‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ สถานการณ์เด็กในวิกฤตหลุดจากระบบการศึกษา เสียงเงียบที่ต้องฟัง ทางออกที่มองเห็น
รายงานข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงลึก จำนวน 848 กรณีศึกษาของ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ.’ พบว่า ในปีการศึกษา 2566 สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษายังไม่พ้นวิกฤต
ภาพรวมสถานการณ์ พบว่า เด็กในวิกฤตการศึกษา 3 ใน 4 คน อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ โดยเป็นเด็กช่วงชั้นประถมศึกษา 58% และมัธยมศึกษาตอนต้น 24% สาเหตุส่วนใหญ่เชื่อมโยงครอบครัวทั้งหมด โดยพบว่ากว่า 70% ของเด็กวิกฤตฯ ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ และ 73% ชีวิตมีปัญหาซับซ้อนมากกว่า 1 เรื่อง
ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้นโยบายเรียนฟรี ทำไมเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถึงยังวิกฤต?
ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ. พบว่า ต้นเหตุใหญ่เกิดจากครอบครัวนักเรียนยากจนรุนแรง ชีวิตสิ้นหวังมองไม่เห็นอนาคต ประกอบไปด้วย
1. ผู้ปกครองมีรายได้น้อย โดยรายได้ของครัวเรือนที่มีเด็กกลุ่มวิกฤตฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 900 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่หนี้สิ้นอยู่ที่ 40,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้แต่ละครอบครัวมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ประมาณ 45% .
2.ผู้ปกครองไม่มีงานทำ ทำให้ไร้ความสามารถดูแลเรื่องการศึกษา
3. ไม่มีค่าเดินทางมาเรียน
4. ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
5.ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะทางการศึกษา
หวังรัฐบาลใหม่ผลักดันเป็นวาระเร่งด่วน ช่วยให้เด็กพ้นวิกฤตหลุดจากระบบการศึกษา โดยมีข้อเสนอมาตรการดังนี้
1. สร้างงานสร้างอาชีพให้พ่อแม่เด็กยากจนยืนหยัดได้
2. สวัสดิเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนที่ครอบคลุมทุกช่วงชั้น โดยเฉพาะอนุบาล ม.ปลาย สายอาชีพ และทุกรูปแบบการศึกษาที่ยังไม่ได้รับในส่วนนี้ นอกจากนี้สวัสดิการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าเล่าเรียนด้วย เช่น ค่าเดินทาง ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถแบกรับค่าเดินทางในการไปเรียนหนังสือได้
3. มีทางเลือกการศึกษาที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นเพื่อเด็ก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิก