14 อาชีพที่เกิดจากผ้าฝ้ายทอ 1 ผืน

14 อาชีพที่เกิดจากผ้าฝ้ายทอ 1 ผืน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ตำบลสบเกียะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ที่เคยมีกลับกลายเป็นศูนย์และย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ มีหนี้สินเกือบล้านบาท นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทางกลุ่มเข้าร่วมกับ “โครงการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19”

จุดเด่นของผ้าฝ้ายเชิงดอย คือเป็นผ้าย้อมหินสีจากธรรมชาติ ให้สีโทนพาสเทล ได้แก่ สีเทาอมฟ้า สีชมพู ม่วงอมขาว และใช้เทคนิคการทอสี่ตะกอ หรือการทอยกดอกเป็นลายดอกกวัก ดอกแก้ว ทำให้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่สวยงาม

เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนายกระดับคุณภาพการทอ ส่งเสริมให้กลุ่มคนเปราะบางได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ ทั้งผู้สูงอายุ คนว่างงาน ผู้ได้รับผลกระทบจาการลดเวลาการทำงาน และผู้พิการ รวมทั้งสิ้น 60 คน

โดยทางกลุ่มได้ยกระดับทักษะการทอผ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงการจัดจำหน่าย เพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้คนในชุมชน สามารถลุกขึ้นมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ได้อย่างมั่นคงโดยใช้ฐานทุนเดิมที่มีอยู่

เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเดิมทีปัญหาของกลุ่มคือต้องซื้อวัตถุดิบโดยเฉพาะฝ้ายจากแหล่งอื่น เพราะในพื้นที่ผลิตไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาคือการส่งเสริมการปลูกเพื่อซื้อวัตถุดิบในพื้นที่

การทำงานร่วมกับ กสศ. ทำให้กลุ่มเรียนรู้ว่ากระบวนการมีส่วนร่วมนั้นสำคัญ จึงเริ่มต้นจากการสอบถามความต้องการในการพัฒนาตนเองของกลุ่มเป้าหมาย จนเกิดแนวคิดที่จะปลูกฝ้ายและครามซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการทำผ้าฝ้าย ที่ปกติแล้วจะเป็นเพียงกลุ่มผู้หญิงเท่านั้นที่เข้ามารวมกลุ่ม แต่เมื่อมีการปลูกฝ้ายและครามจึงเป็นโอกาสให้กลุ่มแรงงานผู้ชาย ที่โดยทุนเดิมเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ได้เข้าร่วมกลุ่มอบรม

กระบวนการกลางน้ำ​ เป็นหลักสูตรที่พัฒนาทักษะความรู้ เช่น ให้ความรู้เรื่องอีดฝ้าย ดีดฝ้าย มวนฝ้าย ปั่นฝ้าย กวักฝ้าย ย้อมสี ปั่นแกนหลอด ง้วนฝ้าย (ทำเครือ) สืบฝ้าย (กระบวนการทำเส้นฝ้าย) แและการทอขั้นพื้นฐาน

ส่วนกลุ่มที่ต้องการยกระดับทักษะ คือ กลุ่มที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอยอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จะได้รับการฝึกการทอกี่ตะกอ และผ้าทอจกล้านนา ที่ต้องฝึกเทคนิคการปั่นฝ้ายสองเส้น เทคนิคการทำเกลียวเส้นด้ายให้พอดี

กระบวนการปลายน้ำ นอกจากการทอผ้าเป็นฝืนขายแล้ว กลุ่มยังยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ผ้าคล้องคอและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขึ้นมา ปัจจุบันทางกลุ่มกำลังเร่งดำเนินการทำเรื่องการตลาดออนไลน์ และหาคู่ค้ากับบริษัทเอกชนสองแห่งในการนำผลิตภัณฑ์ไปขายต่อ และรับผ้าไปผลิตเป็นเสื้อผ้า

ผลลัพธ์จากโครงการนี้ ทำให้ชาวบ้านสามารถเพิ่มมูลค่าผ้าฝ้าย มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากที่ขายได้ผืนละ 500 บาท กลายเป็นผืนละ 1,000 บาท นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ทั้งยังพบว่าหลายคนมีศักยภาพในการเป็นครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้าด้วย

นอกจากนี้ยังเกิดกลุ่มผู้ปลูกคราม ปลูกฝ้าย ซึ่งในอนาคตเมื่อได้ผลผลิตแล้วสามารถนำวัตถุดิบส่งขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อกลับสู่สภาวะปกติ วิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยแห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่ง ‘โอกาส’ และ ‘ความหวัง’ ในการสร้างอาชีพ รายได้ของคนในชุมชนอย่างแน่นอน

สามารถติดตามข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่: www.eef.or.th/fund/community-base/

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม