ปัจจุบันประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตหลังสำเร็จการศึกษา 20,920 บาทต่อเดือน ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาด้วยวุฒิปริญญาตรีมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาทต่อเดือน
เป้าหมายประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้าที่จะยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชากรไทยเป็น 38,000 บาทต่อเดือนนั้นอาจมีทางลัด หากเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามีจำนวนน้อยลง
ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
เมื่อเด็กคนหนึ่งไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา
จากผลการวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. พบว่าการดึงเด็กกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานกลับมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มช่วงรอยต่อระหว่าง ม.3 และ ม.4 สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ในระยะยาว โดยประมาณการว่าหากสามารถผลักดันให้เด็ก ม.3 ทุกคนยังสามารถศึกษาต่อในระดับสูงได้นั้น จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากถึง 409 ล้านบาทต่อปี (เทียบกับกรณีที่มีเด็กหลุดไปจำนวน 33,547 คน)
.
รายได้ตลอดช่วงชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการศึกษาต่อในระดับสูง หากคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (IRR) แล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 9% ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐที่อยู่ราว 2.7% และอยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า หรือการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะพิจารณาโครงการที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับ 9-12 %
.
ผลตอบแทนดังกล่าวยังไม่นับรวมผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) ในเชิงมหภาคของการศึกษาที่เพิ่มขึ้น เช่น อัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ลดลงในช่วงชั้นที่สูงขึ้น จะส่งผลให้คุณภาพแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสุขภาพประชากรจะแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ความเสมอภาคทางสังคมและคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ
.
.
“โจทย์ของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในปัจจุบัน อาจไม่ได้ต้องการงบประมาณมากมายเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ทุกฝ่ายต้องยึดเด็กเป็นตัวตั้ง บูรณาการฐานข้อมูลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งรัฐบาล เอกชน องค์กรอิสระ และชุมชน” – ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
.
ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอในงาน Equity Forum 2023 “ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ”
.
ดาวน์โหลดอีบุ๊กเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 ได้ที่ https://www.eef.or.th/publication-28816/