“4 บทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม”
มาจากแนวคิดของ Bill Moyer (1993-2002) ที่ถอดมาจากการทำงานด้านการต่อสู้อย่างสันติในหลายบริบท เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ที่เริ่มต้นอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มองเห็นถึงช่องทางหรือบทบาทที่ตัวเองจะสามารถทำได้ และให้ผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ได้มองเห็นถึงการมีส่วนร่วมได้ครบทุกมิติมากขึ้น
ผู้ช่วยเหลือ เยียวยา Helper | Healer
ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาหรือกำลังเดือดร้อนด้วยกำลังศักยภาพส่วนตัวที่สามารถทำได้ การทำบางอย่างเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ตัวอย่าง :
– การบริจาคสิ่งของ เงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
– การเป็นอาสาสมัครแจกยาและอาหารให้คนไร้บ้าน
– การสอนทักษะการทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้ด้อยโอกาสเพื่อสร้างรายได้
– การเป็นที่ปรึกษาดูแลจิตใจให้กับเพื่อนที่ประสบปัญหา
ผู้ช่วยเหลือมักมีความสุขเมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเองและเห็นผลลัพธ์ของมัน
นักประสานจัดการ Organizer
ผู้ประสานงานให้เกิดความร่วมมือหรือแรงสนับสนุนในการแก้ปัญหา รวมถึงการให้ความรู้ผู้คนให้เข้าใจถึงปัญหา เพื่อให้มีความพร้อม มีแรงบันดาลใจ และลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ตัวอย่าง :
– การประสานกลุ่มคนเพื่อเรียกร้องต่อต้านความไม่เป็นธรรมของกลุ่มนายทุน
– การรวมกลุ่มคนที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพใจมาพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง
– ทำเพจให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ ชวนคนมาแชร์เทคนิคสร้างแรงบันดาลใจให้กัน
นักประสานงานจัดการมักจะเชื่อมโยงหลากหลายผู้คนมารวมตัวเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเดียวกัน ทั้งในแบบการสร้างความร่วมมือใหม่ และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวที่มีอยู่แล้ว
นักเคลื่อนไหว ผู้ชูประเด็น Rebel
เป็นผู้เปิดประเด็น เปิดเผย เปิดโปง ให้สังคมเห็นว่าตอนนี้กำลังเกิดปัญหาอะไรอยู่ หรือสื่อสารปัญหาสังคมกับสาธารณะให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง
ตัวอย่าง :
– การสื่อสารเรื่องราวการถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุน
– การเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านความอยุติธรรม
– การหยุดงานเพื่อเรียกร้องเรื่องการจ่ายค่าแรงอย่างไม่เป็นธรรม
นักเคลื่อนไหวมักจะใช้วิธีการปลุกเร้าอารมณ์ผู้คนเพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหา ทำให้ปัญหาสังคมหรือความอยุติธรรมต่าง ๆ ปรากฏต่อความสนใจของสาธารณะ
นักปฏิรูป Reformer | Advocator
ผู้ที่เข้าไปร่วมปฏิรูปสถาบันทางสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างหรือสถาบัน เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวทางปฏิบัติของสังคม
ตัวอย่าง :
– การรวมตัวกันลงชื่อยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.
– การคุยกับ ผอ. เพื่อออกกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในโรงเรียน
– การเข้าร่วมเสนอนโยบายด้านการดูแลวัยรุ่นท้องไม่พร้อมในสภาเมืองคนรุ่นใหม่
นักปฏิรูปมักจะใช้วิธีการเข้าไปคุยกับผู้มีอำนาจเพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหา
ติดตามกิจกรรมได้ที่เพจ Equity Lab แล็บฯเสมอภาค