ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน แต่ต้องเปลี่ยนทั้งสังคม : สร้างการศึกษาที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศ
โดย : ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์
ภาพประกอบ : พิรุฬพร นามมูลน้อย

ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน แต่ต้องเปลี่ยนทั้งสังคม : สร้างการศึกษาที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศ

ผู้ชายเก่งวิทย์ ผู้หญิงเก่งศิลป์

ผู้ชายชอบเล่นกีฬา ผู้หญิงไม่ชอบใช้พละกำลัง

ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว หารายได้เลี้ยงสมาชิก ส่วนผู้หญิงต้องรู้จักทำงานบ้าน รักษาความสะอาด

แม้จะฟังดูล้าสมัย แต่ในศตวรรษที่ 21 ยังคงมีแบบเรียนบางเล่ม (หรืออาจจะหลายเล่ม?) กล่าวถึงบทบาทและภาพจำของเพศชายหญิงดังตัวอย่างที่ยกมาในหลายประเทศ (ซึ่งเชื่อว่าไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) ไม่ว่าจะโดยชัดเจนโจ่งแจ้งผ่านตัวอักษร หรือจะสื่อสารเป็นนัยผ่านรูปภาพประกอบเนื้อหา ล้วนแล้วแต่ปลูกฝังทัศนคติและกรอบคิดบางอย่างแก่นักเรียนและสังคม นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเพศในมิติหน้าที่การงาน ความยากลำบากในการดำเนินชีวิต กระทั่งถูกลิดรอนสิทธิที่ควรจะได้เช่นการเข้าสู่ระบบการศึกษา

โดยที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประสบปัญหาส่วนใหญ่คือเด็กผู้หญิง หากสถานะครอบครัวไม่ร่ำรวยมาก คนก็มักเลือกส่งเสียเด็กชายและให้เด็กหญิงดูแลบ้าน แต่งงานและอุ้มท้องก่อนวัยอันควร หรือต่อให้เข้าสู่ระบบการศึกษาสำเร็จ เด็กผู้หญิงก็ยังเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และถูกปิดกั้นโอกาสการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นมากกว่าเด็กผู้ชายอยู่ดี

ขณะเดียวกัน หากมองในมุมของเด็กชาย สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือการเรียนการสอนอันแฝงไปด้วยค่านิยม ความคิดแบบปิตาธิปไตย คนอื่นคาดหวังให้พวกเขาเป็นผู้นำครอบครัว เป็นกำลังรับใช้ชาติ มีความแข็งแกร่งกล้าหาญตลอดเวลา นำไปสู่ความกดดัน ความทุกข์ และปัญหาสุขภาพจิต หรืออาจมีความเชื่อผิดๆ เรื่องการใช้ความรุนแรงต่อเพศตรงข้ามได้

ยิ่งไปกว่านั้น การไม่มีที่ทางให้อัตลักษณ์ทางเพศอันหลากหลายในระบบการศึกษา ทั้งที่ในวันนี้เรามีคำศัพท์ใหม่นอกจาก LGBTQ+ ทั้งแซฟฟิก (Sapphics – ผู้หญิงที่มีรสนิยมทางเพศดึงดูดเข้ากับผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งรวมผู้ระบุอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล เควียร์ ฯลฯ) Asexual (กลุ่มคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ) และอีกมากมาย อาจทำให้เด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกตั้งคำถาม ถูกกดทับ ลบเลือนอัตลักษณ์ หรือถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางกายภาพและจิตใจ ทั้งในและนอกพื้นที่โรงเรียน

กล่าวถึงตรงนี้ ใครหลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่าระบบการศึกษาควรได้รับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเรื่องเพศให้ทันยุคทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมให้ได้มากที่สุด เพียงแต่โจทย์ที่ยากกว่าการสร้าง คือการรักษาความเท่าเทียมทางเพศให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน และมากไปกว่าการแก้ปัญหาในระบบที่เห็นกันจะแจ้ง คือการที่เราต้องกะเทาะเปลือก ขุดรากถอนโคนอคติทางเพศที่ฝังตัวอยู่ในสังคมจากการบ่มเพาะคนคนหนึ่งมาตั้งแต่เด็กจนโต

นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘Gender Transformative education’ เสนอโดย UNICEF


สร้างการศึกษาแบบปรับกระบวนทัศน์ใหม่
สร้างความเท่าเทียมกันทุกเพศทุกวัย


Gender Transformative education คืออะไร? – นิยามโดยคร่าวของคำว่า Transformative education หรือ Transformative learning คือกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความหมาย หรือตีความหมายใหม่แก่ประสบการณ์ ชุดความคิดที่มีอยู่ เปลี่ยนแปลงกรอบการมองปัญหา เพื่อค้นหาคำตอบในลักษณะเปิดกว้างยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งด้านองค์ความรู้ ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำ

เมื่อผนวกรวมกับเรื่องเพศ จึงนับได้ว่าเป็นการศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ตั้งคำถามต่อกรอบความคิดเรื่องเพศแบบเดิมๆ เช่น การกำหนดบทบาทชายหญิง ท้าทายต่ออคติทางเพศในระบบปิตาธิปไตย และการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย โดย UNICEF เชื่อว่าการใช้หัวข้อเรื่องเพศและหลักความเท่าเทียมของทุกเพศเป็นหลักยึดแล้วสร้างระบบการศึกษาที่ตอบรับคุณค่าดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการกีดกัน เลือกปฏิบัติ และความรุนแรงทางเพศที่ปรากฏทั้งในสังคมโรงเรียนและสังคมโดยรวมของประเทศได้

สำหรับการพัฒนาระบบการศึกษา – หรือถ้าพูดให้ครอบคลุมคือนิเวศแห่งการเรียนรู้เรื่องเพศของบุคคลหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการศึกษา ได้แก่ รัฐ ผู้กำหนดนโยบาย นักเรียน โรงเรียน ชุมชน และภาคธุรกิจมาทำงานร่วมกัน ซึ่งในรายงานของ UNICEF นั้นแนะนำแนวทางแก่แต่ละฝ่าย ดังนี้


1.รัฐมองเห็นปัญหา เป้าหมาย และสร้างนโยบายเพื่อความเท่าเทียม

ถ้าหัวไม่ขยับ หางก็ไม่อาจกระดิก – การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กระทั่งแก้ไขปัญหาการศึกษาใดๆ ก็ตามไม่สามารถขาดเจ้าภาพผู้มีอำนาจอย่างรัฐไปได้ ฉะนั้น ‘รัฐ’ ซึ่งในที่นี้หมายรวมตั้งแต่รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการ ต้องมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน และให้คำมั่นแก่ประชาชนว่าจะดำเนินการพัฒนาการศึกษาทั้งในและนอกระบบ โดยมีหัวใจสำคัญคือความเท่าเทียมทางเพศ

ด้านแนวทางการทำงาน รัฐอาจเริ่มต้นจากการนำงบประมาณไปลงทุนช่วยเหลือกลุ่มเด็กชายขอบที่ยากจะเข้าถึงระบบการศึกษา และมุ่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ หรือเกิดความรุนแรงอันเนื่องมาจากอคติทางเพศ ทั้งต่อนักเรียนและครูเสียก่อน จากนั้นจึงขยายผลไปสู่การปรับโครงสร้างทางการศึกษาในภาพใหญ่ หลังผู้วางแผนนโยบายขบคิดได้กระจ่างว่าอะไรคือต้นตอของปัญหา อุปสรรคต่อความเสมอภาคทางเพศที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของประเทศ และจะขจัดมันผ่านการวางนโยบายให้ผู้ปฏิบัติทุกระดับ นับจากครูผู้สอนในห้องเรียน ผู้บริหารในโรงเรียน ไปจนถึงระดับผู้นำในรัฐสภาได้อย่างไรบ้าง


2.เพิ่มองค์ความรู้ ปรับแนวทางการสอนของครู

ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต – ครูก็ยังคงเป็นผู้เล่นคนสำคัญในระบบการศึกษา เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง และมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งด้านวิชาการ ต้นแบบการใช้ชีวิต ทัศนคติ และกระบวนทัศน์การทำความเข้าใจโลก ดังนั้นสถานศึกษาหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยจึงควรจัดอบรมครูเกี่ยวกับวิธีส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในการสอน ควบคู่ไปกับการสำรวจอคติทางเพศของตนเอง มองเห็นความไม่เท่าเทียม และไม่นิ่งเฉยต่อการเลือกปฏิบัติทางเพศทุกรูปแบบในห้องเรียนที่ตนดูแล

นอกจากนี้ การปรับหลักสูตรการสอนให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ไม่ยึดติดกับกรอบคิดเรื่องเพศแบบเดิมอย่างเพศทวิลักษณ์ (gender binary) ลบล้างภาพจำผิดๆ ของคนแต่ละเพศที่ปรากฏในหนังสือเรียน ค้นหาเครื่องมือหรือสร้างแนวทางการเรียนรู้แก่เด็กแบบใหม่ๆ ไปจนถึงสร้างสังคมแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์การสอนระหว่างครูด้วยกัน จะทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนดียิ่งขึ้น หลักวิชาการและการศึกษาโดยรวมก้าวหน้ามากขึ้น  


3.ผสานความร่วมมือ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน

เมื่อกล่าวถึงโรงเรียน คำที่ผู้เรียนปรารถนาจะนิยามคงเป็นคำว่า ‘ปลอดภัย’ – ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ทั้งทางกายภาพและสุขภาพจิต ปลอดภัยในการเรียนรู้ หกล้ม ผิดพลาด แล้วลุกขึ้นมาใหม่ กล้าแสดงออกซึ่งตัวตนและความรู้สึกนึกคิด โดยไม่ต้องถูกตัดสินหรือรังเกียจเดียดฉันท์จากใคร

ประการแรก โรงเรียนที่ดีจึงต้องเป็นโรงเรียนที่โอบรับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพไหน จะระบุอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศอย่างไร โรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันหรือจัดการผู้กระทำความรุนแรงทางเพศอย่างเด็ดขาด รวมถึงปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่เป็นการลิดรอนสิทธิ อาทิ เปลี่ยนการบังคับให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพเท่านั้น ให้กลายเป็นการหาข้อตกลงร่วมกันว่าจะสวมชุดแบบใดก็ได้

ประการต่อมา คือทำงานร่วมกับภาคส่วนสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจของนักเรียน โดยทำความเข้าใจว่าผู้เรียนแต่ละเพศต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งมีปัญหาคุณแม่วัยใสต้องออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ทางโรงเรียนหลายแห่งจึงสร้างห้องเรียนสำหรับเด็กสาวตั้งครรภ์โดยเฉพาะ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น สามารถพูดคุยเรื่องเพศกับคุณครูและแพทย์ได้สะดวกขึ้น — จากกรณีนี้อนุมานได้ว่านอกเหนือไปจากเพศหญิงแล้ว เด็กวัยรุ่นเพศอื่นๆ อาจต้องการพื้นที่ทำความเข้าใจตัวตนของตนเองและขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากการมองเห็นความต้องการที่แตกต่างกันของคนแต่ละเพศ สถานศึกษาอาจดูแลกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทับซ้อนเพิ่มเติม เช่น มีความพิการ ถูกกีดกันด้วยเชื้อชาติ ศาสนา และไม่จบแค่การดูแลเฉพาะกลุ่มนักเรียนเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงบุคลากรอื่นๆ ในโรงเรียนอย่างครู พนักงาน ภารโรง ฯลฯ ด้วย


4.สร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการวางนโยบาย

ต่อให้ไม่ย้ำวาทกรรมเดิมอย่าง ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ หลายคนก็คงเห็นพ้องต้องกันว่า ‘เด็กสมัยนี้’ สนใจเรื่องเพศและให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมยิ่งกว่าผู้ใหญ่ในบ้านเราบางคนเสียอีก เราจึงต้องการความเห็นที่แตกต่างหลากหลายและสดใหม่ของเยาวชนมาพัฒนานโยบายร่วมกับภาครัฐ อย่างน้อยที่สุดคือในระดับท้องถิ่นอันเป็นบ้านเกิดของพวกเขา และในประเด็นปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่  เช่น การถูกกดขี่ค่าจ้างของแรงงานเพศหญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติหรือกระทำความรุนแรง เป็นต้น

ต่อให้เป็นเพศชายซึ่งได้สิทธิพิเศษจากระบบปิตาธิปไตยในปัจจุบัน การเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมเสมอภาคทางเพศ อาจทำให้พวกเขาเรียนรู้ถึงอภิสิทธิ์ของตนเอง และทลายบรรทัดฐานทางเพศเดิมๆ ไปสู่การเปิดรับแนวคิดต่อต้านความไม่เท่าเทียม กล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวตน ทัศนคติ และทักษะของเยาวชนที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความท้าทายเรื่องเพศและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต


5.สนับสนุนเครือข่ายให้ความรู้เรื่องเพศและความเท่าเทียมแก่ชุมชน

การศึกษาไม่เคยจบอยู่เพียงภายในโรงเรียน เรายังคงเรียนรู้ตลอดเวลา จากบ้าน จากชุมชน จากคนใกล้ชิด ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากอคติทางเพศ การกีดกัน หรือการเหมารวม จึงเป็นหน้าที่ของครอบครัวและคนร่วมชุมชนเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมา กลไกการให้ความรู้ผ่านองค์กรส่งเสริมสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศหรือองค์กรปกป้องสิทธิสตรีระดับท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง คำถามคือทำอย่างไรให้องค์กรเหล่านี้สามารถขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมชุมชนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เข้าถึงผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น – ตัวอย่างเครือข่ายสนับสนุนกลุ่ม LGBTQI จากประเทศอินเดียเองก็เคยเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว โดยพวกเขาเริ่มต้นจากแนวทางพื้นฐานอย่างการจัดเวิร์กชอปให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป ก่อนทดลองขยับขยายไปสู่การใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น โซเชียลมีเดีย งานอีเวนต์ กระทั่งงานเทศกาลหนัง

ข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่องค์กรชุมชนทั้งหลายต้องการ อาจเป็นการสนับสนุนทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร ทั้งออนไลน์และออฟไลน์หลากหลายรูปแบบ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ชวนตั้งคำถามต่อระบบปิตาธิปไตย และลบล้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับเพศทวิลักษณ์แก่คนทุกระดับ


6.ปรับโครงสร้างความคิดในตลาดแรงงานและสังคม

พ้นไปจากการร่ำเรียนในระบบการศึกษา หมุดหมายถัดมาของชีวิตคนส่วนใหญ่คือการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เสาะหาตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทว่าที่ผ่านมา เรายังคงติดกับดักอคติทางเพศที่กำหนดให้ชายหญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถทำงานทุกตำแหน่งทุกอาชีพ กระทั่งไม่เชื่อว่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน  

ต่อให้เปลี่ยนหลักสูตรและบริบทแวดล้อมผู้เรียนได้ แต่ถ้าการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในจุดหมายปลายทางอย่างภาคเอกชน ธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ ยังดำรงอยู่ คงยากที่ผู้จบการศึกษาจะก้าวต่อไปข้างหน้า โจทย์ถัดไปหลังจากปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาจึงเป็นการกลับมาทบทวนตลาดแรงงานว่ายังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในรูปแบบใดบ้าง และจะจัดการ ผลักดันให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการกับขบวนการภาคประชาชน จะนำไปสู่การปรับ ขยับ เปลี่ยนโครงสร้างความคิดของสังคมและขยายวงการสนับสนุนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศจนครอบคลุมทุกภาคส่วนในที่สุด


7.ประเมินผลลัพธ์ วัดความเท่าเทียม ถอดบทเรียนสู่อนาคต

ในขั้นสุดท้าย สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ คือการประเมินผลลัพธ์ของนโยบายและแผนการปฏิบัติที่ลงมือทำว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ผ่านแบบประเมินความเท่าเทียมทางเพศที่ถูกสร้างขึ้นให้สอดรับกับสถานการณ์ภายในสังคม ยกตัวอย่างเช่น สำรวจทัศนคติของประชาชนต่อเรื่องความรุนแรงทางเพศ ซึ่งต้องไม่ใช่แค่การตระหนักรู้ว่าอะไรคือความรุนแรง แต่รวมถึงการต่อต้านทุกรูปแบบหากพบเห็นเหตุการณ์ หรือสำรวจความรู้ความเข้าใจด้านความหลากหลายทางเพศ ติดตามการพัฒนาสิทธิสตรีในแวดวงหน้าที่การงาน การศึกษา เป็นต้น

หัวเรือสำคัญอย่างรัฐหรือผู้กำหนดนโยบายต้องถอดบทเรียนว่าอะไรคือกุญแจของความสำเร็จและความล้มเหลว เรียนรู้ต้นแบบจากประเทศอื่นๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทสังคม ด้านผู้บริหารในระบบการศึกษาและสถานศึกษาเองก็ควรอัปเดตองค์ความรู้ ปัญหาด้านเพศที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และร่วมกันค้นหาวิธีรักษาความเท่าเทียมทางเพศให้คงอยู่ในระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน



แม้ว่าเส้นทางของการสร้างระบบการศึกษาแห่งความเท่าเทียม – ที่ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนเฉพาะหลักสูตรหรือสภาพแวดล้อมสถานศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของทั้งสังคมร่วมกัน จะแลดูเหมือนยาวไกลและซับซ้อน แต่กล่าวโดยสรุปแล้ว หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือการที่ทุกคนตระหนักว่าเราล้วนสามารถขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศจากตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่อยู่ในโรงเรียน ในหน่วยงานราชการ หรือในภาคธุรกิจ หากเราใฝ่ฝันถึงสังคมที่เป็นมิตรกับทุกเพศเช่นเดียวกัน ย่อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และสร้างบรรทัดฐานทางเพศขึ้นมาใหม่ได้

ทีละก้าว ทีละก้าว –หากก้าวไปพร้อมๆ กัน เราจะเข้าใกล้การศึกษาในอุดมคติและสังคมที่โอบรับทุกเพศได้ไม่ยาก


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world