โจทย์เริ่มแรกของเรากับ The101.world และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คือการทำซีรีส์สารคดีครูในความเหลื่อมล้ำ แต่หลังคัดเลือกได้ตัวละคร 8 คนจาก 300 คน และกำลังจะลงพื้นที่ไปถ่ายทำ
ฟ้าผ่า! โควิดระบาดระลอกสอง โปรเจ็กต์สารคดีครูเลยต้องล้มพับไป ทีมงานต้องคิดหาทางออกใหม่ ไอเดียของการเล่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านประเด็นเรียนออนไลน์จึงผุดขึ้น เพื่อสอดคล้องกับวิธีการถ่ายทำที่ต้องออนไลน์ทั้งหมดด้วย
สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า #โตมากับจอ คืออะไร #โตมากับจอ คือซีรีย์สารคดีแปดตอน กระเทาะปัญหาการศึกษาไทยในยุคเรียนออนไลน์ นับได้ว่าผลพวงจากโรคระบาดได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับระบบการศึกษาไทย การเรียนออนไลน์จึงเป็นปัญหาใหญ่ของยุคสมัย ทั้งนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง และอีกหลายภาคส่วนล้วนต้องประสบปัญหานี้ ผลกระทบจากการระบาดของโรคได้เข้ามาเปิดแผลความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและวิถีชีวิตของนักเรียนอย่างมาก คำถามสำคัญคือเราจะทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างไร และหาทางออกร่วมกันอย่างไร
ต่อไปนี้คือ 5 บทเรียนเบื้องหลัง จากการทำหนังสารคดีผ่านวิธีการถ่ายทำแบบออนไลน์ล้วนๆ ที่รวบรวมและสกัดจากทีมงานกว่า 20 ชีวิต

1. แคสติ้งตัวละคร ‘ผ่านจอ’
สำหรับหนังสารคดี เรามักพูดกันว่า หากเราได้ตัวละครดีจะมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะหนังสารคดีคือการพึ่งพาความจริงที่ขับเคลื่อนโดยชีวิตและเรื่องราวของบุคคลนั้นๆ โดยที่คนทำไม่มีทางรู้เลยว่า คนที่เราเลือกมาจะ ‘รุ่ง’ หรือจะ ‘ร่วง’ และยิ่งการที่เราต้องทำการคัดเลือกตัวละครผ่านออนไลน์ซึ่งเราไม่เห็นหน้า หรือสัมผัสพลังงานของมนุษย์ตัวเป็นๆ นั้น มันโคตรลุ้นและยากยิ่งกว่าหลายเท่า แต่ในสารคดี #โตมากับจอ EP.4 ตอน Hurt at first sight ‘ออนไลน์คลาสแรก…หัวใจก็แตกสลาย’ เรามีวิธีการแบบมวยวัด ที่ทีมงานคุยกันว่า ‘แคสต์กันแบบนี้ก็ได้ว่ะ’ ต่อไปนี้วิธีการจับปลาในมหาสมุทรเพื่อหาตัวละครที่ดีที่สุดมาเล่าเรื่อง
ชั้นที่ 1: สืบเสาะ เบาะแส
ในตอนนี้ทีมงานต้องการหานักเรียนที่เป็นโรคซึมเศร้ามาแชร์ประสบการณ์ให้เราและผู้ชมฟัง โดยเริ่มสืบเบาะแสผ่านประตูบานแรกด้วยการเข้าไปหา ครูปุ้ย – วรีย์ สืบสมุท ครูแนะแนวประจำโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม ครูปุ้ยเคยถูกเราแคสต์มาก่อนในสารคดีประเด็นเกี่ยวกับครูที่ทีมงานเคยอยากทำ แต่โปรเจ็กต์นี้ดันถูกล้มพับไปในช่วงโควิด ครูปุ้ยกำเนิดใหม่อีกครั้งด้วยการเป็นแมวมองหานักแสดง เหตุที่เลือกครูแนะแนว เพราะจริงๆ แล้วหน้าที่ของครูแนะแนวก็เหมือนกับ ‘นักจิตประจำโรงเรียน’ ที่ค่อนข้างรู้เชิงลึกว่าเด็กคนไหนมีสภาวะจิตใจเป็นอย่างไรเป็นอย่างดี
ชั้นที่ 2: หว่านแห สร้างตาข่ายรับฟัง
เราใช้กูเกิลฟอร์ม (Google Form) สร้างแบบฟอร์มการสัมภาษณ์ขึ้นมา โดยตั้งคำถามผ่านประเด็นสำคัญที่หนังอยากเล่า เช่น การเรียนออนไลน์มีผลกระทบอย่างไรกับสภาพจิตใจ, อะไรคือสิ่งที่อยากให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงโควิด หลังจากนั้นก็ให้ครูปุ้ยกระจายแบบฟอร์มนี้ลงไปในไลน์กลุ่มที่มีนักเรียนเป็นจำนวนมาก ข้อดีที่ได้ตามมาคือความที่เป็นออนไลน์ฟอร์มจึงไม่มีการเปิดเผยใบหน้า ไม่มีการวัดเกรด ไม่มีการตัดสิน น้องๆ สามารถใส่ความอัดอั้นหรือระบายกันได้เต็มที่ ตรงนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมงานเข้าใจหัวจิตหัวใจน้องๆ เพิ่มมากขึ้น จนเหมือนเป็นพื้นที่รับฟัง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการต่อยอดประเด็นในการทำหนังให้แหลมคมยิ่งขึ้นอีกด้วย
ชั้นที่ 3: เลือกปลาใส่กะละมัง
ทีมงานตั้งใจเอาไว้ว่าจะไม่แคสต์เด็กที่หน้าตาหรือรูปพรรณสัณฐาน แต่เคล็ดลับของเราคือการดูที่ความคิดและพลังงานจากข้อความต่างๆ ที่น้องอยากระบายออกมาผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ เช่น น้องนุ่น เล่าระบายถึงอาการของโรคซึมเศร้าและภาวะสมาธิสั้นที่กำเริบหนักขึ้นในช่วงเรียนออนไลน์ ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว
หลายครั้ง สิ่งที่น้องเขียนมาก็มีพลังมากจนทำให้ทีมงานบางคนอ่านแล้วถึงกับน้ำตาไหล เราใช้เกณฑ์วัดแบบ ‘พลังงานทะลุจอ’ จากสิ่งที่น้องอยากเล่าผ่านตัวอักษรแห้งๆ นี่แหละ ในการคัดว่าใครจะได้มาอยู่ในหนัง เพราะถ้าข้อความสั้นๆ มันทำงานกับเรา ถ้าได้สัมภาษณ์จริงที่มีหน้าตาและน้ำเสียงด้วย เราเดากันว่าน่าจะพีคไปกว่าเดิม จริงอยู่ข้อเสียของวิธีการนี้คือลุ้นเอาหน้างานว่าตัวจริงพลังน้องมันจะทะลุจอมั้ย แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือ น้องๆ ที่เราคัดกันผ่านวิธีการแบบนี้ จากทั้งหมดที่ส่งเข้ามาเกือบสามสิบคน เราเลือกมาสี่คน และได้ใช้ในหนังทั้งสี่คนเลย เฉียบ!
สามารถรับชมซีรีย์สารคดี #โตมากับจอ
EP.4 ตอน Hurt at first sight ‘ออนไลน์คลาสแรก…หัวใจก็แตกสลาย’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/Yx0pZea9xhA
2. ตามติดชีวิต ‘ผ่านจอ’
เป็นที่รู้กันว่าแก่นของหนังสารคดีคือ การตามติดชีวิตของผู้คนอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อโควิดมาทำให้ออกกองไม่ได้ เราเลยต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเพื่อเป็นการลดความพารานอยด์จากอุปสรรคที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า ‘จะเป็นไปได้ไหมถ้า…’

คำถามแรก ‘เป็นไปได้ไหมถ้า คอมพิวเตอร์’ = กล้อง
วิธีการสัมภาษณ์ทั้งแปดตอนนั้นถ่ายทำผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ข้อดีคือเมื่อมีระยะห่างกัน มันช่วยทำให้บางคนที่เขินกล้อง ไม่ชินกับการอยู่หน้ากล้อง ได้เป็นตัวเองมากขึ้น แต่ข้อเสียคือทีมงานต้องพยายามอย่างมาก ในการพยายามเข้าใจสีหน้าและความรู้สึกของมนุษย์ผ่านจอแบนๆ สองมิติ ซึ่งเป็นผลทำให้บางคนเราต้องสัมภาษณ์หลายครั้งเพื่อที่จะเข้าใจอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวละครอย่างแท้จริง

คำถามที่สอง ‘เป็นไปได้ไหมถ้า อาม่า’ = filmmaker
ในยุคที่ทุกคนถ่ายวีดีโอลงโซเชียลและคุณภาพมือถือระดับ HD ภาพยนตร์เลยเป็นสื่อที่ถูกสร้างกันในครัวเรือน เราเชื่อว่า ด้วยการเปลี่ยนไปทางเทคโนโลยี ทุกคนเรียนรู้และคุ้นชินกับอุปกรณ์ถ่ายทำกันจนเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้เราได้ไอเดียว่าจริงๆ แล้ว การถ่ายทำอาจจะเกิดขึ้นจากคนในครอบครัวก็ได้
ยกตัวอย่าง EP.1 Home x School ‘เมื่อบ้านกลายเป็นครู’ ซึ่งเป็นตอนที่เราต้องพึ่งพาทักษะนักทำหนังมือสมัครเล่นมากที่สุด เราได้โยนโจทย์ไปให้ อาม่า, คุณน้า, คุณแม่ ถ่ายทำลูกหลานของตัวเองระหว่างเรียนออนไลน์ สิ่งที่เซอร์ไพรส์พวกเราหลังจากได้เห็นฟุตเตจ คือห้วงเวลาแบบที่เรียกว่า magic moment ที่ความสนิทสนมกันในครอบครัวเป็นเคมีสำคัญที่ทำให้ได้ภาพและช่วงเวลาแบบนั้นออกมา เช่น การทะเลาะกันระหว่างแม่กับลูกสาววัยสามขวบ, โมเมนต์ของลูกที่แอบหลับระหว่างการเรียนออนไลน์ หรือสภาพการเรียนหน้าคอมที่ใช้พื้นที่ปนอยู่กับส่วนอื่นๆ ของบ้าน ฟุตเตจจากมือสมัครเล่นเหล่านี้ สะท้อนให้เราเข้าใจถึงความยากลำบากในการเรียนออนไลน์ของเด็กน้อยและผู้ปกครอง โดยเราซึ่งเป็นคนนอกอาจต้องใช้เวลาแรมปีในการจับภาพเหล่านั้นออกมา
คำถามสุดท้าย ‘เป็นไปได้ไหมถ้า หนังในอนาคต’ = ถ่ายทำผ่านออนไลน์
หากสิ่งที่เราลองทำกันในโปรเจ็กต์นี้คือการพยายามปรับตัวกันตามสถานการณ์โลกไม่ต่างจากอีกหลายชีวิตที่ต้องทำทุกอย่างผ่านออนไลน์ สิ่งที่สูญหายไประหว่างทางคืออะไร จริงอยู่เราอาจจะได้วิธีการใหม่ๆ หรือฟุตเตจที่ทรงพลัง แต่ในทางกลับกัน ระหว่างการทำซีรีส์นี้ ทีมงานต่างร่วงโรยหมดพลังไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม การทำหนังที่เข้าใจประเด็นผ่านมนุษย์ การเจอกันตัวเป็นๆ ได้ใช้เวลาร่วมกันเพื่อแบ่งปันพลังงาน ยังเป็นสิ่งสำคัญในการโอบอุ้มให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หลังจากจบโปรเจคนี้เราจึงคิดถึงการออกกอง เจอคนตัวเป็นๆ สูดลม เจอไอแดด คงจะดีไม่ใช่น้อยถ้ามันเกิดขึ้นภายในเร็ววัน
สามารถรับชมซีรีย์สารคดี #โตมากับจอ
EP.1 Home x School ‘เมื่อบ้านกลายเป็นครู’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/A0H0oU_OR4c
3. ลักขโมย ‘ผ่านจอ’
ตะกี้ว่าด้วยเรื่องการถ่ายทำผ่านจอกันไปแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่เราใช้ในงานนี้คือการ ‘ลักขโมย’ จะว่าไปหากใช้คำว่า ‘ขโมย’ ก็อาจจะดูรุนแรงไปนัก จริงๆ แล้ววิธีการที่พวกเราทำคือ การหาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเพื่อประกอบสร้างให้กับเรื่องเล่ามากกว่า

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์หรือประวัติศาสตร์ของศิลปะ เรามักจะเห็นชิ้นงานที่หยิบยืมหรือถูกสร้างจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง งานศิลปะอันลือลั่นสนั่นวงการอย่าง Fountain ของ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังจากการนำโถส้วมมาเป็นผลงานศิลปะ หรือสื่อภาพยนตร์ที่ใกล้ตัวหน่อยก็มิวสิกวิดีโอ เพื่อนเอ๋ย ของ พรู ที่นำเอาภาพฟุตเทจเก่าที่ถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตมาประกอบเพลง ศัพท์ที่เรียกใช้งานประเภทนี้มีหลายคำ เช่น Ready Made Art, Found Object Art, Found Footage ฯลฯ

หลายตอนในหนังของเราก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น EP. 2 Left Behind Dream ‘ฝากฝันไว้ข้างฝา’ ที่ตัวละครทั้งสามคนของเราอยู่ในพื้นที่ซึ่งเราไม่สามารถเข้าถึงได้ เราเลยจำเป็นต้องเพิ่มอีกหนึ่งข้อสำคัญไประหว่างการคัดเลือกตัวละคร คือทุกคนจะต้องมี material ของภาพที่สามารถสะท้อนเรื่องเล่าและปัญหาที่ตัวเองเจออยู่ได้ เช่น น้องก้อย นักเรียนชั้น ม.5 ที่อาศัยอยู่บนดอยที่ไม่มีสัญญาณ น้องก้อยเป็นยูทูเบอร์ ที่ถ่ายทำชีวิตตัวเองตลอด ในหนังเลยเล่าถึงความฝันของก้อยผ่านคลิปวีดีโอต่างๆ ที่น้องทำ หรืออย่างน้องวิล ที่อาศัยอยู่ในคลองเตย ในช่วงการถ่ายทำโควิดในคลองเตยระบาดหนัก เราจึงหยิบยืมภาพนิ่งจากมือถือที่น้องถ่ายมาเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องของตอนนี้

หรืออย่างใน EP. 3 Teacher Resilience ‘ถอดวิชาไร้กระบวนท่า ครูจะบ้าแล้วโว้ย!’ เราเล่าเรื่องของครูและผอ. ผ่านกิจกรรมทั้งในและนอกโรงเรียนที่ครูทำ เช่น ภาพการประชุมงานกันในโรงเรียน ซึ่ง ผอ. ก็ใจดีมากที่ช่วยบันทึกภาพเหล่านั้นมาให้ทีมงาน อย่างครูมัดซี ที่เราก็เอาคลิปของครูในแอพลิเคชั่นติ๊กต๊อกมาผสมในการเล่าเรื่อง หรือแม้กระทั่งภาพบรรยากาศการเรียนออนไลน์ผ่านโปรแกรมซูมของครูหลง เราก็ได้เอาภาพในคลาสเรียนเหล่านั้นมาใช้ในตอนด้วย

การหยิบยืมยังไม่หมดแค่นี้ ใน EP.6 #OnlineStrikeBack! ‘เปิดวิชาชีวิตนอกห้องเรียน’ เราใช้ข้อมูลภาพจากทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นภาพจากข่าว ภาพคอมเมนต์ในทวิตเตอร์ ภาพจากแชต คลิปวีดีโอของเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ หรือบทสนทนาในไลน์กลุ่ม เพื่อนำมายำรวมเล่าเรื่องการเคลื่อนไหวและกิจกรรมของน้องๆ นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน
จากทั้งสามตอน เราจะเห็นได้ว่าวิธีการเล่าเรื่องนั้นหลายครั้งเราไม่จำเป็นต้องถ่ายใหม่ก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องลิขสิทธิ์และวิธีการให้เครดิตของแหล่งที่มา รวมไปถึงอย่าลืมขอการยินยอมจากเจ้าตัวก่อนนำไปเผยแพร่ด้วยนะจ๊ะ
สามารถรับชมซีรีย์สารคดี #โตมากับจอ
EP.2 Left Behind Dream ‘ฝากฝันไว้ข้างฝา’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/HbrawSEdFW0
EP.3 Teacher Resilience ‘ถอดวิชาไร้กระบวนท่า ครูจะบ้าแล้วโว้ย!’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/FutuqKAxVSk
EP.6 #OnlineStrikeBack! ‘เปิดวิชาชีวิตนอกห้องเรียน’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/dOUbQsEY_u4
4. สร้างดราม่า ‘ผ่านจอ’

ในสารคดี #โตมากับจอ ตอน EP. 5 Lost Generation ‘วัยมัธยมที่สูญหาย ทำได้เพียงแค่คิดถึง? ในตอนนี้เล่าเรื่องถึงชีวิตปีสุดท้ายของเด็กม.6 ทำให้เรานึกถึงหนังสารคดีที่สร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชมอย่าง ‘Final Score’ 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2007) ที่ถ่ายทอดอารมณ์สนุก, เศร้า, เหงา, ลุ้น ของวัยรุ่นได้ออกมาอย่างถึงแก่น แต่ในสารคดีของเรา ทีมงานจะทำยังไงให้หนังได้รสชาติอารมณ์แบบ Final Score แต่โจทย์ยากคือเราถ่ายทั้งหมดผ่านออนไลน์
ทีมงานเลยตั้งใจไว้ว่า เราจะทำให้สารคดีชิ้นนี้เป็นหนังดราม่าที่เน้นอารมณ์ (emotional) และเลี่ยงวิธีการให้ข้อมูลแบบตรงๆ (informative) และทดลองวิธีการถ่ายทำโดยเล่นแร่แปรเคมีทางอารมณ์กันให้สุด ซึ่งวิธีการที่ผู้กำกับของเราทำคือ
‘เฮ็ดในสิ่งที่เซนส์มันเซื่อ’
ใช่! เชื่อในเซนส์นี่แหละ หลายครั้งการทำหนังไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ยิ่งกับงานที่เป็นโจทย์ประเด็นสังคม ที่ต้องการการถกเถียงกันระหว่างผู้กำกับกับทีมงาน, กองบรรณาธิการ, โปรดิวเซอร์ หรือผู้ว่าจ้าง ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้น แต่ในทางกลับกัน ภาพยนตร์เองก็เป็นสื่อที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับประเด็นผ่าน ‘ความรู้สึก’ พอขึ้นชื่อว่า ‘ความรู้สึก’ บางเรื่องก็ยากที่จะอธิบายด้วยเหตุผล ต่างคนต่างก็มีรสนิยมไม่เหมือนกัน หลายครั้งมีแค่ผู้กำกับเองเท่านั้นที่มองเห็นมันเพียงคนเดียว
เมื่อเราตั้งธงไว้แล้วว่าเราจะสร้างหนังสารคดีดราม่าผ่านจอ การเลือกฟังหรือไม่ฟังบางคอมเมนต์ เพื่ออนุญาตให้เราได้เชื่อในเซนส์ของตัวเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อนำพาสิ่งเหล่านั้นไปสู่ผู้ชม

ยกตัวอย่างเช่น ในกระบวนการตัดต่อ ผู้กำกับกับคนตัดต่อคัดเลือกบทสัมภาษณ์และฟุตเทจที่มีพลังงานทางอารมณ์สูง ไม่ว่าจะเป็น สีหน้า, แววตา, น้ำเสียง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นของเนื้อหามากนัก หรืออย่างในช็อตจบ มีหลายคอมเมนต์จากทีมงานที่อยากให้ใส่เพลงอื่น หรือแม้กระทั่งไม่ใส่เพลงลงไป แต่สำหรับผู้กำกับแล้ว ความมหัศจรรย์นั้นเกิดขึ้นตอนสัมภาษณ์ ระหว่างที่ให้น้องเลือกเพลงมาหนึ่งเพลงเพื่อพูดถึงชีวิตปีสุดท้าย และเพลง ‘ทำได้เพียง’ ก็เป็นเพลงที่น้องๆ เลือกขึ้นมาร้องกันสดๆ ณ ตอนนั้นผู้กำกับบอกว่า รู้สึกขนลุกและน้ำตารื้น เสียงในหัวตอนนั้นมันบอกว่า โอเคเราได้ตอนจบแล้ว! การเลือกที่จะฟังเสียงของเซนส์ตัวเองมากกว่าเสียงของคอมเมนต์ มันเลยทำให้เราได้ช็อตจบที่ทุกคนก็หลั่งน้ำตาไปตามๆ กัน
สามารถรับชมซีรีย์สารคดี #โตมากับจอ
EP.5 Lost Generation ‘วัยมัธยมที่สูญหาย ทำได้เพียงแค่คิดถึง?’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/pnFHUNQQG2o
5. ‘ผ่านจอ’ ไม่ได้ก็ ‘สร้างภาพ’
เมื่อเราสู้กับการถ่ายทำผ่านออนไลน์กันมาจนสุดทาง มันจะมีบางเนื้อหาจริงๆ ที่ต่อให้เราจะใช้วิธีการไหนทางออนไลน์ก็ไม่เวิร์ค ยกตัวอย่างเช่น EP. 7 Blindspot ‘เหตุใด ไยเราจึงไม่เห็นกัน?’ ที่พูดถึงการเรียนออนไลน์ของผู้พิการทางสายตา ที่ทีมงานต้องพยายามจำลองประสบการณ์เหล่านั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อพาผู้ชมลองไปสวมแว่นทางประสบการณ์ของผู้พิการทางสายตา ว่าพวกเขามองเห็นอย่างไร แล้วประสบการณ์นี้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนออนไลน์ของเขาอย่างไรบ้าง หรืออย่าง EP. 8 Golden Age ‘วัยทองแห่งการเรียนรู้ สู่วิวัฒนาการของมนุษย์ในอนาคต’ ที่เนื้อหาของตอนนี้เหมือนแกะมาจากหนังสือทฤษฎีการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเนื้อหาในเชิงทฤษฎีแบบนี้ จะไปถ่ายทำทางออนไลน์หรือฝากใครถ่ายก็ไม่ได้ ทางออกของเราจึงเป็นการ ‘สร้างภาพ’ (Re Create) เหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ต่อไปนี้คือเบื้องหลังไอเดียของเทคนิคต่างๆ ที่เราทำกันในสองตอนนี้

เทคนิคการ ‘สร้างภาพ’ ของผู้พิการทางสายตา
โดยพื้นฐานแล้ว อาการตาบอดสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ B1 ตาบอดสนิท (Complete Blindness) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้เลย หรือเห็นเป็นภาพมืดทั้งหมด และ B2, B3 ตาบอดบางส่วน (Partial Blindess) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการมองเห็นที่จำกัด อาจมองเห็นเพียงเงาลางๆ และไม่สามารถมองเห็นรูปร่างของสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ใน EP. 7 น้องๆ ที่เป็นตัวละครของเรา เป็นครบทั้งสามแบบ วิธีการทำงานของเราคือหลังจากสัมภาษณ์น้องๆ ให้เข้าใจถึงประสบการณ์ทางการมองเห็น เราจึงเริ่มจำลองประสบการณ์เหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ด้วยการถ่ายทำผ่านวัสดุต่างๆ เพื่อมาเล่นกับภาพของกล้อง วัสดุที่เราใช้แล้วเวิร์ค ใกล้เคียงกับสิ่งที่น้องเล่าคือ ถุงน่องกับครีมทาผิว ถุงน่องจะให้ภาพที่ชัดเจนกว่า แต่มีลักษณะคล้ายเยื่อหรือพังผืดมาหุ้มตา ส่วนครีมทาผิว มีลักษณะเบลอ มัว และเห็นทุกอย่างเลือนลาง เทคนิคเหล่านี้เดาว่าเด็กเรียนภาพยนตร์หลายคนคงใช้กันเพื่อทำภาพเบลอหรือภาพฟุ้งในมิวสิกวิดีโอ สำหรับใครยังไม่เคยลอง ทีมงานแนะนำให้ใช้เทคนิคทั้งสองผสมกัน กับกล้องไอโฟนรุ่นเก่าๆ รับรองออกมาเฟี้ยว
เทคนิคการ ‘สร้างภาพ’ จากเรื่องเล่า
ใน EP. 8 ที่เล่าเรื่องไปในทางให้ข้อมูล รวมไปถึงมีการอ้างอิงทฤษฎีจากตำราชุดต่างๆ ทีมงานเลยคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนดูไม่เบื่อ และสามารถสนุกไปกับเนื้อหาเหล่านั้นได้ตลอดสามสิบนาที การสร้างภาพแทนด้วย ‘แอนิเมชั่น’ จึงเกิดขึ้น ด้วยรากศัพท์คำว่า animation จากภาษาละตินที่แปลเป็นภาษอังกฤษว่า ‘a bestowing of life’ หรือการ ‘มอบชีวิต’ เราจึงอยากใช้เทคนิคแอนิเมชั่นมาทำให้เนื้อหาที่แห้งแข็งนั้นดูมีชีวิตชีวา ประกอบกับตอนนี้ที่พูดถึงความเป็นเด็ก, จินตนาการและเทคโนโลยี จึงออกแบบให้สไตล์ของภาพมีความใสซื่อ ไม่เนี้ยบ และเป็นการยำรวมจากหลายแหล่งที่มา เช่น ภาพนิ่งจากอินเตอร์เน็ต, ภาพลายเส้นที่วาดขึ้นใหม่, โมชั่นกราฟฟิค หรือได้รับความร่วมมือจากตัวละครในตอนที่ใช้เทคนิค deepfake (การสร้างใบหน้าโดยคอมพิวเตอร์) แก้เทคนิคภาพแตกที่เกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์ผ่านทางไกล มาผสมให้กลมกล่อม รวมออกมาแล้วสอดคล้องไปกับเนื้อหามากกว่าเดิม

จริงๆ แล้ววิธีการเล่าเรื่องในสารคดีในปัจจุบันเดินทางไปไกลมากกว่าตามถ่ายผู้คนด้วยกล้อง มีทั้งหนังที่ภาพสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence -AI) ในกูเกิลมีหนังสารคดีที่ให้ผู้ชมดูผ่านแว่น VR (Virtual reality -แว่นสำหรับสวมเพื่อเข้าสู่โลกเสมือนจริง) ประกอบกับสวมชุดจำลองให้ตัวเองเป็นแมลง มีหนังสารคดีที่ผู้ชมนอนดูผ่านโดม นวัตกรรมของสื่อปัจจุบันแปรผันไปตามเทคโนโลยี ใครอยากไปดูงาน Non-Fiction ที่เดินทางไปไกลเราแนะนำกดเข้าที่ลิงค์นี้ได้เลย https://www.idfa.nl/en/info/about-idfa-doclab
สามารถรับชมซีรีย์สารคดี #โตมากับจอ
EP.7 Blindspot ‘เหตุใด ไยเราจึงไม่เห็นกัน?’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/AVdNRIu-m8c
EP.8 Golden Age ‘วัยทองแห่งการเรียนรู้ สู่วิวัฒนาการของมนุษย์ในอนาคต’ ได้ที่ลิงค์นี้: https://youtu.be/J3HD39J9Yag