กระทบไหล่ นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง แชมป์อันดับ 3 PBWC 2019

กระทบไหล่ นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง แชมป์อันดับ 3 PBWC 2019

นับเป็น “ม้ามืด” ในแวดวงกีฬา E-Sport ของไทยที่สามารถฝากฝีไม้ลายมือจนขึ้นแท่นรับรางวัล รองชนะเลิศอันดับสองในแมทช์ใหญ่ระดับประเทศใหญ่ ในการแข่งขัน Point Blank World Challenge หรือ PBWC 2019 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เล่นจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดกว่า 1,000 ทีม

โฟล์ค นทีกานต์ วงศานิตย์ นักศึกษาระดับชั้น ปวส. ปี 1 วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา หนึ่งในทีมที่ได้รองชนะเลิศอันดับสอง เล่าถึงที่มากว่าจะมาถึงจุดนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องผ่านการแข่งขันในหลายระดับจากผู้แข่งขันทั้งหมดกว่า 500 ทีม ซึ่งแม้แต่พิธีกรบนเวทีก็ยังบอกว่าเป็นหน้าใหม่ที่มาแรงมาก

“กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ง่ายเคยล้มเหลวไปหลายครั้ง จนมาถึง ม.3 ก็เลยหยุดเล่นเกมไปเกือบ 2 ปี มาเริ่มต้นเล่นใหม่อีกครั้ง ในช่วง ปวช. ปี 2 เพราะมีไฟจากที่ได้เห็นคนไทยไปได้แชมป์โลกในปี 2016 เลยอยากอยากกลับไปเล่น ก็แข่งแบบรัว ๆ เข้าร่วมทุกรายการ แต่ก็แพ้เพราะความสามารถไม่ถึง ก็เริ่มต้นเอาใหม่”

จากที่เคยเป็นกัปตันทำทีมเองเริ่มต้น วิชั่น 2 แต่ก็ไม่สามารถขยับไปเล่นในดิวิชั่น 1 ได้ จนมีเพื่อนมาชวนให้ไปร่วมทีมซึ่งอยู่ในดิวิชั่น 1 จึงตัดสินใจไปร่วมทีมก่อนที่ทีมใหม่นี้จะสามารถทำผลงานขึ้นไปสู่ พรีเมียร์ลีก ที่เป็นลีกสูงสุดซึ่งมีผู้เล่น จำนวน 16 ทีมชั้นนำของประเทศ แต่เล่นไปได้ซีซันเดียวก็ตกชั้นลงมา ก่อนที่ทีมจะแยกย้ายกันไปหาประสบการณ์ และทำให้เขาไปร่วมทีมกับเพื่อนลงแข่งในรายการ PBWC 2019

“ปัจจัยความสำเร็จคือเราต้องมีระเบียบ เพราะเราต้องเล่นกันเป็นทีม 5 คน ต้องสามัคคี ต้องฟังกัน ถ้าวันนี้เราเล่นพลาดก็ต้องกลับไปแก้ไข วันนี้ผมไม่ใช่กัปตันแล้ว เพื่อนผมเป็นกับตัน ซึ่งเวลาผมเล่นพลาดตรงไหนเขาบอกให้กลับไปคิดก็ต้องแก้ไขสิ่งที่พลาดต้องซ้อมกับทีมระดับประเทศ กัปตันผมเก่ง เราต้องรู้นิสัยฝ่ายตรงข้าม วิธีคิด คนนี้ใจร้อน คนนี้ละเอียดต้องศึกษา เราเล่นคนเดียวไม่ได้ เราต้องสามัคคีเราถึงจะไปจุดนั้น”

 

โฟล์ค ยอมรับว่า “ติดเกมแต่การเรียนผมไม่เสีย” ยืนยันด้วยเกรดเฉลี่ย 3.67 ในระดับ ปวช.
“เลิกเรียน 5 โมงเย็น ก็พยายามเคลียร์การบ้านให้เสร็จ หนึ่งทุ่มต้องไปวอร์มแล้ว ไม่งั้นเดี๋ยวยิงไม่แม่นจะโดนด่า จากนั้นก็เริ่มซ้อม 2 ทุ่ม ถึง 4 ทุ่ม หรือ 5 ทุ่ม ทุกวัน เช้าก็ตื่น 7 โมงไปโรงเรียน”

ในแง่เป้าหมายชีวิต โฟล์ค บอกว่า เขาชัดเจนมาตั้งแต่ตอน ม.3 แล้วว่าอยากเป็น วิศวกรคอมพิวเตอร์ เพราะชอบเรื่องนี้ ชอบอยู่กับเกม อยู่กับคอมพิวเตอร์ ทำงานก็อยากทำกับคอมพิวเตอร์ จะได้อยู่หน้าจอคอมเหมือนเดิม ทำให้เลือกเรียนด้านนี้ เพราะถ้าชอบอะไรก็จะไม่เบื่อ

ย้อนกลับมาที่ผลพลอยได้ ซึ่ง โฟล์ค เล่าว่า จากการเล่นเกมทำให้เขามี “ค่าขนม” ทั้งจากสปอนเซอร์ และ การสตรีม เกมซึ่งแม้จะไม่โด่งดังแต่ก็พอเป็นที่รู้จักเข้ามาติดตามทำให้มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ อีกด้านหนึ่งยังทำให้สามารถฝึกการใช้ภาษาอังกฤษ จากที่ไม่เก่งภาษาแต่เมื่อต้องติดต่อพูดคุยกันในเกมกับชาวต่างชาติก็ทำให้ได้เรียนรู้มากขึ้น ทุกวันนี้ก็มีเพื่อนสิงคโปร์ที่พูดคุยเล่นเกมกันอยู่

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ‘เปิดโลก’ ทางการศึกษา

โฟล์ค ถือเป็นอีกนักเรียนอาชีวรุ่นแรกที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วยปัญหาทางการเงินของที่บ้าน ซึ่งเคยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แม้แม่ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเป็นกำลังสำคัญของที่บ้านจากการประกอบอาชีพซักรีดจะยืนยันว่าส่งเรียนได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เจ้าตัวก็รู้สึกว่าแม่อาจจะส่งไม่ไหว

“จากที่แม่บอกว่าส่งไหว แต่พอกลับบ้านก็เห็นแม่เครียดหาตังค์ไม่ทัน เราก็เห็นทั้งค่าเรียน ค่ากิน ค่าหอ สักพักแม่ก็ต้องไปขายนู่น ขายนี่มาส่งผมเรียน” ทำให้สุดท้าย โฟล์ค ต้องตัดสินใจลาออกและย้ายมาเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน

จากเงินสนับสนุน เดือนละ 7,500 บาท จาก กสศ. โฟล์ค บอกว่า “โอ้โห ช่วยผมเยอะมากเลยครับ จากค่าห้อง ค่าใช้จ่ายที่เราต้องหาทุกเดือน พอได้ทุนนี้เข้ามาช่วยทั้งค่าห้อง ค่ากิน จากเดิมที่พอช่วงต้นเดือนทีก็เคยต้องไปหาตังค์ ตอนนี้ก็ดีขึ้น สามารถกลับมาเรียน กลับมาใช้ชีวิต สบายใจมากขึ้นเพราะได้ทุนนี้ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี”

โฟล์ค เล่าให้ฟังถึงการใช้เงินว่า ส่วนหนึ่งแบ่งเป็นค่ากิน ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเงินออม ที่ตั้งใจว่าถ้าหากเรียนไหวจริงก็จะเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อระดับปริญญาตรี หลังจบ ปวส. ซึ่งกำลังคิดอยู่ว่าจะเรียนต่อหรือออกมาทำงาน เพราะส่วนตัวคิดว่าอยากจะเรียนปริญญาตรี แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไหวหรือไม่เพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะ และไม่อยากเรียนไปแล้วมีปัญหาเหมือนเดิมกลัวเสียเวลา

ด้าน อาจารย์ประเสริฐ แสงโป่ หัวหน้างานแนะแนวอาชีพและการจัดหางาน วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โฟล์ค มีความฝันอยากเป็นโปรเกมเมอร์ ของโลก เมื่อมีการแข่งขันเราก็สนับสนุนเรื่องการแข่งขันเกม บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เด็กก็มองว่าเกมมีทั้งเรื่องการฝึกภาษาอังกฤษ สร้างรายได้ นอกจากเกมแล้ว โฟล์ค ยังร่วมกับเพื่อนไปประกวดแผนธุรกิจ จาก 194 ทีม ไปสู่รอบ 100 ทีม

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงนี้ ทำให้เด็กอาชีวหลายคนได้กลับมาเรียนหนังสือ ในส่วนของวิทยาลัย มีนักเรียนได้รับทุนจาก กสศ. ระดับ ปวช. 57 คน และ ระดับ ปวส. 106 คน รวม 163 คน นอกจากนี้ จากที่เคยลงพื้นที่ไปพูดคุยกับ ผู้ปกครองเด็กมัธยมหลายคน ไม่กล้าส่งลูกมาเรียนอาชีวเพราะภาระค่าใช้จ่าย เราก็ต้องไปบอกเขาว่ามีทุนในส่วนนี้ ทำให้เขาตัดสินใจส่งลูกหลานมาเรียน

อาจารย์ประเสริฐ เผยด้วยว่า ได้มอบหมายให้ครูไปดูแลนักเรียนในส่วนนี้ ทั้งเรื่องผลการเรียน ออกกไปเยี่ยมบ้าน ดูว่าหลังจากได้เงินไปแล้วเป็นอย่างไร และไปดูเรื่องการใช้เงินของนักเรียน เพราะเด็กบางคนไม่เคยเจอเงินเยอะ ก็อาจใช้ในทางที่ผิด เช่นนำไปซื้อโทรศัพท์ ดังนั้นจึงกำหนดให้มีสมุดออม ที่ครูที่ปรึกษาจะไปแนะนำให้ทุกคนออมเงิน 500 บาทต่อเดือนอย่างน้อย เพราะช่วงรอยต่อของงบจะได้ไม่มีปัญหาค่ากินอยู่