1.3 ล้านคน คือตัวเลขประมาณการของเยาวชนกลุ่ม NEETs (Not in Education, Employment or Training) หรือเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การพัฒนา หรือการจ้างงาน และแม้อัตราการขยายตัวของประชากรกลุ่มนี้จะมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละปี แต่กลับส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใหญ่หลวง
UNESCO รายงานว่า เยาวชนกลุ่ม NEETs คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของฐานผู้เสียภาษีทั้งหมด 11 ล้านคน และมีสัดส่วน 3 เปอร์เซ็นต์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
หากพิจารณาในกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะพบผู้ที่มีวุฒิการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่า มากถึง 16 ล้านคน ซึ่งได้รับค่าแรง สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตระดับต่ำ ฉะนั้น หากสังคมมุ่งให้ความสนใจต่อกลุ่มประชากรที่อยู่ในวัยผลัดเปลี่ยนจากรั้วโรงเรียนสู่ชีวิตการทำงาน อาจช่วยให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา หรืออย่างน้อยทำให้พวกเขาเติมเต็มศักยภาพของตนเองได้
คำถามสำคัญคือ ทักษะใดเล่าที่จะทำให้พวกเขาสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานและใช้ชีวิตของตนอย่างเปี่ยมความหมาย แม้การมีทักษะที่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานจะรับประกันการมีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง และมีศักยภาพดูแลตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างโรคระบาดหรือการรุกคืบของเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่แรงงานอย่างกะทันหัน นโยบายใดเล่าจะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง
ด้วยเหตุนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อความท้าทายใหม่ในการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ตลอดจนทักษะและการเรียนรู้ที่จำเป็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุม ‘เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่’ ในหัวข้อปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษาผ่านการพัฒนา ‘ทักษะพื้นฐานของการทำงานในโลกยุคใหม่’ ในวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีเข้าร่วมเสวนาดังนี้
- โคจิ มิยาโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก
- ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. และผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
- เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- สรรชัย ชอบพิมาย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ทักษะพื้นฐาน: กุญแจสู่โลกอนาคต
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงทำให้จังหวะของทุกชีวิตชะงักลง แต่ยังส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเลวร้ายขึ้น ทว่าหากมองในอีกมุมหนึ่ง นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเด็นการศึกษาและแรงงานจะได้รับการผลักดันเป็นวาระทางสังคมอีกครั้ง และการแก้ไขปัญหาทั้งมวลอาจเริ่มจากการทบทวนทักษะมูลฐานบางประการ
โคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก ระบุว่า ทักษะพื้นฐาน (foundational skill) ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่
- ทักษะการอ่านเขียน (literacy skill) เกี่ยวข้องกับการใช้ตรรกะ ความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา ความสามารถทางการพูด การคำนวณ รากฐานของการเรียนรู้ในระยะยาว
- ทักษะดิจิทัล (digital skill) ความเข้าใจ การจัดการ และสังเคราะห์ข้อมูลด้าน ICT (Information and Communication Technology) อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
- ทักษะอารมณ์สังคม (socio-emotional skill) ความสามารถด้านอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ ความมั่นคงทางอารมณ์ ความยืดหยุ่น ความอดทนและการปรับตนเองเข้ากับสถานการณ์ได้
ความสำคัญของทักษะ 3 ประการข้างต้น อาจเริ่มจากงานศึกษาในแคนาดาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (2015) ที่เผยว่า กลุ่มตัวอย่างอายุ 25 ปี ที่มีคะแนนข้อสอบ PISA อยู่ในเกณฑ์ดี (วัดจากทักษะการอ่าน การเขียน และทักษะอารมณ์สังคม) เมื่อครั้งอยู่ในวัย 15 ปี จะมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษาสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ ทักษะการอ่านเขียนที่ดีจะส่งผลต่อการเรียนต่อและเรียนจบในระดับสูง
อีกหนึ่งหลักฐานยืนยันถึงความสำคัญของทักษะอ่านเขียนก็คือ ผลสำรวจแรงงานในช่วงอายุ 35-54 ปี ใน 32 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ระบุว่า หากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของตัวแปรทักษะการอ่านเขียนเพิ่มขึ้น 1 หน่วย แรงงานจะมีรายรับเพิ่มขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่การศึกษาระยะยาวในสวิตเซอร์แลนด์ (2015) ชี้ว่า ทักษะการอ่านเขียนยังสัมพันธ์กับสุขภาพ กล่าวคือ ยิ่งมีคะแนนทักษะอ่านเขียนมากขึ้น ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าจะน้อยลง และมีพฤติกรรมก่อกวนสังคมลดลงด้วยเช่นกัน
โคจิพยายามแสดงให้เห็นว่า ทักษะการอ่านเขียน ทักษะดิจิทัล และทักษะอารมณ์สังคม แม้ดูเหมือนสิ่งธรรมดาสามัญ แต่กลับมีผลต่อทั้งระดับปัจเจก สังคม และประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เขาเน้นย้ำว่า การพัฒนาทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยการพัฒนาแบบองค์รวม ไล่เลียงตั้งแต่ชั้นเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ทั้งในและนอกระบบ กระทั่งการเรียนเสริม การฝึกอบรม และงานอาสาสมัคร ล้วนต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องและจำเป็นต้องมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน สิ่งสำคัญคือต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
หากทรัพยากรมนุษย์ได้รับการเติมเต็มทักษะพื้นฐานครบทั้ง 3 ด้านแล้ว นอกจากจะสามารถดูแลตนเอง พวกเขาย่อมมีศักยภาพดูแลผู้อื่น ช่วยให้ภาครัฐสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลประชากรที่มีปัญหา ขณะเดียวกัน ภาคผู้ประกอบการก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น คนเหล่านี้จะสามารถขยับฐานะทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการพัฒนาประเทศและเพิ่มโอกาสในการก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางในที่สุด
อย่างไรก็ดี งานศึกษาเรื่อง Building on Solid Foundations: Prioritising Universal, Early, Conceptual and Procedural Mastery of Foundational Skills (2020) ค้นพบว่า เด็กในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดทักษะพื้นฐาน ฉะนั้น การจัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้เสียใหม่จึงมีความจำเป็น เพื่อเพิ่มพูนทักษะขั้นพื้นฐาน นำไปสู่การศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลังอย่างแท้จริง โดยสรุปแนวทางไว้ดังนี้
- ความเป็นสากล (universal) เด็กทุกคนบนโลกควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- เริ่มเร็ว (early) เด็กทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนทักษะพื้นฐานตั้งแต่ช่วงต้นของการเข้าโรงเรียน
- แนวคิด (conceptual) เด็กทุกคนต้องเข้าใจแนวคิดเบื้องหลังของสิ่งที่ตนกำลังเรียนรู้ ไม่ใช่ท่องจำเนื้อหาเพียงอย่างเดียว
- เป็นขั้นเป็นตอน (procedal) เด็กทุกคนต้องฝึกฝนการแก้ไขปัญหาและสามารถนำทักษะไปใช้ได้จริง
- เชี่ยวชาญ (mastery) เด็กทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพตามเกณฑ์ และสามารถนำทักษะพื้นฐาน เช่น การรู้หนังสือ การคำนวณ และการจัดการอารมณ์ไปต่อยอดในสิ่งที่ตนเลือกและตัดสินใจ
จากงานวิจัยสู่ข้อเสนอนโยบายทางการศึกษา
ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ขยายความงานศึกษาข้างต้น โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า เด็กในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 52 ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ และครึ่งหนึ่งของเด็กผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ไม่สามารถอ่านประโยคง่ายๆ ได้ กล่าวคือ เด็กทั่วโลกกำลังขาดแคลนทักษะขั้นพื้นฐาน มากไปกว่านั้น ทักษะการเชื่อมโยงเหตุผลยังประสบปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ผลสำรวจในอินเดียระบุว่า เด็กร้อยละ 86 สามารถตอบได้ว่า กุญแจมีความยาวเท่าไร หากเริ่มวัดสเกลตั้งแต่ 0 แต่เมื่อตั้งคำถามถึงความยาวของดินสอโดยเริ่มวัดสเกลตั้งแต่เลข 2 ขึ้นไป เด็กเกือบร้อยละ 40 กลับไม่สามารถตอบได้
ดังนั้น งานศึกษาชิ้นนี้จึงมองว่า เด็กควรเรียนรู้การอ่าน เพื่อสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Learn to read, so you can read to learn) พร้อมเสนอว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องมีความแน่วแน่ว่า เด็กทุกคนควรบรรลุการอ่าน การเขียน และการคำนวณตามเกณฑ์อายุ ส่วนหน่วยงานด้านการศึกษาควรปฏิรูปหลักสูตร อบรม และควรสนับสนุนการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีทักษะที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต
ขณะที่งานวิจัยเรื่อง Education and Employability: The Critical Role of Foundational Skills (2022) ระบุว่า แม้ทักษะพื้นฐานจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เด็กส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนากลับไม่ได้รับทักษะพื้นฐานตามที่คาดหวัง จึงทำให้การพัฒนาทักษะเชิงเทคนิค (Technical and Vocational Education Training: TVET) หรือทักษะกลุ่มอาชีวศึกษา มีความติดขัดหรือไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน
แต่สำหรับ ผศ.ดร.ศุภชัย กลับมองว่า รัฐจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาทักษะพื้นฐาน ทั้งการเรียนการสอนในสายสามัญก็ดี หรือในสายอาชีพก็ดี ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงาน และส่งผลเชิงบวกต่อตลาดการจ้างงานทั้งสายอาชีพและสายสามัญ
งานวิจัยล่าสุดของ The Research on Improving Systems of Education (RISE) ยังเสนอว่า การเสริมรากฐานของ TVET ต้องเริ่มจากการลงทุนในการศึกษาระดับปฐมวัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเรียนรู้ทักษะการอ่าน การเขียน และการคำนวณ
เมื่อขยับจากภาพใหญ่ทั่วโลกเข้ามาในสังคมไทย ผศ.ดร.ศุภชัย ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยขาดการพัฒนาทักษะพื้นฐานอย่างเป็นระบบ การเติมเต็มทักษะพื้นฐานมักขึ้นอยู่กับทักษะการสอนของครูแต่ละคนเสียมากกว่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทยใช้งบประมาณจำนวนมากช่วยเหลือผู้พิการ เด็ก ผู้สูงอายุ และวัยแรงงาน หากแต่ยังขาดการเติมเต็มนโยบายด้านการพัฒนาทักษะพื้นฐาน เพราะฉะนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานโดยการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ (resource allocation) จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
“ถ้าเรายังไม่หลุดพ้นจากการใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนการบริโภค โดยไม่ได้ใช้เพื่อการลงทุน และไม่ได้เป็นการลงทุนระยะยาวในการพัฒนาคน จะทำให้เราหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางหรือก้าวพ้นความเหลื่อมล้ำได้ยาก” ผศ.ดร.ศุภชัย สรุป
หากต้องศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติม ดร.สมชัย จิตสุชน ชวนมองต่อไปว่า การมีนโยบายรูปธรรมอาจต้องเริ่มจากการออกแบบงานศึกษาที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรประชาการ (ฐานะ ที่อยู่อาศัย และระดับการศึกษา) กับตัวแปรทักษะต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าทักษะใดสามารถสร้างรายได้ได้ดีที่สุดสำหรับแต่ละกลุ่มประชากร
นอกจากนี้ ดร.สมชัย ยังเสนอว่า ควรทำวิจัยเชิงนิเวศการเรียนรู้ (learning ecosystem) เพื่อหาปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เขายกตัวอย่างว่า การใช้เวลาของผู้ปกครองมีผลต่อพัฒนาการเด็ก แต่ปัญหาคือผู้ปกครองซึ่งเป็นกลุ่มประชากรวัยแรงงาน จะมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากน้อยเพียงใด
มากไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ หรือครอบครัวที่เด็กต้องอยู่อาศัยกับผู้สูงอายุ ยังส่งผลต่อระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ต่างออกไป ทักษะที่จำเป็นจึงอาจครอบคลุมไปถึงทักษะการเลี้ยงดูเด็กของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
ข้อสรุปของ ดร.สมชัย คือรัฐไทยไม่ควรกำหนดนโยบายที่ชี้ชัดว่า ทักษะใดคือทักษะที่จำเป็น เพราะโลกหมุนเร็วเกินกว่าจะตามทัน แต่สามารถกำหนดนโยบายเชิง ‘market-based’ หรือส่งเสริมให้กลไกตลาดทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม เช่น คนที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่ามัธยมต้น จะได้รับคูปองมูลค่า 6,000 บาท ทุกรอบ 3 ปี สำหรับการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ ตามศูนย์อบรมของเอกชน ซึ่งแต่ละศูนย์จะต้องแข่งขันกันจัดอบรมเพื่อค้นหาทักษะที่จำเป็นในช่วงนั้นๆ โดย ดร.สมชัย คาดการณ์ว่า นโยบายนี้อาจใช้งบประมาณเทียบเท่ากับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการเชิงสงเคราะห์มากกว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา เสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
ทางด้านอาชีวศึกษา ร.ท.สมพร ปานดำ ยอมรับว่า เด็กที่เรียนในระบบอาชีวศึกษา ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวฐานะยากจนและมีปัญหา นำมาสู่ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย การเรียนการสอน และการผลิตผลงานวิชาการ ฉะนั้น หากเด็กในรั้วอาชีวศึกษาได้รับการปลูกฝังทักษะพื้นฐานตั้งแต่ต้น จะทำให้เด็กอยู่ในบรรยากาศของการเรียนรู้ สามารถเรียนจบและมีงานทำได้
ปัจจุบัน อาชีวศึกษาเปิดสอน 3 หลักสูตร ได้แก่ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (ทล.บ.) รวมเป็น 66 สาขาวิชา เนื้อหาสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม โดยเน้น hard skills หรือทักษะเชิงเทคนิคเป็นหลัก ร.ท.สมพร กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการการอาชีวศึกษาพยายามออกแบบหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเพิ่ม soft skills ซึ่งเป็นทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะการอ่านและการสื่อสารภาษาต่างประเทศ อาจเป็นโจทย์สำคัญของอาชีวศึกษาในอนาคต เพราะลำพังทักษะภาคปฏิบัติการ อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในระยะยาว
ในมุมของการออกแบบหลักสูตรเพื่อป้อนตลาดแรงงาน ร.ท.สมพร เน้นย้ำว่า การทำงานร่วมกันระหว่างอาชีวศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือกระทั่งเครือข่ายผู้ประกอบการ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอาชีวศึกษาที่อาจสลัดคราบด้านลบได้หมดจด และทักษะผู้ประกอบการและทักษะการเงินการลงทุน อาจทำให้เด็กอาชีวะไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างเสมอไป
นอกเหนือจากแรงงานที่มาจากระบบการศึกษา สรรชาย ชอบพิมาย กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมามีแรงงานจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษานับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกรมพัฒนาแรงงานได้จัดฝึกอบรมยกระดับแรงงานในสถานประกอบการ และฝึกอบรมอาชีพเสริมให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องเสมอมา
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมให้แก่กลุ่มแรงงานที่เตรียมเข้าทำงานใหม่ ประกอบด้วย เด็กจากสถานพินิจ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับ โดยผลจากการฝึกอาชีพ ร้อยละ 85 ของแรงงานกลุ่มนี้ล้วนมีงานทำ สิ่งนี้คือบทบาทหนึ่งของกระทรวงแรงงาน
“ศักดิ์ศรี ความปลอดภัย คุณภาพการทำงาน และวินัย” เป็นสิ่งที่สรรชัยเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแรงงานยุคใหม่ ซึ่ง กสศ. หน่วยงานระดับจังหวัด หรือหน่วยงานอื่นๆ สามารถร่วมกันบูรณาการเพื่อออกแบบนโยบายสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางได้ เช่น การให้ทุน การศึกษาดูงาน การฝึกอบรม เป็นต้น
นอกจากการประสานงานกันภายในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมจัดหางาน ยังประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายการเมืองจะปรับใช้และผลิตเป็นนโยบายอย่างไร
เสมอภาค: ความฝันที่รอวันเติมเต็ม
ผศ.ดร.ศุภชัย ย้ำว่า การจัดสรรทรัพยากรโดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย (targeting) ที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเสมอภาค (equity) เกิดการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างตรงจุด
กระนั้น ข้อถกเถียงที่มักตามมาคือ สัดส่วนของการจัดสรรทรัพยาการในประชากรแต่ละกลุ่มควรเป็นเท่าไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งหากสังคมก้าวไม่พ้นข้อถกเถียงนี้และลงเอยด้วยการจัดสรรให้ทุกคนได้รับเท่าเทียมถ้วนหน้า (equality) การแก้ไขปัญหาก็จะมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ ดังนั้น ผศ.ดร.ศุภชัย จึงคาดหวังว่า ในอนาคตสังคมอาจไม่จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากร เพราะทุกคนในสังคมสามารถเอื้อมถึงโอกาสในชีวิตของตนไม่ว่าจะมีเงื่อนไขแบบใด หรือที่เรียกว่า สังคมที่เป็นธรรม (justice) ในทุกมิติของทุกชีวิต
เช่นเดียวกับ ดร.สมชัย เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาพบว่า การจัดสรรทรัพยากรด้วยวิธีคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายมักไม่ค่อยได้ผล และเมื่อใดที่มีความพยายามจัดสรรทรัพยากรด้วยวิธีดังกล่าว จะพบว่ามีคนตกหล่นเสมอ เพราะเงื่อนไขสำคัญเพื่อให้วิธีการนี้สัมฤทธิ์ผล คือการพัฒนาเครื่องมือและฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มความแม่นยำและเพิ่มความมั่นใจว่า จะไม่มีใครถูกซ้ำเติมให้เปราะบาง
และเมื่อระบบฐานข้อมูลได้รับการพัฒนา นโยบายบางอย่างก็ต้องมีลักษณะสากล (universal) แทนวิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เช่น หากมีโครงการพัฒนาทักษะการอ่านการเขียน ทักษะดิจิทัล และทักษะอารมณ์สังคม ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ดร.สมชัย เสนอว่า ภาครัฐก็ควรทุ่มทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเพื่อป้องกันการตกหล่น และแม้จะใช้งบประมาณมหาศาล แต่ย่อมเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ถึงที่สุดแล้ว ดร.สมชัย กล่าวว่า ระบบการประเมินหรือการให้คุณค่าแก่ทักษะที่จำเป็นก็นับว่ามีความสำคัญ เช่น ใบปริญญาหรือเกียรติบัตร อาจไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ประเมินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอีกต่อไป ซึ่งหากมีเครื่องมืออื่นสำหรับตรวจสอบทักษะความสามารถได้โดยตรง ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและนำไปสู่ความเท่าเทียมของรายได้ด้วยเช่นกัน