การศึกษาโลกสะท้อนไทย ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่หายไป
โดย : กองบรรณาธิการ The101.world
ภาพ : กฤตพร โทจันทร์

การศึกษาโลกสะท้อนไทย ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่หายไป

หลายคนคงเคยได้ยินว่า ‘การศึกษาเป็นประตูสู่โอกาส’ เพราะไม่ว่าจะคนเชื้อชาติใด หรืออยู่มุมไหนของโลก ล้วนหวังให้การศึกษาเป็นตัวเปลี่ยนชีวิต ผู้ปกครองหลายคนจึงพยายามส่งลูกเรียนให้สูงที่สุด แม้ตนเองจะไม่มีโอกาสได้เรียนก็ตาม

จริงอยู่ที่การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาส แต่ขณะเดียวกัน การศึกษาก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน มีเด็กอีกหลายคนที่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาด้วยปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเด็กในประเทศกำลังพัฒนา การศึกษาจึงเป็นทั้งสะพานสู่โอกาส และเป็นกำแพงหนาสูงที่กั้นคนจำนวนหนึ่งเอาไว้ข้างหลัง

101 ชวนคุณมองเทรนด์ ‘การศึกษาโลก’ ไล่เรียงตั้งแต่ภาพรวมการศึกษา วิกฤตการเรียนรู้และแนวทางแก้ไข รวมถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ก่อนจะย้อนกลับมาสำรวจ ‘สถานการณ์การศึกษาไทย’ ที่ยังคงประสบกับปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่ไม่เคยจางหายไป รวมถึงฉายภาพแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการเรียน และมาตรการที่รัฐควรเข้ามาช่วยเหลืออนาคตของชาติ

:: ส่องเทรนด์การศึกษาโลกในศตวรรษที่ 21 ::

เทรนด์ 1: คนไปโรงเรียนมากขึ้น

ช่วงหลายสิบปีมานี้ อัตราการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนของเด็กทั่วโลกเพิ่มขึ้น เช่น ปี 1970 บริเวณแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) และบริเวณเอเชียใต้ เคยมีอัตราการเข้าโรงเรียนประมาณ 68% และ 47% ตามลำดับ

แต่ในปี 2010 อัตราการเข้าเรียนในทั้งสองภูมิภาคเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ขณะที่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (low-income countries) อัตราการเข้าโรงเรียนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น แซมเบีย ที่อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นเกือบ 75% ภายในช่วงปี 2000-2010

เทรนด์ 2: เด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียน

ประชากรในกลุ่มชายขอบ (marginalized groups) โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง (ซึ่งถือว่าเป็นประชากรชายขอบในเรื่องการศึกษาในหลายประเทศ) มีอัตราการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาสูงขึ้น ถ้ามองเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา อัตราส่วนของเด็กหญิงต่อเด็กชายเพิ่มขึ้นจาก 0.84 เป็น 0.96 ภายในช่วงปี 1991-2007

ขณะที่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาของเด็กหญิงคิดเป็น 78% และมีอัตราสำเร็จการศึกษาถึง 63%

เทรนด์ 3: คนจำนวนมากยังขาดโอกาส

แม้อัตราการเข้าศึกษาต่อในหลายประเทศเพิ่มขึ้น แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งยังถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา เพราะความยากจน เพศสภาพ เชื้อชาติ และสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมืองในประเทศ

‘การเมืองในประเทศ’ เช่น ประเทศซูดานใต้ ที่เจอกับความขัดแย้งภายในประเทศอย่างยาวนาน ทำให้ในปี 2011 ซูดานใต้มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาเพียง 41% นอกจากนี้ ประเทศที่เจอกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศยังมีอัตราการลาออกจากโรงเรียนกลางคันสูง และมีอัตราการสำเร็จการศึกษา รวมถึงการอ่านออกเขียนได้ต่ำ

‘ความยากจน’ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ในปี 2014 เด็กเกือบ 300 ล้านคนทั่วโลกที่มาจากครอบครัวยากจนไม่ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียน หรือถ้ามีโอกาสได้เข้าเรียน พวกเขาก็มีแนวโน้มจะออกจากโรงเรียนกลางคันสูงเช่นกัน

แม้เด็กผู้หญิงจำนวนมากจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ ‘เพศสภาพ’ ก็เป็นอีกปัจจัยกีดกันเด็กออกจากระบบการศึกษา โดยภาพรวมในระดับโลก เด็กหญิงยังมีอัตราการเข้าโรงเรียนน้อยกว่าเด็กชายถึงสองเท่า แม้แต่ในภูมิภาคที่ค่อนข้างมีความเท่าเทียมด้านเพศสภาพอย่างแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางก็ยังเจอการกีดกันนี้อยู่

เทรนด์ 4: การเรียนรู้อยู่ในวิกฤต

#1 เรียนไป แต่ใช้ไม่ได้

แม้การศึกษาจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่นั่นทำให้การศึกษาในหลายๆ ที่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร โดยในระดับโลก เด็กกว่า 125 ล้านคนจากทั่วโลกที่เรียนในโรงเรียนมาแล้วอย่างน้อย 4 ปี แต่กลับไม่สามารถอ่านออก หรือคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง ในบางประเทศ เด็กที่เรียนจบเกรด 2 เกือบ 90% ไม่สามารถอ่านคำง่ายๆ ได้แม้แต่คำเดียว และถ้าเป็นเด็กที่มีฐานะยากจน ปัญหานี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก

ในการประเมินระดับนานาชาติ นักเรียนในประเทศที่มีรายได้น้อยหรือปานกลางทำคะแนนได้น้อยกว่านักเรียนจากประเทศในกลุ่ม OECD (ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เช่น ประเทศตูนิเซียต้องใช้เวลามากกว่า 180 ปี เพื่อจะทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ให้ถึงคะแนนเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD

คุณภาพการศึกษาที่ย่ำแย่ จึงส่งผลให้กำลังแรงงานที่ออกจากระบบการศึกษาไม่มีทักษะที่สามารถนำไปใช้ทำงานได้จริง หรือถ้าเริ่มทำงานแล้ว ก็ยังไม่มีทักษะพื้นฐานเพียงพอที่จะพัฒนาตนเองต่อ เช่น ในบางประเทศกำลังพัฒนา ผู้ใหญ่ที่ ‘ได้รับการศึกษา (educated)’ จำนวนมากแทบไม่มีทักษะในการทำงานเลย เช่น ในกานา 80% ของวัยทำงานมีทักษะอ่านออกเขียนได้ต่ำมาก ซึ่งถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้สูงแล้ว จำนวนคนที่มีทักษะอ่านออกเขียนได้ต่ำคิดเป็นเพียง 15% เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่านี่คือวิกฤตการเรียน ที่เด็กจำนวนมาก ‘เรียนไปแล้ว’ แต่ ‘ใช้ไม่ได้จริง’

#2 เด็กยากจน ยังคงไม่ได้เรียน

พื้นเพของครอบครัว (การศึกษาของผู้ปกครอง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และสภาพบ้านที่อยู่อาศัย) เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ เช่น ในฝรั่งเศส ผลการทดสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ ระหว่างเด็กที่ร่ำรวยกับเด็กที่ยากจนต่างกัน 115 คะแนน ขณะที่ในฮังการีต่างกันถึง 202 คะแนน ซึ่งถ้าใช้นิยามของการทดสอบ PISA ความแตกต่าง 100 คะแนนเทียบได้หยาบๆ กับการเรียน 3 ปี ซ้ำร้าย ช่องว่างระหว่างนักเรียนที่ยากจนและร่ำรวยยังมีแนวโน้มจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนักเรียนขยับไปเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้คุณภาพของโรงเรียนจะมีผลต่อการเรียนรู้ เพราะถ้าเด็กนักเรียนยากจนได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่มีคุณภาพ ผลการเรียนของนักเรียนจะอยู่ในระดับมาตรฐานที่ไม่ต่างจากนักเรียนร่ำรวยเท่าไรนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงเรียนทุกโรงเรียนไม่ได้มีคุณภาพเท่ากันหมด เด็กฐานะปานกลางไปจนถึงร่ำรวยสามารถเลือกโรงเรียนที่ตอบสนองและพัฒนาความสามารถของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ เด็กยากจนกลับไม่มีโอกาสนั้น

เทรนด์ 5: ทักษะใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

ทักษะแบบที่ 1: ทักษะทางด้านการคิด (cognitive skills) คือความสามารถในการเข้าใจความคิดที่ซับซ้อน และนำมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมืออาชีพ เช่น ทักษะทางการคิดคำนวณขั้นพื้นฐาน การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และการแก้ปัญหา

ทักษะแบบที่ 2: ทักษะทางอารมณ์และสังคม (socioemotional skills) หรือบางครั้งเรียกว่า ทักษะเชิงพฤติกรรม (non-cognitive skills) ซึ่งเป็นพฤติกรรม ทัศนคติ และคุณค่าที่คนๆ หนึ่งจำเป็นต้องมี เพื่อจะใช้เป็นแนวนำทางในการดำเนินชีวิต รวมถึงรับมือกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

ทักษะแบบที่ 3: ทักษะเชิงเทคนิค (technical skills) คือความรู้ ความเชี่ยวชาญ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ที่คนทำงานจำเป็นต้องมีเพื่อจะปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งการจะพัฒนาทักษะประเภทนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้ การใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำงาน

ทักษะทั้ง 3 ประเภทไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นทั้งตัวสนับสนุนและเสริมแรงซึ่งกันและกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนๆ หนึ่งจะต้องพัฒนาทักษะทั้ง 3 ประเภทของตน เพื่อพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขบนโลกที่ผันผวนใบนี้

:: สำรวจความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทยเพิ่มโอกาสให้เด็กยากจน ::

#ข้อเท็จจริง 1: เด็กไทยจำนวนมากอยู่นอกระบบการศึกษา

แม้นักเรียนไทยส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นปัญหาที่น่ากังวล

ประเทศไทยมีเด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อายุ 3-17 ปี) นอกระบบการศึกษามากกว่า 670,000 คนทั่วประเทศ เพราะปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาสทางสังคม ความพิการและปัญหาครอบครัว

*อ้างอิง: รายงานเรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)

#ข้อเท็จจริง 2: นักเรียนกว่า 1.1 แสนคนอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 100 บาท

นักเรียนยากจนทั่วประเทศ มีจำนวนกว่า 115,203 คน ในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของนักเรียนทั้งหมดในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น

ผลดังกล่าวคำนวณจากแบบคัดกรองที่เสนอโดย ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ และคณะ โดยพิจารณาจากเกณฑ์รายได้ครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาท และเงื่อนไข 4 ด้าน ได้แก่

-ภาระพึ่งพิงของครอบครัว

-สภาพที่อยู่อาศัย

-การถือครองยานพาหนะ

-เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เกิน 1 ไร่

#ข้อเท็จจริง 3: การศึกษาเป็นทั้งโอกาสและภาระของครอบครัวยากจน

หากใช้เกณฑ์เด็กยากจนที่มาจากครอบครัวซึ่งมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน หรือ 36,000 บาทต่อปี ครอบครัวยากจนจะต้องแบกรับรายจ่ายทางการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 22 ของรายได้ทั้งหมด มากกว่าครัวเรือนร่ำรวยถึง 4 เท่า

*อ้างอิงจากข้อมูลบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติ ในงานสัมมนา ‘ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ’ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562

#ข้อเท็จจริง 4: การศึกษาไทยไม่ได้ฟรีทั้งหมด

แม้ประเทศไทย นักเรียนชั้นประถมศึกษามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,267 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมีจำนวนมากกว่าเกือบสองเท่า คือ 6,378 บาทต่อคนต่อปี 

*อ้างอิงจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจครัวเรือนที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาในโรงเรียนรัฐจำนวน 8.2 ล้านครัวเรือนเมื่อปี พ.ศ. 2558

ค่าเดินทางและค่าเครื่องแบบเป็นภาระมากกว่าที่คิด

ครัวเรือนยากจนมีภาระค่าเดินทางไปกลับโรงเรียนมากกว่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด 

เมื่อรวมกับค่าเครื่องแบบจะคิดเป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด

*อ้างอิงจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจครัวเรือนที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาในโรงเรียนรัฐจำนวน 8.2 ล้านครัวเรือนเมื่อปี พ.ศ. 2558

ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยในปี พ.ศ. 2558 ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทุกระดับการศึกษาเท่ากับ 6,881 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2554 ถึงร้อยละ 44 

อ้างอิงจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจครัวเรือนที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาในโรงเรียนรัฐจำนวน 8.2 ล้านครัวเรือนเมื่อปี พ.ศ. 2558

เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่ที่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค

*อ้างอิงจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจครัวเรือนที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาในโรงเรียนรัฐจำนวน 8.2 ล้านครัวเรือนเมื่อปี พ.ศ. 2558

แนวทางการให้เงินอุดหนุนจากโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้

ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ และคณะ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

– อัตราเงินอุดหนุนขั้นสูง — มอบค่าเล่าเรียนหรือค่าบำรุงการศึกษา ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียนต่างๆ ค่าเดินทางไปเรียน และค่าอาหารเช้าหรือกลางวัน

นักเรียนประถม 4,092 บาทต่อปี

นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 7,974 บาทต่อปี

-อัตราเงินอุดหนุนขั้นต่ำ — ค่าเดินทางไปเรียน และค่าอาหารเช้าหรือกลางวัน  

นักเรียนประถม 2,701 บาทต่อปี

นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 5,620 บาทต่อปี

จากแนวทางการให้เงินอุดหนุนดังกล่าว รวมแล้วรัฐจะใช้เงินเริ่มต้นที่ 563 ล้านบาท เมื่อใช้อัตราอุดหนุนขั้นสูง และ 380 ล้านบาท สำหรับอัตราอุดหนุนขั้นต่ำ

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world