การเชื่อใจครู ไม่ใช่การปล่อยให้พวกเขาทำอะไรก็ได้ตามต้องการในโรงเรียน… การเชื่อใจในโรงเรียนก็มีมากกว่าการหยิบยื่นงบประมาณจากภาษีให้ แล้วสั่งให้พวกเขาจัดการตัวเองตามปรารถนา
จากหนังสือ “เชื่อใจในตัวครู – In Teachers We Trust” ที่เขียนโดยปาสิ ซอห์ลเบิร์ก (Pasi Sahlberg) นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงชาวฟินแลนด์ ที่เสนอแนวทางสร้างการศึกษาที่ดีจาก “ความเชื่อใจ” (Trust)
โดยเฉพาะในช่วงโควิด-9 ที่เด็กทั่วโลกกว่า 1,500 ล้านคนต้องเรียนหนังสือที่บ้าน การที่มอบความไว้ใจให้โรงเรียนและครูสามารถที่จะออกแบบการสอนเอง ให้ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม จึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
แต่การเชื่อใจไม่ได้มาเพราะโชคช่วย…
และนี่คือ “5 กุญแจที่นำมาสู่ความเชื่อใจ”
ความเมตตา (benevolence) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะมีบุคคลอื่นใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอหรือความไม่มั่นใจของเขา ในโรงเรียนที่มีความเชื่อใจต่ำ ทั้งครูและนักเรียนต้องใช้พลังใจอย่างมากในการจัดการความกลัวและความอ่อนแอ
การขาดความเมตตาจะทำให้คนเราเสียพลังงานไปกับการคิดหาทางหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ความเมตตาสร้างขึ้นได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและอบอุ่นระหว่างสมาชิกทั้งหมดในโรงเรียน
ความซื่อสัตย์ (honesty) หมายถึง การที่ครูจะเชื่อถือคำพูดและการกระทำของเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร และนักเรียนได้ หากความซื่อสัตย์หายไป การทรยศ ความน่าสงสัย และความไม่ไว้ใจจะเข้ามาแทนที่
ความเปิดกว้าง (openness) ในทางปฏิบัติ หากความเปิดกว้างเสื่อมไป ครูจะเริ่มสงสัยว่าเพื่อนร่วมงานอาจปิดบังอะไรบางอย่างและสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด และเมื่อครูรู้สึกว่าต้องแข่งขันกันเอง พวกเขาจะไม่แบ่งปันความคิดที่ดีที่สุดหรือสนับสนุนเพื่อนร่วมงาน เพราะนั่นอาจทำให้สถานะในการแข่งขันของตนสั่นคลอน
ความน่าเชื่อถือ (reliability) หมายถึง การที่ทุกคนในโรงเรียนรู้หน้าที่และความรับผิดชอบในระดับบุคคลและระดับกลุ่มของตน โรงเรียนที่บ่มเพาะความน่าเชื่อถือให้แก่บุคลากรได้สำเร็จ คือโรงเรียนที่ลงทุนกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญในโรงเรียนและพัฒนาวัฒนธรรมความร่วมมือ
ศักยภาพ (competence) หมายถึง การที่โรงเรียนแบ่งปันความคาดหวังในวิชาชีพและความเข้าใจร่วม ซึ่งมีเพียงผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิเท่านั้นที่จะทำสิ่งนี้ได้ ความเชื่อใจในตัวครูเสื่อมลงได้หากครูขาดความรู้ ศักยภาพ และจริยธรรมทางวิชาชีพ
อ่านบทความ : บทเรียนจากฟินแลนด์ ใช้ความเชื่อใจสร้างระบบการศึกษา