ความเครียดและซึมเศร้า รุมเร้าเด็ก-เยาวชนไทย
บริการสุขภาพจิตยังไม่ถ้วนหน้า จิตแพทย์เด็กขาดแคลน

ความเครียดและซึมเศร้า รุมเร้าเด็ก-เยาวชนไทย

แม้วิกฤตโรคระบาดจะเริ่มคลี่คลาย ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ปัญหาความเครียดและซึมเศร้าของเด็กและเยาวชนไทยยังคงเป็นผลพวงที่สืบเนื่องตามมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และถึงแม้เด็กและเยาวชนจะสามารถกลับเข้าสู่ห้องเรียนในรูปแบบออนไซต์ที่คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว แต่กลับไม่เป็นไปดังเช่นที่คาด
.
ข้อมูลจากรายงาน ‘เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023’ โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ได้จัดทำแบบประเมินสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น ผ่านระบบออนไลน์ Mental Health Check ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 รวมทั้งสิ้น 180,000 คน ในจำนวนนี้พบว่ามีเด็ก 7,285 คน ได้รับการประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และ/หรือฆ่าตัวตาย
.
.
✨ จิตแพทย์เด็กขาดแคลนหนัก
.
ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน เป็นปัญหาที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากบุคลากรด้านจิตเวชที่ได้รับการฝึกฝนในการดูแลเด็กและเยาวชนโดยตรงอย่างจิตแพทย์เด็ก ทว่าจำนวนจิตแพทย์เด็กในประเทศกลับอยู่ในสถานะวิกฤตอย่างหนัก ในปัจจุบันมีจิตแพทย์เด็กเพียง 295 คนทั้งประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 111 คน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด
.
นอกจากนี้ยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ตามภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ สงขลา เป็นหลัก ในขณะที่อีก 17 จังหวัด ยังไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย และใน 15 จังหวัด จิตแพทย์เด็กต้องรับภาระดูแลเด็กและวัยรุ่นทั้งจังหวัดด้วยตัวคนเดียว
.
.
✨ สถานบริการจิตเวชไม่เพียงพอ
.
สถานบริการจิตเวชในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 452 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิก มีเพียง 177 แห่งที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่ โดย 40 แห่ง กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีจิตแพทย์เด็กประจำอยู่รวม 111 คน คิดเป็นร้อยละ 37.6 ของจิตแพทย์เด็ก 295 คนทั่วประเทศ
.
ขณะเดียวกันใน 17 จังหวัด กลับไม่มีสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กเลยแม้แต่คนเดียว และใน 15 จังหวัด มีจิตแพทย์เด็กคนเดียวทั้งจังหวัด ทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้รับการเข้าถึงการให้บริการสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม และความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้น จึงถูกคนรอบข้างตัดสินว่ามาจากพฤติกรรม ‘ดื้อ’ และ ‘เกเร’
.
.
✨ ภาพรวมผลกระทบ
.
ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทยเผชิญกับปัญหาความเครียดและโรคซึมเศร้า แต่สถานบริการจิตเวชที่มีจิตแพทย์เด็กกลับมีไม่ทั่วถึง บางจังหวัดขาดแคลน และบางจังหวัดไม่มีเลยแม้แต่แห่งเดียว รวมไปถึงการผลิตบุคลากรอย่างจิตแพทย์เด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้มีจำนวนที่เพียงพอ มิหนำซ้ำ จิตแพทย์เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่เท่านั้น
.
.
✨ กสศ. บูรณาการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ “ดูแลช่วยเหลือนักเรียน” ผ่านระบบดิจิทัล “School Health HERO”
.
19 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา สพฐ. กรมสุขภาพจิต จับมือ กสศ. บูรณาการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศ “ดูแลช่วยเหลือนักเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
ส่งต่อข้อมูลความเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม และสุขภาพจิต ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบดิจิทัล “School Health HERO” เดินหน้าสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้อย่างยั่งยืนร่วมกัน

✏ อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.eef.or.th/news-190723/

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม