จากคนที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นครูมาก่อน แต่เมื่อลองได้ไปสอบเป็นครูประจำศูนย์การเรียนรู้ประจำชุมชน (ศรช.) เขาพนมวัง ต.ป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ สังกัดกศน. จ.สุราษฎร์ธานี กลับสอบได้ที่หนึ่ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสอนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาจนพัฒนากลายเป็นความผูกพัน ถึงขั้นตั้งเป้าหมายที่จะช่วยสร้างความรู้ หยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“สิ่งที่เราได้รับมากกว่าเงินเดือน คือการที่เราได้ให้ความรู้เด็ก ให้อนาคตเด็ก หลังจากนั้นก็รู้สึกตัวว่า ตัวเองรักและผูกพันกับ กศน.อย่างมาก ตอนหลังมีหลายคนชักชวนให้ไปทำงานที่อื่น แต่เราก็ไม่คิดที่จะไป เรายังยืนยันเจตนารมณ์ อุดมการณ์ของครูกศน. ที่ทำมาถึงวันนี้ 13 ปี” ครูรดา อัครเมธีกุลล์ กล่าว
เมื่อ ครูรดา ตัดสินใจว่าจะเป็นครูเต็มตัวทำให้เริ่มฝึกฝนทักษะการสอนมากขึ้น ทั้งอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู รวมทั้งไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารการศึกษา เพราะไม่ได้จบด้านการศึกษามาโดยตรง แต่จบมาทางมาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จึงคิดว่าการจะสอนเด็กให้มีประสิทธิภาพ ตัวเองจะต้องมีความรู้ความสามารถก่อน
ดึงให้เด็กกลับมามี “ลู่วิ่ง” ของตัวเอง
ปัจจุบัน ครูรดา เป็นครู กศน. ตำบลคลองฉนาก อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากการสอนหนังสือ ยังต้องไปติดตามหาเด็กที่ด้อยโอกาส พลาดโอกาส บางคนไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา แต่เมื่อครูได้ไปเจอตัวเขา และพาเขามาเรียน กศน. ก็ทำให้ชีวิตเขาได้เปลี่ยนแปลงไป สิ่งนี้ทำให้เกิดความภูมิใจว่าตัวเองเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มสังคม
สร้างอนาคตและความก้าวหน้าให้เด็กที่เคยขาดโอกาส
ครูรดา เล่าให้ฟังว่า จากที่ได้ทำหน้าที่หยิบยื่นความรู้และโอกาสให้เด็กๆ หลายคนกลายเป็นกลับมามีอนาคต จากคนที่เคยขาดโอกาส บางคนได้เป็นนายสิบ นายร้อย บางคนที่มาเรียนกศน. ก็สามารถจบไปเป็นแพทย์ วิศวกร แต่ละคนมีเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเอง
ผู้ปกครองบางคนอาจมีอคติกับ กศน. ว่า กศน. ไม่ใช่สถาบันทรงคุณค่า แต่ก็เป็นทางเลือกให้กับหลายๆ คนที่มีข้อจำกัด หรือมีความคิดที่ไม่อยากเรียนในระบบ ซึ่งการเรียนการสอนครู กศน. จะสอนทุกวิชา แต่วิชาหลัก อย่างวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ก็จะมีครูสอนเสริมภายนอกมาช่วยสอน ควบคู่ไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องด้วยตัวเอง (กรต.) เด็กที่จบมาก็จะมีความรู้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด
“หลายครั้งที่มีคำสบประมาทว่าเด็ก กศน. เป็นเด็กเหลือขอ เราได้ยินก็รู้สึกเจ็บปวด คนเราทุกคนมีความชอบไม่เหมือนกัน คนเรามีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนชอบสิ่งนั้น บางคนชอบสิ่งนี้ และไม่ใช่เรื่องผิดที่เขาจะเลือกเดินตามสิ่งที่เขาชอบ คุณค่าความเป็นคน ความเท่าเทียมกัน ไม่ได้วัดกันที่สถาบันการศึกษา แต่วันกันที่จิตใจ วัดกันที่สิ่งที่เราทำอะไรเพื่อสังคม เราก็สอนลูกศิษย์ให้เอาชนะตัวเองไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่น”
โอกาสดีๆ จาก กสศ.ที่สร้างอนาคตให้เด็ก
อีกหนึ่งในภารกิจที่ทำงานร่วมกับ กสศ. คือการค้นหาเด็กนอกระบบ เพื่อติดตามช่วยเหลือให้กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง ตรงนี้ต้องขอขอบคุณ กสศ. ที่หยิบยื่นโอกาสตรงนี้มายังเด็กๆ หลายครั้งที่เราเหนื่อย แต่ท้ายที่สุดเมื่อช่วยเหลือเด็กให้กลับมามีอนาคตที่ดีขึ้นเราก็มีความสุข
จากโจทย์ที่ได้รับจาก กสศ. มีนักเรียนนอกระบบในพื้นที่ 187 คน แต่บางคนจบการศึกษาไปแล้ว บางคนไม่อยู่ในพื้นที่ บางคนอยู่ใน ศพด. โดยมีคนที่เข้าเกณฑ์ต้องการรับความช่วยเหลือ 20 คน ติดต่อเข้าเรียนไปแล้ว 10 คน และคาดว่าจะตามมาเข้าระบบในเทอมถัดไปได้อีก 10 คน ตรงนี้เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จที่สามารถดึงเด็กนอกระบบให้กลับเข้ามาได้สำเร็จ
บางกรณีอย่าน้องขวัญ จริยา ชะนวล ที่เราไปเจอเขาอยู่ตายาย ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่อาศัยอยู่ในห้องแคบ ไม่ได้ออกไปไหน เพราะเส้นทางจากบ้านจะต้องใช้เรือออกมา การไปไหนมาไหนจึงไม่สะดวก แต่วันหนึ่งเราช่วยให้เขาได้กลับมาเรียนอีกครั้ง แม้จะได้เรียน กศน. แต่ไปเรียนที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ก็ถือเป็นความภูมิใจที่ช่วยให้เขาได้กลับมามีอนาคตที่ดีขึ้น ที่ต่อไปจะได้มีงานดีๆ ทำ มีความสุขในชีวิต ต้องขอขอบคุณโอกาสดีๆ จาก กสศ. ที่เข้ามาต่อยอดสร้างอนาคตให้เด็กๆ
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค