จากโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ กสศ. ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส จำนวนกว่า 5,000-10,000 คน ครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนแนวคิดการสร้างโอกาส สร้างงาน และสร้างชุมชน ด้วยคน องค์ความรู้ และทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ผ่านแนวทางการทำงานร่วมกับชุมชน หน่วยงานด้านการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้อง
โดย 3 เสาสำคัญซึ่งถือเป็นหลักค้ำของโครงการฯ ที่แต่ละฝ่ายต่างก็มีบทบาทต่อการพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ผู้นำท้องถิ่น และภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งตัวแทนของทั้ง 3 เสาหลักจะร่วมกันนำเสนอแนวคิดและความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนา และยกระดับของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง
‘สร้างโรงเรียนนอกระบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต’
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการประเด็นแรก คือ การปฏิรูปงบประมาณ โดยเงินที่ผ่าน กสศ. จะลงไปสู่ผู้ด้อยโอกาสเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น เนื่องจากมองเห็นชัดเจนว่า กลุ่มเป้าหมายคือใคร ประเด็นที่สอง คือ ความเหลื่อมล้ำ ได้ถูกทำให้เป็นประเด็นสำคัญของประเทศ แล้วการจัดการปัญหาด้วยการสร้างโอกาสให้คนที่ไม่เคยได้รับ ก็จะเป็นหนทางที่จะลดเส้นแบ่งของความเหลื่อมล้ำให้เลือนลง
“ความสำคัญของโครงการได้แสดงออกเมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น เมื่อหลายโครงการกลายเป็นที่พึ่งของคนหลายกลุ่ม เรามีทั้งคนวัยแรงงานที่ไม่มีงานทำ จำเป็นต้องกลับบ้าน และคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นโอกาสจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่พร้อมกลับไปพัฒนาชุมชนของเขา”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การใช้ชุมชนเป็นฐาน คือปฏิบัติการจาก ‘ล่างขึ้นบน’ ดังนั้น หน่วยปฏิบัติการโครงการต่างๆ จึงถือว่ามีหน้าที่ทำงานเชิงพื้นที่ เกาะติดปัญหาและสถานการณ์ เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการให้เกิดความร่วมมือในชุมชน นำทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ ภูมิปัญมาใช้ และทำให้เกิดเป็นโรงเรียนนอกระบบที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีระบบพี่เลี้ยง (Node) ที่มีเครื่องมือ และสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระดับภาค รวมถึงสรุปบทเรียนร่วมกับทีมวิชาการ ค้นหานวัตกรรม และนำเสนองานวิจัยสู่บอร์ดและชุดอนุกรรมการ เพื่อวิจัยประเด็นและหาทางสนับสนุนส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น
“จากปีแรก เรามีเคสตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชน มีผลผลิตจากโครงการในหลายพื้นที่ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาปากท้องในช่วง COVID-19 และชี้ให้เห็นถึงความยั่งยืนของชุมชนได้จริงๆ ที่สำคัญ คือ การนำอัตลักษณ์ชุมชนที่ได้รับการเชิดชูอีกครั้ง คนในชุมชนได้มองเห็นต้นทุนของตัวเอง พร้อมที่จะยืนอยู่ได้เองด้วยองค์ความรู้และกระบวนการจัดการภายในชุมชน”
“ข้อบ่งชี้ถึงขีดความสามารถในการจัดการชุมชน คือชุ มชนนั้นๆ จะต้องประกอบด้วยคนสามรุ่น ได้แก่ คนรุ่นก่อนที่ถือภูมิปัญญาดั้งเดิม คนรุ่นที่สอง คือ วัยแรงงานที่พร้อมนำไปต่อยอดสู่ตลาดใหม่ๆ และคนรุ่นที่สาม คือ เด็กเยาวชนที่เขาจะซึมซับและเติบโตขึ้นมาทดแทนต่อไป แล้วเมื่อมีการส่งต่อ ภูมิปัญญานั้นก็จะไม่สูญสลาย เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทั้งด้านโอกาสและรายได้ นอกจากนี้แนวทางพัฒนายังสามารถส่งต่อไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอีกด้วย” ที่ปรึกษา กสศ. กล่าว
‘สร้างอาชีพและนวัตกรรมจากฐานทุนและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน’
ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ ในฐานะอดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แสดงความเห็นในมุมท้องถิ่นว่า การพัฒนาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานต้องมีการจัดการในระดับหมู่บ้าน โดยนำคนที่รู้ที่เก่งในแต่ละเรื่องมารวมกันเป็นคลังสมอง จากนั้นจะมีแกนนำ คือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และมีตัวแทนของคนหลายกลุ่มในชุมชนมาร่วมกำหนดแผนงานต่างๆ
“การพัฒนาชุมชนต้องมีคนในชุมชนเข้าร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อที่เมื่อผ่านการอบรมแล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้จะยังได้รับการพัฒนาต่อไป สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้ชุมชนรู้ว่าเขามีฐานทุนอยู่ ซึ่งก็คือ ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า มีทุนวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งเหล่านี้ คือ ทุนที่นำมารองรับผู้ยากลำบากที่กลับสู่พื้นที่ของเขาได้”
ผู้ใหญ่โชคชัย กล่าวต่อไปว่า แนวคิดชุมชนเป็นฐาน คือ การส่งต่อการพัฒนา เราเข้าไปให้วิธีคิดวิธีการเขา แล้วต้องทำให้เขามีความคิดว่าต้นทุนและกลุ่มคนเหล่านั้นเป็นของเขา ซึ่งจะต้องอุ้มชูดูแลกันต่อไป สำคัญ คือ เราต้องไม่สร้างชุดคำตอบสำเร็จขึ้นมาแล้วคิดว่าจะทำให้เขาอยู่รอด แต่ต้องสร้างอาชีพและนวัตกรรมที่มาจากความต้องการและต้นทุนชุมชนจริงๆ แล้วค่อยหนุนเสริมความคิด ใช้วิชาการเข้าไปต่อยอด จากนั้นเมื่อถอดบทเรียนรุ่นแรกเสร็จ มีรุ่นต่อๆ ไป ก็จะเกิดการพัฒนาการและคุณภาพได้มากขึ้นอย่างที่เราตั้งเป้าหมายไว้
‘สร้างระบบจัดการที่พร้อมรับมือกับความต้องการของตลาด’
ด้าน คุณพรเทพ เจริญผลจันทร์ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) ในฐานะตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน เสริมว่า ภาคธุรกิจ คือ หน่วยหนุนเสริมในเรื่องของเทคโนโลยี กระบวนการจัดการ การมองหาช่องทางจำหน่าย และมองหาตลาดใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากชุมชน
“สิ่งที่เอกชนมองในวันนี้ คือ เราจะเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร โดยเฉพาะหลังจาก COVID-19 บทเรียนทำให้เรารู้ว่าเมื่อวันที่ปัจจัยการผลิต วัตถุดิบ แรงงานเราหายไป การขนส่งหยุดชะงักลง เราเองก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้นเราต้องทำให้ชุมชนมีความรู้ ให้เขามีความสามารถในการป้อนวัตถุดิบ แรงงาน หรืออื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ แล้วสามารถหมุนเวียนธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนไปด้วยได้”
จากประสบการณ์ของเบทาโกรเมื่อมีปัญหาวิกฤตเกี่ยวกับสินค้าการเกษตร ทางบริษัทจะเป็นผู้ช่วยหาช่องทางการตลาด โดยใช้เครือข่ายที่มีในการจำหน่ายสินค้า นอกจากนั้นยังเข้าไปส่งเสริมด้านเทคโนโลยี การแปรรูปผลผลิต การทำประชาสัมพันธ์ หรือการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เพิ่มขึ้น
“ผมเชื่อว่าชุมชนทุกแห่งมีภูมิปัญญา มีความสามารถในการผลิต แต่จะทำอย่างไรที่จะนำเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ชุมชนไปถ่ายทอดสู่ตลาดได้ ทำอย่างไรให้สินค้าตรงกับความต้องการในโลกปัจจุบัน และต้องคาดเดาได้ถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดในอนาคต รวมถึงกระบวนการจัดการที่ต้องมีการคำนวณปริมาณผลผลิต ระบบการหมุนเวียนในชุมชน ที่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนสินค้า มีการรักษาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน ที่สำคัญ คือ การพัฒนาต้องดำเนินไปตลอดเวลา ไม่ใช่ได้บทเรียนมาแล้วหยุดแค่นั้น เพราะตลาดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ คือ แนวคิดมุมมองที่ภาคธุรกิจสามารถถ่ายทอดให้กับโครงการต่างๆ ได้”