ฝึกอาชีพนักเรียนสามเณร ต่อยอดเรียนรู้สายอาชีพขชั้นสูง

ฝึกอาชีพนักเรียนสามเณร ต่อยอดเรียนรู้สายอาชีพขชั้นสูง

เราอยากให้สามเณรนักเรียนสามารถพัฒนาตัวเอง รักในวิชาชีพ แล้วถ้าสามเณรบางรูปที่เรียนไปจนจบ ม.3 หรือ ม.6 แล้วลาสิกขา มีความตั้งใจที่จะต่อชั้น ปวช. หรือ ปวส. กสศ. จะสนับสนุนทุนต่อ

โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ

ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส ให้มีโอกาสได้เรียนรู้การศึกษาภาคบังคับ รับการฝึกอบรมอาชีพ รวมถึงหลักธรรมคำสอนแห่งพุทธศาสนา ที่จะปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ให้ติดตัวต่อไปในวันข้างหน้า

อาจารย์ผ่องพรรณ เอกอาวุธ หัวหน้าโครงการพระปริยัติธรรม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หน้าที่ของ กสศ. คือการให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และกลุ่มคนด้อยโอกาส โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้และการพัฒนาตัวเอง

ขณะที่สามเณรนักเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะมาจากครอบครัวยากจน การเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนทั่วไปจึงเป็นเรื่องยากเนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์

“บางครอบครัวพ่อแม่ไม่มีเงิน เขาจะใช้วิธีให้ลูกบวชเรียนเพื่อศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาการจัดการศึกษายังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน บางแห่งมีหลักสูตรที่หนักกว่าโรงเรียนสามัญทั่วไป เพราะสามเณรนักเรียนต้องเรียนวิชาใน 8 กลุ่มสาระเช่นโรงเรียนสามัญอื่นๆ ทั้งยังต้องเรียนนักธรรม บาลี และพุทธศาสนาด้วย”

จึงเป็นเหตุผลที่ กสศ. เข้าร่วมพัฒนาและให้ความช่วยเหลือ โดยมีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่เปิดสอนระดับชั้น ม.1-ม.6

“เราต้องการพัฒนาสามเณรนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสเหล่านี้ ให้มีความรู้ด้านวิชาชีพ หรือจุดประกายให้สนใจการเรียนสายวิชาชีพที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้”

 

เน้น 3 หลักสูตร ถ่ายทอดจากโรงเรียนแม่ข่าย

ในขั้นตอนการปรับหลักสูตร จะเริ่มจากพัฒนาครูทุกคนในโรงเรียนต้นแบบราว 50 แห่ง เพื่อให้ครูสามารถนำ 3 หลักสูตรหลักไปถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องแรกคือการพัฒนาทักษะสัมมาอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สองคือจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning หมายถึงการเรียนรู้แบบได้ลงมือทำ และได้ใช้กระบวนการคิดกับสิ่งที่ทำ และสามคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ PLC Professional Learning หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

“ตอนนี้เรามีโรงเรียนต้นแบบที่เป็นแม่ข่ายการพัฒนาในจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง และศรีสะเกษ มีกิจกรรมหลายอย่างตามหลักสูตรที่วางไว้ เช่นการลงนา ที่สามเณรนักเรียนจะได้เรียนวิชาชีพเกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ ได้ลงมือปฏิบัติจริงแล้วบันทึกโครงงาน เก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากทั้งงานวิจัยและภาคปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ประกอบอาชีพได้

“หรือที่ตำบลเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย มีการทำกระเบื้องศิลาดล ทำเครื่องปั้นดินเผา มีการปลูกชา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมในชุมชนที่เราเข้าไปช่วยพัฒนาให้มีการต่อยอดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้

 

สนับสนุนเรียนต่อสายวิชาชีพระดับสูง

อาจารย์ผ่องพรรณกล่าวต่อไปว่า เป้าหมายของโรงเรียนพระปริยัติธรรมคือต้องการให้สามเณรนักเรียนได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ คือชั้น ม.3 ถ้าหากมีความสนใจในการเรียนต่อสายวิชาชีพ ทาง กสศ. ก็ได้เตรียมความพร้อมในการส่งต่อให้ถึงระดับชั้น ปวช. และ ปวส.

“เป้าหมายสุดท้ายจริงๆ คือเราอยากให้สามเณรนักเรียนสามารถพัฒนาตัวเอง รักในวิชาชีพ แล้วถ้าสามเณรบางรูปที่เรียนไปจนจบ ม.3 หรือ ม.6 แล้วลาสิกขา มีความตั้งใจที่จะต่อชั้น ปวช. หรือ ปวส. กสศ. จะสนับสนุนทุนต่อ”

“ส่วนกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะบวชเรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เมื่อเขากลับไปอยู่บ้านทำอาชีพของครอบครัว เขาก็จะมีวิชาความรู้ติดตัวที่ทำให้การทำเกษตรสามารถหาเลี้ยงชีพได้

ท้ายที่สุดแล้ว สามเณรนักเรียนถือเป็นเยาวชนอีกกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่มาก เมื่อเทียบกับนักเรียนทั่วไปที่เรียนในโรงเรียนสามัญศึกษา ทั้งนี้ ทุนจาก กสศ. ถือว่าสามารถช่วยเติมในส่วนที่ขาดไป แม้ไม่ถึงกับเต็ม แต่ก็เป็นการเริ่มต้นจุดประกายให้สามเณรนักเรียนกลุ่มนี้คิดถึงการเรียนต่อ

“เราอยากให้เด็กที่เข้ามาบวชเรียนเพื่อหาความรู้มีกำลังใจ เพราะอย่างน้อยที่สุด เด็กๆ ในชนบทห่างไกล เมื่อเขาต้องมาเรียนแล้วถือครองสมณเพศ ต้องถือศีล 10 ไปด้วย เขาจะได้รับการกล่อมเกลาด้วยความดี ด้วยพุทธศาสนา ในทางหนึ่งก็เป็นการสร้างพลเมืองดีให้กับบ้านเมืองได้ตั้งแต่เขายังเยาว์วัยอยู่” หัวหน้าโครงการพระปริยัติธรรม กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค