ในห้วงเวลาที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ของ Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสแห่งมหาวิทยาลัยปารีส เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่โด่งดังมากที่สุดเล่มหนึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่อธิบายความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมได้อย่างมีพลวัต แหลมคม และสดใหม่
แต่หนึ่งในประเด็นที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงนักเมื่อพูดถึงหนังสือเล่มนี้คือเรื่อง ‘การศึกษา’ ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความเหลื่อมล้ำ การอ่านและถกเถียงประเด็นว่าด้วยการศึกษาจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับคนที่สนใจงานของ Piketty ในฐานะองค์ความรู้ร่วมสมัย และคนที่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาพรวม
ก่อนจะมาเป็นงานเขียนดังกล่าว Piketty ใช้เวลาวิจัยและรวบรวมข้อมูลถึง 15 ปี โดยศึกษาทิศทางและความเปลี่ยนแปลงของสภาพการกระจายรายได้และความมั่งคั่งในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญโดยสังเขปได้ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ‘ทุน’ เป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจโลก ความมั่งคั่งถูกกระจุกอยู่ในหมู่คนส่วนน้อยและผลักความไม่มั่นคงให้กับคนส่วนมาก ความมั่งคั่งของเจ้าของทุนหรือทรัพย์สินจะเติบโตได้เร็วกว่าผู้ที่ต้องพึ่งพาเพียงรายได้ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำอันรุนแรง
Piketty ได้นำเสนอจุดยืนในสามประเด็น
ประเด็นแรก Piketty พิสูจน์ว่า แนวคิดทฤษฎี ‘เส้นโค้งของคุซเน็ตส์’ (Kuznet’s curve) ของ Simon Kuznets ไม่เป็นความจริง โดยแนวคิดนี้เสนอว่า หากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขยายตัวไปถึงจุดหนึ่ง ความเหลื่อมล้ำจะมีแนวโน้มลดลง Piketty วิจารณ์ทฤษฎีนี้ว่าเป็นเพียงแค่ ‘นิทาน’ พร้อมกับเสนอว่า ประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 คือชนวนหลักของการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่กลไกทางเศรษฐกิจตามทฤษฎีของ Kuznets
ดังนั้น Piketty จึงสรุปว่าการลดลงของความเหลื่อมล้ำในช่วงนี้ไม่ได้เกิดจากความก้าวหน้าของการพัฒนา แต่เป็น ‘อุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์’
ประเด็นที่สอง Piketty พบว่า อัตราส่วนของการออมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (savings/growth) เท่ากับ อัตราส่วนของทุนต่อรายได้ (capital/income) นั่นหมายความว่า หากการออมเพิ่มขึ้นแต่การเติบโตน้อย สัดส่วนของทุนต่อรายได้ก็ย่อมเพิ่มมากไปด้วย จากกฎดังกล่าวนี้ทำให้ Piketty สรุปได้ว่า ผลตอบแทนของ ‘ทุน’ สูงกว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเสมอ
ในแง่นี้ ‘ทุน’ จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า ‘รายได้’ ในอนาคต
ประเด็นที่สาม ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคมมีต้นตอจากสองแหล่งหลักคือ ความไม่เท่าเทียมกันของแรงงาน (ความแตกต่างของค่าจ้าง) และความไม่เท่าเทียมของทุน (ความมั่งคั่งที่เคยเป็นเจ้าของมาก่อน) อย่างไรก็ตาม เหตุผลของความไม่เท่าเทียมทั้งสองรูปแบบนั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะตั้งแต่ ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาที่ทุนมีความสำคัญโดยสัมพันธ์ต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง Piketty เรียกว่าเป็น ‘การเกิดขึ้นของลัทธิทุนนิยมแบบใหม่’
สำหรับ Piketty สิ่งที่สะท้อนลัทธิทุนนิยมแบบใหม่ได้เป็นอย่างดีคือ กลไกการจัดการทุน เช่น ‘ระบบมรดก’ หรือ ‘ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทุน’ กลไกเหล่านี้ทำให้ความมั่งคั่งของกลุ่มคนที่มีความมั่นคงอยู่แล้วเติบโตได้เร็วกว่ารายได้จากระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
การศึกษาในฐานะ Force of Convergence
สำหรับ Piketty สองตัวแปรสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ ‘ภาษีความมั่งคั่งระดับโลก’ หรือ global wealth tax ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาษีผลตอบแทนจากทุนในระดับสากล และระบบการศึกษาเพื่อกระจายความรู้และทักษะซึ่งเป็น force of convergence หรือพลังที่ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำหดแคบลง
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนหนึ่งกลับเห็นว่า แม้คำอธิบายของ Piketty จะมีพลังในการอธิบายความเหลื่อมล้ำสูง แต่เมื่อพูดถึง ‘การศึกษา’ ในฐานะตัวแปรที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เขากลับไม่ได้นำความแหลมคมในข้อเสนอของเขามาใช้เท่าที่ควร โดยเฉพาะการวิเคราะห์ปัจจัยทางการเมือง
นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่า แม้การศึกษาจะมีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้จริง แต่หากพิจารณาในระยะยาวแล้ว ‘ทุน’ อาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น มากเกินกว่าที่การศึกษาจะสามารถบรรเทาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นและทุนมีอำนาจครอบงำสังคมสูง การศึกษาไม่เพียงแต่ไม่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมได้ แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำเสียเอง โดยมีส่วนทำให้ผลตอบแทนของทุนสูงกว่ารายได้มากขึ้นไปอีก
กลุ่มนักวิชาการที่เห็นแย้งกับ Piketty ชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำมีสาเหตุหลักมาจากระบบเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งระบบได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยมมีอิทธิพลและยังคงมีอิทธิพลต่อโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก ความแตกต่างทางเชื้อชาติและเพศที่ถูกสร้างขึ้นผ่านลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยม ก็เป็นชนวนเหตุของความไม่เสมอภาคเช่นกัน
ดังนั้น ในหลายกรณี การศึกษาในปัจจุบันที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ จึงนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมมากกว่าแก้ปัญหา เช่น ระบบโรงเรียนของรัฐเป็นส่วนสำคัญของโครงการจักรวรรดินิยมเพื่อดึงเอาคุณค่าจากประชากรที่ถูกปกครอง แม้แต่ในยุคหลังอาณานิคม ระบบการศึกษาสร้างความแตกแยกมากกว่าการเป็นแรงหนุนของการลดความไม่เท่าเทียม
ข้อวิจารณ์ข้างต้นมิได้หมายความว่า การศึกษาไม่สำคัญ เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การด่วนสรุปว่าการกระจายความรู้และทักษะผ่านการศึกษาคือตัวแปรหลักในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอาจไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาปัจจัยด้านการเมืองและสังคมร่วมด้วย รวมถึงการออกแบบการศึกษาให้มีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำได้จริง