ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 2.5 ล้านคน ที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนของประเทศไทย โดยเฉพาะ 1.3 ล้านคนในกลุ่มยากจนพิเศษที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเพียง 1,044 บาทต่อเดือน (หรือ 34 บาทต่อวัน) ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรหลาน
สภาวะดังกล่าวส่งผลให้มีนักเรียนจำนวนมากตัดสินใจ ‘เดินออกจากระบบการศึกษา’ เพราะเห็นว่าการหารายได้จุนเจือครอบครัวมีความสำคัญมากกว่าการไปโรงเรียน นอกจากนี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังพบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ายังมีอุปสรรคอีกมากที่ทำให้เด็กคนหนึ่ง ‘ตัดสินใจไม่ไปโรงเรียน’ เช่น การขาดแคลนค่าอาหารและค่าเดินทาง หรือความลำบากในการเดินทาง เนื่องจากบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน
‘เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน’ จึงมีบทบาทสำคัญที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน โดยนักเรียนยากจนในระดับชั้นประถมศึกษาจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีจำนวน 1,000 บาท และนักเรียนยากจนในระดับ ม.ต้น จะได้รับเงินอุดหนุนรายปี 3,000 บาท เสริมด้วย ‘ทุนเสมอภาค’ ที่อุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเติมอีกปีละ 3,000 บาท ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนกลับมาสู่ห้องเรียนอีกครั้ง
แม้ว่าแนวทางการช่วยเหลือดังกล่าวจะมีประโยชน์กับนักเรียนจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมนักเรียนในระดับปฐมวัย (อนุบาล) และมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ปัจจุบันยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณครอบคลุมทั้งสองระดับชั้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างบนเส้นทางการศึกษาที่เด็กๆ เริ่มต้นไม่ได้ จะไปต่อก็ไม่สุด
เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่นักเรียนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา และพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีข้อเสนอเพื่อขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล – ม.ปลาย) และปรับอัตราเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
นอกจากจะเชื่อมเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ให้ขาดกลางทางยังเป็นการลงทุนในศักยภาพมนุษย์ ผลลัพธ์คือวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากขึ้น สร้างผลตอบแทนกลับสู่ประเทศด้วยการเข้าสู่ระบบฐานภาษี และก้าวเข้าสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงในอนาคต
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : รายงานฉบับพิเศษ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565