โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล 284 แห่ง กำลังจะได้ต้อนรับ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ หรือ ‘ครูคนใหม่ที่คุ้นเคย’ ของเด็ก ๆ ในเดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น” เป็นทุนภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่มีความสอดคล้องกับภารกิจและแผนกลยุทธ์ ตามมาตรา 5(3) และ 5(6) เกี่ยวกับการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครูให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู
‘คุณครูคนใหม่กลุ่มนี้’ คือความหวังที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล เพราะจากการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อปี 2563 พบว่า ทั่วประเทศไทยมีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (ใช้เกณฑ์จำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน) มากถึง 1,155 โรงเรียน โดยมีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมด 90,348 คน แต่มีครูที่บรรจุแค่ 9,484 คน
เมื่อเทียบสัดส่วนครูและนักเรียนพบว่าค่าเฉลี่ยมีครู 0.95 คนต่อห้อง หรือสรุปง่าย ๆ ว่าจำนวนครู 1 คน ต้องดูแล 2 ห้องเรียน ทำให้ประสบปัญหาครูไม่เพียงพออย่างรุนแรง รวมถึงครูขอย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนในท้องถิ่น ด้วยสภาพความห่างไกลของที่ตั้งโรงเรียน เช่น โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ที่สอนระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยมีครูแค่ 12 คน ต่อนักเรียน 259 คน คล้ายกับโรงเรียนบ้านนางาม จังหวัดร้อยเอ็ดที่สอนระดับอนุบาลจนประถมศึกษาที่มีครูประจำโรงเรียนแค่ 4 คน
การมีอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้ทำหน้าที่ ‘สถานศึกษา’ เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น ดังนั้นแล้วเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครู จึงต้องแก้ให้ตรงจุดด้วยการเพิ่มจำนวนครู และต้องเป็นครูที่เป็นผลผลิตของท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น” ได้ถูกออกแบบหลักสูตรพิเศษเฉพาะให้เหมาะกับการเข้าไปทำงานตรงตามปัญหาการศึกษาโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ผลิตครูที่รักถิ่นฐาน พัฒนาชุมชน ลดปัญหาการโยกย้าย เพื่อเป็นแนวทางการผลิตและพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ด้วยการสร้างคนในชุมชนนั้น ๆ ผ่านการให้ทุนการศึกษาวิชาชีพครู สู่การเป็นคุณครูของชุมชน จนกลายเป็น ‘ครูคนใหม่ที่คุ้นเคย’ และพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น” มีแบบแผนในการผลิตและพัฒนาครู 5 รุ่น โดยมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร + กิจกรรมเสริมหลักสูตร 4 ปี ซึ่งในปัจจุบันกำลังจะผลิดอกออกผลแล้วในครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก (ทุนปีการศึกษา 2563) ที่สามารถสร้างครูถึง 327 คน และมีรุ่นอื่น ๆ อีกจนถึงรุ่น 5 (ทุนปีการศึกษา 2567) ที่จะสามารถผลิตครูรวมกันมากถึง 1,500 คนภายใน 5 ปีนับจากนี้
นี่คือรูปแบบการพัฒนาครูระบบปิด พัฒนาฐานข้อมูลอัตรากำลังครู เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและพัฒนาครู (Systems change)
ในเดือนตุลาคมปี 2567 นี้ ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 ทุนปีการศึกษา 2563 ทั้งหมด 327 คน เตรียมเข้าบรรจุเป็นข้าราชการครูเต็มตัว ซึ่งจะกระจายไปตามโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ จำนวน 284 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน ดังนี้
บนภูเขา : นศ.ทุน 72 คน > 61 รร.
เสี่ยงภัย : นศ.ทุน 21 คน >18 รร.
ชายแดน : นศ.ทุน 17 คน > 16 รร.
ทุรกันดาร: นศ.ทุน 14 คน > 12 รร.
บนเกาะ : นศ.ทุน 12 คน > 11 รร.
ชนกลุ่มน้อย : นศ.ทุน 8 คน > 7 รร.
โรงเรียนพระราชดำริ : นศ.ทุน 5 คน > 5 รร.
โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ : 35 คน > 34 รร.
พื้นที่พิเศษตามประกาศกระทรวงการคลัง : 19 คน > 18 รร.
โรงเรียนร่วมพัฒนา : 1 คน > 1 รร.
โรงเรียนไม่ทุรกันดารแต่ขาดแคลนครู : 123 คน > 101 รร.
และภายใน 5 ปี จำนวนโรงเรียนปลายทางที่ครูรักษ์ถิ่น 1,500 คนจะไปบรรจุ จะมีจำนวนรวมกว่า 1,000 แห่ง เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อลงตัวของโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งหลังจากบรรจุแต่งตั้งและปฏิบัติการสอนแล้ว ทางโครงการจะมีการสนับสนุน ติดตาม ประเมินการปฏิบัติงาน ‘ครูคนใหม่’ ไปตลอด 6 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ปีเน้นการปฏิบัติงานในโรงเรียน บทบาทการเป็นนักพัฒนาชุมชน และ 4 ปี เน้นพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพ ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ