โลกไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป – ใครหลายคนคาดการณ์เอาไว้เมื่อเราเริ่มรู้จักโควิด-19 เป็นครั้งแรก และมาถึงวันนี้ แม้สถานการณ์ในหลายๆ ประเทศจะเริ่มดีขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิดได้ทิ้งร่องรอยหลายอย่างไว้ในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ และในบางมิติรุนแรงและสาหัสกว่าที่คิดไว้ตอนแรก
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนและอาจจะรุนแรงที่สุดคือ ‘โลกการศึกษา’ เพราะธรรมชาติของการเรียนการสอนคือการรวบรวมคนจำนวนมากไว้ในที่เดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้ร่วมกัน แต่โรคระบาดมาพร้อมกับมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและเรียกร้องให้มนุษย์ต้องเว้นระยะห่างจากกัน ทำให้โรงเรียนต้องปิดลงชั่วคราว (หรือบางที่ก็ถึงขั้นถาวร) และย้ายรูปแบบการเรียนการสอนมาอยู่บนออนไลน์แทน
การปิดโรงเรียนด้วยเหตุผลด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน แน่นอนว่า เด็กทุกคนได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ทว่าเด็กที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและพ่อแม่ถือโอกาส ‘work from home’ อยู่กับลูกและสอนหนังสือลูก ย่อมได้รับผลกระทบไม่เท่ากันกับเด็กที่ต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงลำพัง ไม่ต้องพูดถึงว่า ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงโลกออนไลน์และมีความเสี่ยงที่จะร่วงหล่นออกจากระบบการศึกษาได้ทุกเมื่อ
ในอนาคตอันใกล้อย่างไรเสียวิกฤตโควิด-19 คงสิ้นสุด แต่คำถามสำคัญคือ โลกการศึกษาหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ปัญหาที่พูดถึงกันมาตลอดอย่างเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จะเป็นไปในทิศทางไหน และอะไรคือโจทย์ท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย
ชวนหาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้
“โควิด-19 ได้เปลี่ยนการศึกษาไปตลอดกาล”
ข้างต้นคือคำกล่าวจาก World Economic Forum (WEF) ซึ่งดูไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะเมื่อคลื่นโรคระบาดสาดซัดจนทำให้วิถีของการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลงไป สถาบันการศึกษาทั่วโลกต้องพยายามหาทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ที่สุด ภายในเวลาอันสั้นที่สุด โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลคือ กุญแจสำคัญ
การขยับโลกออฟไลน์สู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกระบาดที่ดูจะไม่สิ้นสุดง่ายๆ ทำให้ชวนคิดต่อไปว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการเรียนออนไลน์จะกลายเป็นเรื่อง (กึ่ง) ถาวรในยุคหลังโรคระบาดหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ระบบการศึกษาและผู้เรียนจะได้รับผลอะไรบ้าง
อันที่จริง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มพลังให้กับภาคการศึกษาเป็นความใฝ่ฝันของนักการศึกษามาโดยตลอด ก่อนที่จะมีโรคระบาดภาคการศึกษาถือเป็นภาคส่วนที่นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้มากอยู่แล้ว ข้อมูลชี้ว่าการลงทุนใน EdTech (Educational Technology) มีมูลค่าสูงถึง 18.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าตลาดออนไลน์เกี่ยวกับการศึกษาในภาพรวมจะมีมูลค่าสูงถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 โดยมีผู้ครองตลาดหลักเป็นสหรัฐฯ และจีน พร้อมกับแอปพลิเคชันแปลภาษา การติวเสมือนจริง หรือซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการศึกษาที่ต่างผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และดูจะเพิ่มขึ้นอีกนับไม่ถ้วนตั้งแต่มีโควิด
นอกจากแอปพลิเคชันและการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อการศึกษา สถานศึกษาอย่างโรงเรียนก็เริ่มปรับตัวเช่นกัน บางโรงเรียนในระดับเขตเริ่มหาพาร์ทเนอร์เพื่อออกอากาศการศึกษาในระดับท้องถิ่น มีช่อง (channel) ที่แยกตามกลุ่มอายุและตัวเลือกในการใช้ดิจิทัล จนบางคนคาดการณ์ว่าการศึกษาแบบผสมผสาน (hybrid) ระหว่างการเรียนทางไกลกับการเรียนในห้องเรียนอาจจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการศึกษาต่อจากนี้
ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณเท่านั้น ก่อนโควิด -19 นักศึกษาในประเทศประเทศพัฒนาแล้ว และบางโรงเรียนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาต่างหันมาให้ความสนใจกับทักษะของผู้เรียนมากขึ้น เพราะการเรียนออนไลน์ทำให้ผู้เรียนต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลไปด้วย หรือถ้าพูดให้ไกลกว่านั้น โลกที่ ‘ดิจิทัลต้องมาก่อน’ คาดหวังทักษะใหม่และวิถีการคิดแบบใหม่จากผู้เรียน การจะประสบความสำเร็จในชีวิตจึงไม่ได้หมายถึงการเป็นนักเรียนแถวหน้าหรือสอบได้เกรดเอทุกวิชาเพียงอย่างเดียว แต่โลกเริ่มเรียกร้องให้ผู้เรียนต้องมีทักษะทางอารมณ์และสังคม รวมถึงทักษะอื่นๆ เช่น การคิดอย่างเป็นระบบ หรือการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ ควบคู่ไปกับทักษะทางวิชาการแบบเดิมด้วย
โควิด-19 ทำให้เกิดการอพยพการเรียนรู้จากโลกออฟไลน์มาสู่โลกออนไลน์ขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพแบบฉับพลันกับระบบการศึกษาทั่วโลก กับทุกโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครองทุกกลุ่ม ทุกคน กล่าวได้ว่า โควิด-19 เข้ามาทำให้ฝันของนักการศึกษา (ในโลกก่อนโควิด-19) เป็นจริงอย่างที่ไม่เคยคาดฝัน
ซึ่งย่อมหมายถึงการไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ
ก่อนโควิด-19 โลกการศึกษาเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว
แม้วิกฤตจะเปิดให้เราเห็นช่องทางการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงในโลกการศึกษา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิดก็เป็นเสมือนสิ่งที่เข้ามากรีดแผล ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในระบบการศึกษาให้กว้างขึ้น และเห็นชัดขึ้นกว่าเดิม
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด การศึกษาที่ควรจะเป็นประตูสู่โอกาส กลับกลายเป็นกำแพงกั้นโอกาสสำหรับใครอีกหลายคน ชนิดที่ต่อให้มีหรือไม่มีโควิด เด็กจำนวนมากก็ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังในโลกการศึกษาอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจน ตัวอย่างเช่น ปี 2011 ซูดานใต้มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาเพียง 41% หรือปี 2013 เด็กในซีเรียกว่า 1.8 ล้านคนไม่ได้เข้าโรงเรียนเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ
สำหรับประเทศไทยซึ่งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบหมายให้โรงเรียนสำรวจจำนวนนักเรียนยากจนในสังกัด ซึ่งคำว่า ‘ยากจน’ ในที่นี้ระบุถึงนักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้ต่อครัวเรือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 3,300 บาทต่อเดือน หากอิงตามเกณฑ์พบว่า ในปี 2016 นักเรียนยากจนชั้นประถมมีจำนวน 2 ล้านคนจากทั้งหมด 3.1 ล้านคน ส่วนนักเรียนยากจนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมีมากกว่า 8 แสนคนจาก 1.7 ล้านคน และแม้กรุงเทพมหานครจะเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนน้อยที่สุด แต่ก็ยังมีเด็กนักเรียนยากจนกว่า 1 ใน 4 ของนักเรียนประถมและมัธยมต้นทั้งหมด
ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยในปัจจุบันร้ายแรงกว่าที่สพฐ. คาดไว้ กล่าวคือมีครัวเรือนบางกลุ่ม ‘จน’ ยิ่งกว่าเกณฑ์ความยากจนที่กำหนดไว้เสียอีก
หลังโควิด-19 โลกการศึกษาเหลื่อมล้ำยิ่งกว่าเดิม
กล่าวอย่างเรียบง่ายที่สุด โควิด-19 ทำให้เด็กจำนวนมากต้องเสียโอกาสทางการศึกษา เพราะวิกฤตสุขภาพทำให้หลายครอบครัวต้องกลับไปสู่ความยากจน ในขณะที่ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้วยากจนไปกว่าเดิม
ในระดับโลก ในปี 2018 เด็กที่อยู่ในวัยประถมและมัธยมกว่า 258 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน แต่เมื่อโควิดแพร่ระบาด จำนวนเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียน (อย่างน้อยทางกายภาพ) เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.2 ล้านคน
นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา โรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่จัดการเรียนการสอน แต่ยังถือเป็น safety net ของเด็กนักเรียนจำนวนมาก เมื่อโรงเรียนในหลายประเทศถูกบังคับให้ต้องปิด ตาข่ายรองรับนี้จึงพลันหายวับไปกับตา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องอาหารกลางวัน ในปี 2019 โครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) ประมาณการว่า เด็กอย่างน้อย 310 ล้านคนในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน แต่เมื่อโรงเรียนปิดก็พลอยทำให้เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความหิวโหยและการขาดสารอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่า การปิดโรงเรียนไม่ได้ส่งผลแค่กับการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของนักเรียนด้วย
นอกจากผลกระทบต่อผู้เรียนแล้ว โรงเรียนยังเป็นสถานที่ที่ช่วยให้ผู้ปกครองที่ทำงานนอกบ้านสามารถจัดการเวลาของตนเอง ทั้งในแง่การทำงานและการเลี้ยงดูลูก การปิดโรงเรียนจึงส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวยากจน และคนที่ไม่มีงานหรือบ้านเป็นของตัวเอง
การสูญเสียการเรียนรู้: วิกฤตที่มาพร้อมกับการปิดโรงเรียน
การสูญเสียการเรียนรู้ (learning losses) เป็นอีกผลกระทบใหญ่ที่เห็นได้ชัดจากการปิดโรงเรียน ซึ่งจริงๆ ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจะมีวิกฤตสุขภาพแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีข้อมูลว่า เด็กอายุ 10 ปีในประเทศรายได้ต่ำ (low income) และประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (lower-middle income) 53% ไม่สามารถอ่านหรือเข้าใจข้อความง่ายๆ ได้ ซึ่งปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อการเรียนในห้องเรียนเปลี่ยนเป็นการเรียนทางไกลแทน
อีกข้อมูลที่น่าสนใจมาจากการสำรวจในหลายประเทศของ McKinsey ซึ่งพบว่า นักเรียนในแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบจากการสูญเสียการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ นักเรียนชั้นอนุบาลถึงเกรด 3 จะสูญเสียการเรียนรู้ 2.2 เดือน แต่ถ้าเป็นนักเรียนเกรด 12 จะสูญเสียการเรียนรู้ 1.7 เดือน สถานะทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง คือ นักเรียนที่อาศัยในครัวเรือนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) จะสูญเสียการเรียนรู้ 2.5 เดือน ส่วนเด็กนักเรียนมากกว่า 80% ที่อยู่ในครัวเรือนซึ่งอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนจะสูญเสียการเรียนรู้ 1.6 เดือน
นอกจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้แล้ว การสูญเสียการเรียนรู้ยังแปรผันตามความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นด้วย เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ เชื้อชาติ นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการสูญเสียการเรียนรู้ โดยกลุ่มเด็กผิวดำ กลุ่ม Hispanic และกลุ่มชนพื้นเมือง มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบหนักกว่า จากการสำรวจผลของการปิดโรงเรียนในสหรัฐฯ ช่วงฤดูใบไม้ผลิปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มนักเรียนผิวขาวจะสูญเสียการเรียนรู้ 1-3 เดือน แต่ถ้าเป็นนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเด็กผิวขาว (students of colour) จะเสียการเรียนรู้ไปถึง 3-5 เดือน และแม้สถานการณ์หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่กลุ่มเด็กผิวดำและกลุ่ม Hispanic ก็ยังคงได้รับผลกระทบมากกว่าอยู่ดี
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและโควิด-19
สะพานสู่โอกาสของเด็กรวย กำแพงกั้นโอกาสของเด็กจน
การเรียนออนไลน์ก็เป็นอีกประเด็นที่ยิ่งเปิดแผลความเหลื่อมล้ำให้ชัดขึ้น เริ่มตั้งแต่ในระดับประเทศ ซึ่งประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ 65% สามารถจัดหาแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนทางไกลได้ แต่ถ้าเป็นประเทศรายได้ต่ำจะมีน้อยกว่า 25% ที่ทำได้ ตรงนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับรายงาน The Global Risks Report 2021 ที่บอกว่า ในประเทศรายได้สูง (high income) ประชากรมากกว่า 87% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าเป็นประเทศรายได้ต่ำอาจจะลดลงน้อยกว่า 17%
ถ้ามองลงมาในระดับครอบครัว เราพบว่ามีแค่ 36% ของผู้อยู่อาศัยในประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนทางไกลได้ ขณะที่ข้อมูลของ OECD ฉายภาพให้เห็นว่า นักเรียนจากประเทศในกลุ่ม OECD เฉลี่ย 9% ไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมกับการเรียนที่บ้าน แต่ถ้าเป็นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตัวเลขนี้จะสูงมากกว่า 30% และขณะที่นักเรียน 95% ในประเทศแถบยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และออสเตรีย มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการทำงาน แต่ในอินโดนีเซีย มีนักเรียนเพียง 34% เท่านั้นที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้
ขณะที่ในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ ช่องว่างตรงนี้ก็เกิดขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือเด็กอายุ 15 ปีในสหรัฐฯ ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม มีเพียง 3 ใน 4 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ เช่นเดียวกับเด็กผิวดำ เด็ก Hispanic ที่ขาดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพ จากการสำรวจยังพบด้วยว่า เด็กจากครอบครัวยากจนราว 43% ต้องทำการบ้านผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะที่เด็กที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีมีคอมพิวเตอร์ใช้กันเป็นส่วนใหญ่
ฝั่งแอฟริกาเป็นอีกหนึ่งทวีปที่น่าสนใจ เพราะแม้ทวีปนี้จะไม่ได้มียอดผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตสูงมากเท่าทวีปอื่น แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับการที่ประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศยากจน ทำให้ทวีปแอฟริกาต้องเจอกับผลกระทบจากโควิดอย่างหนักหน่วงไม่แพ้ที่อื่น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา
จากการสำรวจบางประเทศในแอฟริกาใต้ ทุกโรงเรียนต้องปิดและใช้การเรียนทางไกลแทน เช่น การอ่านตำราเรียน และฟังโปรแกรมการศึกษาจากวิทยุ ผลสำรวจยังพบอีกว่าเด็ก 9 ใน 10 จากประเทศบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) และ 6 ใน 10 จากประเทศไนจีเรีย สามารถเข้าถึงการเรียนแบบนี้ได้ แต่ในประเทศมาลี มีเพียงเด็ก 3 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียนออนไลน์ และจำนวนดังกล่าวยังลดน้อยลงเหลือเพียง 2 ใน 10 เมื่อพูดถึงประเทศมาลาวี
ขณะที่ในหลายๆ ประเทศ เด็กนักเรียนจากชนบทหรือที่มาจากครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนมากกว่า เนื่องจากความยากลำบากในการเข้าถึงไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และวิทยุ เช่นในประเทศเอธิโอเปีย ที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในแถบชนบท สอดคล้องกับการศึกษาของ UNESCO ที่ทำการศึกษาประเทศในทวีปแอฟริกา 10 ประเทศช่วงกลางปีที่แล้ว พบว่า ใน 10 ประเทศ มีผู้นำโรงเรียนน้อยกว่า 15% ที่ยังสามารถติดต่อกับเด็กนักเรียนอย่างน้อย 80% ได้
ทั้งนี้ แม้จะมีการพูดถึง EdTech ว่าจะเป็นความหวังในการเรียนรู้ช่วงวิกฤต แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะบอกว่า EdTech จะมาแทนที่คุณครูหรือช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยังไม่ต้องพูดถึงว่า คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางค่อนไปทางต่ำ ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีตรงนี้ได้ด้วยซ้ำ อีกทั้งหลายครั้งที่การใช้เทคโนโลยีต้องมาควบคู่กับการดูแลจากผู้ปกครอง ซึ่งแน่นอนว่ามีครอบครัวจำนวนมากที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนตรงนี้ได้
“สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดของโรคระบาดคือการกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษายิ่งขึ้น” Andreas Schleicher จาก OECD กล่าว และเขายังชี้ให้เห็นว่า เด็กจากครอบครัวที่มีพริวิลเลจไม่เพียงแต่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเรียนจากผู้ปกครองเท่านั้น แต่พวกเขายังสามารถหันไปหาการเรียนรู้ทางเลือกอื่นๆ ในช่วงที่โรงเรียนปิดได้ เช่น การติวส่วนตัว หรือการติวกันในกลุ่มเล็กๆ (learning pods) นี่ยิ่งเป็นการทิ้งช่องว่างห่างจากเด็กในครอบครัวด้อยโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ
จะเห็นว่า โรคระบาดเกิดขึ้นและกระทบกับทุกคน แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบเท่ากัน เพราะขณะที่เด็กยากจนซึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่แล้วถูกซ้ำเติมด้วยโควิด เด็กที่มีฐานะดี มีโอกาสทางเศรษฐกิจ มีครอบครัวที่สามารถสนับสนุน ก็สามารถใช้วิกฤตเป็นสะพานแห่งโอกาสไปสู่ช่องทางใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
ถึงเวลา ‘build back better’
ร่วมสร้างโลกการศึกษา (ที่ดีกว่าเดิม) หลังโควิด
ไม่มีใครปฏิเสธว่าโควิดก่อให้เกิดผลกระทบกับโลกการศึกษาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับปัญหาคลาสสิกทุกยุคทุกสมัยอย่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เมื่อวิกฤตเปิดแผลให้เราเห็นชัดเจนเช่นนี้ เราจะใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นหมุดหมายในการเริ่มต้นลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโลกการศึกษาขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างไร
จากข้อมูลของ WEF ชัดเจนแล้วว่า ในยุคหลังโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) จะเพิ่มสูงขึ้น และการแก้ปัญหานี้อาจจะต้องเริ่มจากการลดต้นทุน และเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลให้มากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในเรื่องการศึกษาจะทวีความสำคัญมากขึ้น เราเห็นการรวมตัวกันของหลายภาคส่วนเพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น องค์กรด้านการศึกษามากกว่า 60 แห่งในฮ่องกง รวมไปถึงสำนักพิมพ์ สื่อ และอุตสาหกรรมบันเทิง ได้ช่วยกันจัดหาสื่อการเรียนมากกว่า 900 แบบ ทั้งวิดีโอ หนังสือ เครื่องมือต่างๆ หรือแม้แต่บริการให้คำปรึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งการรวมกลุ่มนี้จะยังคงมีต่อไปแม้จะควบคุมโควิดได้แล้วก็ตาม
อีกหนึ่งข้อเสนอที่น่าสนใจมาจากรายงานของ the International Commission on the Futures of Education ซึ่งถูกตั้งขึ้นโดย UNESCO ในปี 2019 โดยรายงานดังกล่าวได้เสนอว่า การรับประกันการลงทุนด้านการศึกษาของภาครัฐจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการศึกษาภายใต้สถานการณ์โควิดได้สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ หลายชาติอาจจะต้องเจอผลกระทบและแรงกดดันในด้านการคลัง ทำให้ต้องลดการลงทุนด้านการศึกษา หรือถึงขั้น ‘ต้องเลือก’ ถ้าสถานการณ์วิกฤตมากขึ้น UNESCO จึงเสนอว่า รัฐและองค์การระหว่างประเทศควรจะร่วมมือกันเพื่อรับประกันความต่อเนื่องทางการศึกษา และปกป้องแหล่งเงินลงทุนด้านการศึกษา ผ่านบทบาทขององค์การระหว่างประเทศด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและความรับผิดรับชอบ (accountability)
อีกบทบาทที่น่าสนใจของประชาคมโลกคือ การร่วมมือกันพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรเกี่ยวกับการศึกษา รวมถึงการมีแพลตฟอร์มเปิดเพื่อพัฒนาความสนใจและการเรียนรู้ของผู้เรียน เนื่องจากบทบาทของดิจิทัลทำให้โลกการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในสถานที่หนึ่งหรือด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งอีกต่อไป ยิ่งโควิดแพร่ระบาด เทคโนโลยีการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์มือถือแบบพกพา (mobile learning technologies) ก็ยิ่งเติบโตเพิ่มขึ้น
เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำดิจิทัล รายงานดังกล่าวจึงเน้นนโยบายที่เปิดกว้างในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา ที่จะเปิดให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะถ้าพูดให้ถึงที่สุด ระบบการศึกษาของภาครัฐไม่สามารถตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เอกชนเป็นเจ้าของได้
ประเทศไทยกับภารกิจ ‘build back better’
ขยับมาที่ประเทศไทย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า เมื่อพูดถึงเทรนด์การเรียนทางไกลเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน คนมักจะนึกถึงแบบเรียนออนไลน์ แต่จริงๆ การเรียนทางไกลคือ home-based education หรือการให้การศึกษานอกโรงเรียน ที่มีตัวเลือกอื่นมากมายนอกจากระบบออนไลน์ เช่น การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการ ชุดเครื่องมือ หรือเอกสารที่ส่งถึงบ้าน
ตรงนี้สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ที่เสนอวิธีการดั้งเดิมอย่างการใช้วิทยุและหนังสือพิมพ์ เช่น การเรียนผ่านระบบวิทยุ การส่งข่าวสารข้อมูลการศึกษาผ่านโทรศัพท์ในรูปแบบ SMS หรือวิดีโอสั้น โดยวิธีนี้เคยถูกนำมาใช้ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกช่วงที่เกิดวิกฤตอีโบลา เมื่อปี 2014
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวในความเห็นของดร.ประสารคือ การลงทุนของรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมมากกว่านี้ ทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ต และระบบสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลายคนอาจนึกถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพหรือขยายโอกาสทางการศึกษาเป็นหลัก แต่บทเรียนจากสหรัฐฯ ทำให้เราอาจฉุกคิดได้ว่า การลงทุนแก้การศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ถ้าเราไม่ได้แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย เพราะจากข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ยิ่งรายได้ของผู้ปกครองลดลง ก็จะส่งผลต่อระดับการศึกษาที่ต่ำลงของบุตรหลานด้วย การขยายโอกาสด้วยการมีโรงเรียนในกำกับของรัฐจึงอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะเด็กกลุ่มนี้แทบจะไม่สามารถเข้าโรงเรียนรัฐดีๆ ได้ด้วยซ้ำ
นี่จึงเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปขบคิดต่ออย่างหนัก ว่าเราจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญในระบบมาตลอดได้อย่างไร แน่นอนว่าปัญหาที่สะสมมานานไม่สามารถแก้ได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี และไม่สามารถแก้ได้โดยอาศัยกลุ่มคนไม่กี่คน แต่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเรียกร้องความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะในห้วงยามที่มนุษยชาติต้องเผชิญกับความเปราะบางขั้นรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ
เช่นนั้น หากเราจะลองมองหาโอกาสอะไรในวิกฤตครั้งนี้บ้าง นั่นก็อาจจะเป็นการที่โควิดเปิดแผลและกระตุ้นให้เราเห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นหนักหนาเพียงใด จนทำให้ยังมีเด็กจำนวนมากต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนจะต้องมาช่วยกันเพื่อสร้างโลกการศึกษาในยุคหลังโควิดขึ้นอีกครั้ง
ด้วยความหวังว่านี่จะไม่ใช่แค่การสร้างโลกใบเดิม แต่เป็นการสร้างโลกใบใหม่ที่เสมอภาค ครอบคลุม และสามารถโอบอุ้มเด็กทุกคนเอาไว้ ไม่ให้ใครต้องร่วงหล่นจากตาข่ายการศึกษาอีกต่อไป