เมื่อพูดถึงนิยามคำว่า “เด็กนอกระบบการศึกษา” องค์การยูเนสโกและยูนิเซฟได้ให้นิยามสากลที่เข้าใจง่าย โดยแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษา
มิติที่ 2 เด็กที่เข้าเรียนช้า หรือได้เข้าเรียนระดับประถม แต่หลุดจากระบบไป
มิติที่ 3 เด็กที่เข้าเรียนช้า หรือได้เข้าเรียนระดับมัธยมต้น แต่หลุดจากระบบไป
มิติที่ 4 เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ในระดับประถม
มิติที่ 5 เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ในระดับมัธยมต้น
มิติที่ 1 เด็กนอกระบบการศึกษากลุ่มแรกคือ เด็กปฐมวัยที่ยังไม่ได้เข้าเรียนอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นเด็กที่ไม่เคยเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา หรืออาจจะเรียกว่าเด็กตกหล่น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยไม่รู้จักตัวตนของเด็กกลุ่มนี้มาก่อน ด้วยสภาพเช่นนี้ เราจึงต้องพยายามค้นหาเด็กที่ควรจะได้เข้าเรียน แต่ยังไม่ได้เรียน
มิติที่ 2 และ 3 คือเด็กที่เข้าเรียนช้า หรือเข้าเรียนแล้ว แต่หลุดออกจากระบบการศึกษาไป ทั้งในระดับประถมและมัธยมต้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน โดยหน่วยงานด้านการศึกษามีข้อมูลและรู้จักตัวตนของเด็กกลุ่มนี้ หากดูจากเลขประจำตัว 13 หลัก ก็สามารถติดตามตัวกลับเข้าสู่ระบบได้
ส่วนมิติที่ 4 และ 5 คือเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษา ทั้งประถมและมัธยมต้น ไม่ว่าจะเกิดจากภาวะความพิการ ความยากจน ความด้อยโอกาส อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ขาดเรียนบ่อย เป็นต้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านคน จัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ Thailand Zero Dropout ที่รัฐจะต้องดูแลด้วยเช่นกัน
ส่วนหนึ่งจาก EDquity Movement จดหมายข่าวจาก กสศ. โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ถึงเครือข่ายภาคีหุ้นส่วนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฉบับเดือนเมษายน 2567 เปิดอ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ คลิก