“ผู้ปกครองแฉ อาหารกลางวันโรงเรียนไร้คุณภาพ” เป็นพาดหัวข่าวที่หลายคนเห็นจนชินชา ไม่ว่าจะลงเอยด้วย “ผอ. ยัน อาหารกลางวันโรงเรียนมีมาตรฐาน เด็กอิ่มท้อง” หรือข่าวการ ‘ลงดาบ’ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม
คำว่า ‘ไร้คุณภาพ’ ในที่นี้มีความหมายต่างกันไป บางครั้งหมายถึงปริมาณอาหารที่น้อยเกินอยู่ท้อง บ้างหมายถึงสารอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่สมดุล เป็นต้นว่าข้าวทัพพีหนึ่งและ ‘เศษผัก-วิญญาณไก่’ รวมถึงมาตรฐานความสะอาดที่ชวนกังขา
ยังไม่นับการไม่มีอาหารโดยสิ้นเชิง[1]
มีความพยายามปรับปรุงคุณภาพอาหารกลางวันโรงเรียนไทยครั้งแล้วครั้งเล่า ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวัน แต่ปัญหาไม่เคยสิ้นสุด ทั้งการขาดแคลนนักโภชนาการเพื่อดูแลคุณภาพอาหารในโรงเรียน ราคาวัตถุดิบที่เฟ้อขึ้นจนการอัดฉีดไม่มีความหมาย รวมถึงการอุดหนุนค่าอาหารกลางวันถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนกลุ่มเปราะบางระดับชั้นสูงกว่านั้นต้องกระจายงบประมาณที่กระเบียดกระเสียรอยู่เดิมเพื่อดูแลนักเรียนทุกกลุ่ม[2]
กล่าวได้ว่าแนวทางแก้ไขปัญหาอาหารกลางวันโรงเรียนไทยมีช่องโหว่ให้อุดมากมาย โดยเฉพาะการขาดการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ด้วยความตระหนักว่าความอิ่มท้องและโภชนาการที่เหมาะสมของผู้เรียนคือรากฐานหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นโจทย์ที่สังคมต้องขบคิดร่วมกัน
เพราะที่สุดแล้ว ผู้รับประโยชน์จากความสำเร็จนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากสังคมเอง
คุณค่าของอาหารโรงเรียนที่หลายคนมองข้าม
บทความปริทัศน์ในวารสาร Nutrients ฉบับเดือนมีนาคม ปี 2021 ระบุว่าการเข้าถึงอาหารโรงเรียนที่มีคุณภาพและไร้ค่าใช้จ่ายในทุกช่วงวัยเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ไม่เพียงผู้เรียนที่ประสบภาวะขาดแคลนอาหารอยู่เดิมเท่านั้น แต่เด็กจากครอบครัวซึ่งมีระดับรายได้สูงกว่าที่รัฐบาลหลายชาติพิจารณาให้เงินสนับสนุนเล็กน้อยก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน อาหารโรงเรียนฟรีทำให้เด็กสองกลุ่มนี้มีมื้อที่ ‘อิ่มท้อง’ มากขึ้น ตลอดจนมีภาวะโภชนาการดีกว่าการพึ่งพาอาหารจากผู้ปกครองเป็นหลัก นอกจากนี้ การเข้าถึงอาหารโรงเรียนยังสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนและความสามารถในการจดจ่อกับบทเรียนที่สูงขึ้น ซึ่งมาจากท้องที่ไม่หิวโหย และการไม่ต้องพะวงถึงอาหาร
โครงการอาหารโลก (World Food Programme – WFP) ขององค์การสหประชาชาติระบุอีกด้วยว่าอาหารกลางวันโรงเรียนในหลายพื้นที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เด็กหญิงต้องแต่งงานก่อนวัยอันควรหรือไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพราะการมีอาหารฟรีที่โรงเรียนทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากขึ้นเลือกส่งเด็กหญิงเหล่านี้ไปโรงเรียนแทนที่จะเร่งให้หาเลี้ยงครอบครัว ยิ่งกว่านั้น การเปิดโอกาสให้ชุมชนรอบโรงเรียนหรือนักเรียนเองมีส่วนร่วมจัดหาอาหารยังเป็นการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยในท้องถิ่น และลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) จากการขนส่งวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหาร[3]
ทว่าผลลัพธ์ที่หลายคนไม่คาดคิดของการมีอาหารกลางวันรับประทานที่โรงเรียนคือ ค่าดัชนีมวลกายที่เป็นปกติ
เหตุที่ไม่มีใครคาดคิดนี้ เพราะเดิมการศึกษาในหลายประเทศพบว่าเด็กๆ เริ่มมีค่าดัชนีมวลกายสูงขึ้นเมื่อเข้าโรงเรียน และหลายคนเป็นโรคอ้วนเมื่อสิ้นสุดวัยประถมศึกษา คือเมื่อมีอายุราว 11-12 ปี โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศไทย![4]
แต่งานวิจัยของสองนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเอสเซกซ์ระบุว่า ค่าดัชนีมวลกายที่สูงขึ้นนั้น มีที่มาจากอาหารกลางวันโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ สารอาหารไม่ครบถ้วนหรือไม่สมดุลต่างหาก รวมถึงการที่เด็กหลายคนยังต้องนำอาหารกลางวันจากบ้านมารับประทานเอง หรือกระทั่งซื้อเองในร้านสะดวกซื้อใกล้โรงเรียน เพราะครอบครัวมีระดับรายได้สูงเกินเกณฑ์ที่จะได้รับอาหารกลางวันฟรี
อาหารกลางวันที่เด็กๆ รับประทานจึงอาจมีปริมาณแคลอรีเฉลี่ยสูงถึง 624 แคลอรี และสองในสามของปริมาณอาหารยังเป็นอาหารแคลอรีสูงที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ช็อกโกแลต ฯลฯ
สองนักวิจัยทดลองให้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนประถมศึกษา อายุระหว่าง 4-7 ปีในสหราชอาณาจักรได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดหาให้ โดยอาหารกลางวันเหล่านี้จะมีแคลอรีไม่เกิน 530 แคลอรี ตลอดจนมีอาหารหมุนเวียนหลากหลาย และมีนักโภชนาการตรวจสอบ พบว่าเมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา การทดลองดังกล่าวลดโอกาสที่เด็กๆ จะเป็นโรคอ้วนได้ถึงร้อยละ 7 ซึ่งเบอร์จิตตา แรบ (Birgitta Rabe) หนึ่งในผู้วิจัยยืนยันว่า แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย “ก็ได้ผลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่นๆ ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้อยู่เดิม ทั้งการกำหนดให้นักเรียนวิ่งเป็นระยะทางหนึ่งไมล์ต่อวัน หรือการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการที่ดีในชั้นเรียน”[5]
หลายคนรู้แล้วว่าอาหารกลางวันโรงเรียนที่ไร้ค่าใช้จ่ายมีประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัวที่มีรายได้แตกต่างกัน แต่เห็นได้ชัดว่าผลลัพธ์ของการมีอาหาร ‘คุณภาพดี’ จากความร่วมมือของผู้ใหญ่ใจดีทุกภาคส่วน และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้มีเพียงผลลัพธ์ระยะสั้นอย่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นและภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงเท่านั้น ทว่ารวมถึงผลลัพธ์ระยะยาวอย่างการมีสุขภาพกายที่ดีซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตต่อไป
เท่ากับที่เป็นการลดภาระของระบบสาธารณสุข และสร้างประชากรวัยทำงานที่แข็งแรงในอนาคต
นโยบายอาหารโรงเรียนในฝัน … สู่การปฏิบัติจริง
แม้การจัดหาอาหารกลางวันที่มีคุณภาพและไร้ค่าใช้จ่ายให้นักเรียนถ้วนหน้าจะเย้ายวนใจเพียงใด ปัจจุบันกลับมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่นักเรียน ‘ทุกคน’ เข้าถึงอาหารฟรีจนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับโดยไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับระดับรายได้ของผู้ปกครอง เช่น อินเดีย (ถึงอายุ 13-14 ปี) บราซิล สวีเดน ฟินแลนด์ (ถึงอายุ 17-19 ปี) ฯลฯ ขณะที่อาหารกลางวันโรงเรียนในบางประเทศอย่างฝรั่งเศสหรือญี่ปุ่นมีราคาต่ำด้วยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และประเทศร่ำรวยหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร จัดหาอาหารโรงเรียนให้เฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจน
คำตอบของความแตกต่างนี้ไม่ตายตัว ทั้งระบบเศรษฐกิจ บริบททางการเมือง รวมถึงอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
ฟินแลนด์ที่ปัจจุบันเป็น ‘ยักษ์ใหญ่แห่งวงการศึกษา’ ด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงลิ่วและความพึงพอใจในอาชีพของครูที่หลายประเทศพยายามถอดแบบนั้นไม่เพียงมีอาหารกลางวันฟรีสำหรับนักเรียน แต่ยังมีของว่างที่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมนอกเวลาเรียนรวมถึงนักเรียนในชมรมต่างๆ ด้วย
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาแห่งฟินแลนด์ที่ครูทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการออกแบบระบุชัดเจนว่า นักเรียนทุกคนต้องได้รับอาหารกลางวันโรงเรียนที่ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยอาหารนั้นต้องมีโภชนาการที่สมดุล ผ่านการดูแลอย่างเหมาะสม และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ
หากเด็กมีความต้องการพิเศษด้านสุขภาพ อาทิ แพ้อาหารบางประเภท ผู้ปกครองของเด็กจะมีส่วนร่วมในการออกแบบมื้ออาหารในโรงเรียน ทั้งนี้ เด็กๆ ในโรงเรียนจะได้รับโอกาสร่วมปรับปรุงมื้ออาหารและดูแลการจัดหาอาหารกลางวัน เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้อื่น และบ่มเพาะสายสัมพันธ์กับชุมชน
เว็บไซต์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบระบุอีกด้วยว่า มาตรฐานอาหารกลางวันที่ ‘ดี’ ในฟินแลนด์นั้น ประกอบด้วยอาหารหลักปรุงสดใหม่ โดยอาจมีส่วนผสมหลักเป็นปลา เนื้อสัตว์ หรือถั่วและต้นอ่อนของพืชหากนักเรียนรับประทานอาหารมังสวิรัติ ทั้งนี้ต้องมีผักเคียง ขนมปัง นมขาดมันเนยหรือพร่องมันเนย และน้ำดื่ม ขณะที่อาหารว่างส่วนใหญ่ที่โรงเรียนจัดหาให้ รวมถึงอาหารว่างในตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติไม่ควรเป็นน้ำอัดลมและขนมหวาน[6]
นอกจากระบบการศึกษาที่ก้าวหน้า ฟินแลนด์ยังมีชื่อเสียงในฐานะรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง มีโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (safety net) รองรับประชากรทุกกลุ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบบริการสุขภาพไร้ค่าใช้จ่าย เงินสนับสนุนสำหรับเด็กแรกเกิด หรือระยะเวลาลาคลอดและดูแลเด็กอ่อนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ด้วยแนวทางการจัดเก็บภาษีและจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีมื้อกลางวันฟรีในทุกโรงเรียน กระนั้น การคงความสามารถในการอุดหนุนประชากรทุกกลุ่มได้อย่างต่อเนื่องของฟินแลนด์ก็ยังชวนถอดรหัส และกุญแจสำคัญอาจเป็นการทำให้การเกื้อกูลกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ หยั่งรากลึกเป็น ‘วัฒนธรรม’ ไม่ใช่เพียงข้อบังคับ ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างฟินแลนด์และชาติร่ำรวยอื่นๆ ในยุโรปที่มองข้ามไม่ได้
ปี 2021 ปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) นักการศึกษาชื่อดังชาวฟินแลนด์ ร่วมกับทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ (Timothy D. Walker) เปิดตัวหนังสือ In Teachers We Trust: The Finnish Way to World-Classกล่าวถึง ‘วัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจ’ ที่โรงเรียนต่างๆ ในฟินแลนด์ถ่ายทอดสู่เยาวชนผ่านการแสดงออกซึ่งความเชื่อมั่นในศักยภาพและวิจารณญาณของกันและกัน การไม่ด่วนตัดสินและคาดโทษ ตลอดจนมีท่าทีพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเข้าอกเข้าใจเสมอ[7]
การแสดงออกที่ว่าแทรกซึมอยู่ในหลากหลายแนวปฏิบัติ ไม่ว่าจะในการให้อิสระครูเพื่อริเริ่มปฏิบัติงานอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมในการออกแบบแบบเรียนและหลักสูตรการศึกษา ไม่ถูก ‘หน่วยเหนือ’ จับผิดหรือรัดรึง การไม่เน้นลงโทษนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ แต่เน้นสร้างความเข้าใจและปรับพฤติกรรมผ่านข้อตกลงร่วมกัน การปฏิบัติต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน ทั้งความชอบ ความถนัด ข้อจำกัด และอุปนิสัยอย่างเท่าเทียม รวมถึงความโปร่งใสของข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาที่ผู้ปกครองในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากความไว้เนื้อเชื่อใจนี้จะเป็นกุญแจสู่การมีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและก้าวหน้า วัฒนธรรมดังกล่าวยังสร้างความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนให้เด็กๆ ซึ่งต่อมาจะขยับขยายเป็นความผูกพันและไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมฟินแลนด์ด้วย
ในที่สุด การเห็นคุณค่าของความรู้สึกปลอดภัย การให้และได้รับโอกาส รวมถึงสายสัมพันธ์ในชุมชนนี้เองที่เป็นรากฐานของรัฐสวัสดิการที่มั่นคง
นอกจากนี้ ในบทสัมภาษณ์หนึ่งของอิโลนา เลมุ (Ilona Leimu) คุณครูชาวฟินแลนด์ เกี่ยวกับวัฒนธรรมดังกล่าว เธอยังย้ำว่านอกจากความไว้เนื้อเชื่อใจจะสร้างรัฐสวัสดิการแล้ว ความรู้สึกว่า ‘ไม่ต้องประชันขันแข่งกับใคร’ ที่รัฐสวัสดิการมอบให้ ยังทำให้วัฒนธรรมนี้ยิ่งทรงพลัง
สำหรับเลมุ สวัสดิการรัฐในฟินแลนด์นั้น “อาจไม่ดีพร้อม แต่ก็ทำให้เราเบาใจได้ว่าถ้ามีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้น จะมีคนดูแลเรา ฉันชอบนะที่ฟินแลนด์ไม่ใช่สังคมอุดมการแข่งขัน”
เธอยังยกตัวอย่างด้วยว่า การที่บุคลากรในโรงเรียนซึ่งรู้จักเด็กๆ ในโรงเรียนและชุมชนดีได้รับอิสระในการจัดการอาหารกลางวันด้วยความมุ่งมั่นช่วยเหลือเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวต่างฐานะกันนั้นให้ผลลัพธ์อย่างไร
“ครั้งหนึ่งฉันเห็นเด็กคนหนึ่งได้พายสามชิ้น ขณะที่เพื่อนๆ ได้ชิ้นเดียว จึงรีบถามครูของเขาว่าเกิดอะไรขึ้น เธอตอบว่าเพราะเธอรู้ว่าเขาต้องหิวที่บ้านอย่างไรล่ะ จากนั้น แผนกครัวจึงตั้งใจทำอาหารที่ดีเป็นพิเศษในวันจันทร์และวันศุกร์ เพราะเด็กหลายคนไม่ได้กินดีอยู่ดีนัก”
เธอเสริมว่า “ฉันดีใจที่ระบบการศึกษาของเราใส่ใจเรื่องนี้ คุณเห็นไหมว่าการดูแลกันและกันฝังอยู่ในระบบนี้อย่างไร สำหรับครอบครัวที่ไม่มีเงินซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ สิ่งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง ถึงไม่ร่ำรวยก็จะไม่เดือดร้อน มันทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า ‘เฮ้ พวกเขาพยายามดูแลเรานะ เราเชื่อใจพวกเขาได้’ มันอาจเป็นจุดเล็กๆ แต่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมนี้ทั้งหมด”
แต่แน่นอนว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเช่นนี้ย่อมไม่ง่ายดาย และจะเรียกร้องแรงกายแรงใจจากทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรต่างๆ อย่างเป็นระบบ ตลอดจนการสร้างเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนด้วยความสม่ำเสมอ
กระนั้น การส่งเสริมการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อออกแบบนโยบายและจัดสรรงบประมาณอย่างรอบคอบ รวมถึงการเปิดโอกาสให้หน่วยเล็กๆ ในสังคมอย่างโรงเรียน นักเรียน และชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดหาและปรับปรุงคุณภาพอาหารกลางวันก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และอาจยับยั้งปัญหาที่พบในหลายประเทศซึ่งพยายามผลักดันให้มีอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนงบประมาณ การทุจริตในการบริหารจัดการ และปัญหา ‘ขยะอาหาร’ ซึ่งนับวันจะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
ขยะอาหารจากอาหารกลางวันโรงเรียนถ้วนหน้านั้นมาจากการเลือกรับประทานอาหารบางชนิดและความต้องการที่แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน รวมถึงความรู้สึกว่าตนไม่มีส่วนตัดสินใจเกี่ยวกับอาหารโรงเรียน ทั้งนี้ยังมีปัญหาการสร้างแผลใจให้เด็กบางกลุ่มที่เห็นว่าเพื่อนๆ มีทางเลือกในการรับประทานอาหารมากกว่า โดยเฉพาะวัยรุ่นในโรงเรียนที่มีผู้เรียนจากครอบครัวต่างฐานะกันมากๆ ผู้ดูแลการจัดหาอาหารในโรงเรียนจึงต้องใส่ใจการแสดงท่าทีของตนไม่ให้เป็นการตอกย้ำช่องว่างระหว่างเด็กต่างกลุ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่การทิ้งอาหาร หรือกระทั่งการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียนได้[8]
นอกจากนี้ บทความ Children who get free school meals in England earn less as adults, study finds ใน The Guardian ยังระบุว่าความอิ่มท้องของเด็กๆ วัยเรียนเป็นเพียงบันไดขั้นแรกสู่ความเท่าเทียมทางสังคมเท่านั้น เพราะเมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและเข้าสู่วัยทำงานจนมีอายุ 30 ปี เด็กๆ ที่เดิมได้รับอุดหนุนอาหารกลางวันโรงเรียนเพราะครอบครัวมีรายได้น้อยประสบความสำเร็จในชีวิตน้อยกว่าเด็กร่ำรวยในโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนรูปแบบเดียวกันมาก โดยเด็กกลุ่มแรกมีรายได้เฉลี่ยปีละ 17,000 ปอนด์ ขณะที่เด็กกลุ่มหลังมีรายได้เฉลี่ยปีละ 71,000 ปอนด์ขึ้นไป ทั้งยังมีอัตราการเข้ามหาวิทยาลัยสูงกว่าด้วย
ยิ่งเห็นได้ชัดว่าความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมต้องร่วมกันขบคิดในระยะยาว และคงยากจะแก้ไขได้ตลอดรอดฝั่ง หากสมการแรกอย่างการมีปัจจัยสี่ที่มีคุณภาพในวัยเริ่มต้นชีวิตยังลุ่มๆ ดอนๆ
เพราะหากวันหนึ่งๆ ของหลายคนเริ่มต้นที่อาหารมื้อแรก ความอิ่มท้องในวัยเรียนก็เป็นบันไดขั้นที่หนึ่งสู่ความพร้อมพัฒนาตนเองและสังคมในอนาคตเช่นกัน
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world
↑1 | รายงาน State of School Feeding Worldwide 2022 โดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme – WFP) ระบุว่ามีนักเรียนไทยที่เข้าถึงอาหารโรงเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 63 ซึ่งน้อยกว่าช่วงเวลาก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ราวร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวของภาวะขาดแคลนอาหารในเด็กวัยเรียน ประเทศร่ำรวยหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร จัดหาอาหารโรงเรียนให้เพียงนักเรียนจากครอบครัวที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ต่ำเท่านั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ต่อไป |
---|---|
↑2 | อ้างอิงจากหัวข้อข่าวเกี่ยวกับอาหารกลางวันโรงเรียนของไทยรัฐออนไลน์ และรายงาน มื้อกลางวันวันนี้ อนาคตของชาติกินอะไรอยู่? โดย ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์ |
↑3 | จากหน้าแรกของ ‘School meals’ ในเว็บไซต์โครงการอาหารโลก |
↑4 | จาก กรมอนามัย ห่วงวัยเรียน ‘อ้วน-เตี้ย’ เพิ่ม แนะโรงเรียนจัดชุดอาหารกลางวัน สร้างโภชนาการดี |
↑5 | จาก Free school dinners ‘led to fall in childhood obesity rates’ |
↑6 | จากหน้า ‘School meals in Finland’ ขององค์การการศึกษาระดับชาติแห่งฟินแลนด์ (Finnish National Agency for Education – EDUFI) |
↑7 | อ่านสรุปเนื้อหาหนังสือ In Teachers We Trust ฉบับภาษาไทยได้ที่เว็บไซต์ bookscape |
↑8 | จากหน้า ‘Pros and Cons of Free Lunch Programs’ ของมูลนิธิเพื่อการศึกษาโนอาห์ เว็บสเตอร์ (Noah Webster Educational Foundation) |