เมื่อเด็กเยาวชนคนหนึ่งพ้นออกไปจากรั้วโรงเรียน ในเวลาไม่นาน เส้นทางชีวิตของเขาจะเริ่มเบี่ยงไปจากวิถีเดิมที่คุ้นชิน… โดยเฉพาะกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาด้วยผลกระทบจากโควิด-19 แล้วก้าวเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัว เพราะเพียงไม่เกินหนึ่งเทอมการศึกษาหรือราว 3-4 เดือน พวกเขาจะค่อย ๆ สูญเสียความรู้ดั้งเดิมและทักษะการเรียนรู้ในด้านวิชาการ รวมไปถึงความคิดฝันและความเชื่อมั่นต่าง ๆ ที่เคยมีในตัวเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน ซึ่งจะค่อย ๆ ลดทอนลงอย่างช้า ๆ
ดังนั้น แม้ว่าเราจะค้นหาจนพบตัวและทราบความประสงค์ของพวกเขาแล้วว่าอยากกลับมาเรียน แต่การจะพาน้อง ๆ กลุ่มนี้ให้กลับคืนสู่โรงเรียนอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยขั้นตอน-กระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะในส่วนของโรงเรียนเอง หรือกับสภาวะทางจิตใจของเด็ก ที่ต้องแบกรับทั้งความกดดันและแรงเสียดทานจากช่องว่างของเวลาที่สูญหาย
โรงเรียนไทรน้อย จึงร่วมกับ กสศ. ออกแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่หลุดจากรั้วโรงเรียนด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้เกิดการดูแลรอบด้าน และประคองความมุ่งมั่นตั้งใจของเด็กให้คงอยู่ต่อไปได้นานที่สุด ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวมิได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือนักเรียนคนใดคนหนึ่ง แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการ ‘พัฒนาต้นแบบการดูแลช่วยเหลือ’ ที่จะช่วยให้เด็กเยาวชนคนอื่น ๆ หลังจากนี้ พร้อมกลับเข้าเรียนได้อย่างไร้รอยต่อ และไม่ต้องหลุดออกไปอีกครั้ง
“สิ่งที่เรากังวลคือเรื่องสภาพจิตใจที่เด็กต้องเจอความเครียด โดยเฉพาะเรื่องของช่วงเวลาที่หายไป การไล่ตามเก็บหน่วยกิตให้ทันเพื่อน และการปรับตัว จึงได้วางแผนในการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งไปที่การปูสภาพจิตใจให้เด็กมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากชีวิตก่อนหน้าที่ต้องออกไปทำงานหนัก เราอยากเน้นว่าเขาอาจไม่ต้องเรียนดี เรียนเก่ง แต่ขอให้เข้าใจสถานการณ์ของตนเอง มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ และรู้ว่า ‘โรงเรียน’ คือสถานที่ปลอดภัยสำหรับเขาเสมอ”
ดวงตา นิคม ครูฝ่ายงานแนะแนวโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี