การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องมีแรงงานทักษะสูงเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นการจัดการศึกษาให้แก่และเยาวชนทุกคนอย่างเสมอภาค มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปี
จากการวิจัยพบว่าการลงทุนส่งเสริมสร้างกำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพและจะช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต ให้ผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 10 และให้ผลตอบแทนทั้งในส่วนบุคคลต่อสถานประกอบการ และต่อสังคม และการลงทุนในลักษณะเช่นนี้ได้มีการทำในหลายๆ ประเทศ ที่เน้นการส่งเสริมให้คนกลุ่มน้อย คนยากจน คนชายขอบ ผู้ที่ไม่มีใครในครอบครัวเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา
การสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเลื่อนยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และส่งผลถึงการขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ (Generations)
ที่สำคัญต้องมีการพัฒนาต้นแบบเส้นทางการศึกษาสายอาชีพ (Pathway) ที่ต่อเนื่อง และพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง ทำนองเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ควบคู่ไป โดยปัจจุบัน กสศ. กำลังทำต้นแบบการพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาทั้งระบบตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี โทและเอกเพื่อเสนอภาคนโยบายต่อไป