ชีวิตใหม่ในสนามฟุตซอล : พื้นที่ยืดหยุ่น-ความฝันยิ่งใหญ่ของเด็กชุมชนรอบค่ายสีหราชฯ ขอนแก่น
โดย : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
ภาพถ่าย : เมธิชัย เตียวนะ

ชีวิตใหม่ในสนามฟุตซอล : พื้นที่ยืดหยุ่น-ความฝันยิ่งใหญ่ของเด็กชุมชนรอบค่ายสีหราชฯ ขอนแก่น

พื้นที่สีแดง

เสียงรองเท้าเอี๊ยดอ๊าดและเสียงตะโกนเรียกบอล ดังอยู่ในโดมสนามฟุตซอลบ้านสันติสุข ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น หากขับรถผ่านในตอนกลางวัน ที่นี่อาจเงียบเหงา แต่เมื่อตกค่ำ กลุ่มเด็กวัยรุ่นจะรวมตัวกันเพื่อซ้อมฟุตซอลอย่างจริงจัง พื้นที่แห่งนี้คือสนามฟุตซอลของชุมชนที่สร้างโดยงบของเทศบาล เปิดพื้นที่ให้เด็กในชุมชนรอบค่ายสีหราชเดโชไชยมาเล่นได้อย่างอิสระ

สนามฟุตซอลที่นี่ทาสีเส้นคมชัด มีประตูที่สามารถยิงบอล ‘ตุงตาข่าย’ ได้จริง รวมไปถึงมีแสงสว่างเพียงพอตลอดพื้นที่ รวมเอาเด็กที่หลากหลายตั้งแต่เด็กหญิงวัยประถมไปจนถึงวัยรุ่นชายไว้ด้วยกัน เด็กและเยาวชนสิบกว่าชีวิตสลับกันลงสนามอย่างเท่าเทียม โดยมีผู้ฝึกสอนดูแลอย่างใกล้ชิด

กนกอร ภารสมบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสันติสุข เล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นมาจากการจัดทีมฟุตบอลในชุมชนรอบค่ายสีหราชเดโชไชยเพื่อไปแข่งกับทหารในค่ายฯ จนเมื่อการรวมกลุ่มชัดเจนขึ้น ทางเทศบาลมองเห็นโอกาสที่จะสร้างกิจกรรมกีฬาในชุมชน จึงมีการจัดแข่งฟุตซอลในจังหวัดขอนแก่น เด็กในชุมชนบ้านสันติสุขและชุมชนรอบค่ายฯ ก็เข้าร่วมการแข่งขันเรื่อยมาตั้งแต่นั้น เมื่อสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเห็นเด็กซ้อมฟุตบอลทุกวันอย่างต่อเนื่อง จึงของบประมาณสร้างโดม จากสนามดินธรรมดาก็กลายเป็นโดมสนามฟุตซอลที่เตะสะดวกขึ้น เด็กทุกคนที่อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้ามาใช้ได้

“จุดประสงค์หลักของการทำพื้นที่เล่นกีฬาคือ เราอยากให้เด็กห่างไกลยาเสพติดและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์” กนกอรอธิบาย

หากมองจากภายนอก พื้นที่แห่งนี้อาจดูเป็นแหล่งรวมตัวทั่วไปของเด็กในชุมชนเมืองของขอนแก่น แต่ลึกลงไปใต้เสียงหัวเราะและรอยยิ้ม เด็กเหล่านี้อยู่ในสภาพแวดล้อมของ ‘พื้นที่สีแดง’ ที่มียาเสพติดแพร่หลายในพื้นที่สามตำบลในอำเภอเมืองขอนแก่น

“ตอนนี้รูปแบบการส่งยาจะไม่ใช่ผู้ใหญ่ส่งให้กันเอง แต่จะเป็นการจ้างเด็กไปส่งให้ เราเลยพยายามให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการเล่นกีฬา พยายามมีสนามให้เด็ก มีคนเข้าไปสอนเขาหน่อย อย่างน้อยทำให้เขารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย หรือบางคนเราก็สามารถดึงเขากลับมาได้ ไม่ไปจมปลักกับยาเสพติด” กนกอรอธิบายสถานการณ์พื้นที่ในปัจจุบัน

แม้จะเป็นพื้นที่สีแดง แต่ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนในชุมชนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเด็กที่มาเตะฟุตบอลก็ไม่ใช่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในภาพรวม การรวมกลุ่มเล่นกีฬาในชุมชนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่ให้เด็กที่หลากหลายได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่โอบรับเด็กทุกกลุ่ม

กนกอร ภารสมบูรณ์

กนกอรอธิบายเพิ่มเติมว่า การจะดึงเด็กให้สำเร็จต้องขึ้นอยู่ที่กลุ่มเด็กที่เล่นด้วยกันด้วย

“เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฟุตบอลอย่างเดียว แต่ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มที่เล่นด้วยกัน มีใจรักด้วยกัน พูดคุยกันได้ ปรึกษากันได้ ตรงนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้เด็กไม่ค่อยเซหรือหลงผิด เพราะบางครั้งเด็กไม่กล้าพูดกับพ่อกับแม่ ก็ต้องอาศัยเพื่อนพี่น้องที่เล่นกีฬาด้วยกันมาช่วย คนหนึ่งผิดก็ยังพอมีคนหนึ่งดึงไว้ได้ แล้วฟุตบอลก็ทำให้พวกเขามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เช่น แข่งเพื่อถ้วยรางวัล เรื่องนี้เป็นพลังที่ดีที่สุดของชุมชนและเยาวชนของเรา”

ในความหวังระยะยาวของการทำทีมฟุตบอลนี้ ผู้ใหญ่บ้านมองว่าอยากส่งเด็กเข้าอคาเดมี เช่น อคาเดมีขอนแก่นเอฟซี ขอนแก่นยูไนเต็ด หรือไปให้ไกลกว่านั้นถ้าเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็ยังคาดหวังว่าจะมีหน่วยงานมาส่งเสริมระบบอคาเดมีของทีมโดยตรง เพื่อช่วยให้เด็กรู้หลักการว่าต้องเริ่มและไปต่ออย่างไร ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการผลักดันเด็กไปสู่จุดที่เขาต้องการ เพราะหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะทำให้เด็กมีทักษะไปประกอบอาชีพได้ ถึงแม้จะไม่ใช่นักฟุตบอล แต่ก็ยังเป็นกรรมการผู้ตัดสินหรือจัดการแข่งขันได้

“อย่างน้อยๆ ให้น้องมีทักษะ มีการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ให้มีอาชีพของเขา บางคนหัวทางด้านการเรียนไม่ดี แต่เก่งกีฬา เขาจะได้มีอาชีพทางนี้ไป แบบนี้ก็ยังโอเคนะ ดีกว่าปล่อยเขาเกกมะเหรกเกเร จะได้มีเงินใช้ของตัวเองด้วย” กนกอรกล่าวสรุป

เด็กหลากสี – ชีวิตยืดหยุ่น

ในช่วงปีแรกๆ ทางหมู่บ้านสันติสุขต้องของบประมาณจากหลายโครงการเพื่อเอาเงินมาสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาและค่าฝึกเด็กๆ จนในปีล่าสุดได้บริษัท เคนเซนต์ จำกัด เข้ามาเสนอเป็นผู้สนับสนุนและร่วมหาทุน จนเกิดเป็นโครงการจัดการฝึกฟุตบอลให้เด็กในชุมชนที่เป็นระบบขึ้น

บริษัท เคนเซนต์ จำกัด เป็นบริษัทให้บริการด้านการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เจ้าของบริษัทสนใจเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนเกิดการเข้ามาทำงานร่วมกันกับชุมชนบ้านสันติสุขที่มีทีมฟุตซอลอยู่แล้ว

ชนะชล ภูจิตต์ทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคนเซนต์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำโครงการนี้ว่าเกิดจากการเข้ามาพูดคุยกับเด็กในพื้นที่ จนแยกความสนใจของเด็กออกมาได้สี่กลุ่มคือ กีฬา เกษตร งานช่าง และงานคหกรรม จึงนำมาสู่การวางแผนในการจัดกิจกรรมกับเด็กเยาวชนในชุมชนรอบค่ายฯ สร้างกิจกรรมให้ทำร่วมกัน เพื่อให้เด็กสนิทใจกันมากขึ้น

ชนะชล ภูจิตต์ทอง

ชุมชนรอบค่ายสีหราชเดโชไชยเป็นชุมชนที่ขยายออกมาจากใจกลางเมืองขอนแก่น มีทั้งครอบครัวที่อยู่ดั้งเดิมและครอบครัวที่เพิ่งย้ายเข้ามาทำงานในขอนแก่น ทำให้เด็กที่อยู่ในพื้นที่มีความหลากหลายและไม่ได้สนิทกันมากนัก หลายครอบครัว พ่อแม่ทำงานหาเช้ากินค่ำ จึงทำให้ไม่มีเวลาให้ลูก จนเกิดช่องว่างที่ทำให้เด็กเซไปตามสิ่งเร้าได้ง่าย

“บางคนพ่อแม่ไปทำงาน กว่าจะเลิกงานมาก็ค่ำ แล้วช่วงเวลาเหล่านั้นเด็กทำอะไรอยู่ หรือเด็กบางคนไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กบางคนไปทำงานแล้วก็กลับมามีเวลาว่าง ซึ่งเขาไม่รู้จะเอาเวลาไปทำอะไร การสร้างกิจกรรมให้เด็กมาทำจึงเติมช่องว่างตรงนี้” ชนะชลเล่า เขาและทีมเชื่อว่ากีฬาอาจเป็นส่วนหนึ่งในการดึงให้เด็กกลับเข้ามาสู่ชีวิตปกติได้

“เราใช้กีฬาเป็นหนึ่งในเครื่องมือพัฒนาน้องๆ ให้เขาออกจากโลกสีเทา น้องหลายคนเป็นกลุ่มเปราะบาง ขอนแก่นเรามีผู้คนมาจากหลายที่ ทำให้มีปัญหายาเสพติดค่อนข้างเยอะ ซึ่งจัดการเรื่องนี้ได้ลำบาก จนทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของเราเข้าไปมีบทบาทในการเดินยารวมถึงการเสพด้วย คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้เขาออกมาจากตรงนั้นได้” ชนะชลขยายความ ก่อนเล่าต่อว่า

“พอเรามีพื้นที่ตรงกลางให้น้องๆ ได้มีตัวตน ได้แสดงออก ก็ทำให้เขาลดเวลาที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือซิ่งมอเตอร์ไซค์ มารวมกลุ่มสร้างผลงานที่เขาต้องการ เช่น การรวมทีมฟุตซอลเพื่อเดินสายแข่งขัน” ชนะชลระบุ

ในช่วงปีแรกของการทำทีม เด็กในชุมชนคว้าถ้วยรางวัลมาแล้วหลายครั้ง จนทำให้มีการคุยกันว่าอยากสร้างเป็นอคาเดมีเพื่อสร้างพื้นที่ตรงกลางในเด็กมารวมกันและมีโค้ชฝึกสอนในทักษะที่เด็กยังต้องเพิ่มเติม ชนะชลพูดตรงกับกนกอร ผู้ใหญ่บ้านบ้านสันติสุขว่า อย่างน้อยๆ เด็กเหล่านี้ก็มีทักษะฟุตบอลติดตัวไป อาจไปถึงการเป็นนักฟุตบอลของสโมสร หรือเบื้องต้นก็ยังสามารถเอาทักษะไปเป็นกรรมการตัดสินหรือผู้จัดการแข่งขันได้

นอกจากนี้ชนะชลยังอธิบายว่า เด็กที่เข้ามาร่วมทีมมีทั้งเด็กที่ยังเรียนหนังสือในโรงเรียนและเด็กที่ไม่ได้เรียนแล้ว ดังนั้นประเด็นที่ต้องมองให้ชัดคือเรื่อง ‘การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด’

“มนุษย์คนหนึ่งต้องเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดอยู่แล้ว ทักษะทางด้านกีฬาก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การเข้าร่วมทีมนี้ก็เหมือนเป็นหลักสูตรหนึ่งที่จะต่อยอดไปสู่อาชีพเขาได้ การเป็นนักเตะ ผู้จัดการแข่งขัน หรือกรรมการ ก็ถือเป็นวิชาชีพหนึ่ง เรามองว่าเป็นการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นอีกหนึ่งรูปแบบ ซึ่งไม่ต้องนั่งเรียนเป็นรายชั่วโมง แต่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบยืดหยุ่นของเขา” ชนะชลอธิบาย แม้จะมีแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ในความเป็นจริง เรื่องเด็กหลุดออกจากโรงเรียนก็ยังเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ

หากมองเฉพาะกลุ่มเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียน ทีมทำงานแบ่งเด็กเป็นสามกลุ่มคร่าวๆ ประกอบด้วย 1.กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มที่อยากกลับไปเรียนหนังสือ แต่ติดปัญหาครอบครัวหรือปัญหาอื่น ดังนั้นเป้าหมายของทีมคือพยายามช่วยให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

2.กลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้วและไม่ได้อยากกลับไปเรียน แต่อยากทำงานหารายได้ เป้าหมายของทีมคือพยายามช่วยให้เด็กเข้าถึงอาชีพและรายได้

และ 3.กลุ่มสีแดง กลุ่มที่มีการใช้สารเสพติด ไม่เรียนหนังสือ และไม่มีเป้าหมายในชีวิตแล้ว กลุ่มนี้ต้องใช้การดูแลอย่างใกล้ชิด ทีมต้องเข้าไปช่วยประคองและเป็นเข็มทิศให้ชีวิตเด็กเดินต่อไปได้

“แม้เรามีการแบ่งเด็กเป็นเฉดสีเพื่อการทำงาน แต่ในชีวิตจริงเด็กมีหลากสี ดังนั้นการทำงานหรือคนในสังคมอย่าเพิ่งมองน้องๆ ที่หลงผิดว่าไม่ดี หรือมองความฝันของน้องๆ ว่าไปต่อไม่ได้ อย่าเพิ่งรีบตัดสินเขา แต่อยากให้โอบอุ้มและสนับสนุนเขา แม้ว่าเขาจะยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่เรียนหนังสือ อยากทำกิจกรรม หรือมีความฝัน ก็อยากให้สนับสนุนให้เขาไปถึงฝัน ผมเชื่อว่าน้องหลายคนอยากได้รับการสนับสนุนจากสังคม และเติบโตไปในเส้นทางที่เขาเลือก” ชนะชลทิ้งท้าย

หวานเย็น อคาเดมี’ ชื่อนี้มีแต่ความสบายใจ

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนรอบค่ายสีหราชฯ ที่รวมทีมกันเตะฟุตซอลมีชื่อที่ตั้งกันเองว่า ‘หวานเย็น อคาเดมี’ ซึ่งมาจากถุงน้ำแดงแช่แข็ง ที่ถ้าจะกินต้องรอให้ละลายแล้วกัดก้นถุงกิน – แม้จะชื่อหวานเย็น แต่พวกเขาก็ไม่เชื่องช้าและหน่อมแน้ม เพราะทุกครั้งที่ลงสนาม พวกเขาเอาจริงทุกครั้ง  

ชาตรี โม้หอชัย ประธานเยาวชนบ้านสันติสุข หรือที่เด็กๆ ทุกคนเรียกติดปากว่า ‘พี่อ๊อฟ’ เป็นคนฝึกสอนให้เด็กๆ ที่เริ่มเล่นฟุตบอล เขาเกิดและโตที่บ้านสันติสุข เป็นรุ่นแรกๆ ที่เตะฟุตบอลในชุมชน และเคยไปถึงขั้นเล่นฟุตบอลในระดับสโมสร จนตอนนี้กลายเป็นรุ่นพี่ที่ทุกคนให้ความนับถือ

“ตอนส่งทีมไปแข่งครั้งแรก พวกรุ่นพี่ใช้ชื่อทีมว่า ‘หวานเย็น อคาเดมี’ มาตั้งแต่เริ่ม ที่เราเรียกตัวเองว่าหวานเย็น เพราะเราอยากเปรียบเทียบว่า เราเหมือนของหวานที่ถึงจะหวานแต่ก็กินยาก เพราะต้องกัดให้ละลาย เราเลยใช้ชื่อนั้นมา” ชาตรีเล่าถึงที่มาของชื่อทีม

ชาตรี โม้หอชัย

เขาเล่าว่า แรกเริ่มเด็กๆ รวมทีมกันเล่นก่อน จนเมื่ออยากจริงจังขึ้นจึงชวนเขามาเป็นผู้ฝึกสอน เป้าหมายคือเพื่อการแข่งขันที่จริงจังมากขึ้น แม้ทุกวันนี้เขาจะมีงานประจำอยู่ที่อื่น แต่เมื่อวันไหนว่าง เขาก็จะนัดน้องในกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อมาฝึกซ้อม หรือถ้าวันไหนมาไม่ได้จริงๆ ก็จะกำหนดตารางฝึกซ้อมให้น้องในทีมซ้อมกันเอง ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กที่อยู่ในละแวกชุมชนใกล้เคียง

การแข่งขันฟุตซอล โดยมากมักเป็นเจ้าของสนามเอกชนเป็นผู้จัดแข่ง ด้วยความหลากหลายของอายุ ทำให้พวกเขาส่งทีมได้หลายแบบ หากเป็นการแข่งขันรุ่นประชาชนทั่วไป ชาตรีจะเป็นทั้งโค้ชและลงแข่งเองด้วย โดยถ้าเด็กคนไหนมีแววก็ดันขึ้นมาเล่นรุ่นประชาชนทั่วไป ขณะที่รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ชาตรีจะยืนคุมข้างสนาม และส่งน้องๆ ลงแข่งอย่างเต็มที่

ชาตรีเป็นหนึ่งในคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เข้ามาร่วมทีมมากที่สุด เพราะเขาเป็นคนที่คอยดึงเด็กที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน หลายคนสามารถพลิกชีวิตจนทำมาหากินจากทักษะฟุตบอลได้

“ผมมองว่าน้องๆ เปลี่ยนไปเยอะ จากที่เคยเลิกเรียนมาไม่ทำอะไรเลย แต่พอเราบอกน้องๆ ว่าวันนี้พี่จะเริ่มซ้อม จะเริ่มทำทีม พอเลิกเรียน น้องก็มารอที่สนามแล้ว น้องในทีมบางคนเคยติดยามาก่อน แต่พอเข้ามาหาเรา น้องก็ห่างจากยาออกมาได้” ชาตรีเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

‘การพูดคุยอย่างเข้าใจ’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะดึงให้เด็กเข้ามาสู่ลู่ทางปกติได้ ชาตรีบอกว่าเขาจะไม่ใช้คำพูดในเชิงห้ามหรือตัดสินคนที่ติดยาเสพติด

“เราไม่ได้คุยประมาณว่าต้องเลิกนะ ต้องมาเตะบอลนะ แต่เราจะบอกว่ามาอยู่นี่มีเพื่อนนะ ถ้าไปอยูที่อื่นแล้วเป็นอะไรขึ้นมา จะยุ่งนะ เราอยู่แบบพี่น้อง ไม่ได้อยู่แบบโค้ชกับลูกน้อง บอกตลอดว่ามีอะไรคุยกับพี่ได้นะ ส่วนมากน้องก็จะมาคุยด้วยเวลาเจอปัญหา หรือบางทีผมก็แนะนำว่าการเสพยาไม่ดี เสียสุขภาพนะ ถ้ามาเล่นฟุตบอล ร่างกายดีขึ้นนะ จนทำให้หลายคนขาดจากยาเสพติดได้”

เขายังบอกอีกว่า น้องหลายคน พอมาอยู่ในกลุ่ม ก็ทำให้ความสามารถบางด้านปรากฏขึ้นมา เช่น ภาวะความเป็นผู้นำในสนาม คอยปลุกใจเพื่อนๆ ตอนที่ทีมกำลังมีคะแนนตามคู่แข่ง เป็นต้น นอกจากนี้ชาตรียังเล่าว่าถ้าได้รู้จักกับเด็กกลุ่มนี้จริงๆ พวกเขายังมีมุมอ่อนโยนนิสัยดีที่อาจไม่ได้แสดงออกให้สังคมภายนอกเห็น

เมื่อเด็กทุกคนต้องการการโอบอุ้มและการยอมรับจากสังคม ในประเด็นนี้ชาตรีมองว่าสังคมควรให้โอกาสเด็กที่หลงทาง เพื่อให้เขากลับเข้ามาสู่ที่ทางชีวิตที่ดีได้

“ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองว่าเด็กกลุ่มนี้เคยติดยามาก่อน ไปไม่รอดหรอก แต่อยากให้มองเขาใหม่ว่า คนที่ติดยา ไม่ใช่ว่าเขาจะติดตลอดไป หลายคนที่ติดยาแล้วมาเล่นกีฬาจนเลิกยาได้ ก็มีเยอะครับ ผมอยากให้มองว่าในเมื่อเด็กเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว ก็ต้องมองเขาใหม่ อย่ามองเขาแค่หลังมือ ลองหันมามองเขาฝั่งหน้ามือบ้าง เขาอาจจะไม่ใช่อย่างที่คุณคิดก็ได้” ชาตรีสรุป

สมาชิกในทีมคนหนึ่งที่ฝีไม้ลายมือสูสีกับโรนัลโด้นั่งฟังอยู่ด้วย – ออมสิน หนุ่มวัย 20 ปีที่เข้ามาร่วมทีมเพราะชาตรีชักชวน

ออมสินเป็นคนขอนแก่นโดยกำเนิด ออกจากโรงเรียนกลางคันตอน ม.3 ได้วุฒิ ม.6 จากการเรียน กศน. ตอนอายุ 18 ปี เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และปัจจุบันเขายืนยันว่าออกมาจากยาแล้ว

ก็เหมือนเด็กคนอื่นที่ไม่ชอบการเรียนในห้อง ออมสินรู้สึกเครียดเมื่ออยู่ในห้องเรียน จนสุดท้ายก็โดดเรียน ติดเล่น หลบไปอยู่บ้านเพื่อน บางครั้งก็หนีกลับมาบ้าน แต่ถึงอย่างนั้นในช่วง ม.1-2 เขาก็ยังเป็นนักกีฬาโรงเรียน ลงแข่งทั้งฟุตบอลและวิ่ง ไปถึงขั้นเป็นตัวแทนนักฟุตบอลของเทศบาล เขาเล่าว่าแม้โรงเรียนส่งเสริมด้านกีฬา แต่ตัวเขาเองไม่สามารถดึงให้ตัวเองอยู่ในโรงเรียนต่อได้ จึงตัดสินใจลาออก

เมื่อถูกถามว่าความชอบของเขาคืออะไร ออมสินตอบว่า “ส่วนมากก็มาเตะบอลกับพี่อ๊อฟนี่แหละครับ ความชอบผม”

ออมสินรู้จักกับชาตรี หรือ ‘พี่อ๊อฟ’ ตั้งแต่เด็กๆ เพราะแม่รู้จักกัน จนเริ่มมาเตะบอลกับชาตรีตอน ม.3 ที่สนามบ้านสันติสุข และอยู่เตะกันมาถึงปัจจุบัน

เขาบอกว่าการเตะบอลในโรงเรียนกับเตะกับพี่อ๊อฟนั่นแตกต่างกัน “อยู่ในโรงเรียน ก็อยู่ในขอบเขต แต่พอมาข้างนอกก็อิสระดี ผมชอบอิสระมากกว่า” ออมสินอธิบาย เขาบอกว่าเคยคิดภาพตัวเองเป็นนักฟุตบอลอาชีพ จนถึงตอนนี้ก็ยังคิดอยู่ “แต่รอดหรือไม่รอด อีกเรื่องหนึ่ง” เขาว่า

ทุกวันนี้ออมสินมีรายได้จากการตกปลาขาย และยังเข้ามาเตะบอลกับทีมอยู่เรื่อยๆ เมื่อถูกถามว่าฟุตบอลสำคัญกับชีวิตอย่างไร เขาตอบว่า “สำคัญแหละพี่ เพราะก็เป็นอาชีพหนึ่ง ถ้าได้ไปเป็นตัวหลักของทีมใดทีมหนึ่ง ก็มีค่าตัว แต่ผมมันไม่เอาไหน เพิ่งออกจากยาเสพติดมาปีกว่า ก็เลยอยู่แบบนี้แหละครับ”

เขาเล่าต่อว่าเหตุผลที่ออกจากยาเสพติด เพราะชาตรีไปชวนกลับมาเตะบอล “มีรอบหนึ่งที่พี่อ๊อฟไปทำงานที่อื่น ไม่ได้ทำทีม ผมก็เลยเถลไถลไปมั่วสุมเสพยา พอแกกลับมาก็ชวนผมมาเตะบอล ผมก็เริ่มห่างจากยา ช่วงนี้เลิกได้แล้วครับ ไม่กลับไปหายาแล้วครับ ออกมาดีกว่า ถ้าเสพยาก็ได้แต่ทำลายร่างกายตัวเอง สนุกอยู่คนเดียว แต่ถ้ามาเตะบอลได้สนุกกับเพื่อน ได้กล้ามเนื้อด้วย” ออมสินกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ออมสินผ่านชีวิตมาอย่างระหกระเหิน แต่เขาก็ยังประคองตัวเองจนผ่านมาสู่วัยผู้ใหญ่ และพยายามกลับเข้ามาสู่ที่ทางของตัวเองอีกครั้ง เขาบอกว่าครอบครัวคือความสุขที่เขานึกถึง รวมถึงการได้เตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ด้วย

ออมสินเป็นหนึ่งในเด็กที่ไปไม่ได้กับระบบการศึกษาในโรงเรียน แต่ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าเขาจะไม่มีความสนใจอื่น เขาพูดถึงประเด็นนี้ว่า

“ผมอยากให้เข้าใจว่าคนที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ใช่คนไม่ดี มันแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ถ้าชอบเรียนก็เอาดีในด้านการเรียน แต่ถ้าเขาชอบอย่างอื่น ก็อยากให้เขาได้ทำสิ่งที่ชอบ” ออมสินอธิบาย และเมื่อถามว่าอยากจะบอกอะไรเพื่อนๆ บ้างไหม เขากล่าวด้วยรอยยิ้มว่า“ถ้าพวกไหนติดยา ก็ออกมาได้แล้วนะ รอเตะบอลด้วยกันอยู่ครับ”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world