จากรายงานดัชนีพัฒนาทุนมนุษย์ของเวิลด์แบงก์ หรือ Human Capital Index (HCI)
ที่รายงานค่าเฉลี่ยของจำนวนปีการศึกษาของเด็กไทย 12.4 ปี แต่เด็กไทยมีจำนวนปีของการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอยู่เพียง 8.6 ปี ช่องว่างประมาณ 4 ปีนี้สะท้อนว่า แม้เด็กไทยจะอยู่ในระบบการศึกษานานถึง 12 ปี แต่ไม่ใช่ทุกช่วงเวลาที่เขาได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ หากนำไปพิจารณารวมกับดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยที่มีค่า 0.6 หมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วเด็กไทยที่เกิดวันนี้ จะมีผลิตภาพเพียงประมาณ 60% ของศักยภาพสูงสุดของเขา (Full Productivity) เท่านั้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนว่าเราลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้ดีแค่ไหน ปัจจุบันไทยลงทุนในด้านการศึกษาถึง 6.1%ของจีดีพีประเทศ และด้านสุขภาพ 3.7% ของจีดีพี รวมแล้วลงทุนสูงเกือบ 10% ของจีดีพี หากประเทศไทยต้องการเติบโตยั่งยืนในอนาคต ต้องปฎิรูปกระบวนการลงทุนในมนุษย์ทั้งด้านสุขภาพและด้านการศึกษา
เพื่อให้เศรษฐกิจของเราก้าวหน้ายั่งยืนควบคู่กันไป โดยปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศมีค่าดัชนีทุนมนุษย์ที่สูงกว่าไทยไปแล้ว เช่น จีน (0.67) เวียดนาม (0.67) และ มาเลเซีย (0.62) ประเทศเหล่านี้สามารถลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้มีประสิทธิภาพกว่าไทยทำให้ในอนาคตประเทศเหล่านี้จะมีความมั่นคงยั่งยืนและมีแนวโน้มจะแซงหน้าประเทศไทยได้
ผมยืนยันว่า ค่าดัชนี HCI ที่ 0.6 ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่มีคนเก่งที่มีผลิตภาพสูง เราเองก็มีไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นงบประมาณลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ของเรากว่า 10% ของ GDP ก็ถือว่าเพียงพอเช่นกัน แต่ปัญหาของประเทศเราอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาทุนมนุษย์ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีประสิทธิภาพและมีความเสมอภาค จึงจะสามารถส่งผลต่อค่าดัชนีทุนมนุษย์ที่ดีขึ้นได้
ประเด็นสำคัญคือ ต้องลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศ มีโอกาสแค่ 5% เท่านั้นที่จะไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ ในขณะที่เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด 20% แรกของประเทศ มีโอกาส 100% นี่เป็นช่องว่างประมาณ 20 เท่าของคน 2 กลุ่มนี้
ซึ่ง ล่าสุด กสศ. ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย และพบว่าในสภาพความเป็นจริงการกระจายงบประมาณในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยงบประมาณเฉลี่ยต่อนักเรียนในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมากถึง 3 เท่าตัว โดยหากนักเรียนเรียนอยู่ในบางจังหวัดจะได้รับงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาอยู่ที่ 27,145 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่นักเรียนที่อยู่ในอีกจังหวัดอาจได้รับงบประมาณสูงถึง 74,757 บาทต่อคนต่อปี
กสศ. จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่องการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้มุ่งเน้นความเสมอภาคมากขึ้น (Equity-based Budgeting) โดยไม่ใช่การจัดสรรด้วยสูตเดียวกันทั้งประเทศ แต่ใช้หลักการนำข้อมูลความจำเป็นของผู้เรียน และสถานศึกษา รวมทั้งบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่ มาคิดคำนวณอยู่ในสูตรการจัดสรรงบประมาณด้วย
สิ่งนี้จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านประสิทธิภาพ และความเสมอภาคไปพร้อมกันได้ (Equity & Efficiency Gain) นอกจากผู้เรียน โรงเรียนจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องกับความจำเป็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้ว รัฐบาลจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้จำนวนมากจากรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่จะเข้ามาดูแลทั้งเด็กนักเรียน ครู โรงเรียน เช่น การขจัดปัญหาเด็กนักเรียนนอกระบบการศึกษา ดำเนินการอุดหนุนเงินแก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข กองทุนการศึกษาสำหรับเด็กยากจนที่เรียนดี และลดช่องว่างคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียน
มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยเพิ่มดัชนีพัฒนาทุนมนุษย์หรือ HCI ได้ในอนาคต
ปัญหาการศึกษาในประเทศไทยเหมือนแฝดสยาม หมายถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคู่กับความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีความเกี่ยวเนื่องกันและต้องแก้ไขควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ
เราไม่สามารถพาเด็กที่หลุดออกมานอกระบบการศึกษากลับเข้าโรงเรียนแล้วหวังว่าเขาจะไม่หลุดออกมาอีกได้ หากว่าปัญหาความยากจนและด้อยโอกาสของเด็กและครอบครัวเหล่านี้ซึ่งกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ทั้งด้านโภชนาการ และการเดินทางมาโรงเรียนยังมีปัญหาอยู่
ดังนั้นเราต้องแยกปัญหาความยากจนออกมาบรรเทาแก้ไขให้ดีขึ้นให้ได้ มาตรการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจึงจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้จริง