นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมเวทีการประชุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี นครปฐม โดยชี้แจงถึงทิศทางการทำงานของ กสศ. และบทบาทสำคัญของ เขตพื้นที่การศึกษา ที่จะสนับสนุนให้การช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษประสบความสำเร็จ ขณะที่ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาสพฐ. เชื่อมั่นการสนับสนุนของ กสศ. ตอบโจทย์แก้เหลื่อมล้ำ
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.
ทำไมต้องเร่งช่วยเด็กยากจนพิเศษ ?
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ชี้ว่า “นักเรียนกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดโดยสมาชิกครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณคนละ 1,281 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 42.7 บาท ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างนักเรียนยากจนพิเศษ จาก 16 โรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้พบว่านักเรียนกลุ่มนี้ต้องเผชิญหลายปัญหารุมเร้า โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นเด็กเยาวชนที่ครอบครัวแยกทางกัน บุคคลในครอบครัวมีประวัติติดยาเสพติด ที่สำคัญส่วนใหญ่แทบไม่เคยได้ทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน เด็กจำนวนมากต้องใช้เวลาเดินมาเรียนเองกว่า 30 – 60 นาทีทุกวัน ส่งผลให้มีภาวะทุพโภชนาการ เจ็บป่วยบ่อยทำให้ขาดเรียนเป็นประจำ เด็กกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา”
กสศ. ช่วยอย่างไรให้ตรงจุด ?
“จากปัญหาเหล่านี้ในเบื้องต้น กสศ. จะเติมความช่วยเหลือเพื่อบรรเทา ใน 3 ประเด็นปัญหาสำคัญ คือ ค่าอาหารเช้า ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนจะจัดดูแลนักเรียนเพื่อส่งเสริมโอกาสการศึกษา ทั้งนี้ กสศ. จะเปิดรับสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนร่วมวิจัย สพฐ.-กสศ.” เพื่อสำรวจและติดตามความต้องการและความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การมาเรียน ผลการเรียน ศักยภาพความถนัด ความต้องการพิเศษ และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ กสศ. และ สพฐ. สามารถสนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษเหล่านี้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต”
ตรวจสอบซ้ำเพื่อช่วยเหลือถูกคน
“ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ กสศ.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งส่วนกลาง เขตพื้นที่ และสถานศึกษา จะตรวจสอบข้อมูลผลการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้น ม.1 ถึง ม.3 ประมาณ 6 แสนคน ที่ผ่านการคัดกรองในปีการศึกษา 1/25611 ซึ่งมีการบันทึกหลักฐานเชิงประจักษ์รายบุคคลไว้อย่างละเอียดเพื่อยืนยันตัวตนและสถานะความยากจน เช่น ข้อมูลเลข 13 หลักของนักเรียนและผู้ปกครอง ข้อมูลรายได้ การถือครองทรัพย์สิน รูปถ่ายสภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวพร้อมพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GIS) ของนักเรียน เพื่อปรับปรุงบัญชีรายชื่อ ก่อนที่จะจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้ ”
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
สพฐ. ระบุภารกิจ กสศ. ตอบโจทย์ลดเหลื่อมล้ำ
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการช่วยเหลือนักเรียนของ สพฐ. เป็นการเติมให้อย่างเท่าเทียมทุกกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่เด็กนักเรียน แต่ละคนมีต้นทุนแตกต่างกัน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทันท่วงที ดังนั้นการ สนับสนุนของ กสศ. ทั้งในรูปแบบของเงินอุดหนุน องค์ความรู้ งานวิจัยและระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายนี้ ดังนั้น มั่นใจว่าความร่วมมือในโครงการ “โรงเรียนร่วมวิจัย สพฐ.-กสศ.” จะทำให้ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและครู อยู่ใกล้ชิดปัญหา รู้ว่าสถานการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเฉพาะ การส่งรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานสถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคล การสำรวจความต้องการเพิ่มเติมของเด็กยากจนพิเศษ ในขณะที่สถานศึกษาช่วยส่งข้อมูลผลการติดตามเงื่อนไขการรับเงิน (การมาเรียน และผลการเรียน) ให้กองทุนผ่านระบบสารสนเทศ
ทำไม ระบบสารสนเทศของกสศ. จึงเป็นประโยชน์ทั้งระดับ ส่วนกลางและพื้นที่ ?
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และโมบายแอพพลิเคชั่น ที่ใช้งานง่าย สะดวก ประมวลผลรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ และการติดตามผลการดำเนินงานได้ครบวงจรซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับอัตราการอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่อคนให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพียงพอต่อการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ระบบนี้ยังช่วยลดภาระงานเอกสารและการจัดการข้อมูลของครูและผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งให้เขตพื้นที่การศึกษาใช้สนับสนุนการทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการทำงานของโรงเรียนได้อย่างเต็มที่
“ประโยชน์ที่โรงเรียนและเขตพื้นที่ซึ่งเข้าร่วมโครงการจะได้รับ นอกจากบริหารจัดการข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ยังสามารถใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE จากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตในการเรียกดูข้อมูลรายโรงเรียนหรือรายบุคคลภายที่ครอบคลุมทุกมิติได้ใน 5 คลิ๊ก รวมทั้งสั่งพิมพ์ข้อมูลดังกล่าวออกมาเป็นเอกสารรายงานทางราชการได้โดยสะดวก เพื่อช่วยประหยัดทั้งเวลาและกระดาษตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อผู้บริหารมีข้อมูลเชิงลึกอยู่ในมือที่เรียกใช้ได้สะดวกก็จะช่วย สนับสนุนการบูรณาการทำงานทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน” ดร.ไกรยส กล่าว