ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนกว่า 1 ล้านคนนั้น ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งยังส่งผลต่อความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น ข้อมูลของ UNESCO ได้นำเสนอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า หากประเทศไทยสามารถพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ จะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตได้ถึงร้อยละ 1.7 ต่อปี ฉะนั้น หากเราสามารถปลดล็อกทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษาที่มีความเสมอภาค เราย่อมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
จุดมุ่งหวังข้างต้น เป็นที่มาของโครงการ ‘Thailand Zero Dropout’ ที่มีเป้าหมายในการค้นหาและพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง และลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือ ‘ศูนย์’
“การปิดช่องโหว่ในระบบการศึกษา ไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบและได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น
ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะต้องเข้าสู่มหาวิทยาลัย แต่เด็กจะต้องมีทางเลือก ที่มากขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.
เป้าหมายของ Thailand Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนเข้าสู่ห้องเรียน แต่การเรียนรู้นั้นต้องมีทางเลือก สอดรับกับชีวิตและความจำเป็นต่าง ๆ โดยจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลให้ได้มากที่สุดในการทำงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ลงไปถึงสถานศึกษา เพื่อค้นหาและพาเด็กเยาวชนกลับสู่เส้นทางการศึกษาและพัฒนาตามบริบทของแต่ละคนต่อไป
การศึกษาที่ยืดหยุ่น (flexible learning) คือหนึ่งในนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบได้ เพราะเปิดทางเลือกที่หลากหลายให้แก่เด็ก มีการจัดให้มีระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และวิถีชีวิต อาจมีโครงการพัฒนาฝีมือ ฝึกอาชีพ หรือเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ฯลฯ
ส่วนหนึ่งจาก EDquity Movement จดหมายข่าวจาก กสศ. โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ถึงเครือข่ายภาคีหุ้นส่วนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฉบับเดือนเมษายน 2567 เปิดอ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ คลิก