความเป็นธรรมทางสังคมซึ่งหยั่งรากลึกในวิถีชีวิตของคนฟินแลนด์ ผู้คนมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่ได้คิดถึงแค่ชีวิตของตัวเอง แต่ยังคิดถึงผู้อื่นด้วย”
“การฟูมฟักสุขภาวะของเด็กเริ่มตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะเกิด แล้วดำเนินต่อไปก่อนที่พวกเขาจะเข้าโรงเรียนตอน 7 ขวบ และเด็กทุกคนยังสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้โดยง่าย”
เขาเสริมว่า “คนส่วนใหญ่มองว่าระบบการศึกษาของรัฐเป็นบริการสาธารณะ”
_________________
ที่มาข่าว : https://www.bbc.com/thai/features-45698818