ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น
ทุนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล
เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน
(Protected School/Standalone)
จากการวิเคราะห์ของคณะวิจัยธนาคารโลก ร่วมกับการสอบทานฐานข้อมูล สพฐ. พบว่าประเทศไทยมีโรงเรียนราว 2,000 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่อาจจะควบรว เช่นโรงเรียนบนพื้นที่สูง ตามแนวชายขอบ หรือตั้งอยู่บนเกาะแก่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ (Protected School หรือ Standalone) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามพบว่า ปัญหาของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลคือ ครูขอย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น และไม่มีครูมาทดแทน ครูจึงไม่พอกับชั้นเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา
วัตถุประสงค์
- ผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนในชุมชนพื้นที่ห่างไกลจำนวน 5 รุ่น ๆ ละ 300 คน (1,500 คน)
- ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลักในการผลิตและพัฒนาครู กับหน่วยงานที่ใช้ครูตั้งแต่ต้นทาง
- ปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้ตรงกับลักษณะงาน และตามบริบทของโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
โครงการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล (Protected School หรือ Standalone) และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศ ที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี และมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ ปีละประมาณ 300 คน จำนวน 5 รุ่น ศึกษาจนจบตามหลักสูตรและได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลระดับตำบลประมาณ 2,000 แห่ง ภายในระยะเวลา 10 ปี จะทำให้มีครูเพียงพอต่อความต้องการ
กสศ. จะทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างน้อย 10 แห่งในลักษณะเครือข่ายร่วมพัฒนาโดยสถาบันจะมีบทบาทในคัดเลือกผู้รับทุนร่วมกับโรงเรียนและผู้แทนชุมชน ให้ได้จำนวนปีละ 300 คน ต่อเนื่อง 5 ปี ตามเกณฑ์การพิจารณาซึ่งประกอบไปด้วยคุณสมบัติด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านผลการเรียน และด้านทัศนคติ
เป้าหมายของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น
- สนับสนุนนักเรียนในท้องถิ่นที่มีผลการเรียนดีและรักเป็นครูได้เรียนครูจนจบและกลับไปทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองได้
- ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการ ปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล โดยมีการฝึกสอนร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนและชุมชนที่จะต้องไปทำงานจริงตั้งแต่เป็นนักศึกษา
- มีการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและสังคมแก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน
- ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมทักษะสำคัญเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนรักถิ่นฐานบ้านเกิด ร่วมแก้ไขปัญหา และพัฒนาท้องถิ่น
โครงการนี้ยังสนับสนุนให้สถาบันเกิดการปรับกระบวนการเรียนการสอน และกิจกรรมสร้างเสริมความเป็นครูเพื่อให้ได้บัณฑิตครูคุณภาพตามเป้าหมาย, สอดคล้องบริบทโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และเกิดเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่เข้มแข็งในการร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
เอกสารแนะนำ
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2563