ถึงเวลาพา ‘โรงเรียน’ ไปหาเด็ก : ถอดรหัสการศึกษาไทย ทำอย่างไรให้ทุกคนได้เรียน

ถึงเวลาพา ‘โรงเรียน’ ไปหาเด็ก : ถอดรหัสการศึกษาไทย ทำอย่างไรให้ทุกคนได้เรียน

หากให้กล่าวถึงปัญหาเรื้อรังที่อยู่ตลอดมาและมีทีท่าว่า (อาจ) จะอยู่ต่อไปอีกนานในสังคมไทย หลายคนคงไม่ลังเลที่จะตอบว่า ‘ปัญหาการศึกษา’ เพราะในแง่หนึ่ง แม้การศึกษาจะเป็นประตูสู่โอกาสในการเข้าสู่ชีวิตที่ดีกว่า แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อทุกอย่างย่อมมีราคาค่าใช้จ่าย การศึกษาที่ ‘ไม่ฟรี’ อย่างแท้จริง จึงกลายเป็นเหมือนอุปสรรคใหญ่ที่ผลักเด็กจำนวนหนึ่งให้ร่วงหล่นจากตาข่ายการศึกษาไป

และ  ‘จำนวนหนึ่ง’ ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่หลักพันหรือหลักหมื่น แต่เรากำลังพูดถึงเด็กจำนวนหลักล้าน ยังมินับว่าที่จริงแล้วไม่ควรมีเด็กคนไหนเลยที่ร่วงหล่นออกจากระบบการศึกษาไป เพราะดังทุกคนรู้กันดี การศึกษาเป็นเหมือน ‘โอกาส’ ในการก้าวไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทั้งของตัวเด็กเอง ของครอบครัว และของคนรุ่นถัดไป อีกทั้งยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในภาพกว้าง โดยเฉพาะในแง่ของทรัพยากรมนุษย์ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าต่อไป

ในแง่นี้ การร่วงหล่นจากระบบการศึกษาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกหรือครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคมและขยายต่อไปได้จนถึงระดับประเทศ

เมื่อมองเช่นนี้แล้วจึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะรองรับการที่เด็กไม่ได้เรียนและไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราจะไม่ช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว ดังที่เราจะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามคิดค้นทางแก้ปัญหาหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อโอบอุ้มและโอบรับเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

หนึ่งในแนวคิดดังกล่าวคือ ‘การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ (flexible learning) เพื่อทำให้เด็กที่หลุดออกจากระบบสามารถกลับเข้ามาเดินในเส้นทางการศึกษาได้อีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นเส้นทางที่ยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการเฉพาะของเด็กแต่ละคน เพื่อเป็นการประคับประคองเด็กไว้ในระบบการศึกษา

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด จากที่เราเคยคุ้นเคยกับคำว่า ‘เด็กๆ ต้องไปโรงเรียน’ การศึกษาที่ยืดหยุ่นจะพลิกมุมกลับกลายเป็นการ ‘พาโรงเรียนมาหาเด็ก’ แทน

101 ชวนอ่านเก็บความบางส่วนจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 3 “การจัดการศึกษาและเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับเด็กและเยาวชน และการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำระดับพื้นที่” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) – การศึกษาที่ยืดหยุ่นควรเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องจัดการศึกษาให้ยืดหยุ่น พร้อมรับฟังเสียงจากผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยร่วงหล่นจากระบบการศึกษาไปแล้ว

เราจะร่วมพัฒนาการศึกษาให้เป็นของทุกคนอย่างแท้จริงได้อย่างไร ชวนหาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้

สร้าง การศึกษาที่ยืดหยุ่นและประคับประคอง เพื่อโอบรับเด็กทุกเฉดสี

ถ้าให้นิยามเรื่องปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กสศ. ให้นิยามว่า “เป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนมาก”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ลือชัยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับภาพป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้มากมาย ทำให้ยากที่จะมองว่าต้นไม้แต่ละต้นเป็นอย่างไร มีลักษณะแบบไหน เพราะต้นไม้แต่ละต้นเกาะกลุ่มกันอยู่ ดังนั้น การทำความเข้าใจธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเราจะไม่สามารถเข้าใจได้เลยหากยังมองจากข้างบนโดยไม่พาตัวเองลงไปเกี่ยวข้องและพยายามทำความเข้าใจ

ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์และพบเจอเด็กที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ลือชัยเล่ากรณีศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่

กรณีแรก เด็กผู้หญิงอายุ 12 ปีที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง อาศัยอยู่กับคุณยายเพราะพ่อแม่แยกทางกัน ในช่วงเย็นเด็กผู้หญิงคนนี้จะร้องไห้เนื่องจากเครียดที่คุณพ่อโทรมาตำหนิและยังมีปัญหาเรื่องไม่อยากเรียนหนังสือเนื่องจากอ่านหนังสือได้ไม่แตกฉาน

กรณีที่สอง เด็กอายุ 8 ปีที่เพิ่งย้ายเข้ามาที่โรงเรียนช่วง ป.1 เพราะพ่อแม่แยกทางกัน เด็กมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียนช้า และร้องไห้อยู่บ่อยๆ เนื่องจากคิดถึงแม่ ประเด็นสำคัญคือทวดที่เด็กคนดังกล่าวอาศัยอยู่ด้วยไม่รู้หนังสือจึงไม่สามารถสอนการบ้านได้ จึงต้องจ้างพี่เลี้ยงข้างบ้านครั้งละ 50 บาทเพื่อสอนการบ้าน

และ กรณีที่สาม เด็กชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พออ่านหนังสือออกและเขียนได้ ทว่าปัญหาสำคัญคือเรื่องอารมณ์ ประเด็นน่าสนใจคือพ่อของเด็กชายมีอาการจิตเวชตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาจนต้องแยกออกไปอยู่บ้านกลางสวนยาง และญาติฝ่ายปู่ของเด็กชายก็มีภาวะจิตเวชเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณครูของเด็กเองก็ไม่ทราบ

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ประเด็นที่ว่า ปกติแล้วเวลาจะขับเคลื่อนงบประมาณหรือนโยบายใด เด็กแต่ละคนมักจะถูกมองว่าเป็นเพียงเคสที่พบได้เป็นส่วนน้อย ทว่าสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ เด็กเหล่านี้ก็คือชีวิตหนึ่งที่ต้องกำลังเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกลับมาหาปัญหาทางสังคมได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าทำไมพวกเขาอยู่กับพ่อแม่ไม่ได้ หรือทำไมครอบครัวนี้ถึงมีอาการป่วย

“ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องระดับปัจเจก แต่สะท้อนสังคมภาพใหญ่” ลือชัยสรุปพร้อมขยายความว่า “คนอาจจะมองว่า ชีวิตของเด็กแต่ละคนเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับส่วนใหญ่ แต่เราควรจะต้องพยายามทำความเข้าใจว่า จริง ๆ แล้วเด็กทุกคนสามารถเป็นทั้งทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ในอนาคตหรือเป็นระเบิดเวลาได้เช่นเดียวกัน การเห็นคุณค่าในชีวิตทุกคนจึงสำคัญ”

แต่จากตอนต้นที่ลือชัยชี้ว่า ปัญหาเด็กนอกระบบเป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนมาก เนื่องจากเด็กเหล่านี้อยู่บนเฉดสีที่กว้างมากและแตกต่างกันในแง่ของวิถีชีวิต การมองโลก และการจินตนาการถึงอนาคต หลายครั้งที่ผู้ใหญ่มักบอกว่าเด็กควรมีอาชีพ การศึกษา และครอบครัว จึงจะมีความสำเร็จและความมั่นคง แต่ลือชัยมองว่านิยามเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนิยามที่เด็กเลือกเสมอไป

“ตอนนี้ผมกำลังทำงานที่เชียงราย เราพบว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากมีชีวิตในโรงเรียนคือไม่มีความสุข เพราะเขาเรียนไม่รู้เรื่อง เนื่องจากอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ การอ่านออกเขียนได้ของเด็กเหมือนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้โลก เราจะอ่านวรรณกรรมอย่างไม่มีความสุขถ้าอ่านหนังสือไม่แตกจนไม่สามารถสัมผัสได้ถึงสุนทรียะนั้น”

ลือชัยเน้นย้ำว่า คนมักจะมองว่าการอยู่ในเฉดสีดังกล่าวต้องเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทั้งที่จริงๆ แล้ว การอยู่ในเฉดสีเหล่านี้สามารถเคลื่อนไปมาได้ไม่ตายตัว การจะดูแลเด็กกลุ่มนี้จึงต้องอาศัยการทำความเข้าใจว่า จะสร้างเงื่อนไขเพื่อประคับประคองเด็กที่อยู่บนเฉดเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร เพราะการทำเช่นนี้จะต้องอาศัยระบบที่เข้าใจและใกล้ชิดกับเด็ก เนื่องจากระบบที่มาจากข้างบนไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้

ดังนั้น การมีระบบที่จะโอบอุ้ม ประคับประคอง และตอบสนองความหลากหลายเหล่านี้โดยไม่มองว่าเป็นเรื่องตายตัวจึงเป็นโจทย์สำคัญ เนื่องจากจะต้องมีกระบวนการจัดสรรทรัพยากรหรือนโยบายที่เอื้อให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายระดับพื้นที่ที่จะตอบโจทย์ความซับซ้อนเหล่านี้ได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กคนอื่นได้รับผลกระทบจนต้องเข้ามาในเฉดสีเช่นนี้อีก

“เราต้องช่วยกันคิดว่าจะสร้างระบบกลไกอย่างไรที่จะนำเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายเข้ามาภายใต้การคุ้มครอง ปกป้องดูแล และประคับประคองกันไป เพราะเราจะมองเด็กในลักษณะปัจเจกบุคคลเดี่ยวๆ ไม่ได้” ลือชัยกล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กสศ. สนับสนุนประเด็นของลือชัยว่า แม้จะมีพายุนโยบายขนานใหญ่ออกมาจากระบบราชการเพื่อจัดการปัญหาเด็กนอกระบบ ทว่าเราไม่สามารถกระโจนเข้าหาเด็กกลุ่มนี้โดยไม่พิจารณาถึงความแตกต่างหลากหลายและความซับซ้อนของเด็กละคน รวมถึงปัญหาของสังคมไทยในภาพรวมได้

“เราชอบมองว่าโรงเรียนคือคำตอบ แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ทั้งโรงเรียน ครอบครัว และตัวเด็ก โชคดีที่ครูส่วนใหญ่มองเห็นความซับซ้อนของเด็กได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็น”

สมพงษ์สะท้อนความกังวลว่า หากเรามุ่งแต่แก้ปัญหาโดยไม่มองความซับซ้อนหรือปัญหาครอบครัว จะทำให้เด็กหลุดร่วงซ้ำออกมาอีก ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือการทำให้เด็กตกตะกอนในตัวเองได้

“บางครั้งเราอาจก้าวพลาดได้ แต่ถ้าเจอคนที่ดีที่เข้าใจ การก้าวพลาดก็สามารถเป็นการก้าวไปสู่อนาคตที่ดีได้หากได้รับคำแนะนำและคำตอบที่เหมาะสม”

สมพงษ์เสนอคำว่า ‘ยืดหยุ่นแบบประคับประคอง’ คือต้องไม่รีบร้อนหรือมุ่งแต่เรื่องตัวเลข เพราะถ้าผู้ใหญ่สามารถเข้าใจความซับซ้อนของเด็กได้ สมพงษ์เชื่อว่านั่นจะนำมาสู่การแก้ปัญหาและความเจ็บปวดในชีวิตของเด็กได้ รวมถึงต่อยอดให้เด็กเจอสิ่งที่สนใจและอยากศึกษาต่อไป

“ผมต้องฝากเรื่องสภาพจิตใจ ครอบครัว และความซับซ้อนของเด็กแต่ละคนไว้ด้วย เพราะถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ ปัญหาสังคมจะเบาบางลงมาก” สมพงษ์ทิ้งท้าย

อ่านบทเรียนจากโรงเรียนต้นแบบ ทำอย่างไรให้โรงเรียนไปหาเด็กได้อย่างแท้จริง

เมื่อการศึกษาที่ยืดหยุ่นกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษาที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษาได้ เหล่าบุคลากรทางการศึกษาจึงได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ๆ ที่จะสร้างความยืดหยุ่นและโอบรับความต้องการของเด็กแต่ละกลุ่มเอาไว้

หนึ่งในนั้นคือ ประยูร สุธาบูรณ์ ประธานสมาคมศูนย์การเรียน หัวเรือใหญ่ในการผลักดัน ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ที่เริ่มต้นจากแนวคิดว่า “โรงเรียนต้องเข้าใจว่า คำว่ายืดหยุ่นหมายถึงอะไร และเป้าหมายสำคัญในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นคือใคร”

สำหรับประยูร คำว่ายืดหยุ่นจะต้องมีความเหมาะสมและไม่ตายตัวจนเกินไป และที่สำคัญคือต้องเหมาะสมกับผู้เรียน กล่าวคือเป็นสถานการณ์ที่จะทำให้ผู้เรียนมีความสุข

“ถ้าเราเข้าใจว่าเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของเราคือเด็ก เราจะเข้าใจเลยว่าเด็กสำคัญที่สุด ดังนั้นเงื่อนไขต่างๆ นานาก็จะเริ่มลดลง แต่เรามองวิทยฐานะเป็นหลัก เด็กก็จะถูกลดความสำคัญลงแล้ว เพราะเราหันไปมองที่ความก้าวหน้าแทน”

ประยูรยังสนับสนุนแนวคิดของลือชัยที่มองว่า เด็กแต่ละคนคือต้นไม้ที่ไม่เหมือนกัน ต้นทุนชีวิตก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นการจะเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้น เขาจึงเสนอว่ารูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะต้องไม่มีบล็อก (block) และต้องมองว่าหลักสูตรมีความยืดหยุ่นเพียงพอหรือไม่ในเนื้อหาสาระและการจัดการเรียนรู้ รวมไปถึงเวลาเรียนและการประเมินผลต่างๆ เพราะถ้าหากมีรอยต่อเกิดขึ้นก็เท่ากับว่าการศึกษาดังกล่าวไม่ได้ยืดหยุ่นหรือตอบโจทย์ผู้เรียนอย่างแท้จริง

และหากถามว่าใครที่จะทำให้การศึกษายืดหยุ่นได้จริง ประยูรตอบโดยไม่ลังเลว่า บุคลากรทุกคนในโรงเรียนที่ไม่ใช่แค่คุณครูหรือผู้เรียน แต่ต้องรวมถึงเจ้าหน้าที่ นักการภารโรงทุกคน ผนวกกับภาคีเครือข่ายชุมชนที่ต้องร่วมกันสร้างความยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ

จากแนวคิดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ประยูรส่งไม้ต่อให้ สุทิสา สุธาบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเนกขัมวิทยา จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกๆ ที่รับแนวคิดดังกล่าวเข้ามา โดยสุทิสาฉายภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบในโรงเรียนให้เห็นผ่านแนวคิด ‘บวรสร้างโอกาส’ ด้วยการมีส่วนร่วมของบ้าน วัด และโรงเรียน จัดการศึกษาแบบบูรณาการและไม่แยกส่วน โดยยังอิงตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานตัวชี้วัดเพื่อตอบโจทย์คุณภาพเด็ก

“เราจะมีทั้งห้องเรียนในระบบปกติและห้องเรียนในระบบบวรสร้างโอกาส เพื่อรองรับเด็กที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบหรือหลุดไปแล้วกลับเข้ามาในระบบ อาทิ กลุ่มที่ท้องในวัยเรียนหรือเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจการเงิน ถ้าเราไม่มีห้องเรียนตรงนี้รองรับ เด็กกลุ่มนี้อาจจะหลุดออกจากระบบได้”

สุทิสาอธิบายต่อว่า การทำเช่นนี้ยังต้องอาศัยการสร้างความรู้ความเข้าใจในโรงเรียน พยายามปรับวิธีคิดเรื่องการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นที่ทั้งครู ผู้ปกครอง รวมถึงกรรมการสถานศึกษาและชุมชนมีส่วนร่วมด้วย และเป็นการทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มองที่เป้าหมายเดียวกันคือ ‘เด็ก’ จากนั้นจึงติดตามค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งในปีนี้ (2567) มีทั้งหมด 37 คน นำมาสู่การวิเคราะห์และออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนโดยพิจารณาสภาพครอบครัว สภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาสุขภาพต่างๆ

จากนั้นจึงนำมาสู่การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นมากขึ้นโดยยังอิงหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551 โดยคงวิชาพื้นฐานแปดกลุ่มสาระ แต่ปรับวิชาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของเด็ก ให้ตารางเรียนกลายเป็นวิถีประจำวันของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการใช้ชีวิต

นอกจากนี้ สุทิสายังกำหนดให้มีวันพบกลุ่มหนึ่งวันต่อสัปดาห์ โดยเลือกจากวันที่เด็กส่วนใหญ่สามารถมาเข้าร่วมได้ โดยวันดังกล่าวจะมีไว้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หากเด็กคนไหนมาไม่ได้ คุณครูจะเป็นฝ่ายไปหาเด็ก โดยเรียกว่า ‘ครูเดินสอน’ เป็นการนำใบงานไปให้และไปช่วยสอน อีกทั้งยังมีการเรียนรู้จากวิถีชีวิตในชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ ด้วย

“สำหรับการประเมินผล เราจะวัดจากการเรียนรู้ร้อยละ 70 และเราจะเลือกวิธีที่เหมาะสมกับเด็ก ไม่จำเป็นว่าเด็กคนหนึ่งต้องเลือกทุกวิธี ส่วนอีกร้อยละ 30 จะประเมินการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งครูประเมิน เด็กร่วมกับผู้ปกครองประเมิน รวมถึงเพื่อนร่วมงานและผู้ประกอบการก็จะได้ร่วมประเมินเช่นกัน”

ทั้งนี้ หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กที่ไม่ได้มาโรงเรียนทุกวันกลับมีโอกาสที่จะได้คะแนนเท่าเด็กที่มาโรงเรียนทุกวัน ซึ่งสุทิสาชี้ว่า การคิดแบบนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะทุกวันของเด็กคือการเรียนรู้ ทำให้บางวิชา เด็กกลุ่มนี้จะมีทักษะมากกว่าเด็กในโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ

ในตอนท้าย สุทิสาถอดบทเรียนการค้นพบว่าการจัดการศึกษาดังกล่าวเป็นความร่วมมือแบบไร้รอยต่อ ไม่แบ่งแยกชั้น สถาบัน หรือหน่วยงาน แต่เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีเครือข่ายในการช่วยดูแลและค้นหาเด็ก

“ถ้าจะจัดการศึกษาแบบนี้ คำว่าภาระต้องเอาออกไปเลย จะมองแต่หน้าที่อย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่เราต้องมีหัวใจของความเป็นครูในการร่วมกันดูแลช่วยเหลือลูกๆ ของเรา ให้เขามีโอกาสในการศึกษาและช่วยประคับประคองเขาจนจบการศึกษาเพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต” สุทิสากล่าว

ฟังเสียงจากผู้ที่ (เคย) ร่วงหล่นจากระบบการศึกษา

“เราเคยคิดว่ามีงานทำก็โอเคแล้วโดยไม่ต้องพึ่งวุฒิการศึกษา แต่พอตกตะกอนกับตัวเองได้ก็พบว่า วุฒิการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมากในประเทศไทย” คือคำกล่าวนำจาก บัณฑิตา มากบำรุง จากศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยหลุดร่วงออกจากระบบการศึกษามาก่อน

บัณฑิตาฉายภาพกว้างว่า เด็กล้านกว่าคนในประเทศหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่สำคัญคือ จำนวนล้านกว่านี้เป็นเพียงเด็กที่ถูกค้นพบเท่านั้น เท่ากับว่ายังมีเด็กที่ไม่ถูกค้นพบอีกมาก ทั้งหมดนี้นำมาสู่ประเด็นของบัณฑิตาที่ว่า หากเด็กเหล่านี้ถูกผลักออกจากระบบ ซ้ำร้ายคือยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนในการศึกษา เช่น ทุนทรัพย์ที่ไม่พร้อม แล้วเขาจะสามารถเข้าหาโอกาสได้ด้วยตัวเองอย่างไร

“มีเด็กจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ที่เรายังไม่เคยเห็นและไม่เคยพบเจอ คำถามคือ มีที่ไหนที่จะเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้บ้าง ผู้ใหญ่ที่มีทั้งอำนาจและทุนทรัพย์อยู่ในมือจะสามารถเข้าหาเด็กด้อยโอกาสอย่างพวกเราได้บ้างหรือไม่”

จากประสบการณ์ที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษา บัณฑิตากล่าวว่าการได้มาเจอศูนย์การเรียนรู้ทำให้ได้เห็นในมุมที่ต่างออกไปว่า ยังมีคนอีกมากที่ขับเคลื่อน ตามหา และพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาที่เร็วขึ้นและมากขึ้น

ปัจจุบัน บัณฑิตาศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเธอชี้ว่าสายการเรียนอาจจะไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ชอบนัก ทว่าเป็นสิ่งที่บัณฑิตารู้สึกชอบและสนุกที่ได้เรียน

“สิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราได้อาจไม่ใช่สิ่งที่เราชอบที่สุด แต่สิ่งนั้นคือสิ่งที่ใช่ที่สุดในวันนี้ที่ทำให้เราหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและคนที่เรารักได้” บัณฑิตาทิ้งท้าย

ขณะที่อีกหนึ่งผู้เคยหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่าง สิบตรีชนาธิป ไตรภู้ กองพันข่าวกรองทางทหาร ผู้เป็นศิษย์เก่าศูนย์การเรียนรู้ CYF เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหลุดออกจากระบบการศึกษาว่า “ผมรู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ ม.ต้น สอบเข้าอยู่ห้องเดียวกันได้ก็คอยช่วยเหลือกันมาตลอด แต่พอมาถึง ม.5 เขากลับไปมีคนใหม่ ตอนนั้นผมก็เป็นเด็ก มีความคิดแบบเด็กๆ (ยิ้ม) เราอยู่ห้องเดียวกันโรงเรียนเดียวกัน พอทำใจไม่ได้ที่ต้องเจอเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ก็เลยลาออกเลย”

เมื่อลาออกแล้ว ชนาธิปนิยามว่า ชีวิตของตนเองดิ่งลงถึงขีดสุด ทั้งติดเพื่อนและติดยา ไม่สนใจการเรียนใดๆ จนกระทั่งเริ่มไปทำงานโรงงานและพบว่าการจะเป็นพนักงานประจำได้ต้องมีวุฒิ ม.6 ทว่าชนาธิปในตอนนั้นมีแค่วุฒิ ม.3 เท่านั้น จึงไปสมัคร กศน. ไว้ ทว่าก็ยังเรียนไม่จบและกลับมาทำงานเหมือนเดิม จนกระทั่งรู้จักศูนย์การเรียนรู้ CYF ที่เปิดโอกาสให้เรียนและทำงานไปด้วยได้ด้วยการเรียนผ่านมือถือ

นั่นคือจุดพลิกผันในชีวิตชนาธิปที่เริ่มเข้าเรียนจนกระทั่งจบ ม.ปลาย และสมัครเป็นพลทหาร ตามด้วยการสอบและได้เรียนที่นายสิบทหารบกโดยใช้วุฒิที่เรียนมา เช่นเดียวกับบัณฑิตา ชนาธิปเน้นความสำคัญของการมีวุฒิการศึกษา พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ทว่าลึกซึ้งว่า “ต่อไปจะไม่ทิ้งการเรียนครับ”

ถึงเวลาสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับปวงชน (flexible learning for all)

ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ การทำโครงการต่างๆ หรือการคิดค้นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ทางการศึกษา ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดภาคส่วนสำคัญอย่างภาคนโยบายที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนหลักในการออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ พร้อมทั้งบังคับใช้ให้เกิดผล

หากพูดถึงเรื่อง ‘การศึกษาเพื่อทุกคน’ หน่วยงานที่มีบทบาทมากหน่วยงานหนึ่งคือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ภายใต้กระทรวงมหาดไทย โดย สุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชี้ให้เห็นภาระสำคัญของกรมที่เชื่อมโยงกับแนวคิด ‘การศึกษาเพื่อปวงชน ปวงชนเพื่อการศึกษา’ ผ่าน อปท. เจ็ดพันกว่าแห่งทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) ที่เน้นการดำเนินการแบบวงกลมเจ็ดภาคีเครือข่ายที่สามารถหมุนและยืดหยุ่นได้

“การจัดการศึกษาของ อปท. เป็นแบบ tailor-made คือออกแบบได้ จะออกให้ยืดหยุ่นก็ได้ ถ้าที่ไหนจะไปทำก็ทำได้เลย เราพร้อมสนับสนุน” รองอธิบดีฯ กล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมทั้งเสริมว่า ด้วยการจัดการศึกษาในระดับท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากเพราะแต่ละที่มีความแตกต่างหลากหลาย ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครู จึงจะต้องดูให้ละเอียดและพิจารณาทุกมิติ

“เราจะไม่ดูแค่ป่าทั้งป่า แต่จะดูไปถึงต้นไม้ทีละต้น และครูคือคนที่สำคัญมากที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในหรือนอกระบบก็ตาม” สุรพลกล่าวโดยอิงจากประสบการณ์จริงที่เคยเจอคุณครูด่วนตัดสินลูกของตนเองไป “ส่วนฝ่ายสนับสนุนก็เป็นเหมือนดาวบนฟากฟ้าที่เราอาจไม่เห็นทุกวัน แต่ว่าต้องมาช่วยขยับขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เร็ว”

นี่จึงเป็นที่มาของการที่สุรพลชี้ว่า กสศ. จะมีบทบาทในการผสมกลมกลืนและผูกร้อยโยงยุคสมัยใหม่และสมัยเก่าเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นว่า หากมีการประสานมา ทางกรมฯ และกระทรวงพร้อมจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตามแนวคิด ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’

“ถ้าท้องถิ่นทำให้การศึกษาเข้มแข็งและผู้เรียนมีทางเลือก ผมว่าไทยไปในทิศทางที่มันไปได้” สุรพลทิ้งท้าย “ผมคิดว่าความยืดหยุ่นนี่แหละคือหนทางแห่งความสำเร็จ แต่ที่เราต้องคิดกันด้วยคือ ต้องทำอย่างไรจึงจะพอดี”

ขณะที่ทางฟากฝั่งการศึกษา นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ได้กล่าวต่อยอดจากแนวคิด ‘การศึกษาเพื่อปวงชน ปวงชนเพื่อการศึกษา’ โดยแสดงความคิดเห็นว่า เวลานี้ควรจะเปลี่ยนเป็น ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับปวงชน ปวงชนเพื่อการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ แทน เนื่องจากนี่เป็นหนทางเดียวที่จะสามารถเก็บตกเด็กที่หลุดร่วงออกจากนอกระบบการศึกษาได้

ทั้งนี้ นิยมยังเน้นย้ำความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการในการช่วยเหลือเด็กที่ร่วงหล่นออกจากระบบการศึกษา อีกทั้งยังมีนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยมีจังหวัดบุรีรัมย์เป็นโมเดลต้นแบบ

ขณะที่ในภาพใหญ่อย่าง สพฐ. ได้มีการริเริ่มนโยบาย ‘พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนกลับไปให้น้อง’ โดยนิยมชี้ถึงเบื้องหลังแนวคิดนี้ว่า จะต้องมีสองต่อ คือนำกลับมาเรียนก่อน แต่ถ้านำกลับมาเรียนไม่ได้จริงๆ ก็จะเป็นการนำการศึกษากลับไปให้ และต้องเป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย

“ผมคิดว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในตัวเองไม่น้อยกว่าหนึ่งเรื่อง อยู่ที่ว่าครูจะดูว่าเขาเก่งด้านไหน และพัฒนาเขาให้เต็มศักยภาพได้ไหมมากกว่า”

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องวิทยฐานะและความก้าวหน้าทางอาชีพเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ครูหลายคนเลือกที่จะทำงานอยู่แต่ที่โรงเรียนประจำจังหวัด เพราะเชื่อว่าเด็กจะเก่งกว่า ซึ่งนิยมชี้ว่าเด็กคนอื่นๆ อาจไม่ได้เก่งเท่า แต่สามารถแข่งขันในด้านอื่นได้เช่นกัน เช่น โครงการโรงเรียนปลอดขยะ สภานักเรียน

“เราจะเลือกแต่เด็กเก่งไม่ได้ แต่เราต้องเชื่อมั่นในตัวเด็กและพัฒนาเขา ไม่บังคับให้ปลาปีนต้นไม้หรือลิงไปว่ายน้ำ แต่ต้องรู้เขาและพัฒนาให้เต็มศักยภาพ ผมเชื่อว่าเราจะประสบผลสำเร็จเอง”

ในตอนท้าย นิยมกล่าวถึงเส้นทางต่อไปว่า ตอนนี้ สพฐ. ได้ประกาศนโยบายพาน้องกลับมาเรียนฯ ทั่วไทย พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวนำทางให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะช่วยทำแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) ต่อไปยังมหาวิทยาลัยได้ด้วย

“ผมเชื่อว่าการจะแก้ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบจะต้องใช้การศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งตอนนี้เรามีต้นแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบแล้ว และจะขยายไปทั่วประเทศเพื่อเก็บตกเด็กเหล่านี้” นิยมกล่าว

“แต่ก่อนเราอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมและเรียนกับครู ครูมีความรู้แค่ไหนเด็กก็ได้เท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วเพราะว่าโลกเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ทุกคนต้องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” นิยมทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world