กสศ. ชวนครูเครือข่ายและคณะทำงานโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ มาร่วมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้และข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในมิติต่าง ๆ ทั้งขนาดโรงเรียน ภูมิศาสตร์สถานที่ตั้ง จนถึงความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากร ว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบการเรียนรู้ การจัดการ และการเข้าถึงสื่อและอุปกรณ์อย่างไร
นอกจากนี้ในมุมมองเชิงโครงสร้าง ภาคนโยบายจะสามารถสนับสนุนและออกแบบระบบที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างไร ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายเชิงบริบทต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ที่ได้ผล เป็นรูปธรรม และทำให้ผู้เรียนรู้ในวันนี้ เติบโตขึ้นเป็นประชากรแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม นานนับทศวรรษที่การจัดการเรียนรู้แบบ ‘Active Learning’ ได้ออกเดินทางเพื่อลงหลักปักฐานครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศไทย ยังมีคำถามที่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หรือระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความแตกต่างของผลลัพธ์การเรียนรู้ ของการพัฒนาตนเองของผู้เรียน และของการนำการเรียนรู้แบบ Active Learning มาทำให้เกิดประโยชน์ได้เต็มศักยภาพที่สุดหรือไม่?
จาก EP แรกว่าด้วยการเปลี่ยนครูเป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=678447324316262&set=pb.100064530018676.-2207520000.&type=3
ใน EP.2 จะเป็นการถอดประสบการณ์ 3 ปี จาก ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล กับการทำงาน ‘โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ’ ของ กสศ. ที่จะพูดถึง ‘กลไกสนับสนุน’ ให้แต่ละโรงเรียนที่มีความต่างด้วยองค์ประกอบ ตั้งแต่ขนาดโรงเรียน งบประมาณ เครื่องมือ ความพร้อมของผู้เรียน ไปจนถึงจำนวนบุคลากร สามารถสร้าง ‘ครูนักจัดการเรียนรู้’ ได้
โดยแม้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมจะมีแนวโน้มพัฒนาได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ดร.พรนับพัน ระบุว่า “ถ้าทุกโรงเรียนล้วนอยากพัฒนาเหมือนกันทั้งหมด ดังนั้นก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าครูและผู้บริหารมี ‘ใจ’ เป็นต้นทุน” ทั้งนี้หากโรงเรียนขนาดเล็กได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่ทันต่อความต้องการ และได้รับการวางระบบที่ดี ก็สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้เช่นเดียวกัน
สำคัญคือทุกโรงเรียนต้องมี ‘พี่เลี้ยงประจำหลักสูตร’ คอยให้คำปรึกษา และเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับโรงเรียน เช่นศึกษานิเทศก์หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานต้นสังกัดเหล่านี้จะเข้าใจเรื่องบริบทแวดล้อมของโรงเรียน และเติมเต็มความขาดแคลนได้ตรงจุด
ดร.พรนับพัน กล่าวว่า “รัฐต้องสนับสนุน ‘พี่เลี้ยงประจำหลักสูตร’ เพื่อช่วยแก้ปัญหา ติดตามกระบวนการ และช่วยสะท้อนผล ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานระยะยาว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดต้องย้อนกลับไปที่ ‘คนทำงาน’ เพราะถ้ามีคณะทำงานที่เข้าใจในหลักการ มีความทุ่มเทพยายาม รวมถึงมีความเป็น ‘นักปฏิบัติ’ ที่ดีที่พร้อมลงมือทำเพื่อความเปลี่ยนแปลงของเด็กมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่ทุกโรงเรียนจะสร้างนักจัดการเรียนรู้ที่ดี และพานักเรียนไปสู่การมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นไปได้มากขึ้นเท่านั้น”