โครงการ ‘Thailand Zero Dropout’ มีเป้าหมายในการค้นหาและพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง และลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือ ‘ศูนย์’
สารตั้งต้นสำหรับการเดินหน้าโครงการ Thailand Zero Dropout จำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่ง กสศ. ให้ความสำคัญในการสำรวจตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษา เพื่อให้ทราบจำนวนที่แน่ชัด ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนและจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร นับเป็นความท้าทายที่หน่วยงานภาครัฐต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อจะเข้าใจสถานการณ์และปัญหาของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา
เพื่อค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ได้ร่วมบูรณาการการทำงาน เริ่มต้นจากการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อนำไปสู่การค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านี้ที่มีจำนวนมากถึงกว่า 1 ล้านคน
เมื่อทุกภาคส่วนทราบถึงจำนวนและข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ของเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว ฐานข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อน (data driven) การทำงานในลำดับถัดไป
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้ประสบความสำเร็จ หากยังหมายถึงทุกองคาพยพของสังคมที่ ‘ทุกคน’ ต้องเข้ามาร่วมกันเป็น ‘ภาคีหุ้นส่วนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ (All for Education) เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดทางการศึกษาตามความฝันและความตั้งใจของน้องๆ ได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องกังวลถึงปัญหาอุปสรรคด้านการเงิน ความห่างไกล หรือความด้อยโอกาสใดๆ อีกต่อไปครับ
ส่วนหนึ่งจาก EDquity Movement จดหมายข่าวจาก กสศ. โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ถึงเครือข่ายภาคีหุ้นส่วนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฉบับเดือนเมษายน 2567 เปิดอ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ คลิก