“กำไรคืนมา 7 เท่า” ตอบทุกข้อสงสัยด้วยตัวเลข ทำไมลงทุนกับการศึกษาจึงไม่มีวันขาดทุน

“กำไรคืนมา 7 เท่า” ตอบทุกข้อสงสัยด้วยตัวเลข ทำไมลงทุนกับการศึกษาจึงไม่มีวันขาดทุน

ลงทุนกับการศึกษาในวันนี้ การันตีผลตอบแทนในอนาคตสูงถึง 7 เท่า

ในปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 ม.3 และ ม.6 ที่มักจะหลุดหายไปจากระบบในช่วงปิดเทอมและไม่กลับเข้ามาเรียนอีกเลย โดยเฉพาะช่วงที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สภาวะทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากตกงานกระทันหัน ครัวเรือนขาดรายได้ฉับพลัน เด็ก ๆ จึงจำเป็นต้องหันหลังให้กับโรงเรียนเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่หารายได้เข้าบ้าน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่ามีนักเรียนในกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษสังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2561 จำนวน 148,021 คน เข้าศึกษาต่อถึงระดับชั้น ม.6 เพียง 62,042 คน และยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในระบบ TCAS ปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 จากจำนวนทั้งหมด

แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการศึกษาของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษตั้งอยู่บนความเสี่ยง และจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนทางการศึกษาเพื่อรักษาให้พวกเขาเหล่านี้ยังคงอยู่ในระบบต่อไป

“จะเกิดอะไรขึ้น หากเด็ก ๆ ทั้ง 20,018 คนในกลุ่มนี้มีโอกาสเรียนจนจบปริญญาตรี”

จากข้อมูลพบว่า ต้นทุนการศึกษาที่จะทำให้นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ จำนวน 20,018 คน เรียนจนจบปริญญาตรีมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,200 ล้านบาท (เฉลี่ยคนละ 410,000 บาทต่อคน) โดยการลงทุนในครั้งนี้จะช่วยให้รายได้เฉลี่ยหลังสำเร็จการศึกษาของเยาวชนไทยเพิ่มขึ้นตลอดช่วงชีวิตการทำงานจาก 13,118 บาทต่อเดือน เป็น 27,132 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 1 เท่า

และข้อมูลยังเผยให้เห็นว่าระดับการศึกษาที่สูงขึ้นส่งผลโดยตรงกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงานที่มีวุฒิการศึกษา ป.6 จะมีรายได้เฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงานราวๆ 9,136 บาทต่อเดือน วุฒิการศึกษา ม.ต้น จะมีรายได้เฉลี่ย 10,766 บาทต่อเดือน วุฒิการศึกษา ม.ปลาย จะมีรายได้เฉลี่ย 13,118 บาทต่อเดือน และวุฒิการศึกษาปริญญาตรีจะมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาทต่อเดือน

นอกจากการลงทุนด้านการศึกษาจะช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้กับเยาวชนแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในแต่ละครัวเรือน ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรในระบบฐานภาษี (เนื่องจากมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า 26,583 บาทต่อเดือน ซึ่งเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีในปัจจุบัน) ให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับประเทศที่มีมูลค่าสูงถึง 66,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนที่สูงถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับต้นทุน และยังช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคตอีกด้วย

ลงทุนด้านการศึกษา = เพิ่มรายได้เฉลี่ยของเยาวชน + ยกระดับคุณภาพชีวิตในแต่ละครัวเรือน + สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ

ด้วยเหตุผลข้างต้นทั้งหมดนี้ กสศ. จึงมุ่งเน้นเรื่องการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มอัตราการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในกลุ่มนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปีข้างหน้า และพยุงอำนาจบวกกำลังซื้อให้ผู้ปกครองยังคงมีกำลังส่งบุตรหลานให้อยู่ในระบบการศึกษาผ่านทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานและทุนเสมอภาคที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

เชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบติดตามการคงอยู่ของนักเรียนตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อส่งต่อไปยังระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอย่างไร้รอยต่อ และจัดทำมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ท้องถิ่นและภาคเอกชนร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนให้เด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนด้อยโอกาสไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน

เพื่อให้นักเรียนไทยที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนกว่า 2.5 ล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง

[1] สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 ประมาณการโดยคำนวณมูลค่าปัจจุบัน (Present value) โดยใช้สมมติฐานอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ 3%

[2] สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ที่ทําการวิเคราะหข้อมูลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรจาก สํานักงานสถิติแหงชาติ ปี 2564 โดยใช้สมมติฐานอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ 3%

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : รายงานฉบับพิเศษ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม