ลงทุนใน ‘มนุษย์’ กุญแจสำคัญก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ พาประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
โดย : กองบรรณาธิการ the 101
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด

ลงทุนใน ‘มนุษย์’ กุญแจสำคัญก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ พาประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

สำหรับประเทศไทย หนึ่งในความมุ่งหวังที่เราได้ยินกันมาเนิ่นนานคือการที่ประเทศไทยจะสามารถหลุดพ้นจาก ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ ได้สำเร็จ

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยได้ยกระดับมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle income) ตั้งแต่ปี 2551 ทว่าเวลาผ่านไปราวหนึ่งทศวรรษกว่า ประเทศไทยยังคงติดหล่มรายได้ปานกลางอยู่ และดูไม่มีท่าทีว่าจะออกจากกับดักนี้ได้ง่ายๆ

ประเด็นที่น่าขบคิดคือ ทำไมประเทศไทยไม่สามารถหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น เราควรจะทำอย่างไรเพื่อหลุดออกจากกับดักนี้ และก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงตามที่ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ในแผนพัฒนาระดับประเทศ

หนึ่งในข้อเสนอสำหรับการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยควรลงทุนใน ‘มนุษย์’ หรือพัฒนามนุษย์ให้มากขึ้น ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมกว่านั้น ข้อค้นพบจาก “ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ” รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำการศึกษา ปี 2566 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในมนุษย์หรือการพัฒนาทุนมนุษย์มีส่วนช่วยให้ครัวเรือนยากจนสามารถก้าวข้ามพ้นความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งนี่เองที่สามารถเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่หายไป ทำให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายและกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้

101 ชวนอ่านเก็บความบางส่วนจากงานสัมมนาวิชาการประจำปี Equity Forum 2023 “ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ” ไล่เรียงตั้งแต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย ข้อค้นพบในแต่ละจุดเช็กพอยต์ (checkpoint) ที่สำคัญในชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ไปจนถึงข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับแต่ละช่วงเช็กพอยต์สำหรับผู้กำหนดนโยบาย นักการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและเดินบนเส้นทางการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดอย่างการลงทุนในมนุษย์ เพื่อจะนำพาประเทศไทยก้าวข้ามผ่านพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำและความยากจน

และหากมองให้ถี่ถ้วนแล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงเท่านั้น แต่เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนที่ดีขึ้น ตาข่ายการปกป้องทางสังคมที่โอบรับได้มากขึ้น นี่จึงไม่ใช่เพียงแค่การบรรลุค่าเป้าหมายหรือตัวชี้วัดตามแผน แต่เป็นการวาดฝันและสรรสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับและคนรุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน

อ่านภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและข้อเสนอการพัฒนาทุนมนุษย์ – ไกรยส ภัทราวาท

“การพัฒนาทุนมนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในแผนพัฒนาต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยไกรยสยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า แผนพัฒนาของประเทศอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจาก ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ หรือเมื่อมองแผนพัฒนาประเทศที่หลายคนอาจคุ้นชื่อกันดีอย่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หนึ่งในหมุดหมายการพัฒนาของแผนก็ได้พูดถึงการมุ่งแก้ปัญหาความยากจนภายในระยะเวลา 5 ปีเช่นกัน

ทว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางก็ต่อเมื่อประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจถึงร้อยละ 5 ต่อปี ทว่าตั้งแต่ปี 2559-2565 อัตราดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 2-3 เท่านั้น

“เรามีเป้าหมาย แต่รถของเราขับเคลื่อนไปด้วยความเร็วแค่ครึ่งหนึ่งของอัตราเป้าหมายที่เราวางเอาไว้ คำถามจึงอยู่ที่ว่า เราจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม ยังมีจิ๊กซอว์อะไรที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง”

หลายคนอาจมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งไกรยสเปรียบเปรยว่า เราทุกคนเป็นเหมือนนักลงทุนในการพัฒนาประเทศผ่านการเสียภาษี ดังนั้น เราจึงควรอยากจะเห็นผลลงทุนของเรางอกเงยด้วยการเห็นผลตอบแทนต่อสังคมและต่อประเทศให้สูงที่สุด เพราะประเทศไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์อยู่

ไกรยสฉายภาพว่า หากมองชีวิตของเด็กคนหนึ่งเป็นเส้นทางการเดินทาง จะพบว่าในช่วงชีวิตของเด็กแต่ละคนมีจุดเช็กพอยต์สำคัญอยู่ เริ่มตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

“ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของครัวเรือนที่มีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษาระบุว่า รายได้ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเทอม 1/2566 อยู่ที่ประมาณ 1,039 บาท ลดลงจาก 1,250 บาทในช่วงก่อนโควิด

“ลองนึกภาพดูว่า ผู้ใหญ่หนึ่งคนมีเงินในการใช้ชีวิตวันละ 30 บาท เงินจำนวนนี้จะเพียงพอไหมกับการเลี้ยงตนเอง ยิ่งถ้าครัวเรือนนั้นมีบุตรหลานอยู่ด้วย เขาจะมีทรัพยากรเพียงพอได้อย่างไรในการส่งเด็กไปให้สุดทางในระบบการศึกษา”

ไกรยสชี้ว่า นี่คือสัญญาณที่น่าเป็นห่วง เมื่อรายได้ครัวเรือนลด เท่ากับว่าจำนวนนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย ซึ่งจำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ไปถึงจุดสูงสุดในปีที่แล้วที่ 1.3 ล้านคน โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษกระจายตัวอยู่มากที่สุด

แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ ไกรยสยังหวังว่าตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพราะสถานการณ์โควิดทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และปัจจุบัน ตัวเลขเริ่มลดลงมาเล็กน้อย ซึ่งเกี่ยวกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาดูแลประชากรกลุ่มนี้เช่นกัน

เพื่อให้เห็นภาพการคัดกรองกลุ่มนักเรียนที่ถูกเรียกว่ายากจนและยากจนพิเศษชัดขึ้น ไกรยสอธิบายว่า การคัดกรองดังกล่าวเป็นขั้นตอนการดำเนินการแบบมีส่วนร่วม โดยให้คุณครูพบและสอบถามผู้ปกครองในเรื่องการถือครองทรัพย์สิน การมีรายได้ สภาพความเป็นอยู่ และนำข้อมูลที่ได้ไปทำการประเมินร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดลำดับความยากจน โดยประเมินสถานะรายได้จากข้อมูลครัวเรือนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง

“ข้อค้นพบหนึ่งของเราคือ ครัวเรือนของเด็กกลุ่มเสมอภาคหรือเด็กที่ได้รับปัจจัยพื้นฐาน คือเป็นนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษ มักจะเป็นครัวเรือนที่เด็กต้องอยู่กับผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และผู้ที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการรัฐ เป็นครัวเรือนที่ค่อนข้างใหญ่ มีสมาชิกเฉลี่ย 5 คน

“สำหรับระดับการศึกษาของผู้ปกครองเด็กกลุ่มนี้ จะเห็นว่าการศึกษาสูงสุดคือระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า เราหวังว่าในอนาคต ถ้าการศึกษาของผู้ปกครองขยับไปสูงกว่านี้จะทำให้การศึกษาของลูกพัฒนาตามไปด้วย”

ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เป็นโจทย์แค่ในมิติเศรษฐกิจ แต่มีมิติของครอบครัวเข้ามาร่วมด้วย เพราะถ้าครอบครัวเข้มแข็งพอที่จะทำงานกับสถาบันการศึกษาได้ จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างตรงจุดและยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับข้อมูลในปี 2566 กสศ. ได้ปรับเส้นความยากจนมาอยู่ที่ 2,803 บาท พบว่ามีเด็กยากจนพิเศษประมาณ 1.2 ล้านคน มีเด็กยากจนปานกลางประมาณ 6 แสนคน และอีก 1 ล้านคนที่แม้จะยากจนน้อยที่สุด แต่ก็ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน

“ถ้าเรามาดูที่เช็กพอยต์การสำเร็จการศึกษาภาคบังคับหรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า เด็กร้อยละ 20 หลุดออกจากระบบการศึกษา หลายคนอยากเรียนแต่จำเป็นต้องไปทำงาน เลี้ยงดูครอบครัว แล้วเราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร

“เราทำการสัมภาษณ์เชิงลึกว่า ทำไมเด็กอยู่ในระบบการศึกษาต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับไม่ได้ เหตุผลหลักๆ คือเขาไม่ทราบแหล่งทุน เด็กมัธยมปลายไม่รู้นะครับว่าตัวเองกู้ กยศ. ได้ ยังไม่นับเด็กในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ที่เจอปัญหาความอสมมาตรของข้อมูลเยอะมาก อีกทั้งแหล่งทุนก็มีความซับซ้อนด้วย”

เช็กพอยต์ต่อไปคือการเข้ามหาวิทยาลัย โดยข้อมูลพบว่า เด็กที่เดินทางข้ามผ่านเช็กพอยต์แรกมาได้ แต่ร่วงหล่นออกจากระบบและไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอยู่ที่ร้อยละ 61.5 ซึ่งไกรยสเน้นย้ำว่า แม้การเรียนมหาวิทยาลัยจะไม่ได้เป็นความสำเร็จสำหรับเด็กทุกคน แต่ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีเด็กเรือนแสนคนกำลังออกจากระบบการศึกษา ขณะที่เด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีมีเพียงประมาณ 5 แสนคนเท่านั้น

“พอมาถึงวัยมหาวิทยาลัย เราทำการสัมภาษณ์เด็กก็ได้คำตอบเดิม คือหาแหล่งทุนไม่เจอ มีจำกัด ต้องเลือกเรียนในสาขาที่กำหนด ยังไม่นับว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับอุดมศึกษาค่อนข้างสูงถึง 13,000-30,000 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับรายได้เฉลี่ยพันกว่าบาทจะสูงกว่าถึง 12 เท่า”

ไกรยสเล่าถึงการทำวิจัยครั้งหนึ่งว่า กสศ. ได้ทำวิจัยโดยเสนอว่าจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงรอยต่อในการเข้ามหาวิทยาลัยให้ประมาณ 6,000 บาทระหว่างเด็กรอสมัคร กยศ. แต่ถึงจะมีข้อเสนอ กลับมีเด็กเพียงร้อยละ 5 ที่สมัคร กยศ. โดยเหตุผลหลักมาจากการเห็นผู้ปกครองเป็นหนี้มากพอแล้วและไม่อยากกู้เพิ่ม

“เรากำลังพยายามดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเด็กเดินทางไปต่อในระบบการศึกษาได้จะทำให้ได้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายได้ตลอดช่วงชีวิตของเด็กไทยที่จบปริญญาตรีอยู่ที่ 27,000 บาท แต่เป้าหมายการออกจากกับดักรายได้ปานกลางอยู่ที่ประมาณ 38,000 บาทต่อเดือน คือยังห่างอยู่อีกประมาณร้อยละ 40

“เราพยายามบอกเสมอว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่การสงเคราะห์หรือรายจ่าย แต่คือการลงทุนในทุนมนุษย์ที่จะพาทั้งครัวเรือนออกจากกับดักความยากจน และพาประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง”

ไกรยสยังอ้างอิงงานวิจัยของยูเนสโก (UNESCO) ว่า หากไทยสามารถบรรลุ zero drop out (ไม่มีใครออกจากการศึกษากลางคัน) จะทำให้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เติบโตร้อยละ 3 ซึ่งสามารถเติมเต็มช่องว่างการเจริญเติบโตที่หายไปได้

ในตอนท้าย ไกรยสกล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งสรุปได้ 4 ข้อ ดังนี้

ข้อแรก เด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำที่ไม่ควรจะปล่อยให้หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะการลงทุนมนุษย์จะช่วยให้ประเทศหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งยังจะทำให้ฐานภาษีกว้างและลึกขึ้น มีรายได้จากการเก็บภาษีเยอะขึ้น และต้องลงทุนในระบบปิด คือไม่ปล่อยให้เด็กรั่วไหลออกจากระบบการศึกษาเลย

ข้อที่สอง ไทยควรมีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีทางเลือกมากขึ้น อาทิ การมีแรงจูงใจทางภาษีให้สถานประกอบการเปลี่ยนตนเองเป็นระบบการศึกษาทางเลือก เด็กจะได้มีโอกาสเรียน ส่วนสถานประกอบการก็จะได้ทั้งการลดหย่อนภาษีและได้กำลังแรงงานเพิ่ม

ข้อที่สาม หน่วยงานรับจัดการศึกษาควรลดเงื่อนไขทางการเงิน และไม่นำเงื่อนไขการเก็บเงินเพื่อรักษาสิทธิมาเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของเด็ก รวมทั้งพิจารณาลดค่าใช้จ่ายการศึกษาต่อและการเข้ามหาวิทยาลัย

และ ข้อสุดท้าย เราไม่ควรหวังการลงทุนเฉพาะจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ควรมีรายได้จากภาคเอกชนผ่านการลดหย่อนภาษีหรือใช้มาตรการกึ่งการคลัง อาทิ การออกพันธบัตรและตราสารต่างๆ

“นี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะการลงทุนในมนุษย์จะให้ประโยชน์ถึงสามต่อ ทั้งการที่ไทยมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพในการพัฒนา ประเทศพาคนออกจากกับดักความยากจน และไทยสามารถออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด” ไกรยสทิ้งท้าย

ลงทุนก่อนในเด็ก ‘ปฐมวัย’ = ลงทุนในความยั่งยืนของประเทศ – วีระชาติ กิเลนทอง

จากภาพรวมของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไกรยสส่งไม้ต่อให้กับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยมาอย่างยาวนาน โดยวีระชาติเริ่มต้นด้วยการต่อยอดจากจุดเช็กพอยต์ของไกรยสด้วยคำถามว่า ทำไมเราต้องมีจุดเช็กพอยต์เหล่านี้

“ทุกคนคงเข้าใจดีว่า การที่เรามีข้อมูลหรือลงไปสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลไม่ได้ทำให้ชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น” วีระชาติกล่าว “แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนเราจะหาคำตอบอะไรได้ต้องรู้สาเหตุก่อน สมมติเรารู้สึกตัวร้อนเหมือนจะเป็นไข้ การใช้ปรอทวัดอาจไม่ได้ช่วยให้เราหายไข้ แต่มันบอกได้ว่าเรามีปัญหาจริงหรือไม่”

วีระชาติเปรียบว่า เรื่องดังกล่าวก็เหมือนกับมีการมีจุดเช็กพอยต์แต่ละจุดให้เก็บข้อมูล ที่แม้จะยังไม่มีคำตอบ แต่สามารถนำไปสู่การค้นพบปัญหาที่ชัดเจน เข้าใจว่ารากฐานของปัญหามาจากไหน เพื่อที่จะต่อยอดการทำงานต่อไปได้

เพื่อทำให้จุดเช็กพอยต์แรกเป็นรูปธรรมมากขึ้น วีระชาติได้ร่วมมือกับ กสศ. เก็บข้อมูลเรื่อง School Readiness Survey (SRS) หรือการพัฒนาทุนมนุษย์ช่วงปฐมวัย ซึ่งตอบโจทย์ความสนใจของตนเองด้วย โดยวีระชาติมองว่า ช่วงเวลาของเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ถ้าเลือกลงทุนได้ถูกต้องและลงทุนก่อน จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ และที่ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้

“เราต้องการทำความเข้าใจง่ายๆ เลยว่า เด็กปฐมวัยในไทยพร้อมจะเรียนต่อในระดับประถมหรือไม่ เราจึงลงไปเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ ใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยเก็บข้อมูลพัฒนาการเด็ก ทักษะที่คิดว่าจำเป็น จากเด็กกว่า 43,000 คน หรือประมาณร้อยละ 10 ของเด็กปฐมวัยทั้งหมดในประเทศ”

วีระชาติยกตัวอย่างการทดสอบความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐาน อาทิ ความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง โดยให้เด็กฟังชุดข้อความสั้นๆ เป็นเวลา 3 นาทีจากเทปที่อัดไว้ และถามคำถามเด็ก 5 ข้อ

“ผมพยายามจะหาว่า เด็กไทยร้อยละเท่าไหร่ที่สามารถตอบคำถามได้มากที่สุด 1 ข้อจาก 5 ข้อ” วีระชาติอธิบาย “เราต้องการรู้ว่ามีเด็กกลุ่มนี้เยอะแค่ไหนในแต่ละจังหวัด และผมอยากจะลองเสนอว่า เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะตามหาเด็กที่มีปัญหา และพยายามหาว่ามีเด็กสัดส่วนเท่าไหร่ที่ต้องการการแก้ปัญหา”

นอกจากความเข้าใจในการฟัง ยังมีการวัดในรูปแบบอื่นๆ อาทิ mental transformation ซึ่งคล้ายกับการวัด IQ ทว่าไม่ซับซ้อนเท่า หรือการทดสอบ digit span memory ด้วยการให้ดูตัวเลขบนจอ 10 วินาที และรออีก 10 วินาที ก่อนจะตอบคำถามว่าตัวเลขที่เห็นคือตัวเลขอะไร

“บททดสอบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ถ้าเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการลงทุนจากครอบครัวอย่างเหมาะสม หรือโรงเรียนก็ไม่สามารถให้คุณภาพการศึกษาได้อย่างเหมาะสม เขาอาจจะทำแบบทดสอบเหล่านี้ไม่ได้เลยนะครับ และที่สำคัญเราพบว่าเด็กที่ทำบททดสอบไม่ได้มีมากพอสมควร และการนำข้อมูลผลการทดสอบในปี 2562 ไปเชื่อมกับปี 2563 เราพบว่าถ้าเด็กคนเดียวกันนี้ทำแบบทดสอบได้ดี อนาคตก็มีโอกาสที่เขาจะทำได้ดีขึ้นด้วย”

สำหรับผลการทดสอบ วีระชาติชี้ว่า หากเราดูผลทดสอบในภาพรวมจะยังมองไม่เห็นปัญหาอะไรมากนัก เพราะแบบทดสอบทุกด้านเบลอรวมเข้าหากัน หากเด็กทำแบบทดสอบด้านหนึ่งได้ดีก็ถือว่าผ่าน ทว่าถ้าลงมาดูในแต่ละเรื่องย่อย เช่น การทดสอบความเข้าใจในการฟัง จะพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ไม่ผ่านการทดสอบ เรียกได้ว่าแทบจะเป็นในทุกจังหวัด

“ผมอยากบอกแบบนี้ครับ ในภาพรวมเหมือนยังไม่มีปัญหา แต่ถ้าลงไปดูเรื่องย่อยๆ จะเห็นว่าเราสามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้ เพราะเรายังมีปัญหาอยู่ และมีทั่วประเทศด้วย”

อีกปัญหาหนึ่งที่พบและเกี่ยวข้องกับ กสศ. โดยตรงคือเรื่องของอาหาร เพราะจากการสอบถามผู้ปกครองพบว่า มีจำนวนมากพอสมควรที่ให้ข้อมูลว่าไม่มีอาหารกลางวัน และเมื่อลองนำสัดส่วนของเด็กที่ผู้ปกครองตอบว่า ‘มี’ และ ‘ไม่มี’ ปัญหาด้านอาหารกลางวันมาเทียบกัน ผลพบว่าเด็กกลุ่มหลังมีแนวโน้มจะทำแบบทดสอบไม่ได้มากกว่า

“ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ความยากจนมีปัญหาต่อพัฒนาการเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เราไม่ควรคิดว่าเกิดมาเดี๋ยวก็โตไปได้ เพราะมันมีหลายปัจจัย ทั้งสารอาหาร ความยากจน สภาพแวดล้อม คุณภาพสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งคุณภาพของการเลี้ยงดูของผู้ปกครองก็สำคัญมาก แต่เราไม่ค่อยพูดถึงเลย”

นี่นำมาสู่ข้อเสนอของวีระชาติ โดย ข้อแรก คือการพัฒนาครู โดยเฉพาะครูในชนบท และต้องพัฒนาแบบเฉพาะเจาะจง บอกว่าต้องการให้พัฒนาในด้านใดและมีเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนครูให้มากที่สุด

และ ข้อที่สอง วีระชาติโยงไปถึงผลการศึกษาที่พบว่า มีผู้ปกครองเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่มีนิทานที่บ้าน นำมาสู่การที่ผู้ปกครองไม่ได้อ่านหนังสือให้เด็กฟัง สิ่งนี้กำลังสื่อว่าครัวเรือนขาดความพร้อม สิ่งสำคัญจึงต้องเป็นการพัฒนาทักษะของผู้ปกครองด้วย

“ตอนนี้เราทำกิจกรรมเยี่ยมบ้านพัฒนาผู้ปกครอง นำอุปกรณ์ไปทำกิจกรรมกับเด็กให้เขาเห็น ช่วยให้เขามั่นใจในการทำกิจกรรมกับลูกหลาน เป็นการสร้างความพร้อมอย่างหนึ่ง” วีระชาติทิ้งท้าย

อัปสกิล ‘เยาวชนแรงงานช่วงต้น’ ในโลกที่หมุนเร็วขึ้น 20 เท่า – เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

“สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ประมาณ 600 กว่าปีที่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ โลกเราไม่มีหนังสือ ไม่มีโรงพิมพ์ ต่อมาเรามีหนังสือเป็นเล่มๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงทุกยุคที่ทุกอย่างอยู่ในระบบดิจิทัล หนังสือก็อยู่ในระบบดิจิทัลได้

“เวลา 600 ปีเปลี่ยนชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ความเปลี่ยนแปลงสเกลเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 20 ปี คือโลกหมุนเร็วขึ้น 20 เท่า”

ข้างต้นคือการฉายภาพรวมของโลกสำหรับวัยแรงงานจาก ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ศึกษา Career Readiness Survey (CES) หรือการพัฒนาทุนมนุษย์ในเยาวชนแรงงานช่วงต้น

ด้วยผลจากการที่โลกหมุนเร็วกว่าเดิมนี้เอง เกียรติอนันต์ชี้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรารู้ในวันนี้อาจจะใช้ไม่ได้แล้วในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ความสามารถในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่จัดการศึกษาและเตรียมความพร้อมเยาวชนให้ดี ก็ยากที่จะวิ่งตามทันโลกได้

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เกียรติอนันต์ชี้ให้เห็นภาพของแรงงานที่ต้องเผชิญกับการเข้ามาของ ChatGPT ที่เมื่อพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะสามารถทำหน้าที่บางอย่างแทนมนุษย์ได้ เช่น การตอบข้อมูลลูกค้า นอกจากนี้ เทคโนโลยียังมีราคาถูกลงด้วย

“อีกไม่นาน รถบนถนนอาจจะกลายเป็นรถไฮบริดจ์หรือรถไฟฟ้ากันหมด ชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบรถยนต์หนึ่งคันก็จะลดลงจากเดิม ลองนึกภาพว่าจากรถน้ำมันที่ต้องใช้ชิ้นส่วนถึง 30,000 ชิ้น แต่รถไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนเพียง 3,000 ชิ้น ลองนึกภาพงานที่จะหายไป โลกที่จะเปลี่ยนไปและถูกทำให้ง่ายด้วยเทคโนโลยี แต่ความง่ายนี้ทำให้มนุษย์เป็นที่ต้องการน้อยลงเช่นกัน”

เกียรติอนันต์ชี้ว่า ทักษะสำคัญหลังโควิด-19 จะเป็นแบบพหุทักษะ เช่น ทักษะการแก้ปัญหา-เรียนรู้จากปัญหา-ต่อยอดให้ตนเองเก่งขึ้นและนำไปสร้างโอกาสได้ (ทั้งหมดนี้คือทักษะเดียวเท่านั้น) ดังนั้น เมื่อพูดถึงความพร้อมในด้านอาชีพ (career readiness) น้ำหนักสำคัญจึงอยู่ที่ soft skill

อีกประเด็นสำคัญคือ เรื่องของความยากจน เพราะในครัวเรือนหนึ่งต้องใช้อย่างน้อย 3 รุ่นจึงจะหลุดพ้นจากความยากจนไปได้ โดยเกียรติอนันต์อธิบายวิธีการศึกษาทุนมนุษย์ว่า ถ้าคนที่เลือกมาจบชั้นเดียวกัน คนที่เงินเดือนมากกว่าจะถือว่าได้ทุนมนุษย์มากกว่า หรือถ้าเงินเดือนเท่ากัน คนที่อยู่ระดับสูงกว่าจะถือว่ามีทุนมนุษย์มากกว่า

“ผลการสำรวจของเราพบว่า คนที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเรียนไม่จบจะอยู่ปะปนกันในตลาดแรงงาน แปลว่าการศึกษาในระดับนี้ไม่พอที่จะเพิ่มทุนมนุษย์ จะขยับไปมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ไม่ได้ต่างกันเยอะ แต่ความแตกต่างจะเริ่มชัดขึ้นในระดับ ปวส. และปริญญาตรี

“นี่เท่ากับว่าในโลกปัจจุบัน ทุนมนุษย์ที่จะทำให้อยู่รอดและมีรายได้พ้นจากความยากจนของพ่อแม่ได้จะต้องอยู่ในระดับ ปวส. เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ soft skill ยังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะหากเราต้องเจออุปสรรคใหญ่ในชีวิต”

นี่จึงนำมาสู่ข้อเสนอ 4 ข้อของเกียรติอนันต์ในตอนท้าย โดย ข้อแรก คือการปรับใช้แบบสำรวจดังกล่าวทั่วประเทศ เชื่อมระบบการทำงานเข้าหากันเพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้แบบมุ่งเป้า รู้รายละเอียด และความพร้อมของเด็ก

ข้อที่สอง ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ทุกคนจะช่วยกันโอบอุ้มเด็กได้

ข้อที่สาม สร้าง career coach ด้านอาชีพ หรือเป็นทีมระดับจังหวัดที่คอยดูแลเด็ก

และ ข้อสุดท้าย พัฒนาการศึกษาแบบ case-based ตามทิศทางนโยบายสาธารณะของโลก ให้ความช่วยเหลือวิ่งเข้าหาปัญหาและแก้ปัญหาจากหลายทาง

สะสมพัฒนาทักษะ ‘วัยแรงงาน’ สู่เส้นทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ – โคจิ มิยาโมโต

ในจุดเช็กพอยต์สุดท้ายอย่างช่วงวัยแรงงาน โคจิ มิยาโมโต นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งธนาคารโลก (World Bank) ผู้ทำการศึกษา Adult Skills Assessment in Thailand หรือการพัฒนาทุนมนุษย์ประชากรวัยแรงงาน เริ่มต้นด้วยการชูกระปุกยาพาราเซตามอลที่เราเห็นกันจนชินตาขึ้นมากระปุกหนึ่ง พร้อมบอกข้อมูลที่น่าตกใจว่า “เยาวชนและผู้ใหญ่ในไทยประมาณร้อยละ 62.3 ไม่สามารถทำความเข้าใจและย่อยข้อมูลบนฉลากยาได้ ทำให้รับประทานยาได้ไม่ถูกต้องตามฉลาก”

โคจิเริ่มต้นต่อด้วยการเน้นย้ำความสำคัญของการประเมินทักษะ กล่าวคือการประเมินจะทำให้เห็นภาพกลุ่มประชากรนักเรียนที่ยังมีปัญหาในการเรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่สำคัญ เมื่อมองข้อมูลให้ลึกกว่านั้น เราจะพบว่านักเรียนที่มีภูมิหลังยากลำบากจะมีผลการประเมินที่ค่อนข้างแย่เมื่อเทียบกับนักเรียนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะเด็กจากพื้นที่ห่างไกลที่จะเสียเปรียบมากที่สุด

“ดังนั้น การประเมินจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากๆ ที่จะช่วยผู้กำหนดนโยบายในการพิจารณาว่า ควรจะปรับปรุงนโยบายตรงจุดไหน และจะช่วยเรื่องการกำหนดวาระสำคัญในนโยบายนั้นด้วย”

“ถ้าผมเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ต้องคิดเรื่องการปรับปรุงนโยบายฝึกอบรมครู การเห็นผลประเมินของเด็กจะช่วยให้ผมเกิดไอเดียเลยว่า ทักษะใดบ้างที่ครูต้องพัฒนา เช่น ผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่ามีเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่มีทักษะด้านดิจิทัล ทำให้เรารู้ว่าควรฝึกอบรมครูในด้านนี้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักการศึกษา ก็สามารถนำผลไปใช้ได้ด้วย”

โคจิเปรียบเปรยว่า การพัฒนาทักษะเปรียบเหมือนการปั้นลูกบอลหิมะที่ทำได้ตลอดชีวิต คือเริ่มจากการปั้นก้อนเล็กและกลิ้งไปเรื่อยๆ ทำให้ก้อนหิมะเริ่มขยายขนาดและเก็บหิมะส่วนอื่นมาติดกับตนเองจนกลายเป็นก้อนหิมะที่ใหญ่ขึ้น

“ถ้าเราเริ่มจากวันนี้โดยพัฒนาทักษะชุดเล็ก สะสมไปเรื่อยๆ ก็ง่ายขึ้นที่จะเก็บเกี่ยวความเข้าใจและทักษะต่อไป”

ความเห็นของโคจิสอดคล้องกับวีระชาติ กล่าวคือการลงทุนตั้งแต่เด็กปฐมวัยหรือช่วงตั้งต้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานในชีวิตได้ ก็จะยากลำบากสำหรับการพัฒนาขั้นต่อไป

“เด็กต้องสอบ PISA ตอนเขาอายุ 15 ปี แต่จริงๆ แล้ว ผล PISA คือการรวบรวมผลลัพธ์การลงทุนตั้งแต่เด็กจนถึงอายุ 15 ปี ดังนั้น เราจำเป็นต้องวัดผลลัพธ์การลงทุนมนุษย์ของเราหลังอายุ 15 ปีไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ไกลๆ ด้วย”

นี่จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับ กสศ. เพื่อศึกษาประเมิน Adult Skills Assessment in Thailand หรือการพัฒนาทุนมนุษย์ประชากรวัยแรงงาน ซึ่งเป็นการประเมินขนาดใหญ่ของประชากรวัยแรงงานในไทยครั้งแรกที่เคยมีการทำการประเมินมา วัดทักษะด้านการรู้หนังสือ ด้านดิจิทัล รวมถึงด้านอารมณ์และสังคม ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ที่สำคัญ

โคจิอธิบายว่า ผลการประเมิน (ซึ่งกำลังจะเผยแพร่ในช่วงปลายปี 2023) จะฉายภาพว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนทักษะใดอย่างรุนแรง ระดับของช่องว่างมากน้อยแค่ไหน ทั้งยังจะทำให้เห็นภาพของความเหลื่อมล้ำ เพราะเราจะมองเห็นว่าประชากรกลุ่มไหนที่มีปัญหา และควรจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

ที่สำคัญ การศึกษานี้จะมองไปถึงเจตนารมณ์ของผู้กำหนดนโยบายว่า มีการแก้ปัญหาช่องว่างทักษะจุดใดบ้าง และเจตนารมณ์ดังกล่าวถูกแปลงออกไปเป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมแล้วหรือยัง ทั้งยังจะดูถึงหลักฐานรองรับและคุณภาพของโครงการที่เกิดขึ้นด้วย

“สิ่งที่ผมหวังอยากจะสื่อมากๆ คือ การสำรวจและการประเมินมีประโยชน์มากๆ นะครับ” โคจิกล่าวในตอนท้าย “เพราะการประเมินจะช่วยปรับปรุงนโยบายให้ดีขึ้น และมีศักยภาพในการปรับปรุงโครงการที่จะช่วยผู้เรียนรู้ ทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน และในระบบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ ให้สามารถอยู่ได้อย่างดีในศตวรรษที่ 21”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world