เพราะเป้าหมายของการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนกลับเข้าสู่ห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่คือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สอดรับกับทุกเงื่อนไขชีวิต และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ได้เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ
1.การจัดการศึกษาในระบบ เหมือนหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน
2.การศึกษานอกระบบ สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม
3.การศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ
นั่นเป็นรูปแบบโดยหลักการ แต่ใจความสำคัญของ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ คือการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน ที่สำคัญมีกฎหมายหลายฉบับรองรับความถูกต้อง โดยที่สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบเลยก็ได้ โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้
“1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” เทียบโอนความรู้ได้
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 โดยสถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบเลยก็ได้ โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ทั้งจากสถานศึกษาเดียวกัน ต่างกัน รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย ฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน
และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
อ่านข่าว : สพฐ.สร้างความเชื่อมั่น “โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบตามกฎหมาย”
บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน สถาบันอื่นๆ จัดการศึกษาผ่าน ‘ศูนย์การเรียน’ ได้
ช่วงโควิดที่ผ่านมา ‘โรงเรียนเนกขัมวิทยา’ จังหวัดราชบุรี มีเด็ก 7 ใน 10 คนหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะครอบครัวเผชิญปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือปะปนกันไปด้วยเหตุอื่นๆ เช่น มีปัญหาสุขภาพ การเดินทาง หรือตั้งครรภ์ในวัยเรียน
ทิสา สุธาบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน เห็นใจความสำคัญเรื่องการจัดการศึกษาผ่านศูนย์การเรียน ตามที่ระบุในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และ มาตรา 18 จึงนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาในโรงเรียนอย่างได้ผล
โดยมาตรา 12 ระบุว่า นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษา
และ มาตรา 18 (ข้อ 3) ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด
อ่านบทความ : “1 โรงเรียน 3 ระบบ โรงเรียนเนกขัมวิทยากับโมเดลการจัดการศึกษาที่มีทางเลือก”
ตัดเย็บ พลิกแพลง ยืดหยุ่น ให้เข้ากับชีวิตและครอบครัวของผู้เรียน
การแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ไม่ได้หมายถึงการพาเด็กทุกคนกลับเข้าสู่ห้องเรียนเพียงเท่านั้น หลายคนการจะทำให้เขาเรียนต่อได้ ต้องมีแนวทางรับมือที่สอดคล้องกับชีวิต มีวิธีการที่เอื้อกับการเรียนรู้ของแต่ละคนที่มีภาระหน้าที่ เช่น ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว หรือต้องไปประกอบอาชีพหารายได้ ดังนั้นห้องเรียนแห่งโอกาส เช่น ระบบเทียบโอนทักษะ การเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ฯลฯ จะช่วยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากการศึกษาได้ โดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก
และการศึกษายืดหยุ่น มีกฏหมายอย่างน้อย 3 ฉบับยืนยันในสาระสำคัญข้อนี้ ได้แก่
• พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
มาตรา 22 การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
• พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
• รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
มาตรา 53 ให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ทั้งของรัฐและเอกชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายกำหนด แต่ไม่ใช้บังคับแก่บุคลากรทางการศึกษาที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
ตัวอย่างสำคัญคือ ‘โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์’ จ.กาญจนบุรี เริ่มดัดแปลงพื้นที่ของห้องเรียนหนึ่งในอาคารหลังเก่า ให้เป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนตกค้าง ซึ่งครูแต่ละรายวิชาจะเวียนกันมาสอน พร้อมสอบวัดประเมินผล และออกวุฒิการศึกษาให้ เมื่อผู้เรียนเก็บหน่วยกิตได้ครบตามหลักสูตร
‘นุชนาถ สอนสง’ ผู้อำนวยการโรงเรียน เรียกสิ่งนี้ว่า ‘ห้องเรียนวันศุกร์’ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โรงเรียนเห็นว่า การจัดการศึกษาที่เหมาะสมตามความจำเป็นของผู้เรียน มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนพัฒนามาเป็น ‘การจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กตกหล่น ออกกลางคัน และกลุ่มเสี่ยง’
อ่านบทความ : “เพราะการศึกษาไม่ได้มีเพียงทางเลือกเดียว รู้จักโมเดล ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ สร้างพื้นที่แห่งโอกาสที่โรงเรียนไหนก็ทำได้”
เรียนร่วม ประเมิน เทียบโอนผลการเรียนได้
จาก ‘การจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กตกหล่น ออกกลางคัน และกลุ่มเสี่ยง’ ของโรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ข้อ 3 เรื่อง พัฒนารูปแบบจัดการเรียนรู้ที่ตรงตามบริบทชีวิต และสอดคล้องกับยุคสมัย มีใจความสำคัญคือ
“การวัดประเมินผลยังปรับเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่น สามารถเทียบโอนจากสภาพการณ์และสถานการณ์จริง เช่น เด็กมีประสบการณ์ทำงานช่าง งานค้าขาย หรือปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ก็นำมาเทียบประเมินได้กับรายวิชาเพิ่มเติม คือวิชาทักษะอาชีพ วิชาพื้นฐานธุรกิจ และวิชาเกษตร”
ซึ่งตรงกับ กฏกระทรวง ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555
ข้อ 2 องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน อาจจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย โดยจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนสำหรับผู้ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ เพื่อให้ยืดหยุ่น คล่องตัว
สามารถจัดการศึกษาแบบคละชั้นและอายุหรือจัดให้มีการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาอื่น และเทียบโอนผลการเรียนซึ่งกันและกันได้
และข้อ 10 (2) กรณีที่มีการจัดการเรียนรู้ร่วมกับสถาบันอื่น ให้มีการวัดผลและประเมินผลร่วมกัน
.
เช่นเดียวกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่ระบุว่า ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ทั้งจากสถานศึกษาเดียวกัน ต่างกัน รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย ฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน
อ่านบทความ : “เพราะการศึกษาไม่ได้มีเพียงทางเลือกเดียว รู้จักโมเดล ‘1 โรงเรียน 3 ระบบ’ สร้างพื้นที่แห่งโอกาสที่โรงเรียนไหนก็ทำได้”
เพราะทุกอย่างคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มาตรา 7 ระบุว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีเป้าหมายเพื่อจัดให้มีระบบกระตุ้น ชี้แนะ หรืออำนวยความสะดวกด้วยวิธีการใดๆ ให้บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในเรื่องที่ตนสนใจหรือตามความถนัดของตัวเอง สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกประเภทได้ในเวลาใดๆ ที่ตนสะดวกโดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายที่เกินสมควร และเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวาง รู้เท่าทันพัฒนาการของโลกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งนำความรู้ไปเติมเต็มชีวิตให้แก่ตนเองหรือเกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยอาจได้รับการรับรองคุณวุฒิตามความเหมาะสมด้วยก็ได้
สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 ที่กำหนดว่า รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬาและนันทนาการ แหล่งข้อมูล และแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ