กลไกจังหวัด ตำบล หมู่บ้าน สู่ Thailand Zero Dropout

กลไกจังหวัด ตำบล หมู่บ้าน สู่ Thailand Zero Dropout

การศึกษาที่ยืดหยุ่นในกระบวนการยุติธรรม ลดเยาวชนวนซ้ำในสถานพินิจเด็กฯได้ 100 เปอร์เซ็นต์

วิทิต เติมผลบุญ เลขามูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน CYF กล่าวหลังจากเห็นข้อมูลเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีที่หลุดออกจากระบบการศึกษาราว 1.02 ล้านคนว่า รู้สึกเป็นห่วงเนื่องจากการทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาหลายปีพบว่าเด็กราว 90 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับส่วนใหญ่จะเข้าสู่วงจรเด็กแก๊งและท้ายที่สุดจะเข้าสู่สถานพินิจเด็กและเยาวชน

“เราพบว่า เด็กกลุ่มนี้เมื่อหลุดออกจากระบบ หรือถูกแขวนอยู่ในระบบระยะหนึ่ง เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถจะเรียนหรือทำงานได้ ส่วนใหญ่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาตอน ม.1- ม.2 ซึ่งหมายความว่าเด็กจะถูกแขวนอยู่ในหมู่บ้านปีหรือสองปี ช่วงนี้นี่เองเป็นช่วงที่น่าห่วงเพราะเด็กจะเข้าสู่สถานการณ์เด็กแก๊งได้ง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องยาเสพติด มั่วสุม กระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ ติดสาว และเชื่อมโยงกับเด็กในระบบ หากเป็นผู้หญิงก็จะกลายเป็นแม่วัยเรียน พากันหลุดจากระบบ ฉกชิง วิ่งราว ลักขโมย ไปจนถึงคดีอุกฉกรรจ์ ท้ายที่สุดก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนหนึ่งต้องโทษในสถานพินิจเด็กและเยาวชน”

ขณะเดียวกันนายวิทิต ยังเปิดเผยด้วยว่าเมื่อเด็กและเยาวชนในสถานพินิจเด็กและเยาวชน เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วราว 20 เปอร์เซ็นต์จะวนซ้ำกลับไปกระทำผิดและเข้าสู่สถานพินิจเด็กและเยาวชนหรือกระบวนการยุติธรรมอีก ไม่สามารถออกจากวังวนเดิม ๆ ได้ ต้นเหตุสำคัญคือการไม่มีวุฒิการศึกษา จึงเป็นที่มาของการนำการเรียนรู้เข้าไปสู่สถานพินิจเด็กและเยาวชน ให้เด็กและเยาวชนที่พ้นโทษออกไปพร้อมกับวุฒิการศึกษาอย่างน้อยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีตัวแบบของหลายพื้นที่ที่สามารถลดตัวเลขเด็กวนซ้ำเหลือเลขตัวเดียว หรือบางพื้นที่เป็น 0

“อย่างกรณีสถานพินิจเด็กและเยาวชนที่จังหวัดนครพนมเมื่อนำการเรียนรู้เข้าไป 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีเด็กวนซ้ำ เพราะเราตั้งเป้าว่าเด็กออกจากสถานพินิจฯพร้อมวุฒิการศึกษาไป ภายใน 4-6 เดือนโดยเฉลี่ย เมื่อเด็กได้วุฒิการศึกษาแล้ว เขากจะเป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัว ตัวเขาเองก็ได้รับโอกาสที่จะออกจากวังวนเดิมๆ ดังนั้นวุฒิการศึกษาแก้ไขได้ปัญหาการวนซ้ำได้อย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเด็กวนซ้ำในสถานพินิจเด็กและเยาวชน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายน้ำแต่การค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เร็วเพื่อช่วยเหลือก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วังวนของแก๊งต่างๆ จะสามารถลดอัตราเด็กและเยาวชนเข้าสู่สถานพินิจเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง เพราะจากข้อค้นพบเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะเข้าสู่สถานพินิจเด็กและเยาวชน

ดังนั้นกระบวนการ ค้นหา ช่วยเหลือ ในระดับตำบลหมู่บ้านซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด จึงสำคัญที่สุดในการที่จะช้อนเด็กขึ้นมาเข้าสู่กระบวนการโอบอุ้มคุ้มครอบให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การศึกษา ซึ่งเป็นทางออกสำคัญในการหลุดพ้นจากการกระทำความผิดซ้ำๆ ได้ อย่างกรณีที่ตำบลโป่งไฮ จังหวัดบึงกาฬ หนึ่งในตำบลต้นแบบที่ค้นหา ช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้กลับมาเรียนแล้วได้รับวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทั้งหมด”