เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
ร.ร.ห่างไกล ชายขอบ ปรับแผนสกัดเด็กหลุดรับปิดเทอมยาว

ร.ร.ห่างไกล ชายขอบ ปรับแผนสกัดเด็กหลุดรับปิดเทอมยาว

เราไม่ต้องการให้เด็กเรื้อโรงเรียนไปนาน หรือขาดจากกระบวนการเรียนไปเลยทีเดียว เรื่องนี้เราคิดไว้แล้วว่าเวลาปิดเทอมที่ยืดออกไปเดือนครึ่ง มันจะทำให้เด็กต้องปรับตัวเยอะมากเมื่อต้องกลับมาเรียนใหม่ ถ้าเราหยุดนิ่งไปเลย การเรียกกลับมาอีกทีอาจมีปัญหาว่าเด็กหายไปได้

สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลสุดชายแดนประเทศ การปิดเทอมที่ยาวนานกว่า 4 เดือน อาจส่งผลต่อการกลับมาเรียนของเด็ก เนื่องจากการห่างหายจากบรรยากาศการเรียนไปนานทำให้เด็กหลายคนขาดแรงจูงใจ หรือด้วยพิษเศรษฐกิจที่ตามมาหลังวิกฤต COVID-19 เด็กบางคนจึงต้องออกไปทำงานช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน และไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย

แต่ที่โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ผู้อำนวยการโรงเรียน ศุภโชค ปิยะสันต์ ได้มีกระบวนการที่เตรียมไว้เพื่อรับมือหลังปิดเทอมใหญ่อันยาวนาน โดยการให้เด็กได้มีโอกาสปรับตัวกับวิธีการเรียนแบบใหม่ ที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันและเรียนรู้กฎระเบียบอีกมากมายในรูปแบบการศึกษายุค COVID-19 และผลจากแผนการนี้ ก็ทำให้เด็กๆ กลับมาเรียนกันพร้อมหน้าเกือบ 100% เต็ม

ผอ.ศุภโชค เล่าว่า ทางโรงเรียนได้เตรียมแผนการรับมือเปิดเทอมยุค COVID-19 โดยให้เด็กสลับกลุ่มทยอยกันเข้ามาปรับตัวที่โรงเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ในห้องเรียนพิเศษที่ใช้ชื่อว่า ‘COVID ศึกษา

“มีสองเหตุผลที่เราให้เด็กมาโรงเรียนก่อนเปิดเทอมจริง อย่างแรกคือเขาต้องเข้าใจสถานการณ์ และรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์ต่างๆ รู้จักการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย รวมถึงเข้าใจด้วยว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอะไรกับเขาบ้าง เพราะเราต้องอยู่กับวิธีการดำรงชีวิตแบบใหม่นี้กันไปอีกนาน ขณะเดียวกัน โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลนั้นเป็นเหมือนแหล่งความรู้ของชุมชน เราก็ให้เด็กนำสิ่งที่เขาเรียนกลับไปถ่ายทอดสู่คนในครอบครัวของเขาได้ด้วย

“ส่วนอีกเรื่องคือ เราไม่ต้องการให้เด็กเรื้อโรงเรียนไปนาน หรือขาดจากกระบวนการเรียนไปเลยทีเดียว เรื่องนี้เราคิดไว้แล้วว่าเวลาปิดเทอมที่ยืดออกไปเดือนครึ่ง มันจะทำให้เด็กต้องปรับตัวเยอะมากเมื่อต้องกลับมาเรียนใหม่ ถ้าเราหยุดนิ่งไปเลย การเรียกกลับมาอีกทีอาจมีปัญหาว่าเด็กหายไปได้ พอล่วงเข้าเดือนมิถุนายน เราจึงค่อยๆ ดึงเด็กให้มาโรงเรียนอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง การขาดหายจากโรงเรียนก็ร่นระยะเวลาลง เขาก็จะรู้ตัวเองตลอดว่าเรียนหนังสืออยู่ จะไปทำอย่างอื่นก็ต้องห่วงเรื่องเรียนก่อน ดังนั้นถ้าถามว่าเด็กหายไปบ้างไหม ของเราแทบไม่เจอเลย”

ผอ.ศุภโชค เผยต่อไปว่า หลังจากที่เด็กได้อยู่ในบรรยากาศของการเรียนรู้ และเจอครูตลอดหนึ่งเดือนก่อนเปิดเทอมจริง ทำให้ในวันเปิดเทอมใหม่ เด็กๆ สามารถปรับตัวได้กับรูปแบบการเรียนใหม่ การรักษาระยะห่าง มีรูปแบบการเล่นและทำกิจกรรมที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญคือแนวคิดที่ว่า อยากให้เด็กรู้สึกใกล้ชิดกับโรงเรียนอยู่เสมอ ก็ทำให้เด็กของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีกลับมาเรียนกันเกือบเต็มจำนวน 452 คน

 

ไม่ใช่แค่รับมือ COVID-19 แต่ปรับการเรียนการสอนตามบริบท ป้องกันเด็กหลุดมาแล้วเป็น 10 ปี

“ในพื้นที่ห่างไกลอย่างนี้ เด็กของเรายังมีความสนใจในการเรียน สำคัญคือเราต้องให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่เขานำไปต่อยอดชีวิตได้” ผอ.ศุภโชค เล่าถึงนโยบายปรับการสอนให้เข้ากับบริบทของสภาพแวดล้อม

นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่โรงเรียนห้วยไร่สามัคคีจัดให้มีแผนการเรียนที่ออกแบบรองรับความต้องการของนักเรียนในพื้นที่ โดยเมื่อขึ้นชั้น ม.ปลาย จะมีวิชาฝึกอาชีพเสริม เช่น กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม การปลูกและแปรรูปไม้เมืองหนาว ปลูกกาแฟ หรือพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของดอยตุง ส่วนอีกกลุ่มเป็นงานด้านอาหาร บริการ งานช่าง และการทำบัญชี ซึ่งเป็นวิชาที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ทันที สามารถทำอาชีพเสริมระหว่างเรียน หรือนำไปต่อยอดหลังเรียนจบ

 “ประสบการณ์การสอนในพื้นที่ชายขอบสอนเราว่า ถ้าเราสอนแต่ในเรื่องที่เขามองไม่เห็นว่าจะนำไปใช้ยังไง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเด็กจะถอยห่างจากการศึกษา เราจึงเลือกเอาวิชาที่เขานำไปใช้ได้มาเสริมด้วย ซึ่งรวมไปถึงเรื่องทักษะชีวิต การระมัดระวังตัวเองจากยาเสพติด เรื่องชู้สาว การปรับตัวอยู่ในสังคม เราจะเน้นเรื่องพวกนี้เยอะ เพราะมันจะมีประโยชน์กับวัย และอนาคตของเขา”

 

เปิดเทอมที่กระตือรือร้นกว่าทุกครั้ง กับเด็กอีกบางส่วนที่ยังมาโรงเรียนไม่ได้

ผอ.ร.ร.บ้านห้วยไร่สามัคคีเล่าถึงบรรยากาศของวันเปิดเทอมใหม่ว่า “แค่วันแรกก็รับรู้ได้ถึงความสนใจในการเรียนมากกว่าเปิดเทอมทุกครั้ง” ทั้งความตื่นเต้นคึกคักยังส่งไปถึงบรรดาคุณครู ที่ต่างคนต่างแสดงความพร้อมของการเปิดเรียนด้วยการโพสต์รูปเด็กๆ ผ่านโซเชียลฯ กันเป็นที่สนุกสนาน

ขณะที่มีนักเรียนอีกส่วนหนึ่งที่ยังต้องรอวันเปิดเทอมต่อไป เนื่องจากพื้นที่อาศัยอยู่บริเวณตระเข็บชายแดน ทำให้ยังไม่สามารถข้ามมาเรียนได้

สุขสันต์ สอนนวล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพญาไพร อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวถึงวันแรกของการเปิดเทอมว่า เป็นครั้งหนึ่งที่ได้เห็นว่าเด็กๆ ดีใจขนาดไหนที่ได้มาโรงเรียน ทุกคนยินดีที่ได้มาเจอเพื่อนๆ และที่สำคัญคือคิดถึงอาหารอร่อยๆ ที่โรงเรียน แต่ในทางกลับกัน การปิดพรมแดนตามมาตรการเฝ้าระวัง COVID-19 ก็ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งยังมาโรงเรียนไม่ได้ หากดำเนินต่อไปในระยะยาว ก็อาจส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

“เราเป็นโรงเรียนบนพื้นที่ภูเขาสูง จึงมีเด็กกลุ่มหนึ่งราว 60 คน ทั้งที่มีสัญชาติไทย เป็นคนไทยภูเขา รวมถึงกลุ่มไร้สัญชาติ ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนอำเภอแม่ฟ้าหลวง ที่ต้องเจอผลกระทบจากการปิดพรมแดน ทำให้ยังมาเรียนไม่ได้ ก็ต้องรอกันต่อไป ตรงนี้เราก็พยายามติดตามอยู่ เนื่องจากหากปล่อยให้เวลายืดยาวออกไปโอกาสที่เขาจะไม่กลับมาเรียนก็มีสูง รวมถึงอีกส่วนหนึ่ง คือกลุ่มเด็กยากจนพิเศษจำนวนหนึ่งที่เมื่อปิดภาคเรียนนานขึ้น เขาจะติดตามผู้ปกครองไปทำงานที่ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด และด้วยงานที่ติดพันจึงอาจไม่ได้กลับมาเรียนตามกำหนด”

ในส่วนของภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำในเปิดเทอมยุค COVID-19 นี้ ผอ.สุขสันต์ ระบุว่า ครูทุกคนมีงานสำคัญ คือต้องหาวิธีจัดการเรียนการสอนที่มีจำนวนคาบน้อยลง แต่ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น

“การปิดพื้นที่กว่าครึ่งเพื่อรักษาระยะห่างของเด็กทำให้กระทบไปถึงเรื่องเวลาเรียน โดยที่โรงเรียนเราจัดการเรียนการสอนให้ชั้นอนุบาล 1-ป.6 มาเรียนในช่วงเช้า ส่วนกลุ่มมัธยมต้นที่เป็นนักเรียนขยายโอกาสเข้ามาเรียนช่วงบ่าย ก็เป็นโจทย์ที่ครูต้องตระหนักกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้ และได้รับสาระจากกิจกรรม ให้เป็นไปตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ในรอบเทอมตามมาตรฐานเดิม ซึ่งในช่วงนี้ทางโรงเรียนก็ได้มองถึงการทำสื่อ และระดมความคิดหาเทคนิคการสอนที่จะทำให้เด็กเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเป็นอย่างแรก” ผอ.ร.ร.บ้านพญาไพร กล่าว