การศึกษาเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวมให้ดีขึ้น จึงไม่น่าแปลกที่ทุกองค์การทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ต่างเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนเรื่องการศึกษา ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้การศึกษาเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 4 ว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
ขณะที่ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษาอยู่ในระดับที่ ‘ดีขึ้น’ กว่าเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่อัตราการเข้าเรียน หรืออัตราประชากรที่อ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นจากในอดีต เช่น ในปี 1945 ตอนที่อินโดนีเซียประกาศเอกราช มีประชาชนเพียง 5% ที่อ่านออกเขียนได้ ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 95% ในปี 2015 หรือในเนปาล ที่ในปี 1981 มีผู้ใหญ่เพียง 1 ใน 5 ที่ได้รับการศึกษา ก่อนจะเพิ่มเป็นเกือบ 2 ใน 3 ในปี 2015
ตัวเลขดังกล่าวอาจดูเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น เราจะพบว่า เด็กจำนวนมากยังถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา หรือได้เรียนแต่ไปไม่ถึงปลายทาง ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า แม้สถานการณ์การศึกษาดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำไม่ได้หมดไป และความเสมอภาคยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงกับทุกคน อัตราการเข้าเรียนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนปัญหามากมายเอาไว้ข้างใต้ และทิ้งโจทย์ใหญ่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีปัญหาเรื่องระบบการศึกษา ต้องนำมาขบคิดกันต่อว่า จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาเท่าเทียมและเสมอภาคอย่างแท้จริง รวมถึงจะปรับระบบการศึกษาอย่างไรให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบันด้วย
101 ชวนคุณมองสถานการณ์การศึกษาโลกในศตวรรษที่ 21 ผ่านรายงาน World Development Report: Learning to Realize Education’s Promise ที่จัดทำโดย World Bank Group Flagship Report ไล่เรียงตั้งแต่ภาพรวมการศึกษาโลก วิกฤตการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อแก้วิกฤตดังกล่าว ปิดท้ายด้วยทักษะจำเป็นสำหรับพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความรู้ในห้องเรียนอีกต่อไป
มองภาพรวมการศึกษาโลก: คนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำยังสูง
ช่วงหลายสิบปีมานี้ อัตราการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนของเด็กทั่วโลกเพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปี 1970 บริเวณแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) และบริเวณเอเชียใต้ ที่มีอัตราการเข้าโรงเรียนประมาณ 68% และ 47% ตามลำดับ แต่ต่อมาในปี 2010 อัตราการเข้าเรียนในทั้งสองภูมิภาคเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ขณะที่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (low-income countries) อัตราการเข้าโรงเรียนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น แซมเบีย ที่อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นเกือบ 75% ภายในช่วงปี 2000-2010
สำหรับประชากรในกลุ่มชายขอบ (marginalized groups) โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง (ซึ่งถือว่าเป็นประชากรชายขอบในเรื่องการศึกษาในหลายประเทศ) ก็มีอัตราการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาสูงขึ้นเช่นกัน ถ้ามองเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา อัตราส่วนของเด็กหญิงต่อเด็กชายเพิ่มขึ้นจาก 0.84 เป็น 0.96 ภายในช่วงปี 1991-2007 ขณะที่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาของเด็กหญิงคิดเป็น 78% และมีอัตราสำเร็จการศึกษาถึง 63%
แต่ ‘เพิ่มขึ้น’ ไม่ได้หมายถึง ‘เท่าเทียมขึ้น’ เพราะแม้อัตราการเข้าศึกษาต่อในหลายๆ ประเทศเพิ่มขึ้น ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา เพราะความยากจน เพศสภาพ เชื้อชาติ และสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมืองในประเทศ
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น รายงานได้ยกตัวอย่างประเทศซูดานใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องเจอกับความขัดแย้งภายในประเทศอย่างยาวนาน ทำให้ในปี 2011 ซูดานใต้มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาเพียง 41% หรือในซีเรีย ที่ในปี 2013 เด็กกว่า 1.8 ล้านคนไม่ได้เข้าโรงเรียน ซึ่งสะท้อนว่า สถานการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งภายในประเทศกระทบกับอัตราการเข้าศึกษาต่ออย่างมาก และประเทศเหล่านี้ยังมีอัตราการลาออกจากโรงเรียนกลางคันสูง และมีอัตราการสำเร็จการศึกษา รวมถึงการอ่านออกเขียนได้ต่ำ
ความยากจนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ในปี 2014 เด็กเกือบ 300 ล้านคนทั่วโลกที่มาจากครอบครัวยากจนไม่ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียน หรือถ้ามีโอกาสได้เข้าเรียน พวกเขาก็มีแนวโน้มจะออกจากโรงเรียนกลางคันสูงเช่นกัน
อีกหนึ่งปัจจัยที่กีดกันเด็กออกจากระบบการศึกษาคือ เพศสภาพ กล่าวคือ แม้เด็กหญิงในหลายพื้นที่จะได้รับโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองภาพรวมในระดับโลก เด็กหญิงยังมีอัตราการเข้าโรงเรียนน้อยกว่าเด็กชายถึงสองเท่า แม้แต่ในภูมิภาคที่ค่อนข้างมีความเท่าเทียมด้านเพศสภาพอย่างแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางก็ยังเจอการกีดกันนี้อยู่
วิกฤตการเรียนรู้: เรียนไปแต่ใช้ไม่ได้ และ (ได้) เรียนน้อยแต่เจ็บมาก
นอกจากกลุ่มคนที่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษายังเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือ แม้อัตราการเข้าโรงเรียนจะเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพการศึกษาที่เด็กแต่ละคนได้รับกลับไม่เท่ากัน ไม่ต้องพูดถึงว่า การเรียนในห้องเรียนตามระบบการศึกษาปกติ (schooling) อาจจะไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ (learning) อีกต่อไป รายงานชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนหลายประเทศกำลังเผชิญกับ ‘วิกฤตการเรียนรู้ (learning crisis)’
วิกฤตการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุ ทั้งจากตัวเด็กนักเรียนที่ไม่พร้อมจะเรียนรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสหรือยากจน ตัวคุณครูที่ขาดแรงกระตุ้นและขาดทักษะที่จำเป็น รวมถึงเรื่องปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างการบริหารจัดการโรงเรียนที่ย่ำแย่ ซึ่งรายงานได้แบ่งวิกฤตการเรียนรู้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
#1 เรียนไป แต่ใช้ไม่ได้
รายงานชี้ว่า มีเด็กกว่า 125 ล้านคนจากทั่วโลกที่เรียนในโรงเรียนมาแล้วอย่างน้อย 4 ปี แต่กลับไม่สามารถอ่านออก หรือคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง ในบางประเทศ เด็กที่เรียนจบเกรด 2 เกือบ 90% ไม่สามารถอ่านคำง่ายๆ ได้แม้แต่คำเดียว และถ้าเป็นเด็กที่มีฐานะยากจน ปัญหานี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวทางการศึกษาที่รวดเร็วเกินไป จนทำให้การศึกษาในหลายๆ ที่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในการประเมินระดับนานาชาติ นักเรียนในประเทศที่มีรายได้น้อยหรือปานกลางทำคะแนนได้น้อยกว่านักเรียนจากประเทศในกลุ่ม OECD (ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เช่น ประเทศตูนิเซียต้องใช้เวลามากกว่า 180 ปี เพื่อจะทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ให้ถึงคะแนนเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD หรือในประเทศอินโดนีเซีย จำนวนนักเรียนที่ทำการทดสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ในวิชาคณิตศาสตร์ และได้คะแนนอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ไทล์ ก็แทบจะไม่ได้มากไปกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD ที่ทำคะแนนได้ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ไทล์ ถ้าให้กล่าวโดยสรุปคือ เด็กในกลุ่มประเทศ OECD ที่ได้คะแนนสอบไม่ดีนัก ยังได้คะแนนมากกว่ากลุ่มเด็กที่ได้คะแนนค่อนข้างดีในอินโดนีเซีย
เมื่อคุณภาพการศึกษาย่ำแย่ กำลังแรงงานที่ออกจากระบบการศึกษาก็ไม่มีทักษะที่สามารถนำไปใช้ทำงานได้จริง หรือในกลุ่มที่เริ่มทำงานแล้ว ก็ไม่มีทักษะพื้นฐานเพียงพอที่จะพัฒนาตนเองต่อ ขณะที่ในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ผู้ใหญ่ที่ ‘ได้รับการศึกษา (educated)’ จำนวนมากแทบไม่มีทักษะในการทำงานเลย เช่น ในกานา 80% ของวัยทำงานมีทักษะอ่านออกเขียนได้ต่ำมาก ซึ่งถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้สูงแล้ว จำนวนคนที่มีทักษะอ่านออกเขียนได้ต่ำคิดเป็นเพียง 15% เท่านั้น และยังมีการประมาณว่า คนในช่วงอายุ 15-24 ปี ประมาณ 92 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และราว 120 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการทำงาน
มีหลายประเทศพยายามแก้ปัญหานี้ เช่น นโยบายของเกาหลีใต้ซึ่งเริ่มใช้ในช่วงทศวรรษ 1950 ที่เน้นคุณภาพของการศึกษาระดับประถมก่อนที่จะขยับไปสู่ระดับที่สูงขึ้น รวมถึงมุ่งตอบสนองต่อความต้องการของเด็กยากจนหรือเด็กด้อยโอกาสด้วย อีกหนึ่งประเทศที่ใช้นโยบายใกล้เคียงกันคือเวียดนาม ที่พยายามรักษาคุณภาพการศึกษาด้วยการดูแลเด็กด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
ทั้งนี้ ความล้มเหลวทางการเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงแค่การอ่านไม่ออก หรือคิดคำนวณไม่ได้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการที่นักศึกษาเรียนจบ แต่ไม่ได้พัฒนาทักษะการคิด (cognitive skills) ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในตอนนี้ คนกลุ่มนี้จึงอาจจะเจอ ‘ทางตัน’ ในการทำงาน และได้งานที่มีโอกาสเติบโตทางรายได้น้อย เพราะงานในตลาดแรงงานส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนจากการใช้กำลังทางกาย (physical) เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะทางความคิด รวมถึงทักษะทางอารมณ์และสังคม (socioemotional skills) แทน ประกอบกับการที่เทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้นด้วย
#2 (ได้) เรียนน้อย แต่เจ็บมาก
เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘การศึกษาคือการลงทุน’ แต่สำหรับครอบครัวที่ยากจน การศึกษาไม่ใช่การลงทุน แต่เหมือนเป็นการ ‘ขาดทุน’ เสียมากกว่า โดยรายงานระบุว่า พื้นเพของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของผู้ปกครอง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสภาพบ้านที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ เช่น ในฝรั่งเศส ผลการทดสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ ระหว่างเด็กที่ร่ำรวยกับเด็กที่ยากจนต่างกัน 115 คะแนน ขณะที่ในฮังการีต่างกันถึง 202 คะแนน ซึ่งถ้าใช้นิยามของการทดสอบ PISA ความแตกต่าง 100 คะแนนเทียบได้หยาบๆ กับการเรียน 3 ปี ซ้ำร้าย ช่องว่างระหว่างนักเรียนที่ยากจนและร่ำรวยยังมีแนวโน้มจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนักเรียนขยับไปเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น
แต่ถ้าถามว่า ช่องว่างของการเรียนรู้เกิดจากแค่ลักษณะของครัวเรือน (ยากจน/ร่ำรวย) หรือไม่? คำตอบคือไม่ เพราะยังมีปัจจัยอื่น เช่น คุณภาพของโรงเรียน ซึ่งเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาอย่างสำคัญ โดยรายงานระบุว่า หากนักเรียนยากจนได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่มีคุณภาพ ผลการเรียนของนักเรียนจะอยู่ในระดับมาตรฐานที่ไม่ต่างจากนักเรียนร่ำรวยเท่าไรนัก
แม้คุณภาพของโรงเรียนจะมีบทบาทสำคัญไม่แพ้ฐานะของครอบครัวนักเรียน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงเรียนทุกโรงเรียนไม่ได้มีคุณภาพเท่ากันหมด ขณะที่เด็กฐานะปานกลางไปจนถึงร่ำรวยสามารถเลือกโรงเรียนที่ตอบสนองและพัฒนาความสามารถของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ เด็กยากจนกลับไม่มีโอกาสนั้น ถ้าพูดให้ถึงที่สุดคือ พวกเขาได้เรียนน้อยกว่า และต้องเจ็บมากกว่าจากระบบการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
แก้วิกฤต (การเรียนรู้) ที่มองไม่เห็น: หาช่องว่าง ทำการประเมิน และออกมาตรการที่ปฏิบัติได้จริง
แม้วิกฤตการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจริง แต่รายงานกลับเปรียบเปรยว่า วิกฤตนี้เป็นเสมือนวิกฤตที่ไม่มีใครมองเห็น เพราะไม่มีใครสนใจเท่าที่ควร อีกทั้ง ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เก็บข้อมูลในส่วนของการเรียนรู้ จนแทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำที่จะสร้างแรงผลักดันอะไรขึ้นมาได้
เมื่อไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงอาจเลือกเพิกเฉย หรือมองผ่านเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ย่ำแย่ ขณะที่คุณครูก็ไม่รู้ขอบเขตการสอนที่แน่ชัด และไม่รู้ว่านักเรียนคนใดต้องการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำที่คุณครูต้องสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนหลากหลาย
ไม่ใช่แค่ฝั่งของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แม้กระทั่งผู้ปกครองก็ไม่ได้ตระหนักถึงการศึกษาที่ด้อยคุณภาพเช่นกัน พวกเขาจึงไม่ได้สนใจจะเรียกร้องให้โรงเรียนมีคุณภาพดีกว่าเดิม หรือกว่าที่พวกเขาจะตระหนักได้ ก็เป็นช่วงที่เด็กเรียนจบและเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว จนทำให้หลายๆ คนเจอกับสภาวะที่เรียนจบมาแล้ว แต่กลับไม่มีทักษะเพียงพอในการทำงาน
แล้วเราจะแก้ไขอะไรได้บ้าง?
รายงานเสนอว่า ก้าวแรกในการแก้ปัญหาคือ การระบุช่องว่างของการเรียนรู้ (learning gaps) ในชั้นเรียน ซึ่งในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ต่ำ จะเจอปัญหาเรื่องระดับของนักเรียนและระดับการเรียนการสอนในชั้นเรียนอยู่แล้ว ปัญหานี้มาจากการที่ครูผู้สอนไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคนมากพอ ดังนั้น เมื่อเราระบุช่องว่างของการเรียนรู้ได้แล้ว จึงควรตามมาด้วยการสร้างวัฒนธรรมการประเมินให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ ประเทศสิงคโปร์ ที่นักเรียนแต่ละคนจะต้องทำการทดสอบก่อนเริ่มเกรด 1 เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนสามารถระบุและแยกนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษออกมาได้
ขณะที่ในระดับนโยบาย จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายจะต้องใช้ข้อมูลที่มีขอบเขตกว้าง แทนที่จะอิงกับมาตรการเพียงมาตรการเดียว เพราะการอิงกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งมากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบได้ เช่น นโยบายไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง (No Child Left Behind Policy) ที่ประกาศใช้ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2001 ซึ่งได้รับผลสะท้อนกลับทางลบจากคุณครูและผู้บริหารโรงเรียน หรือแม้แต่การประเมิน PISA ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประเมินในบางประเทศ เช่น อาร์เจนตินา มาเลเซีย หรือเวียดนาม ที่เป็นประเทศกลุ่มตัวอย่าง (selective samples) อาจจะเป็นการกีดกันนักเรียนหรือโรงเรียนที่ทำการประเมินได้ไม่ดีออกจากระบบไป
ดังนั้น มาตรการที่จะก่อให้เกิดผลได้จริงๆ ต้องเป็นมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้ และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วย อีกทั้งยังต้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ เช่น ในชิลี นักเรียนเกรด 4 และเกรด 8 ทุกคนจะต้องทำการทดสอบ SIMCE ทุกปี เพื่อจัดอันดับโรงเรียน โดยโรงเรียน 900 แห่งที่อยู่ใน 10% ของคะแนนต่ำสุดในเขต (province) จะได้รับความช่วยเหลือพิเศษ รายงานสรุปว่า มาตรการในชิลีเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของการเก็บข้อมูล และนำข้อมูลที่ได้มาเชื่อมโยงกับการออกมาตรการเพื่อการปฏิบัติ
รู้จัก 3 ทักษะที่ต้องมี เพื่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน
นอกจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปัญหาในระบบการศึกษาเองแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่มีบทบาทกับระบบการศึกษาอย่างมากคือ การเปลี่ยนแปลงของโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาท และเปลี่ยนโฉมหน้าของตลาดแรงงานไป ทุกๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการศึกษา ล้วนต้องปรับตัวและเตรียมคนให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 ความรู้หรือการเรียนการสอนแบบในอดีตจึงอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป ในรายงานจึงได้กล่าวถึงทักษะ 3 ประเภท ที่ควรมีในยุคปัจจุบันนี้
ทักษะแบบแรกคือทักษะทางด้านการคิด (cognitive skills) คือความสามารถในการเข้าใจความคิดที่ซับซ้อน และนำมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมืออาชีพ เช่น ทักษะทางการคิดคำนวณขั้นพื้นฐาน การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และการแก้ปัญหา
ขณะที่ทักษะแบบที่สอง ซึ่งได้รับการพูดถึงมากในช่วงหลังมานี้คือ ทักษะทางอารมณ์และสังคม (socioemotional skills) หรือบางครั้งเรียกว่า ทักษะเชิงพฤติกรรม (non-cognitive skills) ซึ่งเป็นพฤติกรรม ทัศนคติ และคุณค่าที่คนๆ หนึ่งจำเป็นต้องมี เพื่อจะใช้เป็นแนวนำทางในการดำเนินชีวิต รวมถึงรับมือกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ตัวอย่างของทักษะทางอารมณ์และสังคม เช่น การควบคุมตนเอง (self-control) ความวิริยะอุตสาหะ (grit) การจัดการตนเอง (self-management) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (effective communication) และพฤติกรรมเอื้อสังคม (prosocial behaviour) ซึ่งผลสำรวจจากประเทศรายได้สูงบ่งชี้ชัดเจนว่า ทักษะเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อการจ้างงาน ประสบการณ์การทำงาน ตัวเลือกในการทำงาน และค่าจ้าง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมรุนแรงหรือใช้สารเสพติดด้วย
ผลลัพธ์ข้างต้นยังสอดคล้องกับการสำรวจในสหราชอาณาจักรที่พบว่า ทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมสามารถช่วยคาดการณ์อนาคตของคนๆ หนึ่ง ตั้งแต่การเข้าเรียน การได้รับปริญญา การทำงาน หรือแม้แต่ใช้คาดการณ์ว่าคนๆ นั้นมีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมหรือไม่ด้วย
ทักษะประเภทสุดท้ายคือ ทักษะเชิงเทคนิค (technical skills) คือความรู้ ความเชี่ยวชาญ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ที่คนทำงานจำเป็นต้องมีเพื่อจะปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งการจะพัฒนาทักษะประเภทนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้ การใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำงาน
การพัฒนาทักษะต่างๆ จะเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยเด็กคนหนึ่งจะเริ่มพัฒนาทักษะทางการคิดขั้นพื้นฐาน ก่อนจะพัฒนาขั้นที่สูงขึ้นเมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นและเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น พร้อมๆ กับเริ่มพัฒนาทักษะเชิงเทคนิคที่จำเป็นต่อการทำงานไปด้วย ขณะที่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคมคือวัยเด็กตอนต้น และเริ่มพัฒนาต่อในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นผ่านทางประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับ
จะเห็นว่า ทักษะทั้ง 3 ประเภทไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นทั้งตัวสนับสนุนและเสริมแรงซึ่งกันและกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนๆ หนึ่งจะต้องพัฒนาทักษะทั้ง 3 ประเภทของตน เพื่อพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขบนโลกที่ผันผวนใบนี้
มุ่งสู่ระบบการศึกษาที่เสมอภาค และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ไม่ว่าจะประเทศไหน เชื้อชาติใด หรือมาจากชนชั้นใด ทุกคนล้วนมีความหวังและศรัทธาในพลังของการศึกษาที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิต พ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนมากพยายามส่งลูกเรียนให้จบ หรือเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ตนเองจะไม่เคยเข้าโรงเรียนก็ตามที
แต่น่าเศร้าที่ในหลายประเทศ การศึกษาซึ่งควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ กลับสร้างกำแพงสูงหนาบดบังคนอีกหลายคนไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวยากจน ที่การตัดสินใจว่าจะส่งลูกเข้าเรียนหรือไม่เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และเป็นเรื่องของการ ‘ต้องแลก’ (trade-off) ระหว่าง ‘การเข้าถึงการศึกษา’ กับ ‘ต้นทุนที่เกิดขึ้น’ พวกเขาต้องพิจารณาทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย หรือการเดินทางไปยังโรงเรียนที่ใกล้ที่สุด และถ้าดูแล้ว การส่งลูกเข้าเรียนเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มทุน ก็มีโอกาสสูงที่พวกเขาจะไม่ส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน หรือบางครอบครัวที่มีลูกหลายคน ก็อาจจะใช้วิธีส่งลูกคนที่เรียนเก่งที่สุดไปเรียนแทน
เมื่อการศึกษาที่ควรจะเป็นรากฐานสำคัญเพื่อเปลี่ยนชีวิต กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ปรับระบบให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงออกนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่ยังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อให้การศึกษาเป็นประตูสู่โอกาสแห่งความเสมอภาคที่แท้จริง